"นักแปล"
ผู้ตีความจินตนาการ
แห่งดวงดาว ๓๓๑
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
เป็นได้ว่าในหมู่ดาวจำนวน ๕๐๑,๖๒๒,๗๓๑ ดวง (กรรมสิทธิ์ของนักธุรกิจผู้มั่งคั่งแห่งดวงดาว ๓๒๘) อาจมีรายชื่อ “ดาวเคราะห์น้อย ๓๓๑” ตั้งอยู่ไม่ห่างจากที่อาศัยของนักภูมิศาสตร์ - ชายชรารอบรู้แห่งดวงดาว ๓๓๐ เพียงแต่เจ้าชายน้อยไม่ได้แวะเยี่ยมเยียน เพราะนักภูมิศาสตร์แนะนำให้เขาเดินทางต่อไปยังโลกมนุษย์ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังกว่า จึงไม่ได้รู้ว่าดาวดวงนั้นเป็นที่อาศัยของ “นักแปล”
ทุกชีวิตบนนั้นล้วนมีหน้าที่ถ่ายทอดความหมายของข้อความในภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาโดยยังคงใจความเดิมไว้ตามต้นฉบับ พวกเขามีรสนิยมเล่นคำ-สำนวนแตกต่าง แม้แปลภาษาต้นฉบับเดียวกันเป็นภาษาเดียวกันก็ยังสรรคำที่ต่างกันแต่คงความหมายเดิมมาใช้ได้อย่างน่าทึ่ง
บนโลกก็มีนักแปลจำนวนมาก ภาษาอังกฤษได้รับการนำมาถ่ายทอดเป็นภาษาต่าง ๆ มากสุด เพราะแหล่งความรู้สมัยใหม่มักเขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งได้การยอมรับเป็นภาษากลางของโลก
ดังนั้นแทนที่ ๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ สำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก (Reynal & Hitchcock) จะส่งเพียง Le Petit Prince สำนวนภาษาฝรั่งเศสไปจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วนิวยอร์กจึงส่ง The Little Prince สำนวนภาษาอังกฤษไปด้วยโดยมี แคเทอรีน วูดส์ (Katherine Woods) เป็น “นักแปลคนแรก” ของวรรณกรรมเรื่องนี้ แต่นั้นจวบปีที่ ๗๗ Le Petit Prince ก็ไม่เคยหยุดถ่ายทอดความหมายเลย
ถือเป็นการสร้างบรรยากาศใหม่แก่วงการนวนิยายให้มีโฉมหน้าแปลกไปอย่างไร้ขอบเขต
www.petit-prince.at รวบรวมข้อมูลไว้ในหน้า “Collection of Language Versions” ว่าปัจจุบันมีผู้แปล Le Petit Prince เป็นสำนวนต่าง ๆ ทั่วโลก ๓๖๙ ภาษา ไม่นับภาษาท้องถิ่นอีกมากมาย ทั้งยังอวดงานออกแบบศิลปกรรมกันหลากหลาย อย่างข้อมูลล่าสุดที่ไม่ได้รับการบันทึกคือ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๒๐ เริ่มวางจำหน่าย Güc’cüg Pirens ภาษาเดนิซลี (Denizli) ของชาวพื้นเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ในประเทศตุรกี รูปปกแปลกตาด้วยเจ้าชายน้อยสวมชุดประจำเผ่าของเดนิซลีเต้นระบำอยู่บนดวงดาว บี ๖๑๒
