Antoine de Saint-Exupéry 
นักบินผู้มองโลกด้วยสายตากวี
EP.01
เรื่อง : อริยา ไพฑูรย์
นักเขียนผู้มีชีวิตดุจดังเรื่องที่ตนเองเขียน ราวกับวรรณกรรมเล่มนั้นคือชีวประวัติที่เล่าทั้งเรื่องราวในอดีต ความคิด ความใฝ่ฝัน การงานไปจนถึงทำนายอนาคตของตัวเอง--การละลาจากโลกอย่างเป็นปริศนา--เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่อง
นักเขียนผู้นั้น 
อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี 

ผู้มองการผจญภัยและภยันตรายด้วยสายตาของกวี และด้วยมุมมองของเด็ก กับเรื่องที่เขียนขึ้นสำหรับเด็ก แต่กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใหญ่--เจ้าชายน้อย
“ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน
(แต่ไม่กี่คนที่ย้อนคิดได้)

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี มีชื่อเต็มว่า Antoine Jean-Baptiste Marie Roger de Saint-Exupéry เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๐ ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวของเขาสืบเชื้อสายจากตระกูลขุนนางเก่าแก่ของฝรั่งเศส ย้อนไปได้จนถึงยุคสงครามครูเสด  ทวดฝั่งพ่อเป็นท่านเคานต์ ทวดฝั่งแม่เป็นบารอน เจ้าของคฤหาสน์หลังใหญ่และไร่องุ่น พ่อของเขาเองก็มีบรรดาศักดิ์เป็นไวเคานต์ บรรพบุรุษของเขามีทั้งเป็นทหารที่ร่วมรบในสงครามครั้งใหญ่ ๆ  เป็นสมาชิกบัณฑิตยสมาคมฝรั่งเศส เป็นอาร์ชบิชอป หลายคนเป็นนักดนตรีผู้มีชื่อเสียง บางคนเป็นอัศวิน ในสายเลือดของเขาจึงมีทั้งนักสู้ ศิลปิน นักบวช และนักปราชญ์รวมอยู่

ตอนที่เขาเกิด นามสกุล Saint-Exupéry ยังไม่มี - คั่น  เขาเองที่เป็นคนมาเติมในภายหลังเมื่อไปอยู่อเมริกาและมีผลงานตีพิมพ์แล้ว ในหนังสือของเขาจึงใช้ชื่อผู้เขียนว่า Antoine de Saint-Exupéry  เขาไม่ชอบให้ใครเรียกว่า Mr. Exupéry  ครั้งหนึ่งลูกชายของ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก ยังเคยถามแม่ว่าเขาเป็นนักบุญ (Saint) ของฝรั่งเศสหรือ  การใส่ - จึงเป็นการบอกว่าชื่อนี้คือคำเดียวกัน เขาไม่ใช่ “นักบุญ” เอ็กซูว์เปรี หากแต่คือ “นักบิน” แซ็งแต็กซูว์เปรี ผู้ซึ่งภาคภูมิกับชื่อสกุลของตัวเอง 
Image
ชาโต แซ็ง-โมรีซ-เดอ-เรม็อง ที่ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ใช้ชีวิตกับครอบครัวในวัยเด็ก
อ็องตวนถ่ายทอดบุคลิกภาพภายนอกมาจากพ่อ--ทั้งร่างกายที่สูงใหญ่และท่วงท่า แม้ว่าจริง ๆ แล้วเขาจะใช้ชีวิตอยู่กับพ่อเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น  

ฌ็อง เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี (Jean de Saint-Exupéry) พบกับ มารี บัวเย เดอ ฟงกอลงบ์ (Marie Boyer de Fonscolombe) ที่เมืองลียง ในช่วงที่เขาไปทำงานที่นั่น และรู้จักกันโดยการแนะนำของ เคาน์เตสแห่งตรีโก (Tricaud) ผู้มีศักดิ์เป็นยายของมารีและต่อมาก็กลายเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในชีวิตของอ็องตวน  ทั้งคู่มีลูกสาวสามคน สองคนโต คือ มารี-มาเดอแลน (Marie-Madeleine) และซีมอน (Simone) ถัดมาเป็นลูกชาย อ็องตวน กับฟร็องซัว (François) และคนสุดท้อง กาเบรียล (Gabrielle) หรือดีดี้ น้องสาวซึ่งอ็องตวนรักมากที่สุด

และนั่นทำให้ลียงกลายเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “บ้านเกิด” ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี แม้ว่าทั้งพ่อและแม่จะไม่ใช่ชาวลียง และทั้งครอบครัวก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเพียงไม่กี่ปี

ขณะที่อ็องตวนอายุเพียง ๓ ขวบเศษ ๆ ผู้เป็นพ่อก็เสียชีวิตด้วยเส้นเลือดในสมองแตก นับเป็นการสูญเสียครั้งแรกของเขา ซึ่งแม้จะไม่มีผลในทางความรู้สึกมากนักในขณะนั้น แต่กลับทิ้งร่องรอยไว้ในชีวิตมากทีเดียว

และนั่นทำให้ลียงกลายเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “บ้านเกิด” ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี แม้ว่าทั้งพ่อและแม่จะไม่ใช่ชาวลียง และทั้งครอบครัวก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเพียงไม่กี่ปี
ขณะที่อ็องตวนอายุเพียง ๓ ขวบเศษ ๆ ผู้เป็นพ่อก็เสียชีวิตด้วยเส้นเลือดในสมองแตก นับเป็นการสูญเสียครั้งแรกของเขา ซึ่งแม้จะไม่มีผลในทางความรู้สึกมากนักในขณะนั้น แต่กลับทิ้งร่องรอยไว้ในชีวิตมากทีเดียว
Image
ภาพหมู่พี่น้อง เด็กชายคนที่ ๒ จากขวา
คืออ็องตวนข้างกันคือฟร็องซัว น้องชายที่ต่อมาเสียชีวิต

