Image
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
Podcast - เจ้าชายน้อย The little prince I
จะอ่านให้คุณฟัง EP.17 - Youtube, Channel Whale read

หตุจากวันหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๔๒
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ลี้ภัยจากฝรั่งเศสระหว่างการยึดครองโดยกองทัพนาซีเยอรมันไปอาศัยอยู่นิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา กลางวันวันหนึ่งเขานัดกินข้าวกับ เคอร์ติซ ฮิตช์ค็อก (Curtice Hitchcock) บรรณาธิการสำนักพิมพ์  ระหว่างมื้อหนุ่มนักบินขีดเขียนรูปบนกระดาษเช็ดปากเช่นปรกติที่มักวาดเล่นตามกระดาษต่าง ๆ แต่ครั้งนั้นไม่เหมือนครั้งไหน เมื่อบรรณาธิการสายตาเฉียบเสนอให้นักประพันธ์เมืองน้ำหอมเขียนวรรณกรรมเกี่ยวกับเด็กชายในรูป แต่ก็มีผู้ค้านว่า “เอลิซาเบท เรย์นัล” (Elizabeth Reynal) ภรรยาของ ยูจีน เรย์นัล (Eugene Reynal) เจ้าของสำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก (Reynal & Hitchcock) ต่างหากที่เห็นลายเส้นรูปเด็กชายนั้นบ่อยเข้าจึงสนับสนุนให้แซ็งแต็กซูว์เปรีเขียนวรรณกรรม

อย่างไรก็ตามนั่นทำให้ “เจ้าชายน้อย” กำเนิดที่นิวยอร์กถือสัญชาติอเมริกัน

๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ Le Petit Prince ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสพร้อมรูปประกอบที่ผู้ประพันธ์วาดเองเผยแพร่เป็นครั้งแรกพร้อม The Little Prince สำนวนภาษาอังกฤษผ่านการแปลความของ แคเทอรีน วูดส์ (Katherine Woods) โดยสำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก และเริ่มต้นวางขายตามร้านหนังสือทั่วนิวยอร์ก  ทว่าเวลานั้นวรรณกรรมที่ “เขียนขึ้นเพื่อเสียดสีสังคม” ยังไม่ส่งให้มียอดขายมากนัก

กระทั่งเดือนถัดมาแซ็งแต็กซูว์เปรีลาจากนิวยอร์กมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาเหนือเข้าร่วมหน่วยบินลาดตระเวนหมู่ ๒/๓๓ ของกองกำลังฝรั่งเศสอิสระในแอลจีเรีย 
Image
ในการออกบินภารกิจครั้งที่ ๙ เมื่อ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เขาลาดตระเวนเหนือดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสในแถบเมืองเกรอนอบล์ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาและมีพื้นที่อยู่ติดกับเทือกเขาแอลป์ ครั้งนั้นเองที่เครื่องบินของเขาไม่หวนกลับมาอีกเลย 

ทิ้งเจ้าชายน้อยไว้เป็นผลงานสุดท้ายในชีวิตดั่งอนุสรณ์ให้รำลึกถึงมิตรภาพมนุษยชาติ เรื่องราวของเจ้าชายน้อยผู้ออกเดินทางเยือนดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในจักรวาล และได้เรียนรู้ความเหงาจับหัวใจ ความรักอันอ่อนโยน มิตรภาพบริสุทธิ์ และการสูญเสียอย่างจุกอก กลายเป็นผลงานแห่งศตวรรษที่นิยมกว้างขวางอย่างปราศจากเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เพศ ผิว วัย และเส้นแบ่งใด ๆ ที่โลกนี้มี 

นักวิจารณ์วรรณกรรมยังมองใหม่ว่าเป็นหนังสือที่มีแง่คิดงดงามเกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติของมนุษย์ ส่งผลให้ได้รับการจัดหมวดหมู่เป็นวรรณกรรมเยาวชนในเวลาต่อมา
Image
จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลมีวัตถุท้องฟ้าดาษดื่นทั่วเอกภพ 

ทั้งดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาว ดาวบริวารที่โคจรรอบดาวเคราะห์ ดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซากก๊าซที่กำเนิดดาว หรือซากก๊าซที่เกิดจากดาวระเบิด ฯลฯ  นอกจากดาวเคราะห์อย่างโลก ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ก็ยังมีดาวเคราะห์น้อยอื่นอีกนับหมื่นดวงที่อยู่ไกลกว่าดาวพลูโต ส่วนใหญ่มีขนาดเพียง ๑-๑๐ กิโลเมตร ถือว่าเล็กมากจนแทบมองไม่เห็นแม้จะส่องด้วยกล้องโทรทรรศน์ 

ถึงอย่างนั้นสิ่งที่มองไม่เห็นก็ใช่ไม่มี 

บางทีนอกระบบสุริยะที่ขยายอาณาเขตไปไกลกว่าดาวพลูโต อาจเป็นที่โคจรของ “ดาวเคราะห์น้อย บี ๖๑๒” ซึ่งมีขนาดเล็กพอ ๆ กับบ้านหลังหนึ่ง และสูงใหญ่กว่าผู้อาศัยนิดเดียว เพียงแต่ยังไม่มีนักดาราศาสตร์หรือนักบินอวกาศใดสำรวจพบแล้วหาหลักฐานยืนยัน

แม้ “เจ้าชายน้อย” เจ้าของดวงดาว บี ๖๑๒ จะเคยเล่ารายละเอียดให้นักภูมิศาสตร์แห่งดวงดาว ๓๓๐ ผู้รอบรู้เรื่องเกี่ยวกับผืนดิน ภูมิประเทศ ประชากร และปรากฏการณ์บนดาวเคราะห์ทั้งหลายฟัง 

“ดาวของผมมันเล็กมาก มีภูเขาไฟสามลูกที่ยังคุกรุ่นอยู่สองลูก ส่วนอีกลูกที่ดับสนิทแล้วก็ไม่อาจวางใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า...ผมมีดอกไม้ดอกหนึ่งด้วย เป็นสิ่งที่งดงามยิ่งนัก”

และแซ็งแต็กซูว์เปรี - ผู้ประพันธ์ ก็สนับสนุนว่า มีเหตุผลเชื่อถือได้ว่าดาว บี ๖๑๒ ที่เจ้าชายน้อยอาศัยมีอยู่จริง เพราะเคยมีนักดาราศาสตร์ชาวตุรกีส่องกล้องพบแล้ว
Image
...เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๙ เขาเสนอการค้นพบแก่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะแต่งกายแปลกเกินไป...นักดาราศาสตร์จึงแต่งตัวอย่างสง่าไปเสนอการค้นพบอีกใน ค.ศ. ๑๙๒๐ คราวนี้ทุกคนก็เชื่อ...

อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๘ ก็ได้ปรากฏกลุ่มดาว “The Little Prince” ไปทั่วโลกแล้ว

แม้ไม่ใช่กลุ่มดาวแสงที่เพิ่มเติมจาก ๘๘ กลุ่มดาวที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) กำหนด เพราะเป็น “กลุ่มดาวรังสีแกมมา” ที่วาดภาพกลุ่มดาวขึ้นจากแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาในอวกาศ ซึ่งอาจเป็นการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมหาศาลหรือดาวนิวตรอนที่เกิดจากการยุบตัวลงหลังการระเบิดของดาวฤกษ์ หรืออาจเป็นหลุมดำ  นาซาส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีแกมมาเฟอร์มิ (Fermi Gamma-ray Space Telescope) ขึ้นไปศึกษารังสีแกมมาซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าตั้งแต่
ค.ศ. ๒๐๐๘ จนพบแหล่งกำเนิดรังสีแกมมามากกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากพอ ๆ กับดาวสว่าง ๆ ที่เรามองเห็นบนท้องฟ้าจากพื้นโลก ในวาระการใช้งานกล้องเฟอร์มิครบ ๑๐ ปี องค์การนาซาจึงร่วมกับนักวิจัยด้านดาราศาสตร์ทั่วโลกประกาศแต่งตั้งกลุ่มดาวรังสีแกมมาจำนวน ๒๑ กลุ่ม โดยตั้งชื่อจากตัวเอกในภาพยนตร์ สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียง นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เช่น ก็อดซิลล่า ไอน์สไตน์ หอไอเฟล ฯลฯ