เอาเข้าจริงทุกขณะที่เราต่างอ่าน เจ้าชายน้อย ในภาษาตนก็น่าจะมีภาษาอื่นจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ตลอดเวลาทั้งภาษาประจำชาติและภาษาประจำถิ่น ยังไม่นับแต่ละประเทศที่มีการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หากให้บรรดานักแปลอยู่รวมกันบนดาว ๓๓๑ ดาวดวงนั้นจึงต้องมีขนาดใหญ่กว่าที่อาศัยของนักภูมิศาสตร์สัก ๔๐๐ เท่า เพราะลำพังนักแปล เจ้าชายน้อย ประเทศไทยเท่าที่สืบรู้ก็มี ๑๐ กว่าคนแล้ว
บ้างถ่ายทอดเป็นนิยายด้วยลีลาที่สอดคล้องกับต้นฉบับ บ้างทำเป็นการ์ตูนให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยภาษากระชับ ตัดคำไม่จำเป็น เน้นรูปประโยคสั้น แต่ยังถ่ายทอดความคิดสมเหตุสมผลตามต้นฉบับ
แม้จะมีนักแปล เจ้าชายน้อย สำนวนภาษาไทยปรากฏผลงานมากมาย แต่คนไทยคุ้นเคยมากสุดกับการแปลในสำนวนของ อำพรรณ โอตระกูล เวลานั้นเธอเป็นอาจารย์สอนภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควบบทบาทโฆษกกรมประชาสัมพันธ์ รายการกระจายเสียงภาคภาษาฝรั่งเศส และมีผลงานแปลวรรณกรรมฝรั่งเศสหลายเรื่อง
แรกแปล เจ้าชายน้อย “ฉบับแรกของไทย” จึงใช้ความสามารถแปลตรงจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ส่งให้สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชเป็นผู้จัดพิมพ์ในปี ๒๕๑๒ ฐานะหนังสืออ่านสำหรับเยาวชน ก่อนได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง กระทั่งต่อมาในปี ๒๕๔๐ บริษัทคำสมัย จำกัด จัดพิมพ์ฉบับปรับปรุงเพื่อใช้เฉพาะกิจเป็นของชำร่วยงานมงคลสมรสระหว่าง คำนูณ สิทธิสมาน และ สรวงมณฑ์ งามประเสริฐสิทธิ์
ที่พิเศษคือ เจ้าชายน้อย ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เรือนปัญญา ในปี ๒๕๔๖ วาระที่วรรณกรรม เจ้าชายน้อย ครบรอบ ๖๐ ปี เป็นการนำต้นฉบับภาพวาดดั้งเดิมในรูป CD-ROM คุณภาพสูงซึ่งจัดทำโดยทายาทของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี มาตีพิมพ์ ทำให้เป็น “ฉบับพิมพ์ภาษาไทยเพียงหนึ่งเดียว” ที่มีภาพประกอบคุณภาพดีเป็นพิเศษเกิดขึ้น “ครั้งแรกในประเทศไทย” ก่อนจะพิมพ์อีกครั้งในปี ๒๕๕๓ โดยสำนักพิมพ์เรือนปัญญาเช่นเคย
สำนวนของอำพรรณมีลักษณะค่อนข้างเป็นทางการ ถือความถูกต้องของรูปแบบภาษาและตรงตามตัวอักษรเพื่อรักษาความหมายและโครงสร้างของต้นฉบับไว้ให้มากที่สุด มีบ้างที่ใช้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการใช้คำเข้ามาช่วยให้เป็นไปตามหลักการใช้ภาษาไทย
ในท้ายเล่มของ เจ้าชายน้อย ฉบับครบรอบ ๖๐ ปี สำนักพิมพ์เรือนปัญญาได้บันทึกประวัติผู้แปลไว้ตอนหนึ่งใจความว่า อำพรรณเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการถ่ายทอดวรรณกรรมของเธอ
“การแปลเป็นงานอิสระที่เปิดโอกาสให้เราได้เล่นกับภาษา...
