#เจ้าชายน้อยกับฉัน
Online Activity
คัปเค้กเจ้าชายน้อยที่ซื้อมาจากร้าน Mad Sugar งาน LIT Fest 2020
เราตกหลุมรักกันเพราะฉันชอบสะสมเครื่องเขียน ชอบลายเส้นแบบนั้นตั้งแต่ยังไม่รู้จักกันแล้วหนังสือ เจ้าชายน้อย ก็ถูกส่งมาให้ฉัน เป็นของขวัญวันเกิดจากเพื่อนรัก “เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจ สิ่งที่สำคัญไม่อาจมองได้ด้วยตา” ประโยคที่ยังอยู่ในใจเสมอ
Nitchakan Khongsawad
จำไม่ได้ว่าฉันรู้จักเจ้าชายน้อยเมื่อไร...แต่มีหนังสือ เจ้าชายน้อย เล่มแรกเมื่อ ๒๕ ก.พ. ๒๕๓๐ (ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๗) หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ฉันก็มีเจ้าชายน้อยงอกออกมาเป็นสรรพสิ่ง ทั้งของใช้ ของเล่น โมเดล หนังสือ ฯลฯ รวมถึงการไปเยี่ยมเจ้าชายน้อยที่พิพิธภัณฑ์เมืองฮาโกเนะเมื่อปีที่ผ่านมาฉันตกหลุมรักเจ้าชายน้อย เด็กชายจากดาว B 612 ตั้งแต่เริ่มอ่านคำนำที่ว่า “ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อนทั้งนั้น แต่น้อยคนนักที่จะหวนระลึกได้...” สำหรับฉัน...เด็กคนนั้นยังหัวเราะและเบิกบานอยู่ในใจของฉันเสมอ
ผู้ที่ขุนเขา ระลึกถึง
ฉันหลงรักเจ้าชายน้อย เพราะเธอทำให้ฉันกล้าออกมาทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจและเจ้าชายน้อยยังสอนให้ฉันรู้จักเรียนรู้ความสัมพันธ์ฉันจึงเริ่มถักตุ๊กตาเจ้าชายน้อยเพื่อใช้เป็นตัวแทนฉันในการพบปะผู้คน เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ค่อย ๆ ขยับเข้ามา แล้วฉันจะแบ่งตุ๊กตาเจ้าชายน้อยให้เธอเล่นนะ
Sunan Singthong
ผมรู้จัก เจ้าชายน้อย ครั้งแรกจากไหนจำไม่ได้ แต่ในการอ่านครั้งแรก...ผมไม่เข้าใจและไม่ชอบ ผ่านไปกว่าปี...ผมก็หยิบมาอ่านใหม่ และครั้งนั้นคงไม่ได้อ่านด้วยดวงตา แต่ด้วยหัวใจ...ผมจึงเข้าใจ ผมมองไปรอบ ๆ และเริ่มคิดว่าจะเดินมาหาเจ้าสุนัขจิ้งจอกแต่ละตัวเวลาไหนดี ผมเห็นดอกกุหลาบของแต่ละคนแบบเข้าใจ... เพราะเธอไม่เหมือนดอกกุหลาบดอกอื่น ๆ บนโลกของแต่ละคน ผมออกเดินทางและสะสมหนังสือ เจ้าชายน้อย ทุกที่ที่ผมเดินทางไป...ผมได้รับเจ้าชายน้อยจากดินแดนที่ผมไม่เคยไป...จากผู้คนที่ผมไม่เคยรู้จัก...ถ้าความเหงาจะดึงดูดให้คนเข้าหากัน...เจ้าชายน้อยก็เป็นเช่นนั้น ผมมี เจ้าชายน้อย มากกว่า ๑๒๐ เล่ม มากกว่า ๓๐ ภาษา ผมพาลูกชายตัวน้อยเข้าไปดู เจ้าชายน้อย ในโรงภาพยนตร์ ในวัย ๓ ขวบครึ่ง เขาดูจบแบบมีความสุข ผมคิดว่าเขาสัมผัสได้เพราะหลังจากนั้นเรายังมาชมกันต่อที่บ้านอีกหลายรอบ ผมบอกปูนปั้นเสมอว่า...เจ้าชายน้อยตู้นี้...ป๊าสร้างไว้ให้หนู...เริ่มตั้งแต่หนูยังไม่เกิดเรานั่งเปิดดูเสมอเวลาว่าง ๆ ...ผมเชื่อว่าเขาซึมซับความงดงามของมันไว้เพราะผมเชื่อว่า “ลูกเป็นอย่างที่เราเป็น ไม่ใช่เป็นอย่างที่เราสอน”
Jirat Sirichalermpong
เริ่มจากหมวกใบนั้น...เอ๊ะ ! ไม่ใช่สิ งูที่กินช้างเข้าไปต่างหาก เราคิดว่าการอ่าน เจ้าชายน้อย ในแต่ละช่วงวัยจะได้บางสิ่ง บางอย่าง ต่างกันออกไปสำหรับเราเริ่มจากความน่ารักของภาพประกอบ สนุกกับความช่างสงสัยเมื่อเวลาผ่านไป เป็นอีกช่วงวัยของชีวิต เราว่ามันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เราก็รักหนังสือเล่มนี้ จนกลายมาเป็นการสะสมฉบับภาษาต่างประเทศเราได้หนังสือ เจ้าชายน้อย มาจากผองเพื่อนที่นึกถึงกัน...เวลาเขาเหล่านั้นเดินทางไปต่างประเทศนี่แหละความผูกพันที่ก่อตัวขึ้น ไม่ต้องทำให้เชื่อง
มานัส ตู้แก้ว
เริ่มอ่านและรัก เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาไทย ก่อนจะรักมากขึ้นเมื่อได้อ่านต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส Le Petit Prince ตอนเรียนมหาวิทยาลัย และกลับมาหลงใหลมากขึ้นไปอีกเมื่อได้เป็นเจ้าของหนังสือ ท้าวน้อย ในภาษาลาวตอนนี้กำลังอ่านต้นฉบับ ฃุนน้อย ที่ทำให้เป็น “สำเนียงสุโขทัย” และหวังว่า จะทำให้กลายเป็นฉบับตัวอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหง พร้อมกับจัดนิทรรศการว่าด้วย “เจ้าชายน้อย” ในกลางเดือนมีนาคมนี้-ความสัมพันธ์ของเราช่างยาวนานเหลือเกิน-
Suddan Wisudthiluck
เจ้าชายน้อย เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่เราอ่านในห้องสมุดโรงเรียนตอนนั้นจำได้ว่าพออ่านจบแล้วมีความฝันอยากท่องเที่ยวเพื่อค้นหาเพื่อนใหม่ ๆ เช่นเดียวกับเจ้าชายน้อยบ้าง จึงพยายามเล่นซนต่าง ๆ นานา เช่น การปีนต้นไม้ หรือแม้แต่ขี่วัวที่ตาเลี้ยงไว้ จนวัวตัวนั้นหนีเตลิดหายไป บทสรุปก็คือถูกตาเอ็ดตะโรแทบหูฉีกเราถึงได้เข้าใจว่า “สิ่งที่สำคัญนั้นไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตาจริง ๆ”
ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
เริ่มอ่านสมัยเรียนมหา’ลัยแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ถึงทุกวันนี้บางตอนก็ยังไม่เข้าใจค่ะ ปีที่แล้วก็ตามไปดูนิทรรศการเจ้าชายน้อยในพิพิธภัณฑ์แสตมป์ที่สิงคโปร์