“เมื่อครั้งยังเป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ ผมอาศัยอยู่ในบ้านแบบโบราณ เล่ากันมาว่ามีหีบสมบัติซ่อนอยู่ใต้ดิน แน่นอนว่าไม่มีใครเคยค้นพบหรือแม้แต่คิดจะค้นหา แต่มันก็ทำให้บ้านหลังนี้มีเสน่ห์ เพราะบ้านของผมซุกซ่อนความลับไว้ในก้นบึ้งของหัวใจ”
ถ้าไม่นับความเศร้าที่จู่โจมเข้ามาเป็นบางครั้งในหัวใจของเด็กน้อยแล้ว ชีวิตที่คฤหาสน์แห่งนี้ก็นับได้ว่าเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุข และเป็นช่วงชีวิตที่เขาหวนระลึกถึงอยู่เสมอ ทั้งในความคิดคำนึง ในบทสนทนา จดหมาย และนวนิยายที่เขียน  คฤหาสน์หลังนี้เป็นบ้านในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ ซึ่งเคาน์เตสแห่งตรีโกซื้อไว้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๕๐  ด้านหลังมีสวนลินเดินปลูกเป็นแถวเป็นแนวสวยงาม เป็นเหมือนสวนลับของอ็องตวน สวนที่เต็มไปด้วย ดอกกุหลาบและเหล่าแฟรีในเทพนิยาย  ครอบครัวของอ็องตวนจะมาอยู่ที่นี่ครั้งละยาวนานในแต่ละปี โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม จนพูดได้ว่าความคิดและตัวตนของหนูน้อยอ็องตวนก่อร่างขึ้นในคฤหาสน์หลังนี้ ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ สวนดอกไม้ ป่า และไร่องุ่น  ในบ้านมีห้องหับมากมายมีห้องใต้หลังคาซึ่งเต็มไปด้วยขุมทรัพย์ที่มองไม่เห็น

พี่สาวของอ็องตวนเขียนเล่าไว้ในประวัติของครอบครัวว่าสวนที่บ้านแซ็ง-โมรีซเป็นเหมือนอาณาจักรลับ ๆ ของเธอและน้องชาย  เด็ก ๆ สร้างบ้านบนต้นไม้ เอาพุ่มไม้มาสานเป็นห้องเล็ก ๆ ปูด้วยพรมต้นมอส  ในสวนเต็มไปด้วยต้นไม้ นก และสัตว์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ  วันฝนตกก็จะเล่นทายปริศนากันในบ้านหรือไม่ก็ไปสำรวจห้องใต้หลังคา ซึ่งเป็นเกมที่อ็องตวนชอบมาก เพราะเขาเชื่อว่าบ้านโบราณทุกหลังย่อมมีขุมทรัพย์จากอดีตซุกซ่อนอยู่
“ขณะอายุเพียง ๖ ขวบ
ผมพบรูปภาพแสนวิเศษรูปหนึ่ง
ในหนังสือเกี่ยวกับป่าดงดิบ”

อ็องตวนในวัยเด็กเป็นเจ้าของเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ สีเขียว ซึ่งเปรียบเสมือนบัลลังก์สำหรับเขา เขาจะยกเก้าอี้ไปตามที่ต่าง ๆ รอบบ้าน แล้วแต่ว่าแม่จะอยู่ที่ไหน เพื่อจะได้นั่งใกล้ ๆ แม่ ร้องขอฟังนิทานจนกว่าจะได้ฟังสักเรื่องหนึ่ง  และความที่เขามีผมสีทองเปล่งประกาย ขณะนั่งบนเก้าอี้ีเขียวจึงดูเหมือนพระราชาองค์น้อย ๆ เขาจึงกลายเป็น “พระราชาดวงอาทิตย์” สำหรับคนในบ้าน

มารี เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี มีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้สนุกสนาน เธอยังชอบเขียนบทกวีและวาดภาพด้วย  เธอขายภาพวาดให้เทศบาลเมืองลียงถึงสามภาพ เธอมีบทกวีรวมเล่มด้วย และในวัย ๙๒ (ค.ศ. ๑๙๖๗) ก็ตีพิมพ์เล่มที่ ๒ ออกมา เล่มนี้เล่าถึงลูก ๆ และชีวิตในบ้านที่แซ็ง-โมรีซ

เมื่อลูกยังเล็ก ๆ มารีมักเล่านิทานหรือเรื่องจากนิยายที่เธอเคยอ่าน  หนูน้อยอ็องตวนชอบนิทานแอนเดอร์เสน และนิยายของ ฌูล แวร์น ราชาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ เป็นพิเศษ  เขาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Harper's Bazaar ไว้ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ว่าหนังสือเล่มแรกที่เขารักก็คือรวมนิทานของแอนเดอร์เสน
Image
เล่นดนตรีกับพี่สาว
ขณะอายุเพียง ๖ ขวบ เขาเริ่มเขียนบทกวีและอ่านให้คนในบ้านฟัง  บางครั้งก็ถึงขั้นบังคับให้น้องชายนั่งฟัง  และต่อให้บทกวีชิ้นนั้นเสร็จตอนเที่ยงคืน เขาก็จะวิ่งไปปลุกแม่และพี่ ๆ น้อง ๆ ให้ลุกขึ้นมานั่งฟังด้วย  นิสัยนี้ติดตัวมาจนโต

อ็องตวนมีพี่สาวที่ชอบอ่านและเขียนเหมือนกัน คือซีมอน พี่สาวคนที่ ๒ ซึ่งต่อมาได้เขียนเล่าเรื่องของน้องชายในวัยเด็กไว้ด้วย  ทั้งคู่เคยเขียนบทละครจากหนังสือที่อ่านในห้องสมุดของลุง และเปิดแสดงแกมบังคับให้ญาติ ๆ มานั่งชม

