ภาพวาดเจ้าชายน้อยในร่างแรกๆ ของแซ็งแต็กซูว์เปรี
Image
เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสม 
และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม
เรื่อง : สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
๗๗ ปี หนังสือ เจ้าชายน้อย

หนังสือ เจ้าชายน้อย มีความเป็นมาค่อนข้างประหลาด เขียนขึ้นและจัดพิมพ์ครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยสำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก (Reynal & Hitchcock) ในขณะที่ผู้เขียนคือ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry) อยู่ระหว่างการลี้ภัยที่นครนิวยอร์ก เนื่องจากระยะเวลานั้นประเทศฝรั่งเศสถูกกองทัพนาซีเยอรมันยึดครอง

The Little Prince ฉบับภาษาอังกฤษ ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๘๖ จากนั้นเพียงไม่กี่วัน ทางสำนักพิมพ์ออกฉบับภาษาฝรั่งเศส (Le Petit Prince) ติดตามมาในจำนวนพิมพ์จำกัด (limited edition)

กว่าที่ เจ้าชายน้อย ภาษาฝรั่งเศสจะได้จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเอง โดยสำนักพิมพ์กาลีมาร์ (Gallimard) ก็อีก ๓ ปีต่อมา (เมษายน ๒๔๘๙) ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนเสียชีวิตแล้ว และนับเป็นการตีพิมพ์ในช่วงที่ฝรั่งเศสเป็นอิสระจากการยึดครองของเยอรมนีไม่นาน

ที่น่าสนใจก็คือ ภาพประกอบในฉบับที่พิมพ์ในฝรั่งเศสแตกต่างจากฉบับที่พิมพ์ในอเมริกาหลายแห่ง เนื่องจากใช้วิธีคัดลอกภาพจากฉบับภาษาอังกฤษแล้วตกแต่งหรือวาดลายเส้นเพิ่มเติม เช่น กลีบดอกไม้อาจไม่ตรงกัน รากต้นเบาบับ (baobab) มีรายละเอียดน้อยกว่า ชุดคลุมไหล่ของเจ้าชายน้อยก็เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีฟ้า ดวงดาวที่นักดาราศาสตร์ตุรกีส่องกล้องมองเห็นนั้นก็หายไป นอกจากนั้นหมายเลขของดาว ๓๒๕ กลายเป็น ๓๒๕๑ และจำนวนพระอาทิตย์ตกที่ดาวของเจ้าชายน้อยกลายเป็น ๔๓ ครั้ง แทนที่จะเป็น ๔๔ ครั้ง
กว่าที่ประเทศฝรั่งเศสจะได้จัดพิมพ์ เจ้าชายน้อยในรูปแบบต้นฉบับเดิมทั้งเรื่องและรูปก็ต้องรอคอยจนกระทั่งอีก ๕๘ ปีต่อมา

นับตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกที่นิวยอร์กแล้ว ที่เจ้าชายน้อย ไม่ได้รับความเห็นพ้องต้องกันในบรรดานักอ่านว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็ก หรือเป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ที่แฝงปรัชญาชีวิตกันแน่ บ้างว่าชวนให้นึกถึงงานวรรณกรรมเทพนิยายของฮันส์ คริสเตียนแอนเดอร์เสน และบ้างก็ว่าละม้ายคล้ายงานปรัชญาของมงแต็สกีเยอ นักวิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส เช่น แฌร์แมน เบร และ มากาเร็ต ไกตัน ให้ความเห็นว่า

“น่าเสียดายว่า Le Petit Prince แฝงไปด้วยความเศร้าที่เต็มไปด้วยความอ้างว้างและความผิดหวังชนิดที่ไม่มีเด็กคนใดจะเข้าใจได้ ทำให้เสน่ห์ของเรื่องนี้ลดลงไป แม้จะมีการโจมตีมนุษย์ที่เรียกว่า ‘ผู้ใหญ่’ โดยทั่วไปหลายต่อหลายครั้งงแต่ก็ไม่ช่วยให้ความเศร้าของสาส์นที่ผู้แต่งเสนอต่อผู้อ่านลดลงไปเท่าใดนัก การที่เอาโลกของเด็กมาทำให้ซับซ้อนเช่นนี้ ดูจะให้ความรู้สึกที่น่าอึดอัดอยู่มิใช่น้อย”

ยังมีบุคคลอีกมากชื่นชอบ เจ้าชายน้อย เจมส์ ดีน นักแสดงชาวอเมริกัน ผู้เสียชีวิตเมื่ออายุ ๒๔ ปี ในขณะกำลังมีชื่อเสียงอย่างถึงที่สุด หลงใหลหนังสือเล่มนี้มาก ขณะเดียวกัน มาร์ทิน ไฮเด็กเกอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมนี เขียนคำนิยมในฉบับภาษาเยอรมัน ปี ๒๔๙๒ ว่า “เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษของฝรั่งเศส”

กล่าวกันอีกว่า เจ้าชายน้อย น่าจะเป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านขีดเส้นใต้ข้อความประทับใจไว้มากที่สุดเล่มหนึ่ง ภาพเจ้าชายน้อยเดินอยู่เพียงเดียวดายบนดวงดาวของเขาเป็นความเปลี่ยวเหงาที่คนมักนึกถึง

เจ้าชายน้อย จัดเป็น iconotext หรือหนังสือที่มีทั้งข้อความและภาพ  ภาพสร้างความชัดเจนให้ข้อความ การอ่านเพื่อความเข้าใจตัวบทจึงไม่อาจแยกออกจากภาพได้ นับเป็นหนังสือขายดีที่สุดในโลกเป็นลำดับที่ ๔ รองจากคัมภีร์ไบเบิล (The Bible) ทุน (Das Kapital/Capital ของ คาร์ล มาร์กซ์) และ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter)
Image
หากนับถึงเวลานี้ เจ้าชายน้อย แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๓๘๐ ภาษา ๖๒ ประเทศ ถือเป็นหนังสือที่มีผู้แปลเป็นภาษาอื่น ๆ มากที่สุดในโลกรองจากคัมภีร์ไบเบิล โดยมีฉบับแปลทั้งในภาษาหลักของโลก ภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ภาษาที่เสี่ยงต่อการสูญไป (เช่นภาษาอาราเนสในหุบเขาอารันแห่งกาตาโลเนีย ที่มีผู้พูดอยู่เพียง ๒,๐๐๐ คน) ภาษาที่ตายแล้ว (เช่นภาษาอียิปต์โบราณ) หรือภาษาที่คิดขึ้นใหม่ (เช่นภาษาออเรเบชในภาพยนตร์ สตาร์วอร์ส) รวมถึงแปลเป็นอักษรเบรลล์ และรหัสมอร์ส (ภาษาฝรั่งเศส)