Prapasri Dumsa-ard
เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือฉบับภาษาไทยตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมฯ แล้วชื่นชมในการนำเสนอแบบปรัชญาที่นำมาตีความได้หลากหลายทัศนะ โดยรวมเชื่อในการมองโลกในแง่ดีของเจ้าชายน้อยและนำแนวความคิดบางอย่างจากเนื้อหามาใช้ในการดำเนินชีวิตการได้ไปเยือนร้านเจ้าชายน้อยที่ฝรั่งเศสคือสิ่งที่ใฝ่ฝัน และก็ได้ทำฝันนั้นให้เป็นจริงเมื่อ ๒ ปีที่แล้วในวัย ๔๖ ปี
Kongchalatch Kreawyu
เอาเจ้าชายน้อยลงโอ่ง
คิดว่า เจ้าชายน้อย เป็นมุมมองของชีวิตที่ขึ้นกับสายตาของผู้มองว่าเลือกที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าเราอย่างไร เหมือนคนที่ไม่เห็นความงามของบ้านที่เต็มไปด้วยสวนดอกไม้ แต่ร้องว้าวเมื่อบอกว่าบ้านหลังนั้นราคาร้อยล้าน ฯลฯ เอาเจ้าชายน้อยลงโอ่งราชบุรีจึงเป็นการทำให้จิตวิญญาณแบบเจ้าชายน้อยอยู่กับเราในชีวิตประจำวัน เป็นปรกติศิลป์
Thawat Damsa-ard
ถ้าถามว่าตกหลุมรักเจ้าชายน้อยเมื่อไรก็ตอบยาก รู้แต่ว่าเวลาชีวิตดูวุ่นวาย ๆ การกลับมาอ่าน เจ้าชายน้อย เหมือนกลับมาหาเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย เนื้อหาที่เคยอ่านเมื่อก่อน วันนี้อาจตีความได้ต่างไป แต่พลังของความรักที่อบอวลอยู่ในหนังสือทำให้เราพร้อมเดินหน้าต่อด้วยใจที่เข้มแข็งขึ้นค่ะ
ขอเพิ่มอีกรูปนะคะ อาจจะไม่ตรงโจทย์เท่าไร แต่เป็นรูปของเรากับพี่เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ คนแปลหนังสือ เจ้าชายน้อย จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย และยังเป็นเจ้าของร้านหนังสือเล็ก ๆ ร้านหนังสืออิสระที่สงขลาด้วยค่ะ อารมณ์ได้ถ่ายรูปกะพี่เอ๋เหมือนได้ถ่ายกะ “เจ้าชายน้อย” เลย ตกหลุมรักเจ้าชายน้อยไม่มาก แต่แค่ดั้นด้นไปถึงสงขลาแค่นั้นเองค่า :)))
Wipawee Krishnadrabya
“สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา แต่เห็นได้ด้วยใจ ตกหลุมรักเจ้าชายน้อยตั้งแต่เริ่มอ่านภาษาฝรั่งเศสสมัยเรียน ประทับใจในความรักที่เรียบง่ายงดงามจากใจของเจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบที่เขาบรรจงรดน้ำและเฝ้ามองทุกเช้า กับสุนัขจิ้งจอก เป็นสิ่งที่พิเศษที่สุด จิตใจที่อ่อนโยน มิตรภาพ ความรัก ความไว้ใจ ความสัมพันธ์ ฯลฯ
ระหว่างบรรทัดมีนัยความหมาย คุณค่าซ่อนอยู่ หยิบอ่านทุกครั้งทำให้ได้หวนนึกถึงวัยเยาว์ อยู่กับวัยผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น เจ้าชายน้อยยังอยู่ในใจเราเสมอ หัวใจพองโตด้วยความสุขทุกครั้งที่ได้หยิบอ่าน
สุธาสินี ใจสมิทธ์
“เธอรู้ไหมในยามแสนเศร้า คนเราชอบดูอาทิตย์อัสดงในวันที่เธอดูอาทิตย์อัสดงถึง ๔๓ ครั้ง เธอคงเศร้ามากสินะ”
...
เป็นประโยคแรกที่หลงรักหนังสือ เจ้าชายน้อย หลงรักทุกอย่างในความเป็นเจ้าชายน้อย
Janjao Kwangkaew
ความสัมพันธ์ของเราคล้ายเปราะบาง แต่กลับมีสายใยที่มองไม่เห็นผูกพันเราสองไว้เหนียวแน่นนับตั้งแต่วันที่ได้รู้จักกับหนังสือ เจ้าชายน้อย โดยการหยิบมาจากมือของพี่สาวคนหนึ่งระหว่างนั่งปรับทุกข์กันในห้องสมุด ฉันอ่านรวดเดียวจบ แล้วหลังจากนั้นฉันก็ยึดถือเธอเป็นเพื่อนที่มองไม่เห็น และพาคนที่ฉันรักไปรู้จักกับเธอไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ด้วยความเชื่อมั่น เต็มเปี่ยมหัวใจว่า “สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” แม้ฉันต้องแลกกับการอยู่ในดินแดนน้ำตาเมื่อสร้างความสัมพันธ์กับเธอก็ตาม
Kasama Satayahurak
รู้ว่าไม่ถูกกติกา ไม่มีรูปถ่ายคู่กัน แต่เมื่อเดินทางครั้งใดจะชวน เจ้าชายน้อย เพื่อนที่สร้างความผูกพันให้เราไปด้วยกันเสมอ
Nuchlada Pholchan
ครั้งแรกที่รู้จักกับเจ้าชายน้อย คือสมัยตอนเพิ่งเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ซึ่ง ณ เวลานั้นเราก็พยายามอ่านฉบับภาษาฝรั่งเศสเลย เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นหนังสือเด็ก เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงพักการอ่านเรื่องนี้ไปพักใหญ่ แต่แล้วเมื่อผ่านไปได้สัก ๓ ปี เกิดนึกอยากอ่านขึ้นมาอีกครั้งจึงพยายามออกตามหา จำได้ว่าครั้งแรกที่อ่านจบเรารู้สึกหน่วง แต่อบอุ่นในใจอย่างบอกไม่ถูก ประกอบกับเคยได้ยินคนพูดกันว่า ไม่ว่าจะกลับมาอ่านเล่มนี้อีกสักกี่ครั้ง ความรู้สึกเราจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามวัยที่เติบโต เราจึงตัดสินใจกลับมาอ่านเรื่อย ๆ ในทุกช่วงเวลาที่มีจุดเปลี่ยนของชีวิต พอยิ่งอ่าน เราก็ยิ่งตกหลุมรักในแต่ละตัวละครขึ้นเรื่อย ๆ และค้นพบว่าจริง ๆ แล้วเรื่อง เจ้าชายน้อย นี้แฝงเนื้อหาด้วยปรัชญา และชีวิตเยอะมาก