กลุ่มดาว “เจ้าชายน้อย” ได้รับเลือกในฐานะวรรณกรรมชื่อดังของฝรั่งเศสที่อยู่ในดวงใจคนทั่วโลก เท่านี้ก็นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่สุดของคนรักเจ้าชายน้อย เพราะคืนใดที่มองท้องฟ้า-เงี่ยหูฟังเสียงหัวเราะของดวงดาวที่เหมือนเสียงของลูกกระพรวน ๕๐๐ ล้านลูก ก็อาจจินตนาการได้ว่ายังมีกลุ่มดาวเจ้าชายน้อยที่มีเด็กชายเล็ก ๆ ผมสีทองยืนอยู่ แม้เราจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ส่วนดาวเคราะห์น้อย บี ๖๑๒ อันแสนลึกลับ นับแต่นักดาราศาสตร์ชาวตุรกีส่องกล้องพบเมื่อ ๑๑๑ ปี ก็ยังไม่มีใครได้พบอีก
“ดาวของผมมันเล็กมาก มีภูเขาไฟสามลูกที่ยังคุกรุ่นอยู่สองลูก ส่วนอีกลูกที่ดับสนิทแล้วก็ไม่อาจวางใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า...ผมมีดอกไม้ดอกหนึ่งด้วย เป็นสิ่งที่งดงามยิ่งนัก”
“เจ้าชายน้อย” 
ร่างอวตารวัยเยาว์
ของแซ็งแต็กซูว์เปรี

“นักจินตนาการ” เป็นคำจำกัดความกระชับสุดของ “เจ้าชายน้อย”

และเขาอาจคือ “ร่างอวตารวัยเยาว์” ของแซ็งแต็กซูว์เปรี - ผู้เขียน

เป็นได้ว่าเจ้าชายน้อยมีอายุเพียง ๖ ขวบ จากการที่ผู้ประพันธ์เชื่อมโยงช่วงวัยที่เขาวาดรูปงูเหลือมกลืนช้าง หลายครั้งเจ้าชายน้อยมีคมคิดเกินเด็ก ทุกครั้งที่อ่านเรื่องราวของเขา เราจึงได้รู้จักอุปนิสัยใจคิดของเขาลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ

…ผมเห็นเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่ง ลักษณะแปลกมาก ยืนมองดูผมอย่างเคร่งขรึม...เขาไม่มีท่าทีหลงทาง เหนื่อยล้า หิวโหย กระหายน้ำ หรือเกรงกลัวใด ๆ ไม่เหมือนว่าเป็นเด็กหลงทางกลางทะเลทราย...

คือภาพแรกเห็นเมื่อนักบินสะดุ้งตอนรุ่งสางจากเจ้าของเสียงเล็ก ๆ ที่เซ้าซี้ให้วาดรูปแกะ ต่อเมื่อได้รูปที่พอใจจึงได้รู้ราง ๆ เกี่ยวกับการปรากฏตัวอย่างลึกลับของเด็กชาย

Image
“คุณมาจากท้องฟ้าเหมือนกันหรือ ! 
แล้วคุณมาจากดาวดวงไหนล่ะ ?”

เจ้าชายน้อยถามและไม่ได้รอคำตอบ กลับชวนคุยเรื่องแกะอีก ครั้นนักบินจะวาดเชือกและหลักผูกให้ด้วย เจ้าชายน้อยก็สะดุ้งก่อนเผยรายละเอียดสถานที่ที่เขาจากมาทีละนิด

“...บ้านผมเล็กนิดเดียว” “ตรงไปข้างหน้าเรา ไปได้ไม่ไกลหรอก...”

และก็เพราะลูกแกะจึงทำให้ได้ข้อมูลที่ปะติดปะต่อเพิ่มเรื่อย ๆ

“จริงหรือที่ลูกแกะมันกินพุ่มไม้...อย่างนั้นก็กินต้นเบาบับด้วยสิ”

เมื่อนักบินคาดว่าเด็กน้อยหวังให้ลูกแกะช่วยกินต้นเบาบับตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า เขาจึงเดาว่าบนดาวของเจ้าชายน้อยน่าจะมีเมล็ดพันธุ์เลวอย่างเบาบับรุกรานอยู่ ขืนปล่อยไว้อาจหยั่งรากลึกลงดินจนทำให้ดวงดาวเล็ก ๆ ปะทุแตกกระจายได้

เป็นเหตุผลให้ต้องคอยกำจัดตั้งแต่ยังเป็นต้นอ่อนทุกวัน และคงดีถ้ามีลูกแกะมาช่วยกินบ้าง 

นอกจากนี้กิจวัตรของเขายังต้องขูดเขม่าทำความสะอาดปล่องภูเขาไฟทั้งสามลูกซึ่งสูงเพียงหัวเข่าของเจ้าชายน้อย ภูเขาไฟจึงคล้ายเป็นปล่องไฟในบ้านมากกว่า แม้ขนาดของดาวที่เจ้าชายน้อยอาศัยยังยากระบุเป็นตัวเลข แต่ก็คงเล็กมาก เพราะเพียงเลื่อนเก้าอี้ไปสองสามก้าวก็ได้ชมดวงอาทิตย์ตกทุกเมื่อตามต้องการแล้ว

“แต่ละวันผมเห็นดวงอาทิตย์ตก ๔๓ ครั้ง...ห้วงเวลาแสนเศร้าคนเราชอบดูดวงอาทิตย์ตก”
Image
“ดอกกุหลาบ” 
ความรักบนดาวดวงเล็ก

เจ้าชายน้อยมักเผลออ่อนไหวอย่างไม่รู้ตัวเสมอโดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับ “ดอกกุหลาบ”

วันแรกที่เดินทางถึงโลกมนุษย์แล้วปีนขึ้นบนภูเขาสูงใหญ่ลูกหนึ่ง ไม่ว่าเจ้าชายน้อยจะตะโกนทักทายอย่างไรก็มีเพียงเสียงก้องเท่านั้นที่สะท้อนกลับ แม้ใจหนึ่งนึกตำหนิว่าโลกนี้ช่างแปลก คงมากด้วยมนุษย์ที่ขาดจินตนาการ เอาแต่พูดตามในสิ่งที่คนอื่นพูดให้ตนฟัง ก็ยังมีแก่ใจประหวัดถึงใครพร้อมกัน

“ที่โลกของผมมีดอกไม้ดอกหนึ่ง มักเป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อนเสมอ”

ยิ่งเดินฝ่าทะเลทราย หินผา และหิมะไปเจอสวนที่มีกุหลาบถึง ๕,๐๐๐ ต้น ยิ่งคิดถึงดอกไม้ของเขาเพราะช่างเหมือนหมู่กุหลาบในสวน และทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ เพราะกุหลาบของเขาเคยโอ้อวดว่า เธอเป็นดอกไม้ชนิดเดียวที่มีอยู่ในจักรวาล ไม่เพียงแต่ถ้าเธอรู้เข้าคงอายมาก เขาก็ละอาย

“ผมเคยเข้าใจว่าตัวเองร่ำรวยเพราะเป็นเจ้าของดอกไม้ที่มีเพียงดอกเดียว แต่เปล่าเลย ผมมีกุหลาบธรรมดาดอกหนึ่งเท่านั้น...มันไม่ได้ทำให้กลายเป็นเจ้าชายที่สลักสำคัญอะไรเลย”

และเขายังสะเทือนใจเมื่อนึกถึง “หนามของดอกไม้” เป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกับนักบินที่มัวแต่ซ่อมเครื่องบินจนไม่สนใจที่มาของหนาม 
“ดอกไม้สร้างหนามมาหลายล้านปีและแกะก็กินดอกไม้มาหลายล้านปี นี่ไม่สำคัญพอจะหาที่มาว่าดอกไม้มีหนามทำไมหรือ สงครามของแกะกับดอกไม้ไม่สำคัญหรือ...ถ้าผมรู้จักดอกไม้ที่มีเพียงดอกเดียวเฉพาะบนดาวของผม แล้ววันหนึ่งมีลูกแกะมาทำให้ดอกไม้อันตรธานไปโดยที่มันไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป นี่ก็ยังไม่สำคัญหรือ ! ...”
เหตุการณ์นั้นทำให้นักบินตระหนักว่าโลกนี้ไม่ควรมีเหตุผลใดทำให้ความเดือดร้อนของผู้อื่นสำคัญน้อยกว่าความเป็นความตายของตน เขาจึงวาดปลอกปากให้ลูกแกะและเกราะป้องกันตัวให้ดอกไม้เพิ่ม