ในภาษาไทย เจ้าชายน้อย แปลครั้งแรกปี ๒๕๑๒ โดย อำพรรณ โอตระกูล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ในหมวดหนังสือสำหรับเยาวชน หลังจากนั้นมีการแปลใหม่อีกอย่างน้อยสี่สำนวน คือ สำนวนของ สมศักดิ์ ธนาศุภวัฒน์ (๒๕๒๔) อริยา ไพฑูรย์ (๒๕๓๓) สมบัติ เครือทอง (๒๕๓๕) “พงาพันธุ์” (๒๕๔๐) และ “แสงอรุณ” ซึ่งใช้ชื่อเล่มว่า เจ้าชายน้อยจากโลกใบจิ๋ว (ไม่ทราบปีพิมพ์)

Le Petit Prince ยังเป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่ฟีลิป แปแร็ง นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส นำติดตัวไปอ่านด้วยขณะเดินทางไปปฏิบัติการที่สถานีอวกาศระหว่างประเทศ เมื่อปี ๒๕๔๕
๑๒๐ ปี อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี
กลางกรุงปารีสมีมหาวิหารป็องเต-อง (Panthéon) อันหมายถึง “วิหารแห่งเทพเจ้า” พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ ให้สร้างขึ้น (แล้วเสร็จปี ๒๓๐๗) ตั้งใจอุทิศเป็นโบสถ์แห่งนักบุญประจำกรุงปารีส  ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส สภาร่างรัฐธรรมนูญมีดำริให้เปลี่ยนเป็น “วิหารแห่งชาติ” สำหรับฝังร่างบุคคลสำคัญ เช่น วอลแตร์, รูโซ, วิกตอร์ อูว์โก กับ มารี และ ปีแยร์ กูว์รี นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของฝรั่งเศส

ที่หน้าบันของมหาวิหารจารึกข้อความไว้อย่างยิ่งใหญ่และภาคภูมิใจว่า “Aux grands hommes la patrie reconnaissante” (แด่ท่านผู้ยิ่งใหญ่ ชาติเราขอรำลึกพระคุณ)

ที่ผนังภายในด้านหนึ่ง ปรากฏถ้อยคำจารึกหกบรรทัด เพื่อยกย่องเกียรติคุณของบุคคลผู้หนึ่งซึ่งไม่มีแม้ร่างฝังไว้ยังสถานที่แห่งนี้ ข้อความนั้นพิมพ์ด้วยอักษรโรมันตัวใหญ่เขียนไว้ว่า
Image
อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี เกิดที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๔๓ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้ ๔ ขวบ ในวัยเด็กเขาสนใจอ่านหนังสือ วาดรูป และแต่งบทละครให้พี่น้องที่มีด้วยกันทั้งหมดห้าคนได้ร่วมแสดง เขาสนใจและจินตนาการถึงจักรกลที่สามารถบินได้เหมือนนก และมีโอกาสขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๒ ปี เขากล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า

“การเติบโตช่างเป็นความผิดพลาด ผมมีความสุขมากในวัยเด็ก”

หลังจากที่พลาดจากการสอบเข้าเป็นทหารเรือ แซ็งแต็กซูว์เปรีเดินทางเข้ากรุงปารีสเพื่อเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมที่สถาบันศิลปะ (École des Beaux-Arts) ต่อมารับราชการทหารเป็นนักบินและฝึกหัดบินจนได้รับอนุญาตเป็นนักบินอาชีพ เริ่มทำงานเป็นนักบินในยุคแรกของการบุกเบิกการขนส่งทางอากาศ โดยเป็นนักบินประจำเส้นทางเมืองตูลูซ-คาซาบลังกา-ดาการ์ (Toulouse-Casablanca-Dakar) มีหน้าที่ช่วยเหลือนักบินที่ประสบปัญหาระหว่างการบินในแถบประเทศทางตะวันตกของทวีปแอฟริกาเหนือ ต่อมาถูกส่งไปเป็นหัวหน้าหน่วยประจำสถานีที่แหลมจูบี (Cape Juby) ในเขตสะฮาราตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีหน้าที่ส่งวิทยุติดต่อ คอยให้อาณัติสัญญาณกับนักบิน จัดถุงพัสดุไปรษณีย์และคอยออกช่วยเหลือค้นหานักบินที่ประสบอุบัติเหตุ เขาจึงทำหน้าที่เป็นทั้งแพทย์และช่างซ่อมเครื่องบิน

การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางความเวิ้งว้างของทะเล ทรายที่นานทีจะมีเพื่อนนักบินผ่านมาและผู้บังคับการป้อมมาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว ประสบ-การณ์ช่วงนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ไปรษณีย์ใต้ (Courrier Sud) พิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๔๗๒

ต่อมาย้ายไปเป็นผู้จัดการบริษัทการบินไปรษณีย์ที่กรุงบัวโนสไอเรส ทวีปอเมริกาใต้ เพื่อบุกเบิกเส้นทางขนส่งไปรษณีย์ในเวลากลางคืนระหว่างบัวโนสไอเรสกับปุนตาอาเรนัส (ทางตอนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้) ประสบการณ์ครั้งนี้นำไปสู่การเขียนหนังสือ เที่ยวบินกลางคืน (Vol de Nuit) พิมพ์ปี ๒๔๗๔ ซึ่งเริ่มสร้างชื่อเสียงให้แซ็งแต็กซูว์เปรีในฐานะนักเขียน หนังสือ แผ่นดินของเรา (Terre des Hommes) ตีพิมพ์ในปี ๒๔๘๒ ได้รับรางวัลจากราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศสและมีชื่อเสียงแพร่หลายมากในสหรัฐอเมริกา (ในชื่อ Wind, Sand and Stars)
Image
นับตั้งแต่เริ่มทำงาน แซ็งแต็กซูว์เปรีผ่านอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่นักบัญชี พนักงานขายรถบรรทุก นักข่าว ผู้สื่อข่าวสงคราม แต่อาชีพนักบินเป็นสิ่งที่เขาหลงใหลมากกว่าอย่างอื่น เขาประสบอุบัติเหตุจากการบินหลายครั้ง ครั้งหนึ่งในปี ๒๔๗๘ ระหว่างการทดลองบินระยะไกลจากปารีส-ไซ่ง่อนแต่เครื่องบินขัดข้องต้องร่อนลงกลางทะเลทรายรอยต่อของประเทศลิเบียกับอียิปต์ เขาต้องเดินฝ่าทะเลทรายอยู่นานหลายวันกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากชาวเบดูอินพื้นเมือง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาเข้าร่วมเป็นผู้สอนเกี่ยวกับเทคนิคการบิน แม้จะได้รับอนุญาตให้ออกบินได้อย่างจำกัด แต่ก็พยายามวิ่งเต้นจนได้บินร่วมกับหน่วยลาดตระเวน ประสบการณ์ช่วงนั้นได้กลายมาเป็นหนังสือ นักบินยามสงคราม (Pilote de Guerre ภาษาอังกฤษใช้ชื่อ Flight to Arras) ตีพิมพ์ปี ๒๔๘๕ กล่าวถึงความพยายามต่อต้านกองทัพเยอรมันของชาวฝรั่งเศสที่เมืองอารัส  หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อสาธารณชนอย่างมาก จึงถูกห้ามเผยแพร่ในฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นถูกยึดครองโดยกองทัพเยอรมัน