มันทำให้เกิดความเข้าใจในบางสิ่งที่ตอนแรกไม่เข้าใจบนโลกที่ใช้ชีวิตอยู่มากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เป็นเรื่องที่สอนให้เราเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว หลังจากนั้นเราจึงตัดสินใจเริ่มสะสมหนังสือ เจ้าชายน้อย หลาย ๆ ภาษา หลาย ๆ ปก จนทุกวันนี้มีรวมเกิน ๗๗ เล่มแล้ว และเราเองก็มีพื้นที่สะสมความทรงจำร่วมกับเจ้าชายน้อยผ่าน Instagram : thelittleprince.journey (https://www.instagram.com/thelittleprince.journey) เจ้าชายน้อยจึงกลายเป็นตัวแทนของสิ่งที่ทำให้ผู้คนรอบตัวนึกถึงเราในยามที่เจอเจ้าชายน้อย ไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม แต่สาเหตุที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกภาพนี้คือ เป็นผลงานที่เราตั้งใจออกแบบเพื่อไว้คอยย้ำเตือนและปลอบประโลมจิตใจทุกครั้งที่เรามองเห็นมัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาพนี้จะสามารถส่งพลังบางอย่างไปถึงทุกคนที่ใช้หัวใจในการสัมผัสได้เช่นเดียวกัน :--)
“เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
Pornpan Tangmunchittham
เรารู้จักกันมาตั้งแต่ปี ๔๒ จนถึงวันนี้เรายังเป็นเพื่อนรักกันตลอดไป
Sukanda Jarruwale Sarnnoi
แด่ตัวอักษรสุดประณีตที่ถ่ายทอดมิตรภาพแสนสดใสที่เราต่างมีเช่นที่เจ้าชายมีอย่างเต็มเปี่ยม (ที่ผู้ใหญ่หลายคนเอาตัวเลขมาบัง แถมหลงและลืมเอามันออกให้พ้น เพื่อกลับมาซึมซับพลังของมิตรภาพอีกครั้ง) โดนพลังแห่งมิตรภาพดูดตั้งแต่บทแรก
Osuntana Ban
อ่าน เจ้าชายน้อย เมื่ออายุ ๑๕-๑๖ จากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในไทย ชอบทั้งที่ไม่ค่อยเข้าใจนัก ขีดเส้นใต้ข้อความที่ชอบไว้เต็มไปหมด รักเจ้าชายน้อยเพราะเขาเป็นเด็กช่างคิด จดจำบุคลิกเด็กชายผมทอง บอบบาง ที่ดูเศร้า โดดเดี่ยว อ้างว้างอยู่เสมอ เป็นหนังสือที่กลับมาอ่านได้เรื่อย ๆ อ่านตั้งแต่เด็กจนแก่ ไม่ได้ตั้งใจสะสมหนังสือ แต่คนใกล้ชิดรู้ว่าเราชอบก็เลยมักจะหามาให้ มีหนังสืออยู่สัก ๑๐ เล่ม ภาษาไทย อังกฤษ จีนกลาง ญี่ปุ่น สเปน และมาลายาลัมปักเสื้อยืด ปักกระดาษเจ้าชายน้อยเป็นงานอดิเรกของ ส.ว. ค่ะ
Asoke Spun
When I fall in love with Little Prince
Sirorat Nontasen
ผมอ่านหนังสือ เจ้าชายน้อย ครั้งแรกน่าจะราว ๆ ชั้นประถมฯ หรือมัธยมฯ ต้น เป็นฉบับของไทยวัฒนาพานิช จำความรู้สึกได้ว่า “ไม่สนุก” มันเป็นแค่เรื่องผจญภัยอะไรสักอย่างที่อ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง สู้หนังสือ เมืองในตู้เสื้อผ้า ก็ไม่ได้
...
เมื่อเวลาผ่านไป น่าจะเป็นช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ได้กลับมาอ่าน เจ้าชายน้อย อีกครั้ง เป็นฉบับแปลของพี่เอ๋-อริยารอบนี้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น ชอบภาพประกอบโดยเฉพาะตัวเจ้าชายน้อย เพราะตะมุตะมิแต่ก็ยังรู้สึกว่า “หนังสือไม่เห็นจะสนุกเลย สู้ ติสตู นักปลูกต้นไม้ ก็ไม่ได้”
...
ผ่านไปอีกหลายปี ได้ไปอยู่ที่ประเทศสวีเดน พี่เอ๋-อริยา มอบหนังสือ เจ้าชายน้อย เล่มเล็กปกสีเขียวให้นำติดตัวไปอ่านรอบนี้รู้สึกกับเรื่องราวในหนังสือมากขึ้น อาจเพราะโตขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น จึงเข้าใจความหมายของเรื่องราวและสัญลักษณ์ที่ผู้แต่งซุกซ่อนเอาไว้มากขึ้น ตอนนั้นชอบ เจ้าชายน้อย พอ ๆ กับหนังสือของ แอสทริด ลินด์เกรน หลาย ๆ เล่มที่ได้อ่านที่สวีเดน
...
ในเวลาต่อมา เมื่อชีวิตได้พบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้นอีก ยิ่งโตก็ยิ่งเข้าใจเจ้าชายน้อยที่อยู่ดาว B 612 เกือบจะเพียงลำพัง ความเข้าใจในบทบาทของกุหลาบ หมาจิ้งจอก ความสำคัญของความสัมพันธ์ มิตรภาพ และอื่น ๆ “เติบโตไปตามชีวิต” เมื่อถึงจุดหนึ่ง เจ้าชายน้อย กลายเป็นหนังสือที่เศร้ามาก เศร้าในความจริงที่เป็นจริง ความจริงที่ทำให้ชีวิตเคว้งคว้างเหมือนอยู่ในจักรวาล
...
ความรู้สึกที่มีต่อเจ้าชายน้อยทั้งในแบบตื้น ๆ และในแบบลึกซึ้ง เห็นได้จากการเริ่มเก็บอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับเจ้าชายน้อยไปเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งเคยทำป้ายติดคอเสื้อยืดเป็นลายเจ้าชายน้อย มีเข็มกลัดสีเงินรูปเจ้าชายน้อย นาฬิกา แสตมป์ หนังสือ ภาพวาดฝีมือน้องบิน หนังตะลุงฝีมือน้องอั๋น รูปปั้นงานศิลป์ฝีมือคุณกบ โมเดลเจ้าชายน้อยฝีมือเฮียเส่ง ของที่ระลึกหลายอย่างจากพี่หุยและพี่สาว (น้องชายก็มี) ภาพวาดพี่ตูนวิ่งในชุดเจ้าชายน้อยฝีมือคุณมาโนช รวมทั้งงานผ้าปักฝีมือเด็กที่หลวงพระบาง ฯลฯ
...
แต่สิ่งที่ตัวเองคิดว่าอาการหนักที่สุด คือการเขียนนิทานเรื่อง พลูโต ที่แม้แก่นเรื่องจะต่างกับ เจ้าชายน้อย แต่เมื่อเอากลับมาอ่านก็ทำให้เห็นว่า โครงเรื่องแทบจะเป็นอันเดียวกัน (โดยไม่รู้ตัวจริง ๆ) บางที...เจ้าชายน้อยอาจสิงเข้าไปร่างของผมแล้วก็ได้
...