“...ปัญหาสำคัญในการแปลคือ เมื่อต้องแปลเกี่ยวกับความคิด ภาพพจน์ หรือสำนวน ซึ่งไม่มีอยู่ในภาษาไทยเรา เช่น ความคิดทางปรัชญาตะวันตก ทางคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก ทางเทพนิยาย ฯลฯ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมฝรั่งเศส”
อำพรรณ โอตระกูล อำลาโลกมนุษย์เมื่อ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ ไม่มีใครรู้ว่าเธอไปอยู่กับนักแปลอื่น ๆ บนดาวเคราะห์น้อย ๓๓๑ ไหม แต่ผลงานเจ้าชายน้อย ที่ฝากให้โลกมนุษย์ยังคงเป็นนิรันดร์และได้รับการพิมพ์ซ้ำต่อเนื่อง ฉบับล่าสุดพิมพ์ในวาระที่วรรณกรรม เจ้าชายน้อย ครบรอบ ๗๐ ปี โดยสำนักพิมพ์จินด์
อีกสำนวนภาษาไทยที่มีผู้นิยมไม่น้อยหน้าเป็นผลงานแปลของ อริยา ไพฑูรย์
อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนผู้มีบทบาทใหม่ในฐานะเจ้าของ “ร้านหนังสือเล็ก ๆ” เป็นร้านหนังสืออิสระบนถนนยะหริ่งในตำบลบ่อยาง ย่านเมืองเก่าสงขลา ที่ใช้ความรักชอบส่วนตัวประดับแต่งร้านด้วยรูปวาด ตุ๊กตา และสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ จากตัวละครโปรดในวรรณกรรม เจ้าชายน้อย
เดอะ ลิตเติ้ล พรินซ์ ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กาลเวลาในปี ๒๕๓๓ คือผลงานแรกที่ปรากฏชื่อเธอในฐานะผู้แปลวรรณกรรม The Little Prince และพิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยเปลี่ยนปกในปี ๒๕๓๕ ไม่เพียงดึงดูดความสนใจโดยเลี่ยงไม่ใช้ “เจ้าชายน้อย” ตามชื่อเรื่องที่คุ้นเคยกันยุคนั้น สำนวนของเธอยังเด่นที่กลวิธีแปลทันสมัย บ้างแปลแบบสรุปความไม่เคร่งครัดโครงสร้างความหมาย หรือเดินตามแบบฉบับนัก
จะใช้ศิลปะโยกย้ายขยายความ ตัดทอน เปลี่ยนแปลงรูปคำหรือไวยากรณ์เข้ามาช่วยสร้างอรรถรส
ต่อมาในปี ๒๕๓๗ ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามสี อริยายังเป็นนักแปลที่มีส่วนสร้างความประหลาดใจแก่ผู้อ่านเสมอ ปี ๒๕๔๖ เธอมีโอกาสเล่นสนุกกับสำนักพิมพ์ยามเช้าเสนอหนังสือรูปแบบพิเศษ เจ้าชายน้อย Le Petit Prince ขนาด ๑๑๕x๑๖๐ มิลลิเมตร หน้าปกสีดำสนิท ประดับดาวสีเหลืองดวงเดียว ภายในเล่มไม่มีรูปประกอบเลย ทำให้ใช้กระดาษเพียง ๑๕๑ หน้า ด้วยเจตนารมณ์ที่ตั้งใจสื่อสารเรื่องบริสุทธิ์ผ่านจินตนาการตามโปรยปก
“เราจะเห็นอะไรได้ก็ด้วยหัวใจเท่านั้น
สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
ปี ๒๕๕๙ รายได้จากการจำหน่ายนำไปต่อยอดจัดพิมพ์หนังสือ เจ้าชายน้อย “ฉบับอักษรเบรลล์ภาษาไทย” แจกจ่ายห้องสมุดสำหรับผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ ความที่หนังสือมีข้อจำกัดพิมพ์ได้เล่มละ ๕๐ หน้า เจ้าชายน้อย เล่มจ้อยจึงถูกแบ่งเป็นสองเล่มใหญ่-หนา ด้วยราคาจัดทำชุดละ ๓๐๐ บาท แม้ไม่มีรูปประกอบแพรวพราวด้วยข้อจำกัดทางต้นทุน แต่นับเป็นฉบับแรกฉบับเดียวของไทยที่ทลายกำแพงในโลกการอ่าน เจ้าชายน้อย แก่ผู้พิการทางสายตา ที่แม้คนสายตาปรกติก็ยังตกหลุมรัก ฝันอยากคลำฉบับนี้สักครั้ง