ห้องสมุดของลุงเป็นเหมือนโลกอันกว้างใหญ่ของสองพี่น้องมันเต็มไปด้วยเรื่องราวการผจญภัย เรื่องเล่าที่เปี่ยมจินตนาการ หนังสือประวัติศาสตร์ ตำราวิชาการ หนังสือธรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์ ซึ่งอ็องตวนโปรดปรานเป็นพิเศษ และที่เขาโปรดปรานไม่แพ้ห้องสมุดก็คือ สวนอันร่มครึ้มหลังคฤหาสน์แซ็ง-โมรีซนั่นเอง
“โดยการไปฝึกเป็นนักบิน
ผมบินไปเกือบทั่วโลก”

อ็องตวนเกิดในยุคบุกเบิกของการบิน  พี่น้องตระกูลไรต์สร้างเครื่องบินสำเร็จและบินได้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ขณะนั้นเขาอายุ ๓ ขวบ  ห้าปีต่อมา วิลเบอร์ ไรต์ สามารถบินข้ามมหาสมุทรจากอังกฤษไปยังฝรั่งเศส และปีถัดมา ออร์วิล ไรต์ ก็บินข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จ

ปลาย ค.ศ. ๑๙๐๙ อ็องตวนย้ายไปอยู่บ้านของปู่ที่เลอม็อง ทางตอนเหนือของปารีส เพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนเก่าแก่ของพ่อ แต่ในช่วงปิดเทอมก็จะกลับมาที่แซ็ง-โมรีซทุกปี

ที่รันเวย์ไม่ไกลจากบ้านแซ็ง-โมรีซ เขาชอบไปเฝ้าดูนักบินนำเครื่องขึ้นลงและถามรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องยนต์อย่างสนอกสนใจ จนในที่สุดก็มีนักบินคนหนึ่งพาเขาขึ้นบินด้วยเป็นการบินครั้งแรก แม้จะระยะสั้น ๆ แต่ก็เหมือนหมุดที่ตอกลงไปบนอนาคตของเขา

ในวัย ๑๒ เขาออกแบบจักรยาน ติดปีก ติดมอเตอร์เข้าไป และพยายามจะร่อนลงมาตามเนิน แน่นอนว่าไม่สำเร็จ

นับแต่นั้น ความใฝ่ฝันที่เขาตั้งใจมุ่งไปสู่ก็คือการเป็นนักบิน ได้ขับเครื่องบินจริง ๆ แม้ว่าในยุคนั้นการบินจะยังเป็นเรื่องใหม่และเต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่งก็ตาม
Image
“ผู้ใหญ่แนะนำว่า ผมควรจะเลิกวาดภาพงูเหลือมทั้งชนิดที่เห็นด้านนอกและด้านใน แล้วหันไปสนใจวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาศาสตร์จะดีกว่า”
ครอบครัวแซ็งแต็กซูว์เปรีย้ายไปอยู่บ้านของปู่ที่เลอม็องใน ค.ศ. ๑๙๐๙ เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนต่อที่ Collège Notre-Dame de Sainte-Croix โรงเรียนเก่าที่พ่อเคยเรียน เป็นโรงเรียนของคณะเยสุอิต  ชีวิตช่วงนี้ไม่ค่อยมีความสุขนัก เขาต้องอยู่ในความดูแลของป้า ไม่ค่อยลงรอยกับปู่ และผลการเรียนก็ไม่ค่อยดีอย่างที่คาดหวัง  ครูสอนภาษาละตินพูดถึงอ็องตวนในวัยนี้ว่า เขาเป็นเด็กเฉลียวฉลาด แต่ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน มักจะใจลอยอยู่เสมอ  เขาไม่ค่อยชอบวิชาเลขคณิตและโต๊ะเรียนก็ไม่ค่อยจะเป็นระเบียบสักเท่าไร

ในวัย ๙ ถึง ๑๕ ปี เขาค่อนข้างเงียบและเก็บตัวกว่าเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะต้องอยู่ห่างจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่ซึ่งต้องไปทำงานที่อื่นและจะกลับมาอยู่ด้วยเป็นระยะ

เพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันกับอ็องตวนเล่าถึงความทรงจำในช่วงนั้นว่า อ็องตวนเป็นคนเงียบ ๆ ดูเศร้า ๆ และไม่ค่อยยิ้ม เพื่อน ๆ ในห้องไม่ค่อยเข้าใจเขาเท่าไรนัก บางครั้งก็ล้อเลียนเรื่องที่เขามักจะดูเหมือนหลุดออกไปนอกโลกอยู่บ่อย ๆ  อ็องตวนโกรธเวลาถูกล้อ แต่เขาก็เป็นคนที่โกรธใครได้ไม่นาน

และสิ่งหนึ่งที่ยังคงเห็นเด่นชัดก็คือ ความสนใจในงานวรรณกรรมและปรัชญา ทั้งการอ่านและเขียน  เขาเริ่มเขียนจดหมายถึงแม่ เล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ความคิด ความรู้สึก จดหมายขนาดยาวฉบับแรก ๆ เล่าถึงการไปทัศนศึกษาที่วัดนักบุญเบเนดิกต์ที่โซแลม (Solesmes) ซึ่งประทับอยู่ในใจเขาจนโต  เขาพูดและเขียนถึงที่นี่หลายครั้งและได้เดินทางกลับไปเยี่ยมเยียนด้วยความรำลึกถึง เช่นเดียวกับหลาย ๆ สถานที่ซึ่งเขาเคยไปในวัยเด็ก

ในวัย ๑๓ เขาเริ่มทำนิตยสารของตัวเอง เขียนบทบรรณาธิการและบทกวีเอง และชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมเขียนคอลัมน์อื่น ๆ  นิตยสารฉบับนี้ไม่ได้ตีพิมพ์ เพียงนำมาอ่านให้ฟังกันเองในกลุ่ม แต่ก็เป็นก้าวหนึ่งของการเริ่มต้นงานเขียนของเขา