ในฐานะคนเขียนนิทาน ผมขอยืนยัน นั่งยัน กินยันว่า เจ้าชายน้อย ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็ก เพราะผมนึกไม่ออกว่ามีส่วนไหนในหนังสือที่จะทำให้เด็กสนุกได้ แต่หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่มีหัวใจ การอ่าน เจ้าชายน้อย ในแต่ละบทอาจทำให้คุณเห็นตัวเองว่า “เจ้าชายน้อยกับฉัน” มันก็คนเดียวกันนี่นา
ณบุญ คากิมิยะ
เหมือนเวลาตกหลุมรักใครสักคน มันยากที่จะอธิบายเป็นตัวหนังสือรู้แค่ว่าหลงรัก หัวใจมันพองโตเวลาได้อ่านหรือได้เห็นทุก ๆ สิ่งเกี่ยวกับเจ้าชายน้อย สิบสี่ปีผ่านไป รู้ตัวอีกทีก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว
Kik Boonpho
Fix you / ๑๒๐x๑๒๐ ซม. / สีน้ำมันบนผ้าใบ
เจ้าชายน้อยเป็นเเรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม (painting) การสร้างสรรค์ผลงานในตอนนั้น เหตุการณ์โลก สงครามความขัดเเย้งในซีเรีย เด็กน้อยคนหนึ่งในโลกของความจริงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของผู้ใหญ่ที่หลงลืมความเป็นเด็กไปเสียเเล้ว
วรรณกรรม เจ้าชายน้อย จึงเป็นสิ่งที่เราหลง ชอบ เเละประทับใจสิ่งที่ผู้เขียนสื่อสารผ่านได้อ่านเรื่องนี้เป็นครั้งเเรก ตอนนั้นกำลังเรียนอยู่ปี ๓ จากเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งเเนะนำให้อ่าน
Aui Phadungkiat
เริ่มตกหลุม (พราง) รักเจ้าชายน้อยครั้งแรกสมัยมัธยมฯ ชอบทุกตัวอักษร สะสมทุกอย่างที่เกี่ยวกับเจ้าชายน้อย ติดตามทุกข่าวสาร ซึ่งล่าสุด เจ้าชายน้อย กำลังจะแปลเป็นฉบับภาษามลายู (มีโอกาสไปถ่ายรูปกับพี่เอ๋ คนแปลหนังสือ เจ้าชายน้อย พี่เขาเลยบอกข่าว ความรู้สึกตอนนั้นดีใจมาก ตื่นเต้นที่กำลังจะมีคนแปล เจ้าชายน้อย เป็นภาษามลายู ภาษาท้องถิ่นของคนในสามจังหวัด) เราคนหนึ่งที่เป็นคนมลายูจะตั้งตารอ เรารู้สึกว่าความฝันของเราใกล้เข้ามาทุกที ความฝันที่สักครั้งหนึ่งจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเจ้าชายน้อยที่ฝรั่งเศส ดินแดนบ้านเกิด จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเจ้าชายน้อยในปัจจุบัน ตั้งแต่วันนั้นวันที่ตกหลุม (พราง) รักเจ้าชายน้อย ก็ไม่เคยหนีไปไหนได้พ้นเลย “นี่คือความลับของฉัน เราจะมองเห็นอะไร ๆ ให้แจ่มชัดก็ด้วยหัวใจ เพราะสิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตา”
#เจ้าชายน้อยของฉัน #หวังว่าบทความครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณนะ คุณเจ้าชายน้อย
Asna Sakuldeeyok
ชอบลายเส้นง่าย ๆ ของตัวละคร พออ่านเรื่องราวในวรรณกรรมยิ่งชวนหลงใหล ต่อยอดเป็นศิลปะการปักผ้า
Jeab Jorjae
จากเดิมที่ต้องอ่านเพราะวิชาเรียนบังคับ เปลี่ยนแปลงมาเป็นหนังสือที่เรามักจะนึกถึงเสมอในหลาย ๆ โอกาสของชีวิต แม้ว่าตอนนี้เราอยู่ในวัยที่จำเป็นจะต้องเติบโตขึ้น แต่ก็ยังอยากที่จะจดจำและรักษาความรู้สึกของการที่ได้อ่าน เจ้าชายน้อย ครั้งแรก ๆ เอาไว้ให้นานที่สุดค่ะ : ) “เธอรู้ไหม...ในยามแสนเศร้า คนเราชอบดูอาทิตย์อัสดง...”“ในวันที่เธอดูอาทิตย์อัสดงถึง ๔๓ ครั้ง เธอคงเศร้ามากสินะ ?” แต่เจ้าชายน้อยมิได้ตอบแต่อย่างใด
Mirantee Pungbangkadee
ความสุขเล็ก ๆ กับเจ้าชายน้อย ๆ จากหนังสืออ่านเล่นจนมาเป็นของสะสม เจอที่ไหนเป็นต้องเก็บ รักไม่น้อย และรักมานาน
Nanoi Noina
เมื่อแรกเจอ เจ้าชายน้อยคือเพื่อนใหม่ผู้ที่คุยกับเราอย่างอ่อนโยน ยิ่งนานวันก็ยิ่งรู้จักกัน สนิทกัน และ “เชื่อง” กันในที่สุด ปีนี้เราจะฉลอง ๓๐ ปีของมิตรภาพที่มีต่อกัน ไม่มีวันไหนที่ไม่มี “เจ้าชายน้อย” ในชีวิต การรู้จักกับเจ้าชายน้อยนั้นช่างวิเศษมากจริง ๆ เรื่องราวในหนังสือเป็นดั่งคำสอน คำแนะนำการใช้ชีวิต เวลาเดินทางไปที่ไหนก็จะมีเจ้าชายน้อยติดตัวไปถ่ายรูปในที่ต่าง ๆ ด้วยเสมอ ทำให้ได้รู้จักคนอื่น ๆ ที่ชื่นชอบเจ้าชายน้อยด้วยกัน การทักทาย สนทนากับมิตรคนอื่น ๆ ของเจ้าชายน้อยจึงเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ยิ่งทำให้ “รัก” เธอมากยิ่งขึ้น เพราะเธอเป็น “ที่รัก” ของใครหลาย ๆ คนบนโลกใบนี้ เธอมหัศจรรย์มากจริง ๆ “เจ้าชายน้อย”
Pakawat Chansiri
- เริ่มแรกรู้จักเพราะเพื่อนสนิทที่เรียนศิลปากรเล่าให้ฟังว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า เจ้าชายน้อย ดีมาก ไปหาอ่านดูนะ ด้วยความอยากรู้เลยไปควานหามาจนได้ เป็นเวอร์ชันของสำนักพิมพ์ศรีสารา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๔๒ แปลโดยคุณพงาพันธุ์ เจ้าของผลงานแปลใน พลอยแกมเพชร อ่านจบรอบแรกไม่เข้าใจเลย แต่ด้วยคำพูดของสุนัขจิ้งจอกที่บอกกับเจ้าชายน้อยว่า “เราจะมองเห็นอะไรได้ลึกซึ้งแจ่มแจ้งก็ด้วยหัวใจเท่านั้น แก่นสาระสำคัญใด ๆ ก็ตาม มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหรอก” เลยอ่านใหม่อีกหลายรอบ จนเริ่มเข้าใจความหมายได้ในระดับหนึ่ง เคยเอาหนังสือไปให้เพื่อนอ่าน เพื่อนบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง เลยเก็บไว้ “อิน” คนเดียว ทีนี้พอเจอ เจ้าชายฯ เวอร์ชันอื่น ๆ ที่ร้านหนังสือก็เลยซื้อเก็บสะสมไว้เรื่อยมา
- ผ่านมาอีก ๑๖ ปี คือในปี ๒๕๕๘ ความรักที่มีต่อเจ้าชายน้อยก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะเจ้าชายน้อยในจินตนาการของเรากลายเป็นแอนิเมชันเรื่อง The Little Prince จากภาพในหนังสือกลายเป็นการ์ตูนเสมือนมีชีวิต โดยฝีมือผู้กำกับฯ กังฟูแพนด้า ด้วยความที่เป็นติ่งเจ้าชายน้อย หนังสือก็อ่านแล้ว พอมาทำเป็นหนังเลยอยากรู้ว่าจะเก็บรายละเอียดหมดเหมือนในหนังสือมั้ย ผู้กำกับฯ เก่งมากเลย ตีความจากสิ่งที่ “อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี” แต่งไว้เป็นอย่างดี