ความโด่งดังของหนังสือที่ว่าด้วยการต่อสู้อย่างกล้าหาญในยามสงครามครั้งนี้ ย่อมทำให้ผู้อ่านรู้สึกประหลาดใจและงุนงงกับหนังสือ เจ้าชายน้อย ซึ่งตีพิมพ์ในปีถัดมา ว่าช่างมีเนื้อหาแตกต่างมาก ดูจะเหมาะสำหรับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และก็มีน้อยคนที่จะแนะนำให้ผู้ใหญ่อ่านกัน

กล่าวกันว่าแซ็งแต็กซูว์เปรีเขียน เจ้าชายน้อย เพื่อ “คลายเครียด” ขณะลี้ภัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำแนะนำของบรรณาธิการสำนักพิมพ์ซึ่งเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนของเขา (แต่ก็มีนักเขียนชีวประวัติอีกคนหนึ่งเสนอว่า แซ็งแต็กซูว์เปรีเริ่มเขียนเจ้าชายน้อย ตั้งแต่ก่อนลี้ภัยไปสหรัฐฯ) อาจเนื่องมาจากการมีเพื่อนอย่างจำกัด ความโดดเดี่ยวที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองภายในกลุ่มคนฝรั่งเศสที่ลี้ภัยในสหรัฐฯ แม้เขาจะปฏิเสธข้อเสนอแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเปแต็ง ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี แต่เขาก็มิได้เข้าร่วมกับนายพลเดอโกลซึ่งดำเนินการต่อต้านเยอรมนีแต่อย่างใด และบ้างยังกล่าวหาว่า การเขียนหนังสือ เจ้าชายน้อย เป็นเสมือนการยืนยันว่าเขาเป็นผู้นิยมระบอบกษัตริย์

ในจดหมายที่เขียนถึงเพื่อนสนิท เขาแสดงความในใจไว้ครั้งหนึ่งว่า “ความผิดพลาดครั้งแรกของผมก็คือการใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ก ในขณะที่ประชาชนคนอื่นต้องตายและเดินทางไปสู่ความตายในสงคราม”
Image
เลอง แวร์ (ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๙๕๕) นักเขียนและนักวิจารณ์ศิลปะ ผู้ไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าเพื่อนสนิทเขียนคำอุทิศให้ใน เจ้าชายน้อย
เลอง แวร์ (ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๙๕๕) นักเขียนและนักวิจารณ์ศิลปะ 
ผู้ไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าเพื่อนสนิทเขียนคำอุทิศให้ใน เจ้าชายน้อย

Image
เขาอุทิศหนังสือ เจ้าชายน้อย ให้แก่ เลอง แวร์ เพื่อนชาวยิวซึ่งประสบความทุกข์ยากในยามสงคราม ตามคำแนะนำของภรรยา กอนซูเอโล ซุนซิง (Consuelo Suncin) ผู้เป็นสตรีม่ายชาวเอลซัลวาดอร์ ที่แนะนำว่า การอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้แก่เพื่อนชาวยิว จะทำให้กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลวีชี (Vichy) เลิกสงสัยเคลือบแคลงในตัวเขา ด้วยแสดงให้เห็นว่าเขาเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของชาวยิวที่ถูกเยอรมนีสังหาร

หนังสือ เจ้าชายน้อย เกี่ยวพันกับประสบการณ์ในช่วงวัยต่าง ๆ ของแซ็งแต็กซูว์เปรีอย่างแยกไม่ออกทะเลทรายของแอฟริกาที่เขาคุ้นเคย อุบัติเหตุจากเครื่องบินตก หมายเลขเครื่องบิน B612 ที่เขาเคยขับ แอ่งน้ำที่บ้านในวัยเด็กที่เมืองลียง ภูเขาไฟปาตาโกเนียในชิลี-อาร์เจนตินา ดงต้นเบาบับในเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล แม้นครนิวยอร์กจะไม่ได้รับการกล่าวถึงในหนังสือ (เพราะถูกตัดออกไปจากต้นฉบับในร่างแรก ๆ) แต่ประเทศสหรัฐฯ และฝรั่งเศสก็ได้รับการอ้างถึงในบทที่เกี่ยวกับการมองดูพระอาทิตย์ตก หรือสุนัขจิ้งจอก (Fennex fox) นั้นก็เคยเป็นสัตว์เลี้ยงของเขาเมื่อครั้งประจำอยู่แหลมจูบี

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ชอบวาดรูปต่าง ๆ ลงในจดหมาย สมุดบันทึก กระดาษปูโต๊ะตามร้านอาหาร ในระยะแรกรูปเจ้าชายน้อยดูคล้ายตุ๊กตาหรือลูกนกพัฟฟิน บางทีเขาวาดรูปเจ้าชายน้อยแทนตัวเอง ครั้งหนึ่งเขาเขียนจดหมายถึงสุภาพสตรีคนหนึ่ง เริ่มต้นด้วยบทสนทนาเป็นรูปเจ้าชายน้อยถือดอกไม้ พร้อมคำพูดว่า “ขอโทษที่รบกวนคุณ ผมเพียงแค่อยากกล่าวคำสวัสดีเท่านั้น” นักวิจารณ์หลายคนพยายามตีความและวิเคราะห์ความหมายของภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือเจ้าชายน้อย