เมื่อน้ำดื่มหยดสุดท้ายหมด นักบินและเจ้าชายน้อยก็ออกเดินหาบ่อน้ำกลางทะเลทรายจนถึงค่ำมืดอยู่ใต้แสงดาว เจ้าชายน้อยพูดว่า 
“ดวงดาวสวยจัง เป็นเพราะดอกไม้
ดอกเดียวที่เรามองไม่เห็น” 

กระทั่งเจ้าชายน้อยอ่อนเพลียหลับไป นักบินจึงอุ้มเขาไว้และออกเดินหาบ่อน้ำต่อพลางพึมพำกับตัวเอง

“สิ่งที่เจ้าชายน้อยทำให้ฉันประทับใจที่สุดคือความซื่อสัตย์ที่เขามีต่อดอกไม้ เป็นภาพของกุหลาบดอกหนึ่งที่จรัสแสงเสมอในตัวเขาดุจเปลวตะเกียงแม้ขณะหลับอยู่”
Image
อันที่จริงบนดาวเคราะห์น้อย บี ๖๑๒ ยังมีดอกไม้เล็ก ๆ ชนิดอื่น

เป็นพวกวัชพืชบานปะปนกอหญ้ายามเช้าและเหี่ยวเฉายามเย็น 

แต่สำหรับ “ดอกไม้ดอกหนึ่ง” อยู่ ๆ ต้นอ่อนก็แตกหน่อขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน เจ้าชายน้อยคอยสังเกตอย่างใส่ใจ เพราะอาจเป็นเบาบับพันธุ์ใหม่ แต่หน่ออ่อนนั้นก็ไม่ได้เติบโตเป็นต้นใหญ่ กลับมีท่าทีจะออกดอก เจ้าชายน้อยจึงเฝ้าดูดอกตูมนั้นโตขึ้นเรื่อย ๆ จนเบ่งบานเป็นดอกไม้แย้มกลีบงาม 

เจ้าชายน้อยอดชื่นชมไม่ได้ “เธอสวยจังเลย !”

“จริงหรือจ๊ะ” ดอกไม้ตอบรับอย่างอ่อนโยน “และฉันก็เกิดพร้อมดวงอาทิตย์ขึ้นด้วยละ”

เจ้าชายน้อยรู้ทันทีว่าเธอเป็นดอกไม้ที่ไม่รู้จักถ่อมตัวเอาเสียเลย แต่ก็สวยจับใจจริง ๆ 

“ฉันคิดว่าถึงเวลาอาหารเช้าแล้วนะ ถ้านายจะกรุณาคิดถึงฉันสักนิด”

ทั้งที่กำลังงุนงง เจ้าชายน้อยก็อุตส่าห์ไปหาบัวรดน้ำให้ 

หลายครั้งที่เขาพยายามดูแลอย่างดีดอกไม้ก็ยังชอบทำให้เจ็บปวดใจ เพราะความหลงตัวเองและขี้ประชดประชัน บางทีเย็นชาใส่ และมักเรียกร้องการบริการ เมื่อพลั้งทำสิ่งผิดพลาดเองก็กลับโยนให้เจ้าชายน้อยเป็นฝ่ายรู้สึกผิด 

เช่นวันหนึ่งขณะคุยเรื่องหนามแหลม ดอกไม้ก็โอ้อวดเกินจริง “ให้เสือมาพร้อมเขี้ยวเล็บของมันได้เลย !” ทั้งที่บนดาวของเจ้าชายน้อยไม่มีเสือ และเสือก็ไม่กินพวกไม้มีหนาม
“ฉันไม่กลัวเสือสักนิด แต่กลัวลม นายไม่มีที่บังลมหรือ...ตอนเย็นต้องหาอะไรมาครอบฉันไว้นะ บนดาวของนายช่างแห้งแล้งจริง ตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะเลย ไม่เหมือนที่ที่ฉันมา...” 
ด้วยเหตุนี้แม้จะรักและปรารถนาดีต่อดอกไม้เพียงใดเขาก็รู้สึกสับสน เช้าวันหนึ่งจึงตัดสินใจถอนต้นเบาบับที่เพิ่งขึ้นใหม่ รดน้ำให้ดอกไม้เป็นครั้งสุดท้าย และเตรียมฝาแก้วมาครอบกันลมให้อย่างเศร้าสร้อย 

“ลาก่อน” เขาพูดกับดอกไม้ เธอไม่ตอบอะไร เขาจึงพูดอีกครั้ง “ลาก่อน”

ดอกไม้กระแอมเบา ๆ แต่ไม่ใช่เพราะเป็นหวัด ครั้งนี้ไม่มีคำพูดค่อนขอด 

“ฉันรักนายนะ” ดอกไม้เผย “นายไม่เคยรู้เลยใช่ไหม คงเป็นความผิดของฉันเอง แต่ช่างเถอะ นายก็โง่พอกับฉันนั่นละ ขอให้นายมีความสุขแล้วกัน ทิ้งฝาครอบแก้วนั่นไปเถอะ ฉันไม่ต้องการหรอก”

แม้เจ้าชายน้อยจะถามถึงอันตรายจากลมและสัตว์ แต่ดอกไม้ก็บอกปัดต่าง ๆ นานา ว่าเธอจะอยู่ดีไม่เป็นอะไรหรอก

“อย่ามัวพิรี้พิไรให้น่ารำคาญเลย ตัดสินใจจะไปแล้วก็ไปเถอะ” 

นั่นเพราะเธอไม่ต้องการอ่อนแอให้เขาเห็นน้ำตา ช่างเป็นดอกไม้ที่หยิ่งทะนงเหลือเกิน

ดังนั้นเมื่อเจ้าชายน้อยจัดการสิ่งต่าง ๆ บนดวงดาวเรียบร้อยแล้ว พอมีฝูงนกป่าย้ายถิ่นผ่านมาจึงถือโอกาสอำลาดาวเคราะห์น้อย บี ๖๑๒ ไปพร้อมฝูงนกอพยพนั้น

ทว่าเป็นการหนีที่เจ็บปวดกว่า เพราะคอยคิดถึงความหลังที่ผูกหัวใจไว้ตรงนั้น
Image
สิ่งที่คนหนึ่งรู้จัก อีกคนอาจไม่รู้จัก 

เมื่อ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี จะบอกว่าโลกนี้มีมนุษย์ประเภทใดบ้าง บางครั้งเขาก็เล่าเปรียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งที่ไม่น่าเปรียบกัน บางครั้งนำส่วนที่เหมือนกับสิ่งที่คุ้นเคยมาเทียบ บางทีก็เลี่ยงการเล่าสิ่งที่ไม่ควรโจ๋งครึ่มผ่านสำนวนอ้อม ๆ 

ยากตรงต้องตีความ ถึงอย่างนั้นการแกะรอยกระบวนคิดที่แฝงในตัวละครก็เป็นเรื่องสนุก

นับแต่ก้าวออกจากดาว บี ๖๑๒ โดยอาศัยฝูงนกป่า ๑๑ ตัว เป็นพาหนะเคลื่อนที่สู่เอกภพเจ้าชายน้อยเจอนี่...
Image
“พระราชา” นักปกครอง
แห่งดวงดาว ๓๒๕

ที่ประทับของพระราชาคือดาวดวงแรกที่เจ้าชายน้อยแวะเยี่ยมเยือน

แม้พระองค์ประทับบนบัลลังก์ธรรมดา ๆ ยังดูสง่าผ่าเผย แต่อาณาเขตดวงดาวแทบไม่เหลือที่ว่างต้อนรับใครอีก เพราะถูกปกคลุมด้วยฉลองพระองค์หรูหราประดับผ้าขนสัตว์สีแดงเข้มที่มีชายผ้ากรอมพื้น  คำสั่งของพระองค์ยังถือเป็นเด็ดขาดที่ทุกคนต้องเคารพ เมื่อเจ้าชายน้อยยืนหาวด้วยอ่อนเพลียจากการเดินทางจึงถูกสั่งห้าม

เจ้าชายน้อยชี้แจงว่าเขากลั้นไม่ได้ พระราชาจึงอนุญาตโดยสั่งให้หาว แต่เขากลับรู้สึกอายจนหาวไม่ออก  