- และจากปี ๒๕๕๘ ผ่านมาอีก ๕ ปี ล่าสุดในปีนี้ ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ ๗๗ ปี ของ เจ้าชายน้อย คือที่สุดของความรักระหว่างเรากับเจ้าชายน้อย เพราะอีกแค่ ๓ เดือน เราจะบินไปดู The Little Prince Musical ที่ Capitol Theatre Sydney ประเทศออสเตรเลีย ตื่นเต้นมากที่สุด เพราะเจ้าชายน้อยแบบตัวเป็น ๆ จะมาแสดงให้เราเห็นตรงหน้า จากอาการตกหลุมรัก หลงรัก จนวันนี้เราผูกพันกับ “เจ้าชายน้อย” ไปแล้วจริง ๆ เรื่องราวของเจ้าชายน้อยวนเวียนอยู่รอบตัวเรา จากที่เคยอ่าน เจ้าชายน้อย ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เราเคยไม่เข้าใจเนื้อหา คิดวนเวียนแค่ว่า เจ้าชายน้อยคือใคร มาจากไหน มาได้ยังไง แล้วไปจากนักบินทำไม แค่นั้น จนเราโตขึ้น ทำงานแล้ว พบเจอคนมากมาย เราจึงเข้าใจแล้วว่าผู้แต่งอยากบอกอะไรกับเรา ดังคำอุทิศในหนังสือ เจ้าชายน้อย ว่า “ขออุทิศให้กับคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วทุกคน เพราะผู้ใหญ่ทุกคนต่างเคยผ่านการเป็นเด็กมาก่อนด้วยกันทั้งนั้น แต่น้อยคนนักที่จะยังจำช่วงวัยเยาว์นั้นได้”
Suchera Wijitsarn
เราทั้งสองอ่าน เจ้าชายน้อย มาตั้งแต่เรียน ม. ปลาย แต่มารู้จักและเป็นแฟนกันตอนเรียนปริญญาตรี ช่วงนั้นเองที่ได้รู้จักพี่เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ ผู้แปล และพี่จี๋-บุษกร พิชยาทิตย์ แห่งร้านหนังสือเล็ก ๆ ถนนพระอาทิตย์ สมัยนั้นไปที่ร้านบ่อย ร้านจัดงานก็ไปช่วย บางทีก็นั่งเฝ้าร้านให้ จนเรียนจบก็ยังติดต่อกันมาเรื่อย ๆ ช่วงปี ๒๕๔๖ พี่เอ๋กับพี่จี๋ ในนามสำนักพิมพ์หนังสือยามเช้า พิมพ์ เจ้าชายน้อย ฉบับเห็นด้วยหัวใจ (ฉบับไม่พิมพ์ภาพประกอบ) ปีถัดมาเราสองคนจะแต่งงาน เลยมีไอเดียว่าจะพิมพ์ เจ้าชายน้อย แจกเป็นของชำร่วย เลยขอพี่เอ๋กับพี่จี๋ ซึ่งพี่ ๆ ทั้งสองก็ใจดี ช่วยเหลือประสานงานให้ทั้งหมด เราสองคนเขียนคำนำลงในหนังสือฉบับพิเศษนั้น และตั้งชื่อว่า เจ้าชายน้อย ฉบับเห็นด้วยหัวใจสองดวง เป็นเจ้าชายน้อยฉบับที่เป็นหนึ่งเดียวในโลกสำหรับเราสองคน แบบเดียวกับที่สุนัขจิ้งจอกเป็นหนึ่งเดียวในโลกสำหรับเจ้าชายน้อยในหนังสือ ปัจจุบันเรามีผลผลิตเป็นเด็กชายอายุ ๑๒ ปี ที่ตัวไม่ค่อยจะน้อยเท่าไรแล้ว
Nattaya Khwanrak
ป.ล. เมื่อเดือนที่แล้ว พี่เอ๋เล่าให้ฟังว่า มีแฟนเจ้าชายน้อยท่านหนึ่งมาเยี่ยมที่ร้านหนังสือเล็ก ๆ ถนนยะหริ่ง สงขลา และนำหนังสือเล่มที่พิมพ์เป็นของชำร่วยมาโชว์ พร้อมทั้งเล่าว่าซื้อมาในราคาค่อนข้างสูง ถ้ารู้ว่า ๑๕ ปีต่อมาหนังสือจะเป็นที่ต้องการในตลาดขนาดนี้ จะ stock เก็บเอาไว้ขายเอง :D
...ถึง เจ้าชายน้อย
...ถ้านิสัยใจคอของเราส่วนหนึ่งก่อร่างสร้างจากเพื่อน ๆ ที่เราสนิทสนมด้วยในตอนเด็ก ๆ แล้วละก็
...เพราะนายแท้ ๆ - เจ้าชายน้อยเอย ที่ทำให้เด็กชายคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นชายหนุ่มที่ยียวนกวนประสาทได้ถึงเพียงนี้
...ไม่ว่าจะเป็นการเสแสร้งพูดจาด้วยภาษาตัวเลข พร้อมทำท่าเอาการเอางาน (ที่นายเคยด่าฉันว่าเจ้าเห็ด - ตอนที่ฉันทำให้นายดู)
...ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งศิโรราบกับคนที่ (เขาคิดว่า) มีอำนาจเหนือเรา แต่ลับหลังกลับดื้อเงียบ
...ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งให้คนทำอะไรตลก ๆ แบบที่นายปรบมือแกล้งคนหลงตัวเองที่ดาวดวงหนึ่ง (ตอนเด็ก ๆ ฉันไม่เชื่อว่าจะมีคนแบบนั้นอยู่จริง ๆ)
...ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาวกวนกวนประสาทไม่รู้จบ แบบลุงขี้เมา หรือแบบนักธุรกิจผู้ร่ำรวย (ตอนเด็ก ๆ ฉันก็ไม่เชื่ออีกเหมือนกันว่าจะมีคนแบบนี้อยู่จริง ๆ)
...ไม่นับที่ฉันชอบแดกดันชายจุดโคมไฟที่ยังทำอะไรเชย ๆ เหมือนเดิม ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
...เพราะนายแท้ ๆ - เจ้าชายน้อยเอย
...ส่วนเรื่องที่ฉันเข้าใจผิดมากที่สุด ว่านายไม่เคยสอนฉันเลย
...คือเรื่องการผูกสัมพันธ์
...แต่ถ้าการอ่านเปรียบได้กับการพูดคุยกับนาย
...ตั้งแต่เด็กจนล่วงเข้าวัยกลางคน เราก็ได้คุยกันทุกปีมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วสินะ (บางปีหลายครั้งด้วย จะคุยไรกันนักหนา)
...พอนึกได้แบบนี้ ฉันถึงฉุกคิดได้ว่า
...ฉันถูกนายทำให้เชื่องเรียบร้อยแล้วสินะ
...งง ๆ ไม่รู้ไม่เห็น ไม่รู้เนื้อรู้ตัว แบบคำพูดของนายที่คนชอบเอาไปพูดบ่อยที่สุด
...ทั้งที่ฉันรู้สึกว่า คำพูดนี้มันน้ำเน่าจะตาย (แหวะ)
...และถึงนายจะไม่ได้สอนให้สารภาพรัก (เพราะนายชอบความรักแบบที่ต้องมองทะลุเล่ห์เพทุบายนิดหน่อย ให้เข้ากับธีมเด็กชายยอกย้อนเข้าใจยาก)
...แต่ฉันก็อยากจะบอกนายแบบหล่อ ๆ ไว้ ณ ที่นี้ว่า
...ไม่ว่านายจะมาจากดาว บี ๖๑๒ จริง ๆ
...หรือเป็นแค่เพื่อนหลอนของนักบินที่เครื่องบินตกกลางทะเลทราย
...มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า
...ถ้าฉันรักนายจริง ๆ นายก็ย่อมมีตัวตนสำหรับฉัน (ฮิ้วววววว)
...เหมือนแกะที่หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ในลังที่มีรู ๆ ที่นายกับนักบินคนนั้นพากันหมกมุ่น (ถ้าหมกมุ่นขนาดนั้นก็น่าจะต้องรักมันบ้างไม่มากก็น้อยละ - ใช่มะล่ะ)
...ส่วนเหตุที่อยู่ ๆ ฉันมานั่งเขียนอะไรต่ออะไรถึงนายด้วยอาการท้องเสียในห้องน้ำตอนตี ๔ นี่ ก็ไม่มีอะไรมาก
...เพราะพวกคนที่หมกมุ่นเรื่องนายเขาประกาศว่า ถ้าใครเขียนอะไรหล่อ ๆ ถึงนายแล้ว เขาอาจจะเอาไปตีพิมพ์ในนิตยสารที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง
...ฉันก็แค่อยากมีหน้ามีตา อยากเดินกร่างไปคุยโม้โอ้อวดกับคนอื่นบ้าง
...ว่าฉันกำลังจะเป็นนักเขียนดังในอนาคต (ถ้าตอนนี้นายตบมือ ฉันจะถอดหมวกโค้งคำนับทันที)
...รักนายเสมอ
...จาก เด็กชายทับทิม (ผู้กำลังจะเป็นนักเขียนดัง !!??)