ในปี ๒๕๓๕ อ็อยเกิน เดรเวอร์มันน์ (Eugen Drewermann) นักจิตวิเคราะห์ชาวเยอรมัน ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์เรื่อง “สิ่งสำคัญนั้นมิอาจมองเห็นได้ด้วยตา การตีความวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาเรื่อง เจ้าชายน้อย” เสนอว่าโลกมนุษย์ที่เจ้าชายน้อยพบเห็นเป็นโลกที่ไร้มนุษย์และเต็มไปด้วยความเศร้า ความสัมพันธ์ของเจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบนั้นมิใช่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เจ้าชายน้อยมีแต่ความรู้สึกผิดต่อดอกกุหลาบที่เขาไม่ได้ดูแลเธออย่างเต็มที่ หากเกิดข้อขัดแย้ง เจ้าชายน้อยจะยอมรับว่าเขาเป็นฝ่ายผิดเสมอ เดรเวอร์-มันน์กล่าวว่า มารดาของแซ็งแต็กซูว์เปรีมีอิทธิพลในการสร้างพฤติกรรมของตัวละคร ภาพของงูกลืนช้างแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของมารดาซึ่งกลืนบุตรของตนเอง เป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมให้บุตรเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ ส่วนภาพที่ดูภายนอกเหมือนรูปหมวกนั้น หมายถึงทารกในครรภ์ซึ่งได้รับการปกป้องทุกด้านจากแม่

หนึ่งปีก่อนการลาดตระเวนครั้งสุดท้าย แซ็งแต็ก-ซูว์เปรีเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงมารดา ความตอนหนึ่งว่า

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้กลับมาอยู่ในอ้อมกอดของคุณแม่ ข้าง ๆ เตาผิงที่บ้านคุณแม่ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้...ผมอยากคุยกับคุณแม่โดยที่ผมจะขัดแย้งให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้...ผมจะเชื่อฟังคุณแม่ คุณแม่เป็นผู้ที่มีเหตุผลถูกต้องเสมอในทุก ๆ เรื่องของชีวิต”
Image
ผู้แปลท่านหนึ่ง (อำพรรณ โอตระกูล) ตั้งข้อสังเกตว่า “ภาพของเด็กผู้ชายผู้มีใบหน้าอันอ่อนโยนบริสุทธิ์ ยิ้มเศร้า ๆ มีผ้าพันคอปลิวไสวตามสายลม ยืนอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางท้องฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างไกล ชวนให้นึกถึงความรู้สึกรันทดของผู้วาดแฝงอยู่ อาจเป็นได้ว่าผู้วาดฝันหาบุตรซึ่งตนเองไม่มี หรือไม่ก็ปรารถนาที่จะให้วัยเด็กของตนเองนั้นอยู่ชั่วนิรันดร์”

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๘๗ เวลา ๐๘.๓๕ น. แซ็งแต็กซูว์เปรีขับเครื่องบินออกจากฐานปฏิบัติการที่เกาะคอร์ซิกาในอิตาลี เพื่อลาดตระเวนทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยมีเชื้อเพลิงสำหรับการบิน ๖ ชั่วโมง  เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. มีรายงานยืนยันว่าเครื่องบินสูญหายไป

อีก ๒๕ วันหลังจากนั้น กรุงปารีสได้รับอิสรภาพในปี ๒๕๔๑ ชาวประมงพบสร้อยข้อมือของแซ็งแต็กซูว์เปรีติดมากับอวนนอกชายฝั่งเมืองมาร์แซย์ ต่อมาปี ๒๕๔๗ รัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันว่าพบซากเครื่องบินลำเดียวกับที่แซ็งแต็กซูว์เปรีออกลาดตระเวนเป็นครั้งสุดท้ายบริเวณเกาะทางตอนใต้ของเมืองมาร์แซย์ ส่วนคำกล่าวอ้างในปี ๒๕๕๑ ของอดีตทหารเยอรมันว่าเป็นผู้ยิงเครื่องบินลำดังกล่าวตกนั้นยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยัน

เหตุการณ์ในฉากสุดท้ายของเจ้าชายน้อยและผู้ประพันธ์นั้นมีความคล้ายกันอย่างน่าประหลาด เจ้าชายน้อยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“เธอเข้าใจไหม มันไกลเกินไป เธอไม่สามารถแบกร่างที่หนักนี้ไปด้วยได้ มันหนักเกินไป

“มันก็เหมือนเปลือกคราบเก่า ๆ ที่เราทิ้ง ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าเลยสำหรับการทิ้งคราบเก่า ๆ นี่”

มีแสงแวบสะท้อนสีเหลือง ๆ ใกล้ข้อเท้าของเขา เขายืนนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง เขาไม่ร้องเลย แล้วค่อย ๆ ล้มลงเหมือนต้นไม้ล้มโดยไม่ได้ก่อเสียงแม้แต่เล็กน้อย
Image
เหรียญบรอนซ์ผลิตเป็นที่ระลึกถึงแซ็งแต็กซูว์เปรี มีเจ้าชายน้อยยืนบนบ่า เครื่องบินสามรุ่นที่เขาเคยขับ P-38, Breguet 14 และ Caudron Simoun
๑๐๐ ปี การค้นพบ
ดาวหมายเลข B 612

“ผมมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าดาวดวงที่เจ้าชายน้อยจากมาคือดาวดวงที่ บี ๖๑๒ ดาวดวงนี้นักดาราศาสตร์ชาวตุรกีส่องกล้องพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๕๒ เขาได้เสนอการค้นพบนี้แก่สภาดาราศาสตร์ระหว่างชาติ แต่ไม่มีใครเชื่อเขา เนื่องจากการแต่งกายของเขาแปลกเกินไป พวกผู้ใหญ่ก็เป็นแบบนี้แหละ  เคราะห์ดีสำหรับดาวดวงนี้ เพราะต่อมานักเผด็จการตุรกีได้บังคับให้ประชาชนแต่งกายตามแบบยุโรป ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษถึงประหารชีวิต นักดาราศาสตร์ผู้นี้ได้เสนอการค้นพบของเขาอีกครั้งในปี ๒๔๖๓ โดยแต่งตัวอย่าง สง่างามแบบชาวยุโรป และคราวนี้ทุกคนก็เชื่อเขา...” (เจ้าชายน้อย, บทที่ ๔)

นี่เป็นเพียงตอนเดียวในหนังสือ เจ้าชายน้อย ที่ผู้เขียนระบุปีและสถานที่ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์ของตุรกีจะพบว่า ปี ๒๔๕๒ คือ ๑ ปีหลังการปฏิวัติโดยกลุ่มยังเติร์ก (Young Turk) ซึ่งมีผลให้ระบอบสุลต่านต้องล่มสลายลงในเวลาต่อมา