เจ้าชายน้อยสงสัยว่าบนดาวเล็กนี้จะมีอะไรให้ปกครอง พระราชาตรัสตอบว่าทุกสิ่ง พลางโบกพระหัตถ์ไปรอบดาวนี้และดาวอื่น ๆ โดยรอบ แสดงสถานะผู้ทรงอำนาจสูงสุดทั่วจักรวาล 

“และดวงดาวทั้งหมดก็ล้วนเชื่อฟัง ข้าไม่ยอมให้ใครอยู่นอกโอวาทหรอก”

เป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าชายน้อยอัศจรรย์ใจ เขาจึงขอให้พระราชาสั่งให้ดวงอาทิตย์ตก แต่พระราชาตอบว่าเราต้องไม่ขอให้ใครทำอะไรเกินความสามารถของเขา

“เจ้าจะได้ ฉันจะสั่งดวงอาทิตย์ แต่ฉันต้องรอเงื่อนไขที่เหมาะสม”

เจ้าชายน้อยตัดสินใจออกเดินทางต่อ แม้พระราชามีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งเจ้าชายน้อยเป็นรัฐมนตรีว่าความยุติธรรม ทั้งที่ดาวนี้ไม่มีใครอาศัยจึงไม่มีผู้ร้องทุกข์ให้ตัดสินคดี และยังพยายามโน้มน้าวด้วยตำแหน่งเอกอัครราชทูต

เจ้าชายน้อยถอนใจ และไม่สนใจคำสั่งใดที่ตามหลังมาอีก

เพื่อถอยห่าง...พวกคนใหญ่คนโตที่ชอบวางอำนาจบงการผู้อื่น
Image
“ชายสวมหมวก”
คนหลงตนแห่งดวงดาว ๓๒๖

ที่อาศัยของชายสวมหมวกคือดาวดวงต่อมาที่เจ้าชายน้อยแวะเยี่ยมเยือน

“ปรบมือหน่อยสิ”

เขาแนะนำ เมื่อเจ้าชายน้อยทำตามจึงโค้งคำนับพลางถอดหมวก เด็กน้อยรู้สึกสนุกกว่าตอนไปดาวพระราชาจึงปรบมือชุดใหญ่ ชายหลงตนก็โค้งคำนับพลางถอดหมวกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“หนูชื่นชมฉันมากเลยใช่ไหมล่ะ”

เขาถามเจ้าชายน้อย แต่เด็กชายไม่เข้าใจความหมายของชื่นชม “แปลว่าหนูยอมรับว่าฉันหล่อที่สุด แต่งตัวดีที่สุด รวยที่สุด และฉลาดที่สุดบนดาวดวงนี้ไง”

เจ้าชายน้อยท้วงว่าจะมีประโยชน์อะไรเมื่อบนดาวดวงนี้มีแต่เขาอยู่ พลางยักไหล่ก่อนออกเดินทางต่อเพื่อถอยห่าง...ผู้ใหญ่ที่ยึดติดอยู่กับความลุ่มหลงในตนเอง
Image
“นักดื่ม” จอมขี้เมา
แห่งดวงดาว ๓๒๗

ที่อาศัยของนักดื่มคือดวงดาวลำดับ ๓ ที่เจ้าชายน้อยแวะเยี่ยมเยือน

แม้อยู่บนดาวดวงนี้เพียงช่วงเวลาน้อยนิดกลับสร้างความสลดใจมาก เมื่อเจ้าชายน้อยสงสัยว่าชายตรงหน้าที่เอาแต่นั่งเอียงคออยู่หน้าขวดเหล้ากองโตที่มีทั้งขวดเปล่าและยังมีเหล้าเต็มขวดนั้นกำลังทำอะไร และทำไมต้องดื่ม

“เพื่อลืมอะไรบางอย่าง...ลืมเรื่องน่าอับอาย...อายเรื่องที่ต้องดื่มเหล้าน่ะสิ” 

สิ้นคำตอบเขาก็นิ่ง เมื่อดาวทั้งดวงเงียบงันเด็กน้อยจึงจากไปอย่างงงงวย

เพื่อถอยห่าง...ผู้ใหญ่ที่ติดกับความเครียดจากการจัดการปัญหาของตนอย่างวกวน
Image
“นักธุรกิจ” 
ผู้มั่งคั่งแห่งดวงดาว ๓๒๘

ที่อาศัยของนักธุรกิจคือดวงดาวลำดับ ๔ ที่เจ้าชายน้อยแวะเยี่ยมเยือน

เขาหมกมุ่นกับตัวเลขจนไม่มีเวลาเงยหน้าทักทายหรือจุดบุหรี่มวนใหม่ คอยบวกเลขจากเลขหลักเดียวไปถึง ๕๐๐ ล้าน

เจ้าชายน้อยอยากรู้ว่า ๕๐๐ ล้านนั้นหมายถึงอะไร ถามแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบจึงถามใหม่

“หมายถึงสิ่งเล็ก ๆ เปล่งประกายแสงสีทองที่บางคืนจะมองเห็นได้บนท้องฟ้า...พวกคนขี้เกียจชอบเก็บไปฝันหวาน แต่ฉันเป็นคนเอาการเอางาน ไม่มีเวลานั่งฝันแบบนั้นแน่”

พอเจ้าชายน้อยรู้ว่าคำตอบคือดวงดาวก็ยิ่งสงสัยว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับจำนวน ๕๐๐ ล้านดวง

นักธุรกิจตอบว่า “ฉันเป็นเจ้าของพวกมันน่ะ”

เจ้าชายน้อยมิวายสงสัยว่าจะเป็นเจ้าของดวงดาวมากมายเพื่ออะไร

นักธุรกิจบอกว่าจะได้มั่งคั่งและกว้านซื้อดาวดวงใหม่  เจ้าชายน้อยจึงได้รู้ว่านักธุรกิจคิดวกวน เช่นเดียวกับชายนักดื่ม แต่เขาทำอะไรกับดวงดาวบ้าง ในเมื่อมันพกไปใช้งานไม่ได้เหมือนผ้าพันคอ และเด็ดมาเชยชมไม่ได้อย่างดอกไม้ที่เขามี

“ฉันฝากในธนาคารได้...จดจำนวนดาวทั้งหมดลงกระดาษ เก็บใส่ลิ้นชักล็อกกุญแจ เท่านี้ก็ได้แล้ว !”

เป็นเรื่องแปลกเท่าที่เจ้าชายน้อยเคยได้ยิน เพราะเรื่องจริงจังของเขาต่างจากพวกผู้ใหญ่เหลือเกิน

เจ้าชายน้อยจึงลาจากดาวดวงนั้น

เพื่อถอยห่าง...ผู้ใหญ่ที่ถือครองสมบัติบนกระดาษโดยไม่ทำประโยชน์อะไรที่แท้จริงเลย
Image
“คนจุดโคม” ผู้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่
แห่งดวงดาว ๓๒๙

ที่อาศัยของคนจุดโคมคือดวงดาวลำดับ ๕ ที่เจ้าชายน้อยแวะเยี่ยมเยือน

เป็นดาวขนาดน้อยนิด มีพื้นที่สำหรับตั้งเสาไฟและให้คนจุดโคมยืนได้เท่านั้น 

ตอนที่เจ้าชายน้อยไปถึงเขากำลังดับไฟในโคมและอีกเดี๋ยวก็จุดไฟในโคมใหม่

“มันเป็นหน้าที่ ต้องทำตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย”

เขาทำซ้ำ ๆ อยู่เช่นนั้นสลับกับซับเหงื่อบนหน้าผากด้วยผ้าเช็ดหน้าลายตารางหมากรุกสีแดง เพราะทุกวันนี้เขาต้องจุดและดับโคมไฟทุกนาที จากที่เคยจุดแค่เช้าและเย็น มีเวลาพักและเวลานอน เพราะดาวหมุนเร็วขึ้น ๆ ทุกปี 

เด็กชายเฝ้ามองเขาทำงานด้วยความรู้สึกชื่นชมคนจุดโคมผู้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ 

แม้สิ่งที่ชายผู้นี้ทำอยู่อาจถูกค่อนขอดจากพระราชา ชายหลงตน นักดื่ม หรือนักธุรกิจก็ได้ แต่เป็นผู้ที่เจ้าชายน้อยอยากผูกมิตรด้วยที่สุด เพราะเขาไม่ได้นึกถึงแต่ตนเอง งานของเขามีคุณค่า ทุกครั้งที่จุดโคมก็คล้ายกำเนิดดาวสุกสกาวขึ้นอีกดวงหรือเพิ่มดอกไม้อีกดอก