ช่วงที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น สงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็อุบัติขึ้น มารี แม่ของเขา ต้องไปเป็นพยาบาลภาคสนามที่อ็องเบรีเยอ  ทั้งอ็องตวนและฟร็องซัว น้องชาย จึงต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำที่วิลลาแซ็ง-ฌ็อง ในเมืองไฟร์บวร์ก เมืองเล็ก ๆ เงียบสงบในสวิตเซอร์-แลนด์ แวดล้อมด้วยธรรมชาติของชนบท และห่างไกลจากความสะดวกสบายหรูหราที่เขาเคยสัมผัสขณะอยู่บ้านที่ฝรั่งเศส
Image
แต่ที่นี่เองที่ความเป็น อ็องตวน เดอ แซ็งแต็ก-ซูว์เปรี ก่อตัวแน่นหนาขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ  ในวัย ๑๗ เขาสูงกว่า ๑๘๐ เซนติเมตร ร่างกายแข็งแรง สูงใหญ่กว่าเด็กวัยเดียวกัน  เขาเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน และในภาพถ่ายกับเพื่อนร่วมห้อง แซ็งแต็กซูว์-เปรีก็สูงโดดเด่นกว่าใคร  ส่วนในทางจิตใจ เขาเก็บตัวมากขึ้น แม้จะร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เป็นที่รักของเพื่อนฝูงและครู แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครเข้าใจเขามากนัก

เขาทำคะแนนได้ดีในวิชาเกี่ยวกับวรรณกรรม  บางครั้งก็ได้คะแนนสูงสุดของห้องในวิชาภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน แต่ก็ยังมีปัญหากับวิชาคณิตศาสตร์และเรขาคณิต ขณะที่วิชาภูมิศาสตร์ก็ได้ที่โหล่ และนี่เองที่เขามักจะกล่าวถึงภูมิศาสตร์และเรขาคณิตในอารมณ์ประชดประชันอยู่หลายครั้ง 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้แซ็งแต็กซูว์เปรีผ่านช่วงเวลาในห้องเรียนที่แสนน่าเบื่อมาได้ ก็คือเวลาที่จะได้อ่านหนังสือ เขียนบทกวี และเขียนจดหมาย ซึ่งที่วิลลาแซ็ง-ฌ็องมีให้เขาอย่างเหลือเฟือ เขาพบโลกอันกว้างใหญ่ในงานของดอสโตเยฟสกี ดิ่งลึกไปในบทกวีของ ชาร์ล โบดแลร์ ซึ่งสะท้อนความโดดเดี่ยว โศกเศร้า ความเป็นปฏิปักษ์กับค่านิยมของสังคม ความชั่วร้าย และความตาย  เขาอ่านหนังสือบทกวีของกวีฝรั่งเศสในสมัยนั้นทุกเล่ม อ่านหนังสือปรัชญา จิตวิญญาณ วรรณกรรม ศาสนา อ่านอย่างลึกซึ้งและโต้เถียงกับครูซึ่งเป็นนักบวชในประเด็นสำคัญได้ เขามีความฝันอันแรงกล้าที่จะเป็นกวี  เมื่อนึกบทกวีขึ้นมาได้ก็มักจะจดไว้ในเศษกระดาษ  นิสัยนี้ติดตัวมาจนกระทั่งเป็นนักบิน เพียงแต่เปลี่ยนจากยัดใส่กระเป๋ากางเกงมาเป็นทิ้งไว้ในห้องนักบินแทน

หลังจากสอบผ่านตามระบบการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งว่ากันว่าผ่านยากมาก เด็กเพียงหนึ่งในสองคนเท่านั้นที่สอบผ่าน  ในปีนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังไม่จบสิ้น เด็กหนุ่มจำนวนมากถูกเกณฑ์เข้าร่วมรบ ครอบครัวของเขาคิดว่าถ้าแซ็งแต็กซูว์เปรีเป็นทหารเรือ โอกาสเสี่ยงอันตรายก็จะน้อยกว่าทหารบก จึงให้เดินทางเข้าปารีสเพื่อสอบเข้าโรงเรียนนายเรือ  ส่วนตัวเขาเองก็ตั้งใจเลือกทหารเรือ เพราะทะเลให้ความรู้สึกของการผจญภัยได้มากกว่า  ตระกูลของเขาเองย้อนไปสองถึงสามชั่วคนก็มีบรรพบุรุษที่เป็นนายทหารเรืออยู่หลายคน

แต่นับเป็นโชคดีที่เขาสอบไม่ผ่านสองครั้ง และเมื่อจะสอบครั้งที่ ๓ อายุก็เกินที่กำหนดเสียแล้ว ไม่เช่นนั้นเขาก็อาจไม่มีโอกาสได้สร้างผลงานอมตะที่ทำให้คนทั้งโลกยังไม่ลืมชื่อเขาจนบัดนี้
“ทำไมต้องกลัวหมวกด้วยล่ะ”
แซ็งแต็กซูว์เปรีเริ่มเขียนเรื่องสั้นโดยใช้ “หมวก” เป็นสัญลักษณ์มาตั้งแต่อายุ ๑๔

“มหากาพย์การผจญภัยของหมวกใบหนึ่ง” เป็นเรื่องสั้นที่เขาเขียนในห้องเรียน และครูซึ่งเป็นนักบวชประทับใจมาก ถึงกับให้นักเรียนทั้งชั้นอ่านและถกเถียงกันในประเด็นของเรื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงทีเดียว

เรื่องราวการเดินทางของหมวกทรงสูงซึ่งถูกนำมาวางขายในร้านขายหมวกที่ใหญ่ที่สุดของปารีส มันดูสง่างามหรูหรา อยู่ในมุมที่เงียบและสงบ รอคอยที่จะอวดตัวเองแก่ชาวโลก จนกระทั่งมีสุภาพบุรุษท่าทางมีฐานะมาแสดงความสนใจ เจ้าของร้านบอกราคาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทันที ชายผู้นั้นก็ซื้อไป และใส่หมวกใบนี้ไปในงานสังคมชั้นสูงต่าง ๆ  เขาดูแลหมวกอย่างดี จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็ให้หมวกใบนี้แก่พนักงานขับรถม้าของเขา และหลังจากนั้นมันก็ถูกเปลี่ยนมือทั้งโดยตั้งใจและอุบัติเหตุ ถูกขายต่อในราคาถูก ถูกลมพัดปลิว ออกเดินทางกับฝูงนก ฝูงปลา จนกระทั่งได้เป็นหมวกของเจ้าชายผู้ทรงอำนาจแห่งแอฟริกา ผ่านเรื่องราวทั้งน่าเศร้าและน่ายินดี ทั้งสูงสง่าและตกต่ำ  วันสุดท้ายของชีวิต เจ้าหมวกยังหวังว่ามันจะได้กลับไปปารีสและได้รับยกย่องในฐานะหมวกอันทรงเกียรติอีกครั้ง
แม้ครูจะชอบขนาดไหน เขาก็ได้คะแนนแค่ A- เพราะสะกดผิดเยอะ และเขียนยืดยาดไปหน่อย

แต่เรื่องนี้เหมือนจะทำนายอนาคตบางอย่างในอีก ๓๐ ปีต่อมา ไม่ว่าจะเป็นหมวก การเดินทางไปพบเจอคนนานาประเภท มูลค่ากับราคาและสิ่งที่มองไม่เห็น การเดินทางกับฝูงนก การเดินทางไปถึงแอฟริกา และความฝันที่จะกลับมายังปารีสอันเป็นบ้านเกิด
“เขายืนนิ่งอยู่กับที่ชั่วขณะ แต่ไม่ร้องออกมาเลย เขาล้มลงช้า ๆ เหมือนต้นไม้ที่ถูกโค่น”
ความตายเป็นสิ่งหนึ่งที่แซ็งแต็กซูว์เปรีต้องเผชิญตั้งแต่วัยเด็ก  เขาสูญเสียพ่อตั้งแต่อายุไม่ถึง ๔ ขวบ ซึ่งแม้จะยังไม่มีผลในทางความรู้สึกมากนัก เพราะยังเด็กอยู่มาก แต่มันก็เป็นเงามืดที่ซ่อนอยู่ในใจมาตลอด แซ็งแต็กซูว์เปรีไม่ค่อยพูดถึงพ่อนัก และในบทกวีช่วงวัยเยาว์ที่เขามักจะเขียนถึงบ้าน ถึงครอบครัว และพี่น้องทั้งห้า เขาก็ไม่เคยกล่าวถึงพ่อ

แซ็งแต็กซูว์เปรีเติบโตในแวดล้อมของผู้หญิง  แม่ พี่สาวสองคนและน้องสาว เคาน์เตสผู้มีศักดิ์เป็นยาย พี่เลี้ยง ไปจนถึงครูที่มาสอนร้องเพลง สอนเปียโน ไวโอลิน ที่บ้าน  ผู้ชายเพียงคนเดียวที่เขาสนิทด้วยคือฟร็องซัว น้องชายที่มักจะถูกบังคับให้มานั่งฟังบทกวีโดยไม่สนใจว่าจะเป็นเวลาไหน สองพี่น้องผูกพันกันมาก แม้จะทะเลาะเบาะแว้งแย่งของเล่นกันบ้างในวัยที่ยังเล็กมาก บางครั้งก็อย่างรุนแรง แต่เมื่อเข้าคู่กัน

ก็สร้างความปั่นป่วนโกลาหลในบ้านไม่น้อย จนพี่สาวถึงกับกล่าวว่าเพราะที่บ้านไม่มีพ่อจึงไม่มีใครควบคุมน้องชายทั้งสองได้ 

ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ แซ็งแต็กซูว์เปรีอายุเพียง ๑๗ ปี น้องชายซึ่งอ่อนกว่า ๒ ปีก็ล้มป่วย  คืนหนึ่งฟร็องซัว ขอให้พยาบาลไปตามพี่ชายมาที่เตียง  และบังคับให้แซ็งแต็กซูว์เปรีเขียนข้อความเสมือนหนึ่งเป็นพินัยกรรม ยกของเล่นทั้งหมดให้พี่ชาย  เขาเขียนตามคำสั่งด้วยความปวดร้าวในใจ  ฟร็องซัวเสียชีวิตในคืนนั้น เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต เขาไม่เพียงสูญเสียน้องชายผู้เป็นที่รักของครอบครัว หากยังสูญเสียเพื่อนสนิทในวัยเด็กไปด้วย แต่ที่สำคัญมันทำให้เขาเข้าใจสิ่งสำคัญของชีวิต ว่ามันไม่ใช่เรื่องของวัตถุ หากแต่คือความสัมพันธ์และความรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น
Image
ค.ศ. ๑๙๒๒ อ็องตวนในชุดเครื่องแบบทหารอากาศ
แซ็งแต็กซูว์เปรีเล่าถึงความสูญเสียครั้งนี้ไว้ในหนังสือชื่อ Pilote de Guerre (นักบินยามสงคราม)

และเมื่ิอสูญเสียน้องชายก็ยิ่งเหมือนกับว่าเขาอยู่ตัวคนเดียวอย่างแท้จริง เป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวที่แสดงออกในงานแทบทุกเล่มของเขา