[ต่อมาในโอกาสของการพิมพ์ Le Petit Prince ครบรอบ ๗๐ ปี La Fondation Antoine de Saint-Exupéry pour la jeunesse จึงได้เปิดตัวโครงการจัดพิมพ์ Le Petit Prince en Braille ขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากศาสตราจารย์โกลด การ็องด์ (Claude Garrandes) ศิลปินตาบอดชาวฝรั่งเศส ช่วยคิดการสร้างภาพวาดให้ผู้พิการทางสายตาได้รับชมเองอย่างคนทั่วไป ใช้เทคนิคการปั้นรูปนูนต่ำจากภาพในหนังสือ Le Petit Prince ที่คัดสรรมา ๒๓ ภาพเป็นต้นแบบทำปั๊มนูนลงกระดาษชนิดพิเศษที่มีความยืดหยุ่นและหนา ๓๐๐ แกรม โดยแสดงรายละเอียดไว้ครบสมบูรณ์ไม่ละเลยแม้เส้นผม หรือผ้าพันคอผืนเล็กของเจ้าชายน้อย]
ความสร้างสรรค์ของอริยายังส่งผลให้สำนวนของเธอได้รับเลือกใช้ในโอกาสแปลกใหม่เสมอ ปี ๒๕๖๑ เมื่อ เจ้าชายน้อย ครบรอบ ๗๕ ปี สำนักพิมพ์มองฟ้าก็นำมาปัดฝุ่นและพิมพ์ร่วมกับภาพประกอบที่วาดใหม่โดย เทพศิริ สุขโสภา (ศิลปินแห่งชาติ) ต่อมาไม่นานในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ ก็ทำฉบับพิเศษจำนวนจำกัด ทั้งปกอ่อนและปกแข็งออกมาเขย่าหัวใจนักสะสมให้สั่นไหวด้วยปกสองสี เล่มหนึ่งสีฟ้า อีกเล่มสีชมพู ออกแบบให้รูปเจ้าชายน้อยครึ่งหนึ่งอยู่บนปกสีหนึ่ง อีกครึ่งอยู่บนปกอีกสี จะเห็นสมบูรณ์ต่อเมื่อวางสองปกนั้นคู่กัน
วันฟ้าใหม่ กลั้นใจกลืนความง่วงฝ่าลมหนาวมายังบริเวณจัดงานตั้งแต่ตี ๓
ตลอดทางเดินที่ทอดยาวถูกกั้นเป็นช่องสำหรับต้อนรับขบวนพาเหรดของทหารและเป็นรั้วรอบกันผู้ร่วมงานทะลักล้นขวางหน้าขบวนในตัว ทางเข้าได้รับการตกแต่งเป็นซุ้มให้เดินลอด ขึงป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่มีข้อความภาษากะเหรี่ยงแปลเป็นไทยว่า “งานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยง ครบรอบ ๗๑ ปี” ขนาบข้างด้วยธงชาติกะเหรี่ยง ยิ่งความสว่างมาเยือนผู้คนก็มาถึงงานมากขึ้น จนในที่สุดก็เบียดเสียดกันด้วยความสนุก
ฝูงชนพร้อมใจสวมชุดชาติพันธุ์ มีบ้างที่สวมเสื้อสกรีนชื่องานเป็นที่ระลึก งานเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อลูกโป่งได้รับการปลดปล่อยขึ้นฟ้า ตามด้วยเสียงพลุกังวานทั่วบริเวณดั่งการประกาศก้องของอิสรภาพ ครั้นเริ่มขบวนพาเหรดของเหล่าพลทหารสับเท้าเป็นระเบียบเข้างานยิ่งเพิ่มความตื่นตาให้ผู้ร่วมงานคึกคัก ก่อนกรูเข้าจับจองพื้นที่เหมาะยืนชมนอกวงล้อมที่กำหนดให้เหลือพื้นที่ส่วนกลางสำหรับพิธีสวนสนาม
เหตุการณ์ในวงล้อมสะกดตาผู้ชมด้วยภาพทหารสามนายถือธงนำหน้าขบวน คนกลางถือธงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ขนาบข้างด้วยนายทหารที่ถือธงองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defence Organization, KNDO) และธงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army, KNLA)