ปี ๒๔๖๓ พรรคบอลเชวิกในรัสเซียได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง ส่งผลต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัสเซียและผู้นำทหารยุคใหม่ของตุรกี และอีก ๓ ปีต่อมา มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก ผู้นำทหารชาตินิยมตุรกี สถาปนาสาธารณรัฐตุรกี เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๖๖ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณา-จักรออตโตมันเดิมสู่ระบอบสาธารณรัฐ ผู้นำของรัฐมีเป้าหมายปลุกเร้าความเป็นชาติเตอร์กิช-ตุรกีแทนการมีอัตลักษณ์อิสลาม ด้วยการบังคับให้เลิกใช้ตัวอักษรอาหรับ-เปอร์เซีย หันไปใช้ตัวเขียนโรมัน และให้ผู้ชายสวมหมวกแบบตะวันตก เลิกโพกศีรษะด้วยผ้าหรือสวมหมวกแขก (fez) ตามแบบประเพณี

เรื่องเล่าใน เจ้าชายน้อย เกี่ยวกับสภาดาราศาสตร์ระหว่างชาติยอมรับการค้นพบดวงดาว บี ๖๑๒ โดยนักดาราศาสตร์ตุรกีเพราะการแต่งกายของเขา แสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้าระหว่างตะวันออก-ตะวันตก ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างเชื้อชาติ-วัฒนธรรม เจ้าอาณานิคมและชนพื้นเมืองซึ่งปฏิสัมพันธ์ในลักษณะคู่ตรงข้ามเช่นนี้ยังปรากฏอยู่ใน เจ้าชายน้อย อีกมากไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ผู้หญิง-ผู้ชาย สิ่งที่มองเห็น-มองไม่เห็น การแสวงหา-การค้นพบ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะหยั่งถึงได้อย่างกระจ่างชัด ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตา
Image
อนุสาวรีย์เจ้าชายน้อยกับแซ็งแต็งซูว์เปรีที่จัตุรัสกลางเมืองลียง บ้านเกิดของเขา
ผู้เขียนและเจ้าชายน้อยพบกันครั้งแรกที่ทะเลทรายสะฮารา ทวีปแอฟริกา เนื่องจากเครื่องบินเกิดขัดข้อง จึงต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเลทราย ขณะที่มีน้ำเหลือสำหรับดื่มเพียง ๘ วัน

“คืนแรกฉันนอนหลับบนพื้นทราย ห่างไกลจากผู้คนนับพันไมล์ ฉันอยู่โดดเดี่ยวยิ่งกว่าคนเรือแตกรอดอยู่บนเคว้งคว้างกลางมหาสมุทร ดังนั้นคุณคงจะนึกออกว่าฉันตกใจเพียงใด ที่ในตอนรุ่งสางก็มีเสียงเล็ก ๆ ปลุกฉันขึ้น”

เช่นเดียวกับเจ้าชายน้อยที่เดินทางมายังโลกตามคำแนะนำของนักภูมิศาสตร์ของดวงดาวหมายเลข ๓๓๐ ที่บอกว่า “ไปยังโลกสิ มันมีชื่อเสียงมาก” ทะเลทรายสะฮาราคือสถานที่แรกบนโลกที่เจ้าชายน้อยเดินทางมาถึง และกล่าวประโยคแรกกับชายคนหนึ่งที่นอนหลับอยู่ว่า “กรุณาวาดแกะให้ฉันตัวหนึ่ง”

โลกคือดาวดวงที่ ๗ ที่เจ้าชายน้อยมาเยือน เป็นดาวดวงสุดท้ายของการเดินทาง ก่อนที่จะกลับไปยังดาวดวงเล็กของเขา พร้อมกับความลับที่สุนัขจิ้งจอกมอบให้

แม้โลกจะเป็นดาวธรรมดา ๆ ดวงหนึ่งที่มีพระราชารวมทั้งสิ้น ๑๑๑ องค์ (รวมถึงพระราชานิโกรด้วย) มีนักภูมิศาสตร์อยู่ ๗,๐๐๐ คน นักธุรกิจ ๙ แสนคน คนขี้เมา ๗.๕ ล้านคน คนหลงตน ๓๑๑ ล้านคน รวมความแล้วคือมีพวกผู้ใหญ่อยู่ด้วยกันประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านคน แท้จริงแล้วโลกคือที่รวมของประชากรในแบบต่าง ๆ ที่เจ้าชายน้อยได้พบมาในดาวอื่นก่อนหน้านั้น บนโลกใบนี้เองที่เจ้าชายน้อยได้เรียนรู้เรื่องราวสำคัญเกี่ยวกับมิตรภาพ ความสุขที่เรียบง่าย ความต้องการอันแท้จริง การมองเห็นด้วยหัวใจ การค้นพบความงามที่ถูกซ่อนไว้ ความรับผิดชอบในสัมพันธภาพ และการรักเพื่อนมนุษย์

สิ่งเหล่านี้ผู้อ่านได้เรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เขียนและเจ้าชายน้อย

ทะเลทรายและทวีปแอฟริกา คือฉากสำคัญในชีวิตของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี อุบัติเหตุทางเครื่องบินในเดือนธันวาคมของปี ๒๔๗๘ ระหว่างการบินแข่งขันเส้นทางปารีส-ไซ่ง่อน ทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้างระหว่างรอยต่อของประเทศลิเบียและอียิปต์ เขาและผู้ร่วมทางต้องรอนแรมท่ามกลางความร้อนระอุนานหลายวันเพื่อแสวงหาน้ำประทังชีวิต และท้ายที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจากชนพื้นเมืองชาวเบดูอินที่ปรากฏตัวขึ้น แบบเดียวกับการมาถึงของเจ้าชายน้อย
Image
ธนบัตรฝรั่งเศส ๕๐ ฟรังก์ ผลิตโดยธนาคารแห่งชาติฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ วาระครบ ๕๐ ปี การจากไปของแซ็งแต็กซูว์เปรี
“ในที่นี้ เชื้อชาติ ภาษา และการแบ่งแยกไม่มีอยู่...มีแต่ชนเร่ร่อนในทะเลทรายที่ยากจนคนหนึ่งที่ได้วางมือแห่งเทวะลงบนไหล่ของเรา...เบดูอินแห่งลิเบีย เธอผู้ที่ได้ช่วยเราไว้...เธอคือ ‘มนุษย์’ ใบหน้าของเธอในความทรงจำของฉันคือใบหน้าของมนุษย์ทุกคน เธอไม่ได้มองหน้าเราเลย...ฉันก็เช่นเดียวกัน ฉันจะรู้จักเธอในมนุษย์ทุกคน ในมโนภาพของฉัน เธอคือผู้ที่ประเสริฐ มีเมตตาจิต คือผู้ยิ่งใหญ่ที่มีอำนาจที่จะให้น้ำดื่ม...เพื่อนของฉันและศัตรูของฉันทุกคนได้ก้าวเข้ามาแล้ว ฉันก็ไม่มีศัตรูเหลืออยู่เลยแม้แต่คนเดียวในโลกนี้