Artit Arrunyagasamesuke
...ป.ล. เขียนที่ห้องน้ำห้องหนึ่งที่เหมือนกับห้องน้ำทั้งหลายในโลกนี้ แต่เป็นห้องน้ำที่มีความหมายสำหรับเรา และทำให้เราเป็นเพื่อนกับห้องน้ำทั้งโลก (หือ !!??)
เจ้าชายน้อยเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันไปใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศส ๖ ปี เป็นความอิ่มใจที่ฉันอ่านเธอในภาษาต้นฉบับได้ และไม่ว่าฉันจะเสพเธอด้วยสื่อประเภทใด หนังสือ หนังสือเสียง หนังสือภาพ ภาพยนตร์ ละครเวที และละครเพลง เธอจะเปิดดวงตาให้ฉันเห็นมุมมองใหม่ ๆ ของชีวิตเสมอ ในยามที่แสนเศร้า คนเราชอบมองอาทิตย์อัสดง แต่สำหรับฉัน ฉันยังชอบหยิบ เจ้าชายน้อย ออกมาอ่านในยามตะวันใกล้ลับฟ้านั้นอีกด้วย
Ryan Chantawat
มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มหรอกค่ะที่เราจะหยิบมาอ่านซ้ำอยู่บ่อย ๆ หนึ่งในนั้นคือ #เจ้าชายน้อย เล่มนี้เราอ่าน #เจ้าชายน้อย ครั้งแรกตอนเรียนอยู่ชั้นประถมฯ ตอนนั้นคิดแค่ว่าสนุกดี เป็นการผจญภัยของเจ้าชายน้อยไปยังดาวต่าง ๆ ชอบภาพประกอบด้วย น่ารักดี คิดแค่นี้จริง ๆ ค่ะ พออยู่มัธยมฯ ต้นหยิบมาอ่านใหม่อีกครั้ง คืองงมาก ? ไม่เข้าใจเลยว่าหนังสือต้องการจะสื่ออะไร ทำไมคนอื่น ๆ บอกว่าดีมาก ๆ แต่เราอ่านแล้วกลับไม่เข้าใจอะไรเลย รู้สึกเฉย ๆ และไม่ “อิน” เหมือนครั้งที่อ่านเมื่อตอนอยู่ชั้นประถมฯ ปัจจุบันเรียนระดับอุดมศึกษา มีโอกาสหยิบมาอ่านอีกครั้งถึงได้รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ใน เจ้าชายน้อย เยอะมาก ๆ ทั้งข้อคิดที่ดีในการดำรงชีวิต แฝงแนวคิดปรัชญา คำคมต่าง ๆ ไว้มากมาย เราว่าความพิเศษของ เจ้าชายน้อย ที่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่น ๆ ก็คือ ความคิด ความรู้สึกเราจะเปลี่ยนไปทุกครั้งตามช่วงเวลาที่อ่าน ยิ่งเรามีประสบการณ์ในชีวิตมากเท่าไร จะยิ่งอ่านเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เมื่อได้กลับมาอ่านอีกครั้งในคราวนี้ เราว่าเรารู้จักและเข้าใจเจ้าชายน้อยมากขึ้นแล้วละ ^ _ ^ หนังสือบางเล่มก็ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ถึงจะเข้าใจ เหมือนกับคำคมในเรื่อง เจ้าชายน้อย ที่ว่า
“เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น
สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
#เจ้าชายน้อยกับฉัน
#แต่งไทยเที่ยวงานวังแต่ยังไม่ลืมหยิบเจ้าชายน้อยติดมือไปด้วย
ฟ้าประทุม ผิวเนียม
นิทรรศการเจ้าชายน้อย จัดที่โรงเรียนนานาชาติ
อ่านแต่ละครั้งก็ให้ความหมายที่เปลี่ยนไปตามวัน เวลาในตอนวัยยังศึกษาเล่าเรียนอ่านเพลิน ๆ จินตนาการไปบนดวงดาวต่าง ๆ พอเริ่มโตขึ้น แก่ขึ้น ประสบการณ์ที่พบเจอมากขึ้น อ่านอีกครั้งทำให้รู้ว่าผู้คนที่เจ้าชายน้อยพบเจอบน
ดาวต่าง ๆ มันอยู่แวดล้อมเรานี่เอง ทุกครั้งที่อ่านเหมือนได้เจอเพื่อนเก่าอีกครั้ง
Sari Upongpithak
ความประทับใจในวัยเด็กของผม “เจ้าชายน้อย” ส่งต่อความรักสู่...“ลูกชายตัวน้อย” ของผมครับ
Alyn Sriaram
แม่ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เจ้าชายน้อย เป็นหนึ่งในนั้นที่แม่อ่านแล้วหลงรัก เมื่อแม่มีลูกชาย หนังสือเหล่านั้นรวมทั้ง เจ้าชายน้อย ก็ได้ส่งต่อให้ลูกชายที่ชอบอ่านหนังสือเช่นกัน “ลูกชอบความรักของเจ้าชายน้อยกับเจ้าจิ้งจอกจังเลยครับแม่ มีความเชื่อใจให้แก่กัน นำมาซึ่งมิตรภาพที่ดี”
รจนา เหลือนับ
เจ้าชายน้อยกับฉัน...เรารู้จักกันมานานมากต้องขอบพระคุณคุณครูประจำชั้นประถมฯ ที่ให้หนังสือ เจ้าชายน้อย เป็นรางวัล ทำให้เรารู้จักและอยู่ด้วยกันมาตลอด เราปล่อยให้ความผูกพันก่อตัวขึ้น จึงต้องเสี่ยงกับการหลั่งน้ำตา และจะเป็นเรื่องเศร้ามากหากเราลืมเพื่อนไปสักคนฉันในวัยเยาว์กับเจ้าชายน้อย เป็นความรู้สึกผูกพัน เป็นเพื่อนกัน สงสารเจ้าชายน้อยจัง เราจะเป็นเพื่อนกันตลอดไปเวลาผ่านไปเจ้าชายน้อยก็ยังอยู่ในใจฉัน เขาสอนให้ฉันรู้ว่า “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยสายตา เราจะเห็นอะไรได้ด้วยหัวใจของเรา”
Sompis Sopondirekrat
ตอนเด็ก ๆ อิจฉาเจ้าชายน้อย ได้เป็นเจ้าของดาวดวงน้อยโตมาอ่านอีกที สงสารเจ้าชายน้อยที่อยู่อย่างเดียวดาย อยากจะไปเป็นกุุหลาบอีกต้นแต่ละช่วงเวลาที่ได้กลับไปอ่านมีแต่ความรู้สึกดี ๆ กับหนังสือเล่มนี้
Pat Wa