“สงครามไม่ใช่แค่หยิบปืนขึ้นมายิงใส่กัน ยังทำได้ด้วยการเขียน การพูด ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับความตายที่เราไม่ได้ตายเพราะถูกยิงอย่างเดียว ยังอาจตายได้ด้วยท่อนไม้ มือเปล่า หรือยุงตัวเล็ก แม้แต่การหกล้มเพียงเล็กน้อย ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะทำสงคราม”
มีนาคม ๒๕๖๒ แฟนนักอ่านได้ตื่นเต้นกว่าเดิมเมื่อมีเปิดตัวโครงการ “เจ้าชายน้อยภาษาถิ่นไทย” โดยได้รับการสนับสนุนทุนจัดพิมพ์จากผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ฌ็อง-มาร์ก พร็อพสท์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) ที่สวิตเซอร์แลนด์ แล้วเริ่มต้นพิมพ์ลำดับแรกด้วย (เจ้าจ๋ายน่อย ฉบับภาษาล้านนาต่อด้วย (ซอปาอะโพควาชิ) ฉบับภาษาปกาเกอะญอ ผ่านการนำสำนวนแปลของอริยามา “ปริวรรต” (การแทนคำ) เป็นภาษาถิ่นอีกที เวลานี้ทั้งสองภาษากลายเป็น “แรร์ไอเท็ม” เรียบร้อย และเร็ว ๆ นี้จะมี “ภาษามลายู” ตามมา
(ซอปาอะโพควาชิ)
ฉบับภาษาปกาเกอะญอ
(เจ้าจ๋ายน่อย)
ฉบับภาษาล้านนา
ครั้งหนึ่ง อริยา ไพฑูรย์ เล่าถึงชีวิตที่ผูกพันเกี่ยวกับงานแปล เจ้าชายน้อย
“แปลร่างแรกตั้งแต่อยู่มัธยม มีครูอาสาสมัครจากอเมริกาให้หนังสือมาบอกว่าถ้าจะเรียนสายศิลป์ฝรั่งเศสให้ลองแปลเล่มนี้จะได้เรียนรู้ภาษามากกว่าในห้องเรียน ตอนนั้นแปลแบบเด็กๆ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างตามความเข้าใจตัวเอง พอโตมาทำงานเกี่ยวกับหนังสือจึงหยิบมาแปลใหม่แต่ยังคงบางสำนวนแบบเด็กๆ ไว้ เพราะคิดว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารกับเด็กๆ และภาษาของต้นฉบับก็ไม่ยากหรือซับซ้อน ที่ยากคือต้องทำความเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ต่างหาก ซึ่งตอนแปลรอบแรกในวัยมัธยมเรายังไม่เข้าใจ”
อย่างที่รู้กันว่างานเขียนทุกประเภทนักแปลจำต้องแม่นยำภาษาต่างประเทศและวาทศิลป์ภาษาไทยในการสื่อความให้คนทุกระดับเข้าใจง่ายด้วยสำนวนสละสลวยมากที่สุดและไม่ทำให้เนื้อหาผิดจากต้นฉบับ
โดยเฉพาะเมื่อเป็นวรรณกรรมที่ “เขียนขึ้นเพื่อเสียดสีสังคม” นักแปลยิ่งต้องศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของผู้คนยุคนั้นซึ่งต่างจากสังคมไทย เพื่อจะเข้าใจความหมายแฝงของผู้เขียนต้นฉบับว่าต้องการสื่อสารอะไร จะได้ถ่ายทอดจุดประสงค์นั้นไปยังผู้อ่านฉบับแปลได้ถูกต้อง
“เพราะภาษาคือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจผิด”
กลวิธีสื่อสารจินตนาการ
จึงมีความสำคัญมาก
ปูมหนังสือแปล เจ้าชายน้อย
ฉบับภาษาไทย ปี ๒๕๑๒-๒๕๖๓
รวบรวมจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ, สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร (รายการนี้อาจไม่ครบถ้วนทั้งหมด)
๒๕๑๒
อำพรรณ โอตระกูล, ผู้แปล. พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๒.