เสียดายก็แต่พื้นที่แคบเกินจะอยู่สองคน เด็กชายจึงต้องออกเดินทางต่อ

เพื่อถอยห่าง...ให้ใครบางคนได้ทำประโยชน์ในหน้าที่อย่างแข็งขันต่อไป
“นักภูมิศาสตร์” 
ชายชรารอบรู้แห่งดวงดาว ๓๓๐

ที่อาศัยของนักภูมิศาสตร์คือดวงดาวลำดับ ๖ ที่เจ้าชายน้อยแวะเยี่ยมเยือนดาวดวงนี้ใหญ่กว่าดวงก่อนสัก ๑๐ เท่า มีชายชรานักภูมิศาสตร์กำลังเขียนหนังสือเล่มใหญ่  

เจ้าชายน้อยถามว่าบนดาวนี้มีมหาสมุทร ภูเขา ชุมชน แม่น้ำ และทะเลทรายไหม นักภูมิศาสตร์กลับไม่รู้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเขา เขาเพียงสอบถามและจดบันทึกข้อมูลจากนักสำรวจ

“เรื่องไหนน่าสนใจจึงตรวจสอบความจริงจากเขาอีกที... เพราะนักสำรวจที่โกหกจะสร้างความเสียหายต่อตำราภูมิศาสตร์ นักสำรวจขี้เมาก็ด้วย...ว่าแต่ เจ้าก็เป็นนักสำรวจจากแดนไกล เล่าเรื่องดวงดาวของเจ้าให้ฟังหน่อยสิ”

ชายชราเปิดบันทึกเล่มใหญ่ เหลาดินสอเตรียมร่างเรื่องดาวของเจ้าชายน้อย
Image
เด็กชายเล่าถึงลักษณะดาวว่าเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง โดยไม่ลืมดอกไม้ดอกหนึ่ง

“เราไม่บันทึกเรื่องดอกไม้...เพราะไม่ยั่งยืน...ตำราภูมิศาสตร์ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา อีกนมนานกว่าจะเกิดการเคลื่อนที่ของภูเขาหรือน้ำในมหาสมุทรจะเหือดแห้ง เราจึงจดเฉพาะสิ่งที่เป็นนิรันดร์”

เด็กน้อยไม่เข้าใจ ทีภูเขาไฟดับแล้วอาจคุอีกยังถือว่ายั่งยืนแต่ดอกไม้กลับไม่ใช่

นักภูมิศาสตร์พยายามอธิบายว่าภูเขาต่างจากดอกไม้ที่จะถูกทำลายในเวลารวดเร็ว

เด็กชายรู้สึกหดหู่ใจเป็นครั้งแรก เพราะดอกไม้มีเพียงหนามเล็ก ๆ สี่อันไว้ป้องกันอันตรายจากทุกสิ่ง แต่เขากลับทอดทิ้งให้อยู่ลำพังบนดวงดาว ถึงอย่างนั้นก็ทําใจเข้มแข็งไว้แล้วขอให้นักภูมิศาสตร์ช่วยชี้แนะว่าเขาควรจะออกเดินทางไปไหนต่อดี

“ไปโลกมนุษย์สิ มันมีชื่อเสียงโด่งดัง...” 

แม้จะคิดคำนึงถึงแต่ดอกไม้ เจ้าชายน้อยก็ตัดสินใจออกเดินทาง 

เพื่อถอยห่าง...สิ่งที่เผลอเอาหัวใจไปผูกไว้กับความไม่จีรังยั่งยืน
Image
และแล้วฝูงนกป่าอพยพก็นำพาเจ้าชายน้อยสู่ “โลก” เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ ๓ จากดวงอาทิตย์ ซึ่งในปีหนึ่งต้องใช้จำนวนวันมากถึง ๓๖๕ หรือ ๓๖๖ วัน สำหรับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นดวงดาวที่มีขนาดใหญ่มากสุดนับแต่เจ้าชายน้อยออกเดินทางพบ

มีกษัตริย์ถึง ๑๑๑ องค์ นักภูมิศาสตร์ ๗,๐๐๐ คน นักธุรกิจ ๙ แสนคน นักดื่มขี้เมาราว ๗ ล้านครึ่ง คนหลงตัวเองอีก ๓๑๑ ล้าน รวม ๆ แล้วก็มีพวกผู้ใหญ่อยู่ด้วยกันนับ ๒,๐๐๐ ล้านคน

แผ่นดินขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันบนพื้นดาวโลกแบ่งเขตอาศัยเป็นหกทวีป คือ อเมริกา เอเชีย ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกา  ถ้าเป็นทวีปเดียวกันจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ (ไม่รวมพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำ) และมีเขตแดนเด่นชัดทางภูมิศาสตร์ สมัยที่โลกนี้ยังไม่มีไฟฟ้า ยามค่ำคืนผู้คนจะจุดโคมไฟ ถ้าต้องการให้สว่างไสวทั่วทวีปอาจต้องใช้ประชากรถึง ๔๖๒,๕๑๑ คน ผู้คนแต่ละทวีปจะปฏิบัติหน้าที่หมุนเวียนกัน เริ่มจากผู้มีอาชีพจุดโคมของนิวซีแลนด์และออสเตรเลียจุดเสร็จแล้วเข้านอน ต่อมาจึงเป็นรอบของคนจุดโคมไฟเมืองจีนและไซบีเรีย ค่อยเวียนถึงชาวรัสเซียและอินเดีย แล้วส่งหน้าที่ต่อให้ชาวแอฟริกาและยุโรป จนถึงคิวของชาวอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ มีเพียงคนจุดโคมที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้เท่านั้นที่ได้ใช้ชีวิตเรื่อยเฉื่อย ไม่ต้องรีบเร่งทำงาน เพราะพวกเขามีหน้าที่จุดโคมเพียงปีละสองครั้ง 

(ถ้าคนจุดโคมผู้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่แห่งดาว ๓๒๙ รู้เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนะ !) แต่น่าแปลกว่าตอนเจ้าชายน้อยมาถึงกลับไม่พบใครจนอดกังวลไม่ได้ว่าจะเดินทางมาดาวผิดดวงดีที่พบ “วงแหวนสีพระจันทร์” ขยับตัวขยุกขยิกบนพื้นทราย
“งูเหลือม” ปริศนาแห่ง
การเริ่มต้นและจบลง

ตลอดชีวิตของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี มีผลงานนวนิยายจำนวนมาก

ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอาชีพนักบินของเขาและโลกของสงครามมีเพียง Le Petit Prince ที่ใช้ศิลปะการเล่าเรื่องผ่านสัญลักษณ์น่ารักมากมายในโลกจินตนาการ 

…ตอน ๖ ขวบ ฉันเจอรูปน่าทึ่งในหนังสือป่าดงดิบชื่อ “ประวัติชีวิตธรรมชาติ” เป็นรูปงูเหลือมกลืนสัตว์ป่า...ในหนังสือบรรยายว่า “งูเหลือมกลืนเหยื่อทั้งตัวโดยไม่เคี้ยว จากนั้นก็ไม่สามารถเคลื่อนตัวไปไหนต้องนอนย่อยอาหาร ๖ เดือน” ฉันติดใจเรื่องชีวิตผจญภัยในป่าดงดิบมากจึงวาดรูปด้วยดินสอจนเสร็จ...
Image
นักบินในวัยเด็กอวดผลงานชิ้นเยี่ยมแก่พวกผู้ใหญ่ ถามว่ากลัวไหม พวกเขาตอบ “ทำไมหมวกถึงทำให้คนกลัวล่ะ ?”