...สิบปีมาแล้วกระมังมีใครบางคนพูดถึงประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” ทำให้ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาเหมือนเคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อน ก็เลยไปหามาอ่านบ้าง พร้อม ๆ กับการเริ่มต้นมิตรภาพกับใครคนนั้น ฉันค่อย ๆ อ่าน เจ้าชายน้อย อยู่หลายปี แรก ๆ ฉันตีความตามตัวอักษรและมีหลายสิ่งที่ยังไม่เข้าใจนัก อ่านซ้ำไปซ้ำมาเมื่อมีเวลาแต่ละช่วงของชีวิตที่อ่านทำให้ฉันตีความหมายของเนื้อเรื่องแต่ละตอนแตกต่างกันออกไป บางทีก็ให้แง่คิด บางทีก็รู้สึกเป็นสุข บางทีก็เศร้า บางทีก็งุนงงสงสัย บางครั้งก็กระจ่างแจ้ง...คล้าย ๆ กับความสัมพันธ์ของฉันกับใครคนนั้น จนเวลาผ่านไปฉันคิดว่าตัวเองตกหลุมรักเจ้าชายน้อยพร้อม ๆ กับใครคนนั้น อาจจะเป็นเพราะเขามีความคล้าย ๆ กันอยู่หลายสิ่ง เช่น เขาอาจจะมาจากดาว B 612 เหมือนกัน เพราะเขาดูแปลกไม่เหมือนใคร มีคำพูด ความคิด คำถามแปลก ๆ เขาเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ พบเจอผู้คนอยู่เสมอ ตอนนั้นเขาทำให้ฉันคิดว่าตัวเองเป็นสุนัขจิ้งจอกที่ต้องรอพบกันตอนบ่าย ๔ โมง แต่พอเรื่องราวดำเนินมาจนถึงตอนนี้...ฉันกลับคิดว่าตัวเองเป็นดอกกุหลาบที่ควรปล่อยให้เขาออกเดินทางเพื่อหาความหมายของชีวิตไป อย่างที่ใจต้องการ ส่วนตัวฉันยังคงต้องอ่าน เจ้าชายน้อย ในช่วงชีวิตต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ และถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึงปีที่ ๗๗ (บ้าง) ฉันจะมาเล่าให้คุณฟังนะ
Phalai Art
ปี ๒๕๑๓ ตอนอายุ ๒๑ ปี ที่มีหนังสือ เจ้าชายน้อย ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชไว้อ่าน/อ่านไปขีดเส้นใต้ไป จนเกือบทุกหน้าที่เต็มไปด้วยเส้นหมึกใต้บรรทัด/สรุปกับตัวเองตอนนั้นว่า ช่างเป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่อะไรเช่นนี้/จากนั้นก็ติดตามซื้อของที่ระลึกของ “เจ้าชายน้อย” นานาชนิดอยู่ไม่ขาดระยะ/แต่เนื่องจากของที่ระลึกเป็นของใช้ จึงแทบไม่มีอะไรเหลือไว้ให้จดจำเลย นอกจากเจ้ากล่องใส่นาฬิกา “เจ้าชายน้อย” กล่องนี้ ส่วนตัวนาฬิกาสาบสูญไปเสียแล้ว/หนังสือเจ้าชายน้อยเล่มเก่าอายุ ๕๐ ปี ยังอยู่ดีมีสุขกับเจ้าของหนังสือที่มีอายุเดินทางไปถึงปีที่ ๗๑ แล้ว/มั่นใจเหลือเกินว่า “เจ้าชายน้อยเล่มนี้” ย่อมจะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่ซื้อมา “ภูมิปัญญามนุษย์ย่อมยืนยาวกว่าเลือดเนื้อมนุษย์อย่างแน่นอน”
Wiwat Rojanawan
เคยคิดว่าเจ้าชายน้อยเป็นหนังสือเด็ก หยิบมาอ่านตอนเด็ก อ่านไม่จบ จนไม่กี่ปีก่อน เลือกเปิดฟัง audio book ตอนวิ่งจ็อกกิง น้ำตาร่วงตอนจบ ทำไมเศร้าจัง อีกพักหยิบหนังสือมาอ่าน งดงามมากค่ะ ️“All grown-ups were once children...but only few of them remember it.”
Annie Paew Somwang
มาอ่าน เจ้าชายน้อย ตอนเป็นผู้ใหญ่ทำงานแล้วค่ะ เป็นหนังสือที่ช่วยปลอบประโลมใจในช่วงที่มีความทุกข์ใจจากที่ทำงาน แล้วก็หลงรักในถ้อยคำทุกตอนที่ เจ้าชายน้อย ได้เจอกับตัวละครทุกตัว จะมีประโยคที่แสนประทับใจทำให้หลงรักเจ้าชายน้อย และขอบคุณผู้แต่งที่ทำให้เรามีหนังสือดี ๆ บนโลกใบนี้ ในวัยที่ฉันอายุมากแล้ว ฉันขอฝากประโยคในหนังสือเรื่องนี้ไว้ว่า “ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่น้อยคนที่จะจดจำช่วงเวลานั้นได้”
Morakot Limtrakul
ผมโตมากับเจ้าชายน้อย...ความสงสัยใคร่รู้ที่ต้องหาคำตอบให้ได้...มิตรภาพที่สร้างขึ้นบนเส้นเดินที่ทำให้รู้จักมองโลกตามความเป็นจริง (คนมีมากมาย เราควรเลือกคบใครได้บ้าง) ...สำคัญสุดคือความเป็นเรา จะคงความเป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ ช่างสงสัย รู้จักตั้งคำถามดี ๆ ไว้นานเท่าใด...ทุกวันนี้ทุกครั้งที่มองฟ้า ผมจะมองหาเจ้าชายน้อยจากดาว B 612 อยู่เสมอ
Natthaphat Lakul
เจ้าชายน้อยยืนมองเราผ่านลูกแก้วใบน้อย ในร้านขายของที่ระลึกที่ฝรั่งเศส เมื่อได้เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่หยิบขึ้นมาทักทาย ไม่ใช่น้ำหอม หรือกระเป๋าแบรนด์เนม เจ้าชายน้อยกลับบ้านมาพร้อมกับเรา ความสุขของเราอาจเล็กน้อยและไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนโตก็ได้ เราก็แค่เลือกทำในสิ่งที่รักและมีความสุขจริง ๆ จำไม่ได้ว่าราคาเท่าไร จริง ๆ ก็แพงเหมือนกันนะ แต่มองทุกวันแล้วมีความสุข
Aranya Thasnajureeskul
ในมือขวาคือหนังสือเนื่องในวาระ ๗๕ ปี เจ้าชายน้อย และ ๗๕ ปี เทพศิริ สุขโสภา อ่านแล้วรื่นรมย์กับภาพประกอบน่ารัก ๆ แล้วจิบน้ำจากกระบอกน้ำลวดลายเจ้าชายน้อยจากแดนเจ้าของเรื่องที่หิ้วอยู่ที่มือซ้ายเจ้าชายน้อยที่อยู่ในใจเรามานานแสนนาน
Arunee Wanaroj