๒๕๑๕
อำพรรณ โอตระกูล, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๕.
๒๕๒๒
อำพรรณ โอตระกูล, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๒.
๒๕๓๓
บุษบง โควินท์, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๓. ISBN : 974-07-6483-5
๒๕๓๕
สมบัติ เครือทอง, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, ๒๕๓๕. ISBN : 974-230-487-4
๒๕๓๗
อริยา ไพฑูรย์, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : สามสี, ๒๕๓๗. ISBN : 974-7053-45-4
๒๕๔๐
อำพรรณ โอตระกูล, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๔๐.
๒๕๔๑
พงาพันธุ์, ผู้รวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ, ๒๕๔๑. ISBN : 974-300-090-9
๒๕๔๒
พงาพันธุ์, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ศรีสารา, ๒๕๔๒. พิมพ์ครั้งที่ ๓. ISBN : 974-300-090-9
๒๕๔๖
อริยา ไพฑูรย์, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : หนังสือยามเช้า, ๒๕๔๖. ISBN : 974-909-417-4
๒๕๔๖
อำพรรณ โอตระกูล, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : เรือนปัญญา, ๒๕๔๖. ISBN : 974-908-265-6 (ปกอ่อน), 974-909-312-7 (ปกแข็ง)
๒๕๕๓
อำพรรณ โอตระกูล, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : เรือนปัญญา, ๒๕๕๓. พิมพ์ครั้งที่ ๑๖. ISBN : 978-974-908-265-2
๒๕๕๖
พรทิพย์ อินทรพรหม, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๕๖. ISBN : 978-974-07-2204-5
๒๕๕๖
อำพรรณ โอตระกูล, ผู้แปล. เชียงใหม่ : จินด์, ๒๕๕๖. ISBN : 978-616-916-011-3
๒๕๕๙
อริยา ไพฑูรย์, ผู้แปล. นนทบุรี : ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด, ๒๕๕๙.
๒๕๖๑
อริยา ไพฑูรย์, ผู้แปล. เชียงใหม่ : มองฟ้า, ๒๕๖๑. ISBN : 978-616-805-506-9
ฉบับการ์ตูน
๒๕๕๒
นันท์นิชา หาญระพีพงศ์. ฉบับการ์ตูน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คเวฟ, ๒๕๕๒. ISBN : 97861155202512
๒๕๕๒
อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง. ฉบับการ์ตูน. กรุงเทพฯ : กำมะหยี่, ๒๕๕๒. ISBN : 978-611-900-423-8
๒๕๕๔
หวง, เย่าเจี๋ย. กระดิ่งหยก. ฉบับการ์ตูน. กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, ๒๕๕๔. ISBN : 978-974-434-595-0
๒๕๕๗
สาริณี โพธิ์เงิน. ฉบับการ์ตูน. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, ๒๕๕๗. ISBN : 9786160820665
เอกสารประกอบการเขียน
อำพรรณ โอตระกูล. เจ้าชายน้อย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๗.
. เจ้าชายน้อย ฉบับครบรอบ ๖๐ ปี. กรุงเทพฯ : เรือนปัญญา, ๒๕๔๖.