“ผู้ใหญ่ไม่เคยเข้าใจโลกจินตนาการ” คือสิ่งสะท้อนที่ผู้ประพันธ์เปิดเรื่อง เจ้าชายน้อย

ไม่มีใครรู้ว่า “งูเหลือมกลืนช้าง” คือความจริงวัยเยาว์หรือซ่อนความนัยผ่านรูปภาษา 

แต่ไม่ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ สิ่งแรก-สุดท้ายที่เจ้าชายน้อยได้พานพบบนโลกก็คือ “งู”

“ว่าแต่นายมาทำอะไรที่นี่”

เจ้าชายน้อยเล่าให้งูฟังว่ากำลังมีปัญหากับดอกไม้ นาทีถัดมาทั้งคู่ก็เงียบไปก่อนที่เด็กชายจะถามถึงผู้คนบนโลกว่าอยู่ที่ไหน เหตุใดเหลือเพียงเขาโดดเดี่ยวกลางทะเลทราย

“ถึงอยู่ท่ามกลางผู้คน เราก็ยังคงโดดเดี่ยว”

แล้วเด็กชายตัวเล็กก็เปลี่ยนเรื่องคุยหลังสังเกตลักษณะแปลกตาของงูมาสักพักว่าดูผอมราวนิ้วมือ
“แต่ทรงพลังกว่านิ้วมือของพระราชา…ลองได้สัมผัสใครฉันจะคืนเขาแก่ผืนดินที่ถือกำเนิดมา แต่นายดูแสนจะบริสุทธิ์และมาจากดาวดวงอื่น...เอาเป็นว่าเมื่อไรที่นายคิดถึงดวงดาวของตัวเอง ฉันสามารถ...”
ขณะพูดแฝงปริศนางูก็เลื้อยพันรอบข้อเท้าเจ้าชายน้อยจนมองดูคล้ายสวมกำไลสีทอง 

ครั้งแรกที่พบ งูยังไม่ได้ส่งเจ้าชายน้อยคืนดวงดาว กระทั่งก่อนถึงวันครบรอบปีที่เดินทางมาโลกมนุษย์ ทั้งสองได้พบกันอีกที่บริเวณใกล้บ่อน้ำ เด็กน้อยปีนขึ้นไปนั่งห้อยขาบนกำแพงหินเก่า ๆ แล้วนัดหมายบางสิ่งกับผู้สามารถปลิดชีวิตคนได้ภายในครึ่งนาที  แล้วเมื่อถึง “คืนวันครบรอบปี” เด็กชายก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะกลับไปหาดอกไม้ผู้บอบบางซึ่งอาจกำลังเฝ้ารอเขาอยู่บนดาว บี ๖๑๒ โดยไม่ลืมนำลูกแกะกล่องใส่ลูกแกะ และปลอกครอบปากแกะที่นักบินวาดให้ติดไปด้วย  แต่เวลานี้ไม่มีนกป่าอพยพผ่านมาแล้ว คงยากจะนำร่างที่หนักเกินไปกลับดวงดาว เหลือเพียงวิธี “ลอกคราบเปลือกกาย” เขาจึงมาพบงูอีกครั้ง 

ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วและจบลงอย่างสงบ มีแสงวับแวมสีเหลืองเกิดขึ้นบริเวณข้อเท้าของเจ้าชายน้อย พลันร่างบอบบางนั้นก็ล้มลงช้า ๆ เหมือนต้นไม้กำลังล้มโดยไม่ก่อให้เกิดเสียงใด ๆ เพราะเป็นพื้นทราย

จากคืนนั้นก็ไม่มีใครพบเจ้าชายน้อยกับเจ้าวงแหวนสีพระจันทร์เลื้อยบนผืนทรายอีกเลย
“สุนัขจิ้งจอก” ผู้สอนให้รับผิดชอบต่อความสัมพันธ์
เคยสงสัยไหมว่า “สุนัขจิ้งจอก” แสนฉลาดเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ?

เมื่อนิตยสาร สมิทโซเนียน (Smithsonian Magazine) พิมพ์โดยสถาบันสมิทโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้เป็น “ต้นแบบของสุนัขจิ้งจอก” ในวรรณกรรมเจ้าชายน้อยคือหญิงสาว 

ไฟทุกดวงก็พร้อมส่องไปที่ “เอลิซาเบท เรย์นัล” ภรรยาของ ยูจีน เรย์นัล เจ้าของสำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก
ผู้พิมพ์หนังสือ Le Petit Prince และ The Little Prince เป็นครั้งแรก  นักวิจารณ์วรรณกรรมจำนวนมากเชื่อว่า เธอคือสุนัขจิ้งจอกผู้ให้ข้อคิดกับเจ้าชายน้อยเรื่องวิธี “ฝึกให้เชื่อง” และทำให้เขาค้นพบคุณค่าของ “ความสัมพันธ์” ที่สร้างขึ้นในแบบของเธอ

ตอนที่เจ้าชายน้อยกำลังร่ำไห้ เมื่อรู้ความจริงว่าตนไม่ใช่ผู้ครอบครองกุหลาบที่มีเพียงหนึ่งเดียวในจักรวาล สุนัขจิ้งจอกก็ปรากฏตัวขึ้นใต้ต้นแอปเปิล เขาเริ่มสร้างความรู้จักโดยกล่าวชมความงามของสุนัขจิ้งจอก แล้วชวนให้มันมาเป็นเพื่อนเล่นเพื่อคลายความเศร้าโศก แต่สุนัขจิ้งจอกปฏิเสธ
“ฉันยังเล่นกับนายไม่ได้ถ้ายังไม่ถูกฝึกให้เชื่อง...นายยังเป็นเด็กชายคนหนึ่งไม่ต่างจากคนอื่นอีกนับแสน ฉันยังไม่ต้องการนายและนายก็ไม่ต้องการฉัน ฉันจึงเป็นสุนัขจิ้งจอกธรรมดาเช่นตัวอื่นจนกว่านายคุ้นเคยกับฉัน เราก็จะต้องการกัน นายจะเป็นเด็กคนเดียวในโลกของฉัน ฉันก็เป็นสุนัขจิ้งจอกตัวเดียวในโลกของนาย...”
เวลานั้นเจ้าชายน้อยไม่กล้ารับปากด้วยเกรงว่าตนจะไม่มีเวลาให้สุนัขจิ้งจอก เขายังอยากรู้จักเพื่อนมากมายในโลกกว้างและออกเดินทางค้นหาสิ่งต่าง ๆ

“เราจะรู้จักแต่สิ่งที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยเท่านั้น...ถ้านายต้องการเพื่อนก็ฝึกฉันให้เชื่องสิ”

แล้วกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ก็ก่อเกิดขึ้นกลางทะเลทรายสะฮารา

แต่ละวันเจ้าชายน้อยต้องมาหาสุนัขจิ้งจอกเวลาเดิม และค่อย ๆ เขยิบเข้าใกล้สุนัขจิ้งจอกทีละน้อย

“...ถ้าเคยมา ๔ โมงเย็น สักบ่าย ๓ ฉันจะเริ่มมีความสุข พอถึง ๔ โมงเย็นฉันจะตื่นเต้น กระวนกระวาย เห็นคุณค่าของความสุข แต่ถ้ามาไม่เป็นเวลาฉันก็ไม่รู้จะเตรียมตัวตอนไหน”

ในที่สุดเจ้าชายน้อยก็ฝึกสุนัขจิ้งจอกให้เชื่อง กระทั่งใกล้ถึงโมงยามอำลา สุนัขจิ้งจอกเป็นฝ่ายไม่สบายใจจนจะร้องไห้แต่ก็ตัดสินใจบอกให้เด็กชายผู้มีผมสีเดียวกับรวงข้าวสาลีกลับไปที่สวนกุหลาบ

“จะได้รู้ว่ากุหลาบของนายมีแค่ดอกเดียวจริง ๆ เมื่อนายกลับมาลาฉันจะบอกความลับอย่างหนึ่ง”

ที่สวนกุหลาบ ๕,๐๐๐ ต้น เด็กน้อยจึงได้เข้าใจถ่องแท้ว่าหมู่กุหลาบเหล่านั้นไม่เหมือนกุหลาบของเขาสักนิด เพราะไม่มีใครมาสร้างความสัมพันธ์ด้วย ต่างจากกุหลาบดอกเดียวบนดวงดาวที่เขาได้เฝ้ารดน้ำ ทะนุถนอมไว้ในที่ครอบแก้ว หาฉากบังลมให้ คอยกำจัดตัวหนอน ทนฟังเธอบ่น โอ้อวด และเฉยชา
“เราจะมองเห็นอย่างแจ่มชัด
ด้วยดวงใจเท่านั้น 
สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยดวงตา”

สุนัขจิ้งจอกเผยความลับในวันเดียวกับที่ต้องฝึกใจให้เข้มแข็งเพื่อบอกลาเด็กชาย

“เวลาที่นายสละให้กับดอกกุหลาบ ทำให้กุหลาบดอกนั้นมีค่ามากขึ้น...มนุษย์ลืมความจริงข้อนี้ แต่นายต้องไม่ลืมนะ ต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่มีความสัมพันธ์ด้วย ต้องรับผิดชอบกุหลาบของนาย”