“น้ำเจ้าไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่รู้ว่าจะให้คำจำกัดความได้อย่างไรดี เราดื่มและลิ้มรสโดยไม่รู้จักตัวเจ้า...เจ้าคือชีวิต เจ้าให้ความสุขซึ่งซึมซ่านเข้ามาในร่างกายของเราอย่างที่ประสาทสัมผัสไม่อาจอธิบายได้...เจ้าเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดในโลก แต่ก็บอบบางมากเช่นกัน...เจ้าเป็นเทพเจ้าที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย...ความสุขที่เจ้าให้แก่เรานี้ ช่างดูง่ายและเป็นธรรมดาเหลือเกิน...” (แผ่นดินของเรา)

“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายสวยงามนั้น อยู่ที่ว่ามันซ่อนบ่อน้ำไว้ที่ใดที่หนึ่ง

“ฉันยกถังน้ำขึ้นจดริมฝีปากเขา เขาดื่ม นัยน์ตาหลับพริ้ม มันช่างหวานชื่นเหมือนงานฉลอง น้ำนี้ช่างแตกต่างจากอาหารชนิดอื่น มันเกิดขึ้นจากการเดินทางไปใต้ดวงดาว จากเสียงเพลงของลูกรอก และจากกำลังแขนของฉัน มันนำมาซึ่งความแช่มชื่นหัวใจเช่นเดียวกับของขวัญ...” (เจ้าชายน้อย)

เรื่องเล่าที่แซ็งแต็กซูว์เปรีเลือกมานำเสนอผ่านหนังสือของเขา คือผลงานการผสานระหว่างจินตนาการและประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียน ดังที่มีผู้เปรียบเทียบว่า “เป็นเสมือนผ้าคลุมบาง ๆ ที่คลุมความทรงจำส่วนตัวของเขาไว้”

แฌร์แมน เบร และ มากาเร็ต ไกตัน นักวิจารณ์วรรณคดีฝรั่งเศส กล่าวถึงแซ็งแต็กซูว์เปรีไว้ว่า “เราจะเห็นว่าชีวิตของเขานั้นเต็มไปด้วยการแสวงหาตลอดเวลา หากแต่ว่าการแสวงหาของเขาจะต่างจากการผจญภัยธรรมดา ๆ อยู่มากเพราะเขามุ่งแสวงหาอะไรบางอย่างที่มีลักษณะอันรักษาไว้ได้ยาก และอธิบายให้เข้าใจยาก แต่เป็นที่ยอมรับกันว่ามีคุณค่าอันยิ่งใหญ่”
เจ้าชายน้อย, 
แซ็งแต็กซูว์เปรี, ซารา บาร์ตแมน
และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม

“ฉันแค่อยากรู้ว่า อ็องตวน แซ็งแต็กซูว์เปรี จะเคยได้ยินชื่อซารา บาร์ตแมน ไหมนะ

“ตอนเป็นเด็กเขาจะเคยเดินดูบางชิ้นส่วนของร่างกายเธอ (เช่นสมองกับจิ๋ม) ที่ถูกตัดและดองไว้ในโหลในพิพิธภัณฑ์ Musée de l’Homme สักครั้งหรือเปล่า

“เขาจะพูดว่ายังไง ถ้าเห็นเธอในชิ้นส่วนอย่างนั้น เขาจะช่างซักช่างถามผู้ใหญ่เหมือนอย่างที่เจ้าชายน้อยถามนักบินและคนที่พบเจอบนดวงดาวต่าง ๆ ไหม”

ผู้อ่านคนหนึ่งตั้งข้อสงสัย ภายหลังจากที่เคยชื่นชอบหนังสือ เจ้าชายน้อย ในวัยเด็ก และอีกหลายสิบปีต่อมาเมื่อได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของ ซารา บาร์ตแมน (Sara Baartman) หญิงสาวพื้นเมืองผู้หนึ่งจากทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งชาวยุโรปรู้จักเธอในนาม “วีนัสแห่งฮอตเท็นทอต” (Hottentot Venus)

แท้จริงแล้วบุคคลทั้งสองคนนี้ย่อมไม่เคยพบกันขณะเมื่อมีชีวิตอยู่ (ซารา บาร์ตแมน เสียชีวิตก่อนแซ็งแต็กซูว์เปรีเกิด ๘๕ ปี) แต่ทั้งสองต่างเคยใช้ชีวิตในแอฟริกาและฝรั่งเศสเหมือนกัน ทว่าในฐานะคนนอก