ผมอ่าน เจ้าชายน้อย ครั้งแรกตอนประถมฯ ๔ ยืมจากห้องสมุดของโรงเรียน เป็นฉบับของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ตอนนั้นยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก ชอบที่มีการเดินทางผจญภัย ไปตามดวงดาวต่าง ๆ แล้วมาถึงโลกของเรา จนได้อ่านฉบับแปลจากภาษาฝรั่งเศส โดยคุณอริยา ไพฑูรย์ มีภาพประกอบสี่สีสวยงาม เป็นครั้งที่ ๒ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี ๑ ประทับใจตอนเจ้าชายน้อยผูกสัมพันธ์กับสุนัขจิ้งจอกเป็นพิเศษ ทึ่งที่ผู้เขียนเปรียบเทียบการสร้างสัมพันธ์ที่ไว้ใจได้กับคำว่า “ทำให้เชื่อง” เปรียบกับมิตรภาพแล้ว ถือเป็นความหมายเดียวกันกับคำว่า “ทำให้เชื่อใจ” เมื่อเราเชื่อใจในเพื่อน เคารพจิตใจกัน นั่นจะทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาว ในภาพ ถ่ายที่พิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยแห่งเมืองฮาโกเนะ ประเทศญี่ปุ่น เจ้าชายน้อย เป็นหนังสือบาง ๆ ทุกครั้งที่หยิบมาอ่านอีกรอบ ด้วยปรัชญาที่แฝงในเรื่องและประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มขึ้นจะเกิดมุมมองใหม่ ๆ ที่ได้แง่คิดจากหนังสือเสมอ
ฉันรักเจ้าชายน้อย
Pongprasit Mint
ฉันรู้จัก เจ้าชายน้อย ครั้งแรกจากนิตยสาร สมิตา แถมเป็นเล่มบาง ๆ แบ่งเป็นตอนสั้น ๆ ติดอย่างงอมแงม รอของแถมทุกเล่ม ภาพที่จำได้ชัดเจนคือรูปงูเหลือมนอนย่อยช้าง (หรือมองจากด้านนอกคือรูปหมวก) เป็นเรื่องที่ทำให้เด็กตัวเล็ก ๆ ตื่นตาตื่นใจไปกับจินตนาการที่คาดไม่ถึงและจำภาพนั้นได้ตลอดว่าภาพภาพหนึ่งอาจมีความหมายมากกว่าหนึ่งความหมาย กับความหมายดี ๆ จากเรื่อง “เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้นสิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
เดินทางผ่านร้านหนังสือทั่วโลก สะสมเจ้าชายน้อยบ้าง ได้เห็นของสะสมจากร้านหนังสือในต่างประเทศบ้าง ซื้อเป็นของฝากให้พี่ที่รักผู้สะสมเจ้าชายน้อยบ้าง เก็บเจ้าชายน้อยไว้มุมนั้นมุมนี้ ได้รักเจ้าชายน้อยมาตลอดชีวิต และจะรักตลอดไป
Jeo Natthatai Namsirivivat
รู้จักเจ้าชายน้อยมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ โดยได้รับหนังสือ เจ้าชายน้อย เป็นของขวัญวันเกิด จากวันนั้นจนถึงวันนี้ หยิบขึ้นมาอ่านทีไรก็จะทันเหตุการณ์และช่วยบอกอะไรกับคนอ่านได้เป็นอย่างดีเสมอ
Waeorawee Larpkern
จริง ๆ เพิ่งอ่าน เจ้าชายน้อย ไม่นานนัก เพราะสงสัยว่าทำไมมีคนชอบกันจัง อ่านรอบแรกก็อะไรกันนะ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ไม่ค่อยรู้เรื่องแต่แปลกเมื่อกลับมาอ่านใหม่ ทุกครั้งก็มีอะไรใหม่ให้ขบคิด ได้ข้อคิดใหม่ทุกครั้ง แล้วก็มีความสัมพันธ์ด้วย...ในที่สุด
ที่มีอยู่คือ หนังสือ music box และภาพสีน้ำที่วาดเองสองภาพ ภาพแรกเขาเปิดสอนก็เลยรีบไปเรียน เป็น “เจ้าชายน้อยกับสุนัขจิ้งจอก” ภาพ ๒ วาดเอง มโนเอง “เจ้าชายน้อยบนดาว COVID-20 ปกคลุมด้วย PM 2.5” ครับ
พิสิฏฐ์ ประพันธ์วัฒนะ
B 612 โอ๊ย รู้เรื่องนี้ก็เช้าวันสุดท้าย ๒๑ ก.พ.
แล้วก็ต้องออกไปทำงาน กลับบ้านมาอีกที ๔ ทุ่มครึ่ง
จะถ่ายรูปทันมั้ยเนี่ย บ้านเรามืดแล้วมืดเลยซะด้วย
แสงไฟก็มีแต่แสงสีเหลือง ไม่สว่างมากอีก
จะถ่ายรูปเห็นชัดมั้ยนี่ แต่เอาฟระ นาทีสุดท้ายก็เอา
ของที่ระลึกก็อยู่หลายที่อีก ไม่มีเวลาไปเอาที่คอนโดฯ แล้ว
หนังสือกว่า ๒๐ ภาษาก็คงไม่ได้เอามากาง
ถ่ายแต่สันปกไปก่อนแล้วกัน
อ้อ ภาษาปกาเกอะญอก็ยังไม่ได้ทวงจากน้องชายสักที
โอเคค่ะเอาเท่าที่มีไปก่อนให้ทันเที่ยงคืนวันที่ ๒๑ ก.พ.
5555 นี่เจ้าชายน้อยนะจ๊ะ ไม่ใช่ซินเดอเรลลา
B 612 รู้จักเจ้าชายน้อยครั้งแรกสุดตอนเรียนมหาวิทยาลัย
ประทับใจแรกสุดก็เจ้าหมวกน้อยใบนั้น
กับแกะรูปทรงต่าง ๆ แกะในกล่อง แกะผอมแกะอ้วน
แง...แทบอยากจะร้องไห้ เฮ้ย...มีคนเข้าใจมุกแบบนี้แล้วอะ
รักที่สุดในโลกเลย
ประทับใจที่ ๒ ก็คือการสามารถไปดาวต่าง ๆ ได้มากมาย
งดงามจัง และในแต่ละดาวเราก็ได้เจอเรื่องราวสุดแสน
ประทับใจมากมาย ไม่ต้องพูดนะว่าที่ดาวแต่ละดวงนั้นมีอะไรบ้าง
เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วและรับรู้ได้อยู่แล้วด้วยใจ
ไม่ต้องอ่านด้วยตาร้อก...
ประทับใจที่ ๓ อันนี้ที่สุดแล้ว เรารู้กันอยู่ว่าแทบทุกคน
ที่ชอบเจ้าชายน้อยจะบอกว่าชอบเจ้าชายน้อยกับหมาจิ้งจอกของเขา
เพราะเชื่อง เพราะเพื่อน แต่สำหรับเรา ชอบเจ้าชายน้อยกับ
กุหลาบน้อยสีแดงน่าทะนุถนอมของเขา ดอกกุหลาบดอกเดียว
ดอกพิเศษดอกนี้นี่แหละที่เจ้าชายน้อยจะต้องดูแลพิเศษยังไง
มันยาวจัง เดี๋ยวถ้ามีเวลาจะเล่านะ เอาเท่านี้ก่อน B 612
Chofa Jettana Pook