เกเบรียลเป็นอีกคนที่รู้สึกสูญเสียไม่แพ้กัน เธอสนิทกับฟร็องซัวมาก ด้วยวัยที่ไล่เลี่ยกัน ภาพน้องสาวกอดพี่ชายไร้ลมหายใจไว้ในอ้อมแขน ทำให้แซ็งแต็กซูว์เปรีเศร้ายิ่งกว่าที่ตัวเองเศร้า  เขาสัญญากับตัวเองนับแต่นั้นว่า เขาจะเป็นพี่ชายให้ดีที่สุด ทดแทนพี่ชายทั้งโลกที่เธอมี  ด้วยว่าตอนนี้เขาเป็นผู้ชายเพียงคนเดียวในครอบครัวแล้ว
“ผมจึงเลือกอาชีพใหม่ โดยการไปฝึกเป็นนักบิน ผมบินไปเกือบทั่วโลก และวิชาภูมิศาสตร์ก็ช่วยผมได้โดยตรง ผมบอกถึงความแตกต่างระหว่างจีนกับแอริโซนาได้ในทันทีที่เห็น มันเป็นประโยชน์มากทีเดียวเมื่อเราหลงทางในเวลากลางคืน”
ระหว่างรอสอบเข้าโรงเรียนนายเรือในครั้งที่ ๒ แซ็งแต็กซูว์เปรีเข้าศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่โรงเรียนศิลปะในปารีสเป็นเวลาปีเศษ ๆ แต่ความสามารถด้านนี้ก็ไม่ปรากฏเด่นชัดนัก สงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรวมฝรั่งเศสด้วย มีชัยเหนือเยอรมนี  ในช่วงเวลาแห่งสงคราม อุตสาหกรรมการบินของฝรั่งเศสก็ก้าวหน้าไปมาก จนกลายเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มีนักบินที่ผ่านการฝึกและได้รับอนุญาตให้บินจำนวนมาก และความฝันของแซ็งแต็กซูว์เปรีที่จะได้ขับเครื่องบินก็ยังไม่จางหาย จดหมายถึงแม่และพี่สาวยังคงพูดเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง

ค.ศ. ๑๙๒๐ ในวัย ๒๐ เขาได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งที่ ๒ ด้วยเงินเก็บของตัวเองจำนวน ๕๐ ฟรังก์ ซึ่งนับว่ามากพอควรในสมัยนั้น แม้จะได้นั่งเพียง ๑๐ นาที  เขาเขียนจดหมายเล่าให้แม่ฟังว่าความรู้สึกถึงพื้นที่ ระยะทาง และทิศทาง หายไปทันทีที่ขึ้นบิน บางครั้งเขารู้สึกเหมือนอยู่สูงมากจากพื้นโลก แต่แล้วทันใดก็ดิ่งลงสู่พื้น แต่ขณะดิ่งลงมานั่นเอง จู่ ๆ ก็กลับ พุ่งขึ้นไป ๓,๐๐๐ ฟุตเหนือพื้นดินในเวลาเพียง ๒ นาที ด้วยมอเตอร์ขนาด ๕๐๐ แรงม้า มันทั้งเต้น ทั้งเหวี่ยง ทั้งสะบัด แต่เขาก็ไม่เข็ด วันรุ่งขึ้นเขาก็กลับมาขึ้นเครื่องบินอีก คราวนี้มันทั้งหมุน ทั้งตีลังกา จนราวจับตรงที่นั่งอุดมไปด้วยอาหารกลางวันอันขย้อนออกมาจากท้อง

ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ความฝันของเขาแข็งแกร่งขึ้น เขาเขียนจดหมายหลายฉบับที่แสดงให้เห็นความตั้งใจจริง ความกระหายที่จะขึ้นบิน และความเชื่อมั่นว่านี่เป็นอาชีพเดียวที่เหมาะกับเขา--อยู่บนท้องฟ้าตามลำพัง ท่ามกลางความเวิ้งว้างของจักรวาลและไพศาลของพื้นดิน

ในวัย ๒๑ เขาถูกเรียกเกณฑ์ทหาร ไปประจำการที่สตราสบูร์กเป็นเวลา ๒ ปี และที่นี่เองที่ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมา  เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๑ เขาฝึกบินด้วยเครื่องบินแบบปีกสองชั้น และเดือนถัดมาก็ออกบินเดี่ยว ปลาย ค.ศ. ๑๙๒๑ เขาได้รับใบอนุญาตให้บินลาดตระเวนเหนือน่านฟ้าแอฟริกาเหนือ
Image
ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๑ 
ที่บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา

หลังจากประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกใน ค.ศ. ๑๙๒๓ แซ็งแต็กซูว์เปรีก็ถูกปลดประจำการ  เขาได้งานใหม่เป็นพนักงานขายรถบรรทุก แต่เนื่องจากทำงานอยู่ปีครึ่งขายได้คันเดียว ในที่สุดเขาก็ลาออก

ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาเป็นนักบินอิสระ บินรับส่งจดหมายข้ามทวีป  ระหว่างนี้เขาเขียนเรื่อง “L'Aviateur” (นักบิน) ลงพิมพ์ใน Le Navire d’Argent ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนเกี่ยวกับวรรณกรรม เล่าเรื่องราวชีวิตของนักบินคนหนึ่งตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นบินจนถึงวันสุดท้ายที่ปีกเครื่องบินหักขณะซ้อมรบ ด้วยคำบรรยายและอุปมาอุปไมยที่สวยงามราวบทกวี เรื่องของ ฌัก แบร์นี  ต่อมาก็พัฒนากลายเป็นตัวละครเอกในเรื่อง Courrier Sud (ไปรษณีย์ใต้) อันเป็นหนังสือเล่มแรกของเขานั่นเอง  ส่วนเรื่องสั้นเรื่องนี้ต่อมาถูกนำมาใช้เป็นบทเปิดในหนังสือกวีนิพนธ์ Un Sens à la Vie (รู้สึกแห่งชีวิต) ซึ่งพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ หลังจากที่เขาหายสาบสูญไป