ซารา บาร์ตแมน ชนเผ่าคอยซาน (Khoisan/Khoi-khoi) เกิดในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส (คริสต์ทศวรรษ ๑๗๗๐) ที่แอฟริกาใต้ และเสียชีวิตที่กรุงปารีสในปี ๒๓๕๘  เนื่องจากเป็นเด็กกำพร้า เธอเคยเป็นทาสทำงานในฟาร์มที่คนดัตช์เป็นเจ้าของ ก่อนถูกนายแพทย์ชาวสกอตและเจ้าของคณะละครสัตว์พาขึ้นเรือเดินทางไปยังสหราชอาณาจักร เมื่ออายุได้ประมาณ ๒๐ ปี เพื่อนำไปเปิดการแสดงเก็บเงินค่าเข้าชมตัวอย่างของคน สัตว์ และของแปลก ๆ จากแอฟริกา เนื่องจากเธอมีสะโพกขนาดใหญ่ตามลักษณะร่างกายตามแบบชนเผ่าของเธอ ในปี ๒๓๕๗ เธอ “ถูกขายต่อ” ให้เจ้าของคณะโชว์และคนฝึกสัตว์ชาวฝรั่งเศสที่มาเปิดแสดง ณ กรุงปารีส แต่ในช่วงขณะนั้นเป็นช่วงหลังสงคราม ไม่ค่อยมีใครสนใจมาดูมากนัก เธอเสียชีวิตจากความเจ็บป่วยในปีถัดมา ฌอร์ฌ กูว์วีเย (Georges Cuvier) นักธรรมชาติวิทยาและนักสัตววิทยาคนสำคัญของฝรั่งเศส สนใจร่างกายของเธอในฐานะ “วัตถุเพื่อการศึกษา” ว่าด้วยเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์ หลังจากจำลองร่างกายของเธอไว้ นำร่างกายมาผ่าพิสูจน์ นำสมองและอวัยวะเพศดองใส่โหล ต้มเนื้อส่วนที่เหลือเพื่อเลาะกระดูกเก็บไว้ กูว์วีเยแสดงผลการศึกษาวิจัย “ทางวิทยาศาสตร์” ต่อสถาบันทางวิชาการอันทรงเกียรติ ของกรุงปารีสและพิมพ์เผยแพร่ผลงานศึกษาในปี ๒๓๖๐ เรื่อง “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างของสตรีผู้มีชื่อเสียงในปารีสและลอนดอนท่านหนึ่งที่รู้จักกันในนาม วีนัสแห่งฮอตเท็นทอต” (Extrait d’observations faites sur le cadavre d’une femme connue à Paris et à Londres sous le nom de Vénus Hottentotte) ข้อสรุปบางประการจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าเธอมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับลิงใหญ่ (apes) มากกว่ามนุษย์
Image
โครงกระดูก สมอง อวัยวะเพศ รวมถึงร่างกายเปลือยที่จำลองขึ้นใหม่ของเธอจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งมนุษยชาติ (Musée de l’Homme) กรุงปารีส นับตั้งแต่ปี ๒๓๗๐ จนกระทั่งปี ๒๕๑๗ จึงย้ายสมองและอวัยวะเพศที่ดองในโหลออกจากห้องจัดแสดง แต่ยังคงจัดแสดงรูปจำลอง  อีกหลายปีต่อมามีความพยายามเรียกร้องจากประเทศบ้านเกิดของเธอในแอฟริกาใต้ให้นำ “ซากที่เหลืออยู่” กลับไปฝังที่บ้านเกิด หลังจากต่อรองกับทางการฝรั่งเศสอยู่นานหลายปี ในที่สุด ซารา บาร์ตแมน จึงได้กลับสู่ถิ่นกำเนิดอีกครั้งในปี ๒๔๔๕ หลังจากต้องเดินทางรอนแรมออกจากถิ่นกำเนิดนานเกือบ ๒๐๐ ปี

แซ็งแต็กซูว์เปรีเข้าเรียนศิลปะที่ปารีสเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี (ปี ๒๔๖๒) และใช้ชีวิตอยู่ปารีสอีกพักใหญ่เพื่อทำงานหลายอาชีพ ในเวลานั้นรูปจำลองร่างกายและสิ่งอื่น ๆ ของ “วีนัสแห่งฮอตเท็นทอต” ยังคงจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในเขตทรอกาเดโร แซ็งแต็กซูว์เปรีจะได้เข้าชมหรือได้ยินเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ ซารา บาร์ตแมน บ้างหรือไม่ ? แต่อย่างที่นักอ่านคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ ถ้าเขาได้เห็น เขาจะคิดกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ?

หรือหนังสือ เจ้าชายน้อย พยายามจะบอกอะไร บางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ?

เรื่องราวและชีวิตของ ซารา บาร์ตแมน, แซ็งแต็ก-ซูว์เปรี และเจ้าชายน้อยเหลื่อมซ้อนกัน การเดินทางไกล การแสวงหาคำถามและคำตอบเกี่ยวกับชีวิต ประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรม ซากชีวิตและความตายเรื่องราวของเขา (และเธอ) ทั้งสาม นำไปสู่การทำความเข้าใจมนุษย์ และนำไปสู่การสนทนาข้ามวัฒนธรรม

ภายหลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือ เจ้าชายน้อย ได้รับการแปลเป็นภาษาโปลิช (Polish) เป็นภาษาแรกในปี ๒๔๙๐ แล้วขยายเป็นภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ จากนั้นจึงเริ่มแปลกันในกลุ่มประเทศแอฟริกา เอเชีย และประเทศแถบยุโรปตะวันออก

การแปล เจ้าชายน้อย เป็นไปอย่างแพร่หลาย (ทั้งการลักลอบแปลและขออนุญาตโดยถูกต้อง) เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเสน่ห์อันลึกลับของภาพและเนื้อหา และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากความภาคภูมิใจในภาษาและประเทศชาติที่ตนสังกัด ซึ่งอาจจะอาศัยคำอธิบายตามอย่าง เบน แอนเดอร์สัน ผู้เขียนหนังสือ ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (Imagined Communities) ซึ่งพยายามอธิบายเกี่ยวกับหนังสือของเขาได้เช่นกันว่า การแพร่หลายของฉบับแปล เจ้าชายน้อย นั้นก็เป็นผลมาจาก “ทุนนิยมการพิมพ์ (print-capitalism) การลักลอบผลิต (piracy) ในนัยที่เป็นอุปมาเชิงบวก การเปลี่ยนให้เป็นภาษาถิ่น และการจับคู่วิวาห์ที่ไม่มีวันหย่าขาดจากกันของชาตินิยมกับสากลนิยม”
Image
รวมทั้งมีการแปลเป็นภาษาเคิร์ด ทิเบต ภาษาของรัฐต่าง ๆ ในอินเดีย ภาษาซงคาของภูฏาน ภาษาอัมฮาริก ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเอธิโอเปีย ภาษาฮัสซาเนียที่ใช้พูดกันในเขตตอนใต้ของประเทศโมร็อกโกและเป็นภาษาถิ่นที่ใช้กันบริเวณแหลมจูบี สถานที่ที่แซ็งแต็กซูว์เปรีเคยไปประจำการเป็นนักบินขนส่งไปรษณีย์ทางอากาศอยู่นานหลายเดือน และยังมีแปลเป็นภาษาตูอาเร็กของกลุ่มชนที่เดินทางร่อนเร่ในพื้นที่แถบทะเลทรายสะฮารา