ผิวเผินบทตอนนี้จบที่การสอนให้เจ้าชายน้อยรู้จักรับผิดชอบความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ที่ซ่อนอยู่คือสุนัขจิ้งจอกเองก็แฝงนัยสำคัญไว้ให้เด็กชายผู้เป็นที่รักได้ทบทวนเรื่องระหว่างตนด้วย

นับว่าได้ผล เพราะแต่นั้นนอกจากดอกกุหลาบแล้วก็มีสุนัขจิ้งจอกเพิ่มขึ้นในใจ อย่างตอนที่นักบินรู้สึกหิวน้ำและอยากชวนเจ้าชายน้อยไปเดินหาบ่อน้ำดื่ม เขาก็โพล่งถึงเพื่อนรักขึ้นมา

“การมีเพื่อนเป็นสิ่งงดงามนะ แม้จะตายไปผมก็ดีใจมากที่ได้มีเพื่อนอย่างสุนัขจิ้งจอก”

หรือเมื่อนักบินพูดถึงความลับบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจว่าเป็นความงามที่มองไม่เห็น เจ้าชายน้อยก็อดฉวยโอกาสพูดถึงเพื่อนรักของเขาไม่ได้

“ผมดีใจที่คุณคิดเห็นสอดคล้องกับสุนัขจิ้งจอก”
Image
แม้ไม่ปรากฏความชัดเจนในหนังสือ แต่หลายสถานการณ์ก็ชวนคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิดกับผู้เขียนตอนอยู่นิวยอร์ก เรื่องเริ่มปะติดปะต่อเมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๔ ที่หลานชายของ โจเซฟ คอร์เนลล์ (Joseph Cornell) ศิลปินชาวอเมริกันกลุ่มเซอร์เรียลิสต์ผู้มีชื่อเสียงด้านงานศิลปะแนวคอลลาจและผู้ผลิตภาพยนตร์แนวทดลอง ได้นำรูปวาด-ต้นฉบับจากวรรณกรรมเจ้าชายน้อยมอบให้ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์มอร์แกน (The Morgan Library & Museum) ในนครนิวยอร์ก เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ The Little Prince : A New York Story ช่วง ๒๐ มีนาคม ถึง ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๘ 

ทายาทเล่าว่าผลงาน-รูปวาดทั้งหมดยังไม่เคยเผยแพร่ที่ใด และเป็นสมบัติส่วนตัวของคอร์เนลล์เพื่อนสนิทของแซ็งแต็กซูว์เปรี ในช่วงที่เขาอาศัยอยู่นิวยอร์ก ซึ่งได้รับมาเป็นของขวัญตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๒ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์มอร์แกนจึงเป็น “สถานที่รักษาต้นฉบับเจ้าชายน้อย” เพียงแห่งเดียวที่ได้ครอบครอง “ต้นฉบับลายมือ” ของแซ็งแต็กซูว์เปรี

บนต้นฉบับร่างแรก ผู้ประพันธ์เพียงเขียนถึงนักบินที่ติดอยู่กลางทะเลทรายและได้พบเจ้าชายน้อยผู้เดียงสาและมีความรู้แจ้ง ซึ่งทั้งเรื่องจะมีตัวละครไม่มากและจบใน ๑.๕ หมื่นคำ แต่ในบรรดาตัวละครสำคัญมีจุดหนึ่งที่แซ็งแต็กซูว์เปรีพยายามเขียนใหม่ด้วยภาษาฝรั่งเศสในบรรทัดที่ลบไม่ออกมากถึง ๑๕ ครั้ง

คือตอนนาทีต้องกล่าวลา สุนัขจิ้งจอกเตือนให้เจ้าชายน้อยสัมผัสความจริงด้วยหัวใจ
“L’essentiel est invisible
pour les yeux”
(สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยดวงตา)

ไม่เพียงต้นฉบับทรงคุณค่า สิ่งที่หลานชายคอร์เนลล์บริจาคยังมีของที่ระลึกระหว่างมิตรภาพ อย่างตั๋วรถไฟวันที่ ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๒ คอร์เนลล์ไปเยี่ยมแซ็งแต็กซูว์เปรีกับภรรยาที่บ้านเช่าขณะเขียน เจ้าชายน้อย จึงได้รับรูปวาดประกอบต้นฉบับขนาด ๘x๑๐ นิ้ว จำนวนห้ารูป เป็นที่ระลึก

น่าสนใจตรงเป็นรูปวาดที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์และเป็นตัวละครที่ไม่พบในวรรณกรรม

อย่าง “สุนัข” (ไม่ใช่สุนัขจิ้งจอก) ซึ่งไม่มีใครยืนยันว่ารูปนั้นมีนัยสำคัญต่อเรื่องไหม 

แต่อาจเป็นจิ๊กซอว์เชื่อมโยง “ใครบางคน” เพราะรูปนั้นวาดบนกระดาษชนิดเดียว สไตล์เดียว และใช้หมึกเดียวกับรูปอื่นในต้นฉบับ ผู้หลงใหลเจ้าชายน้อยจึงวิเคราะห์เชื่อมโยงกับประวัติชีวิตแซ็งแต็ก-ซูว์เปรีว่า ขณะอยู่นิวยอร์กเขาไม่ได้มีความสุขนัก มากด้วยปัญหาสุขภาพ ความขัดแย้งในชีวิตสมรส ความเครียดต่อการเมือง และโศกเศร้าอย่างสุดซึ้งต่อชะตากรรมสงครามของฝรั่งเศส

ทำให้ต้องเยียวยาหัวใจกับเพื่อนรักตัวน้อยที่ไม่มีตัวตน

และความฉลาดลึกซึ้งของ “สุนัขจิ้งจอกสาว” ที่ผู้ประพันธ์บรรจงถ่ายทอดอย่างแยบคายก็พลอยทำให้มันกลายเป็นขวัญใจมหาชนไปพร้อมกับเจ้าชายน้อย

ค.ศ. ๑๙๗๔ Paramount Pictures นำภาพยนตร์แฟนตาซีทางดนตรี The Little Prince มาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มโดยผู้กำกับฯ สแตนลีย์ โดเน็น (Stanley Donen) และฝีมือการแสดงที่มี ริชาร์ด ไคลีย์ (Richard Kiley) รับบทนักบิน และเด็กชายสตีเฟน วอร์เนอร์ (Steven Warner) แสดงเป็นเจ้าชายน้อย ฉากต่อเนื่องของภาพยนตร์นี้ถ่ายทำในสาธารณรัฐตูนิเซีย โดยตีความเชื่อมโยงชีวิตจริงของตัวละครสุนัขจิ้งจอกที่เชื่อว่าคือคนรักของแซ็งแต็กซูว์เปรี ส่วนกุหลาบสื่อถึงภรรยาของเขา
Image
“นักบิน” ร่างอวตารในนิยาย
ของแซ็งแต็กซูว์เปรี

ชีวิตจริง อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ก็เป็นนักบิน

เริ่มต้นอาชีพโดยประจำเส้นทางสายตูลูซ-คาซาบลังกา (Toulouse-Casablanca) ก่อนไปเป็นหัวหน้าหน่วยประจำสถานีบินที่คาซูบีในแอฟริกา และได้บันทึกชีวิตผ่านนิยายเรื่องแรก Courrier Sud (ไปรษณีย์ใต้) พิมพ์ ค.ศ. ๑๙๒๙ ทำนองว่าอาณาจักรของมนุษย์อยู่ในใจของแต่ละคน ซึ่งอาณาจักรของเขาก็มีเพียงทะเลทรายสุดลูกหูลูกตาที่นานทีจะมีเพื่อนนักบินไม่กี่คนผ่านมา หน้าที่แต่ละวันคือส่งวิทยุติดต่อกับศูนย์หน่วยงาน ให้สัญญาณนักบิน จัดถุงพัสดุไปรษณีย์ และค้นหานักบินที่มักเกิดอุบัติเหตุทุกเดือน

ภายหลังเขาหันไปขับเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกระหว่างเมืองมาร์แซย์ (Marseille) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และอาลซาส (Alsace) ทิศตะวันออกของฝรั่งเศส กระทั่งประสบอุบัติเหตุจาก “ปีกเครื่องบินหัก” จึงพักการบินไปสนใจงานสื่อสารมวลชน แต่ในที่สุด ค.ศ. ๑๙๓๕ หัวใจก็เรียกร้องให้กลับมาบิน คราวนี้หวังทำสถิติบินรวดเดียว ๑.๒ หมื่นกิโลเมตร จากปารีส (เมืองหลวงฝรั่งเศส) ตูนิส (เมืองหลวงตูนิเซีย) เบงกาซี (เมืองใหญ่อันดับ ๒ ของลิเบีย) ไคโร (เมืองหลวงอียิปต์) จนถึงไซ่ง่อน (เมืองหลวงเวียดนามเวลานั้น) แต่เครื่องบินเกิดขัดข้องให้ต้องร่อนลงกลางทะเลทรายของลิเบียในแอฟริกาเหนือ ห่างจากกรุงไคโรราว ๒๐๐ กิโลเมตร ต้องเดินเท้าฝ่าทะเลทรายอยู่ ๕ วัน กว่าจะพบกลุ่มนักเดินทางไกลผ่านมา

“อุบัติเหตุกลางทะเลทราย” จึงเป็นดั่งสัญลักษณ์หนึ่งของชีวิตแซ็งแต็กซูว์เปรี  และนักบินในวรรณกรรมเจ้าชายน้อยก็อาจคือ “ร่างอวตารในนิยาย” ของเขา ดังฉากแรกพบระหว่างนักบินหนุ่ม-เจ้าชายน้อยในสถานที่ลับกลางทะเลทราย
“...เมื่อ ๖ ปีมานี้ เครื่องบินของฉันเกิดขัดข้องอยู่กลางทะเลทรายสะฮาราโดยไม่มีช่างเครื่องยนต์หรือแม้แต่ผู้โดยสารสักคนมาด้วยกัน ฉันจึงพยายามซ่อมเองเพราะมีน้ำสำหรับดื่มเพียง ๘ วันเท่านั้น...”
ความสนุกที่ทำให้ผู้อ่านมองเจ้าชายน้อยไกลกว่าวรรณกรรมจึงเป็นการได้ “ไขปริศนาลับ” ที่ซุกความรู้สึกหลายอย่างในแต่ละวรรคของเนื้อหา บางคนจึงอ่าน เจ้าชายน้อย แล้วหลั่งน้ำตาด้วยเชื่อว่าแซ็งแต็กซูว์เปรีถ่ายทอดชีวิตตัวเองลงไปแต่ละตัวละครจึงเป็นดั่งสัญลักษณ์ชะตากรรมชีวิต

เช่นนักบินบอกว่าเขาอยู่กับความรู้สึกโดดเดี่ยวมาแต่เด็ก กระทั่งวันที่เครื่องบินไปเสียอยู่กลางทะเลทรายสะฮาราและได้พบเจ้าชายน้อยก็คล้ายบางสิ่งได้รับการกระตุ้นอีกครั้ง หรือขณะที่นักบินชวนเจ้าชายน้อยนั่งพักให้คลายเหนื่อยจากการเดินหาบ่อน้ำ เขารู้สึกได้ถึงบางสิ่งที่ส่องแสงท่ามกลาง ความเงียบยามวิกาลทั้งที่มองไม่เห็นอะไรบนเนินทราย กลับได้ยินเจ้าชายน้อยพูด

“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายสวยงามอยู่ตรงบ่อน้ำที่ถูกซ่อนไว้สักแห่งหนึ่ง”


แล้วผู้เขียนก็เล่าชีวิตวัยเด็กที่นักบินอาศัยในบ้านโบราณ มีเรื่องเล่าถึงสมบัติใต้ดิน แต่ไม่มีใครเคยพบ จึงทำให้บ้านยิ่งมีเสน่ห์เพราะซุกซ่อนความลับไว้ แต่ไม่ว่าบ้าน ดวงดาว ทะเลทราย ต่างเหมือนกันตรง 


“สิ่งที่เห็นเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่าคือสิ่งที่มองไม่เห็น”


เป็นเรื่องเดียวกับที่สุนัขจิ้งจอกบอก

ช่วงเวลา ๘-๙ วันที่พบเจ้าชายน้อยเป็น “ความลับ” มาตลอด ๖ ปี ยามค่ำคืนเขามักเงี่ยหูฟังเสียงดวงดาวด้วยระลึกถึงเจ้าของเสียงหัวเราะที่ดังกังวานเหมือนลูกกระพรวน ๕๐๐ ล้านลูก ผู้ที่บอกกับเขาว่า

“สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยดวงตา...บ้านผมเล็กเกินกว่าจะชี้ให้เห็นว่าอยู่ตรงไหน แต่ก็ดีนะ ดาวของผมจะกลืนไปกับดวงดาวทั้งหลาย คุณจะได้ชอบดูดาวทุกดวง และดาวทุกดวงก็จะเป็นเพื่อนคุณ”

วันนั้นเจ้าชายน้อยหัวเราะเสียงใส เป็นเสียงที่น่าตกหลุมรักในความบริสุทธิ์

แม้นักบินยังไม่หายเศร้าโศก แต่ทุกครั้งที่มองฟ้าค่ำคืนก็ทำให้อิ่มใจและดาวทุกดวงก็หัวเราะให้เขา 
Image
เรื่องลึกลับอันยิ่งใหญ่เหล่านี้คงไม่มีผู้ใหญ่คนใดเข้าใจว่าสำคัญเพียงไร กระทั่งวันที่ผู้ประพันธ์ตัดสินใจเล่าทุกความลับนั้นผ่านตัวอักษรและรูปวาด มอบแก่สำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก

...............

หลากตอนนิยาย หลายฉากชีวิต จึงชวนผู้อ่านคิดต่อว่าแซ็งแต็กซูว์เปรีจะอ้างว้างเพียงไรในพื้นที่ห่างไกลขณะลี้ภัยอยู่นิวยอร์ก 

ท่ามกลางอำนาจแห่งสงครามที่แห้งแล้งความเป็นมนุษย์ราวสะฮาราไร้ผู้คน มีเพียงเสียงหัวเราะเจ้าชายน้อยที่เป็นดั่งโอเอซิสชุบชูใจที่แห้งผากให้ผ่านแต่ละวัน  หลายคนจึงตีความไกลถึงว่า แม้แต่การจากไปของเจ้าชายน้อยก็อาจเป็นลางสังหรณ์ของแซ็งแต็กซูว์เปรี

“คืนนี้จะครบรอบที่ดวงดาวของผมโคจรในตำแหน่งที่ผมตกลงมาปีที่แล้ว”

ชีวิตจริง ๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ หลัง Le Petit Prince และ The Little Prince จำหน่ายทั่วนิวยอร์ก เดือนถัดมาแซ็งแต็กซูว์เปรีมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งแอฟริกาเหนือร่วมหน่วยบินลาดตระเวนของกองกำลังฝรั่งเศสอิสระในแอลจีเรีย 

การออกบินลาดตระเวนเมื่อ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ครั้งนั้น เขาก็ไม่หวนกลับมาอีกเลย

ทุกอย่างจบลงในหนึ่งปีเช่นกัน...

ที่ใครว่า “ความสุขไม่ซับซ้อน ถ้าซับซ้อนมักไม่สุข” อาจไม่จริงเสมอไป

เพราะการเสพ เจ้าชายน้อย เรื่องที่แสนจะซับซ้อนกลับเป็นความสุข

และนั่นอาจอธิบายว่าแม้จวบปีที่ ๗๗ จึงยังคงความประทับใจแก่ผู้อ่านให้ต้องบอกต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคน จังหวัดหนึ่งสู่ทั่วประเทศ และประเทศหนึ่งสู่อีกหลายทวีป จนเกิดการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า ๓๗๐ ภาษาทั่วโลก ยังไม่นับภาษาท้องถิ่น และในแต่ละประเทศที่มีการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
เป็นหนังสือที่กล่าวกันว่ามีคนอ่านมากที่สุดในโลกรองจากคัมภีร์ไบเบิล 
เอกสารประกอบการเขียน
Antoine de Saint-Exupéry. “Le Petit Prince”. Gallimard, 1993.

ขอขอบคุณ
ผศ. ดร. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และ “หุ่นกระเบื้องดินเผา” 
จากนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสม และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ศูนย์รังสิต วันที่ ๑๗ มีนาคม - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