นิตยสารฉบับนี้ปิดตัวไปในเวลาไม่นาน งานเขียนของเขาในช่วงนี้จึงหยุดอยู่แค่นั้น

สองปีต่อมาเขาได้งานที่สายการบินลาเตโกแอร์ ในตูลูซ ผู้จัดการสายการบินนี้เป็นคนเข้มงวดมาก เขาจะไม่ยอมให้เกิดการล่าช้าหรือผิดพลาด เพราะถ้าเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุได้  วันแรกที่แซ็งแต็กซูว์เปรีเข้าทำงาน เขาจึงยังไม่ได้ขึ้นบินในทันที หากแต่ถูกทดสอบด้วยการให้เป็นช่างเครื่องก่อนแล้วจึงได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นเป็นนักบิน  ผู้จัดการคนนี้เป็นต้นแบบของตัวละครรีวีแยร์ใน Vol de Nuit (เที่ยวบินกลางคืน) นั่นเอง
“เพราะเหตุนี้ผมจึงต้องอยู่คนเดียวโดยปราศจากคนเข้าใจอย่างแท้จริง จนกระทั่งเครื่องบินของผมไปเสียอยู่กลางทะเลทรายสะฮาราเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว”
ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาเริ่มสนใจเรื่องราวของทะเลทรายสะฮาราและการใช้ชีวิตของผู้คนที่นั่น เพราะเมื่ิอมองลงมาจากบนท้องฟ้า สะฮาราช่างยิ่งใหญ่ เนินทรายสีทอง งดงาม โดดเดี่ยว และอ้างว้าง เขาพูดถึงมันใน Lettre à un Otage (จดหมายถึงตัวประกัน) ว่าชีวิตในสะฮาราเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยว แต่ยังคงเป็นชีวิตที่เขาโหยหาถึงความสุขขณะอยู่ที่นั่น คำว่าคิดถึงเม็ดทราย คิดถึงความโดดเดี่ยว คิดถึงพื้นที่เวิ้งว้าง อาจเป็นเพียงคำพูด และไม่มีความหมายอะไรเลยแต่วินาทีที่เขากลับไปอยู่ท่ามกลางฝูงคน เขาก็เข้าใจความหมายของถ้อยคำทั้งหมดในทันที

การที่เจ้าชายน้อยและนักบินต่างก็มาตกที่ทะเลทรายสะฮาราจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการที่คนโดดเดี่ยวสองคนมาพบกันท่ามกลางสถานที่อันอ้างว้างและโดดเดี่ยวเช่นกัน

ช่วงปลายปีเขาย้ายไปเป็นหัวหน้าสนามบินที่แหลมจูบี ชายฝั่งทางตอนใต้ของโมร็อกโก เป็นป้อมปราการระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับทะเลทรายสะฮาราฝั่งตะวันตก  ในช่วงนี้เขาเริ่มเขียนหนังสือหนักขึ้น โดยเฉพาะในตอนกลางคืน พลางดื่มชาหรือกาแฟตลอดเวลา และก็มักจะคาบบุหรี่ไว้ด้วย  ร่างต้นฉบับหลายชิ้นของเขามีคราบชา กาแฟ หรือไม่ก็รอยจากขี้บุหรี่  และไม่ว่าจะเสร็จกี่โมงกี่ยาม ทันทีที่เขาพอใจกับผลงาน เขาก็ไม่เคยรีรอที่จะโทรศัพท์ไปอ่านให้ใครสักคนฟัง  หรือถ้ามีใครอยู่ใกล้ ๆ ในขณะนั้นก็จะถูกปลุกขึ้นมาทันที  เขาถึงขนาดเคยให้แม่บ้านของสำนักงานกินยาเพื่อกระตุ้นให้ตื่นและนั่งฟังจนจบ
Image
เขาอยู่ที่แหลมจูบีประมาณปีครึ่ง เป็นช่วงเวลาที่ให้ประสบการณ์และวัตถุดิบในการเขียนอย่างยิ่ง  ในฐานะหัวหน้านักบิน แซ็งแต็กซูว์เปรีไม่เพียงควบคุมให้การขนส่งไปรษณีย์เป็นไปโดยราบรื่นตรงเวลาเท่านั้น เขายังสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลสเปนและชาวมัวร์ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่ด้วย

ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ หนังสือเล่มแรกของเขา Courrier Sud (ไปรษณีย์ใต้) ได้รับการตีพิมพ์  หนังสือเล่มนี้สำรวจลึกเข้าไปในจิตใจของนักบินและความกล้าหาญยามเผชิญอันตรายที่มองไม่เห็นขณะอยู่เหนือพื้นโลกนับหมื่นฟุต ในยานพาหนะที่แสนบอบบางและพร้อมจะร่วงลงทุกนาทีแค่มีอะไรผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย แต่ความกล้าหาญเหล่านี้จะมีค่าอะไร และมนุษย์เหล่านี้จะมีค่าอะไร หากสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้ทำไปเพื่อผู้อื่น 

หลังจากนั้นเขาย้ายไปอยู่อเมริกาใต้ และบุกเบิกเส้นทางการบินสายใหม่ในอาร์เจนตินาจนสำเร็จ ก่อนจะกลับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๓๑ และหนังสือเล่มที่ ๒ ก็ตามออกมา Vol de Nuit (เที่ยวบินกลางคืน) เป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จมากทีเดียว ทั้งยอดขายและเสียงวิจารณ์ หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Prix Femina ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญของฝรั่งเศส และใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮอลลีวูดก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์