การแปลหนังสือ เจ้าชายน้อย แม้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมิตรภาพ ความรักความผูกพันที่เป็นเนื้อหาสากลของมนุษยชาติ แต่ขณะเดียวกันผู้ถ่ายทอดเนื้อหาเป็นภาษาถิ่นก็ต้องเผชิญกับข้อขัดข้องในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ยากจะข้ามพ้นไป เช่น ในการแปลเป็นภาษาโทบาซึ่งใช้พูดกันทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา ในการแปลบทสนทนาของเจ้าชายน้อยกับงูและสุนัขจิ้งจอกนั้น เป็นไปได้โดยราบรื่นเพราะสอดคล้องกับความคิดของชาวโทบา แต่ปัญหาสำคัญก็คือชื่อเรื่องเพราะในภาษาโทบาไม่มีความคิด (concept) ว่าด้วย “เจ้าชาย” หรือในภาษาอมาสิกห์แถบโมร็อกโก ผู้แปลก็เผชิญความยุ่งยากที่จะหาคำให้ตรงกับความหมายว่า “เสียงสะท้อน” “ความน่าเบื่อหน่าย” และ “ความ
ไร้สาระ” ซึ่งไม่ได้มีใช้กัน หรือในกรณีของตัวละครเอก ผู้มอบความลับสำคัญให้แก่เจ้าชายน้อย ในต้นฉบับฝรั่งเศสใช้ renard ภาษาอังกฤษใช้ fox ฉบับภาษาไทยใช้สุนัขจิ้งจอก แต่ในภาษาลาวใช้คำว่าเหง็นหรือ อีเห็น ซึ่งเป็นสัตว์ที่โปรดปรานไก่

ปกหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับแปลเป็นภาษาบัมบาราซึ่งใช้ในประเทศมาลี เป็นรูปเจ้าชายน้อยผิวสีซึ่งแตกต่างไปจากปกอื่น ๆ ต่อมารูปจากปกนี้ได้นำไปใช้เป็นโปสเตอร์รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก นอกจากนั้นยังมีผู้นำชื่อ Petit Prince ไปใช้เพื่อดำเนินงานช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายให้สามารถบรรลุความฝันตามที่ตั้งใจไว้ เช่น การพบดาราหรือนักกีฬาคนโปรด หรือการออกไปว่ายน้ำกับโลมา

เช่นเดียวกันเรื่องราวของ ซารา บาร์ตแมน กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อผู้หญิงและเด็กในประเทศแอฟริกาใต้ (The Saartjie Baartman Centre for Woman and Children)

แฌร์แมน เบร และ มากาเร็ต ไกตัน นักวิจารณ์วรรณคดีฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า 
“เราสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า ในบรรดานักเขียนทั้งหมดที่อยู่ในยุคเดียวกัน แซ็งแต็กซูว์เปรีเป็นนักเขียนที่เข้าถึงและศรัทธาในเรื่องการดำรงอยู่ของมนุษย์ในโลกนี้มากที่สุด”
ขอขอบคุณ : 
คงชลัช เครืออยู่, เคียง ชำนิ, ชาว สุภาจินดานนท์, ณัฐธร วนิชชากร, นิรมล มูนจินดา, น.สพ. ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, ประภาศรี ดำสอาด, ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน, พันชนะ วัฒนเสถียร, ภารุจีร์ บุญชุ่ม, วัชระ สงวนสมบัติ, ศรุต บวรธีรภัค, อนุรักษ์-เฉลิมเกียรติ บุญคง, อริยา ไพฑูรย์, อนัญญา ธรรมเกษร, อาทิตย์ วงษ์สง่า, Lattanaxay Vannasy, Benjamin Ivry และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 

อ้างอิง
จุฑารัตน์ เบญจฤทธิ์. “เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) : ภาพสะท้อน
ของผู้ประพันธ์ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี”. วารสารอักษรศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร ๓๑, ฉ. ๑ (๒๕๕๒) : ๑๑๕-๑๓๕.

แฌร์แมน เบร และ มากาเร็ต ไกตัน. “อังตวน เดอ แซงเตกซูเปรี.” ใน ๑๐๐ ปี แซงเตก-ซูเปรี, บรรณาธิการรวบรวมโดย เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์. แปลโดย สดชื่น ชัยประสาธน์. จัดทำโดย กลุ่มใบไม้ป่า ร่วมกับภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๓.

นอร์แมน สโตน. ประวัติศาสตร์ตุรกี. แปลจาก Turkey A Short History โดย ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, ๒๕๖๒.

เบน แอนเดอร์สัน. “กิจการเดินสาร-ข้ามผ่านภาษา : ว่าด้วยภูมิ-
ชีวประวัติของ ‘ชุมชนจินตกรรม’”. ใน ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อน
ว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, บรรณาธิการแปลโดย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, ๒๕๕๒.

วัลยา วิวัฒน์ศร. “จากแผ่นดินของเรา สู่เจ้าชายน้อย” ในนิตยสาร ไรเตอร์ ๒, ฉ. ๒๐ (มกราคม ๒๕๓๗).

สายคำ ผกาย, ผู้แปล. “วิญญาณที่หยุดบิน แซงเต็กซูเปรีในนิวยอร์ก”. แปลและเรียบเรียงจาก “A Grounded Soul : Saint-Exupéry inNew York.” โดย Stacy Schiff ใน The New York Time Book Review. May 30, 1993. ในนิตยสาร ไรเตอร์ ๗, ฉ. ๑ (มกราคม ๒๕๔๑) : ๕๖.

อำพรรณ โอตระกูล. เจ้าชายน้อย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๓. Antoine de Saint-Exupéry. The Little Prince. Translated by Ros and Chloe Schwartz. London : Macmillan Collector’s Library, 2016.

Le Petit Prince. Paris : Gallimard, 1994. Christophe Quillien. The Little Prince-A Visual Dictionary. Cernunnos, 2016.

David Bindman. “Sara Baartman.” in Between worlds Voyagers to Britain 1700-1850, 89-95. London : National Portrait Gallery, 2007.

Georges Cuvier. “Extrait d'observations faite sur le cadavre d'une femme connue à Paris et à Londres sous le nom de Vénus Hottentotte”, 1817.

สื่อออนไลน์
“อ็องตวน แซงแตกซูเปรี / ซารา บาร์ตแมน : การเดินทางสวนทิศของคนผิวขาวกับผิวดำ” นำข้อมูลขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕. https://snailspace.wordpress.com/2012/11/11/อังตวน-แซงแตก
ซูเปรี-ซาร/ (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓).

Firth, Susan. “Searching for Sara Baartman” Johns Hopkins Magazine 61, no 1 (June 2009). https://pages.jh.edu/~jhumag/0609web/sara.html (accessed February 24, 2020).

Pearce, Justin. “Hope of Saartjie’s return won’t die.” In Mail and Guardian, (December 1995). https://mg.co.za/article/1995-12-15-hope-of-saartjies-return-wont-die/ (accessed February 24, 2020).