แซ็งแต็กซูว์เปรียังคงย้ำประเด็นของการทำหน้าที่เพื่อผู้อื่น ว่ามีค่ากว่าเสรีภาพส่วนตัว  ความกล้าหาญที่สำคัญคือการต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง เพื่อจะก้าวข้ามไปสู่ตัวตนในขั้นที่สูงกว่า และการเอาชนะความกลัวยามต้องเผชิญอันตรายที่ยิ่งกว่าอันตราย 
การบุกเบิกเส้นทางการบินที่อาร์เจนตินาสร้างรายได้ให้แซ็งแต็กซูว์เปรีกว่า ๒ แสนฟรังก์ ซึ่งเป็นเงินมากทีเดียวในสมัยนั้น (บ้านหลังหรูหราที่เขากล่าวถึงในเรื่อง เจ้าชายน้อย ราคา ๑ แสนฟรังก์) และในช่วงเวลานี้เองที่เขาพบรักกับกอนซูเอโล ซุนซิง เด ซันโดบัล (Consuelo Suncín de Sandoval) หญิงสาวชาวเอลซัลวาดอร์ ในงานเลี้ยงของสมาคมฝรั่งเศสที่อาร์เจนตินา

ก่อนจะแต่งงานไม่นาน ภายในบริษัทการบินเกิดมีปัญหา ผู้จัดการซึ่งแซ็งแต็กซูว์เปรีชื่นชมยกย่องจนนำมาเป็นต้นแบบของรีวีแยร์ในนวนิยายสองเล่มแรกของเขาถูกไล่ออกแซ็งแต็กซูว์เปรีเข้าข้างผู้จัดการ จึงถูกลดตำแหน่งลงมาเป็นนักบินธรรมดา และเมื่อเรื่อง เที่ยวบินกลางคืน ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงรู้กันทั่วไปว่าเขาชื่นชมศรัทธาผู้จัดการคนเก่ามากขนาดไหน  เมื่อบริษัทแม่เปิดสายการบินแห่งใหม่ Air France ใบสมัครของแซ็งแต็กซูว์เปรีไม่ผ่านการพิจารณา เขาจึงตัดสินใจลาออก

ระหว่างที่อยู่อาร์เจนตินาเพื่อบุกเบิกเส้นทางใหม่ เพื่อนร่วมงานของเขา อ็องรี กีโยเม ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก แต่สามารถร่อนลงจอดฉุกเฉินได้บนเทือกเขาแอนดีส  เขาต้องเดินฝ่าหิมะและความเหน็บหนาวเป็นเวลา ๕ วัน พยายามต่อสู้กับตัวเองไม่ให้หมดแรง เพราะรู้ว่าเงินประกันชีวิตของเขาจะไม่พอให้ภรรยาใช้ชีวิตต่อไป  เขาพยายามสู้ให้อยู่รอดเพื่อผู้อื่นไม่ใช่เพื่อตัวเอง  เรื่องของอ็องรีเป็นแรงบันดาลใจให้แซ็งแต็กซูว์เปรีเขียน Terre des Hommes (แผ่นดินของเรา) ในระหว่างพักรักษาตัวหลังเกิดอุบัติเหตุ  หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ตอกย้ำความคิดเรื่องการเอาชนะตนเองและการกระทำหน้าที่เพื่อผู้อื่น
Image
ถ่ายคู่กับเพื่อนสนิท อ็องรี กีโยเม
แผ่นดินของเรา ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ เช่นเดียวกับ เที่ยวบินกลางคืน และยิ่งมากขึ้นเมื่อได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ  เขาได้รับเชิญไปนิวยอร์ก มีรูปเขาในร้านหนังสือ มีนักอ่านติดตามเป็นจำนวนมาก และได้รับรางวัลใหญ่เป็นครั้งที่ ๒  เขาได้รับเชิญไปปรากฏตัวในสถานที่ต่าง ๆ  ได้รับเชิญให้เข้าสมาคมที่เกี่ยวกับนักเขียนหลายแห่ง

เมื่อมีนักข่าวถามว่า อะไรสำคัญกว่ากันสำหรับเขา การบินหรือการเขียน 

เขาตอบว่าเท่ากัน
“อะไรกัน คุณตกมาจากฟ้าหรือ”
ในชีวิตของการเป็นนักบิน แซ็งแต็กซูว์เปรี “ตกมาจากฟ้า” หลายครั้ง  ครั้งแรกในวัย ๒๓ หลังจากได้รับใบอนุญาตให้บินได้เพียง ๒ ปี  และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เขาเข้าแข่งขันสร้างสถิติการบินจากปารีสไปไซ่ง่อน แต่เครื่องบินตกในทะเลทรายสะฮาราเสียก่อน  เขาและช่างเครื่องต้องเดินหลงอยู่กลางทะเลทรายถึง ๔ วัน โดยไม่มีอาหารติดตัว นอกจากกาแฟในกระติก ช็อกโกแลต และขนมปังกรอบจำนวนหนึ่ง แต่โชคดีที่ชนเผ่าเบดูอินคนหนึ่งขี่อูฐผ่านมาช่วยชีวิตไว้ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้แซ็งแต็กซูว์เปรีนำไปเล่าในเรื่อง แผ่นดินของเรา 

กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ เขาต้องการทำสถิติบินจากนิวยอร์กไปอเมริกาใต้ เขานำเครื่องบินเล็กขึ้นบินจากนิวยอร์กไปลงจอดที่กัวเตมาลา แต่เมื่อจะบินขึ้นอีกครั้งกลับไม่สำเร็จ เพราะบรรทุกน้ำมันมากเกินไป  

แซ็งแต็กซูว์เปรีได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาการผิดปรกติบางอย่างยังคงอยู่ตลอดชีวิตของเขาแซ็งแต็กซูว์เปรีตกลงมาจากฟ้าอีกสี่ครั้งหลังจากนั้น และครั้งสุดท้ายก็ไม่มีโอกาสกลับขึ้นไปบินอีกเลย
แซ็งแต็กซูว์เปรีกับซากเครื่องบิน 
Caudron C.630 Simoun ที่ตกในสะฮารา 

ลำดับชีวิต
อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี