เรื่องธรรมดา
น่าสนใจด้วยวิธีการเล่า
สนทนาสารคดี
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ในงานเรื่องแต่ง (fiction) กลวิธีการเล่าถือเป็นเนื้อตัวของชิ้นงานก็ว่าได้ ส่วนในงานสารคดี (feature) ก็สำคัญในขั้นที่เป็นเสมือนแขนข้างหนึ่ง
สารคดีที่สมบูรณ์ต้องสมดุลระหว่าง “ข้อมูล” และ “กลวิธีการนำเสนอ”
เมื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลได้ครบถ้วนเต็มอิ่มก็มาสังเคราะห์ ประมวลความ ออกแบบวิธีการเล่า ถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนสารคดี
กลวิธีการเล่าเรื่องในงานเขียนสารคดี มีสี่ลำดับขั้นให้ฝึกทำเหมือนการไต่ขั้นบันได
มือใหม่อาจเพียงแต่ เขียนแบบบันทึก อย่างไม่กดดัน ลองเขียนออกมาเหมือนพูด เหมือนเขียนบันทึกประจำวัน เพียงแต่เป็นบันทึกที่มีหัวข้อ แทนที่จะเล่าไปเรื่อยแบบบันทึกส่วนตัว
หากเขียนแบบบันทึกได้คล่องแคล่วลื่นไหลแล้วลอง ลงลึกในประเด็น วางโครงเรื่องออกเป็นประเด็นหลัก ประเด็นย่อย ที่ประกอบกันอยู่ในเรื่องที่จะเล่า แล้วเขียนไล่เรียงไปทีละประเด็น
วิธีนี้มีข้อดีอย่างแรกคือช่วยให้เนื้อเรื่องยาวขึ้นได้แบบรัดกุม ไม่ฟุ้งออกนอกเรื่อง
อีกทั้งช่วยให้เกาะกุมอยู่กับประเด็นได้ง่ายทั้งคนเขียนและคนอ่าน คนเขียนเล่าเรื่องไปทีละประเด็น คนอ่านก็ติดตามรู้เรื่องเป็นประเด็น ๆ ไป
ขั้นต่อมาเป็นการ เลือกเฟ้นวิธีการนำเสนอ เป็นเทคนิคกลวิธีการเล่าเรื่อง ที่ต่อเนื่องมาจากการ “ลงลึกในประเด็น” สมมุติว่าหากจัดเรียงประเด็นแยกย่อยได้ ๑๐ ประเด็น หรือ ๑๐ เหตุการณ์ ไล่เรียงตามเส้นเวลา (timeline) ได้ ๑-๑๐ ในการเขียนเล่าไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเวลาหรือลำดับเหตุการณ์ อาจยกเหตุการณ์ที่ ๙ หรือ ๑๐ มา “เปิดเรื่อง” ก่อนก็ได้ หากนั่นเป็นเหตุการณ์ที่เร้าใจเรียกร้องความสนใจคนตามอ่านได้ เช่นเดียวกับตอนจบที่เราอาจขยักเหตุการณ์หนึ่งใดเอาไว้ “ปิดเรื่อง” ก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นเหตุการณ์ที่ ๑๐ ตามลำดับของไทม์ไลน์เสมอไป ส่วนที่เหลืออีกหลากหลายประเด็นที่จะเป็น “ตัวเรื่อง” ก็ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับช่วงเวลาเช่นกัน หรือจะเรียงตามเวลาก็ได้ ตามแต่กลวิธีนำเสนอที่ผู้เขียนจะเลือกเฟ้นนำมาใช้
เป็นที่รู้กันว่าสารคดียุคใหม่นั้นไม่ใช่สักแต่นำเสนอข้อมูลไปแบบดาด ๆ หากสามารถออกแบบสร้างสรรค์กลวิธีได้อย่างไม่จำกัดและอย่างไม่แตกต่างจากเรื่องแต่ง เรื่องสั้น นิยาย หรือแม้แต่เทคนิคการเล่าเรื่องแบบหนัง
รูปแบบ-วิธีการนำเสนอในงานสารคดีสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด ไม่ซ้ำเดิม และไม่มีที่สิ้นสุด
เพื่อนำไปสู่ปลายทางในขั้นที่ ๔ คือ เจอเส้นทางของตัวเอง หรือที่เรียกว่า เป็นนักเขียนที่มีลายมือของตัวเอง คือมีสไตล์เฉพาะตน มีเอกลักษณ์ ผู้อ่านเห็นงานแล้วจำได้
...
และโดยวิธีการเล่านั้นแลที่จะทำให้เรื่องธรรมดา ๆ น่าสนใจขึ้นได้
อย่างเรื่องมีอยู่ว่า
มีคนตกน้ำที่ท่าเรือ คนยืนมุงกันอยู่เต็ม แต่ยังไม่มีใครลงไปช่วย จนครู่หนึ่งจึงมีคนผลักใครคนหนึ่งลงไป เขาตกลงไปแล้วก็ช่วยคนตกน้ำขึ้นมาด้วย คนที่ไม่รู้ก็พากันชื่นชมว่าเขาช่างมีจิตอาสา
ถือเป็นเรื่องที่มีประเด็น ควรแก่การนำมาเล่า แต่แบบที่เล่ามาถือว่ายังราบเรียบมาก ทั้งยังเป็นการเล่าตามลำดับเวลาแบบตรงไปตรงมาอย่างจดหมายเหตุ
แต่หากเป็นงานสารคดีที่จะให้น่าอ่านอย่างสมค่างานวรรณศิลป์ เราควรใส่ใจต่อวิธีการเล่าด้วย และโดยไม่ลืมรายละเอียดด้านข้อมูล
อย่างแรกนักสารคดีควรสืบ (เก็บข้อมูล) รายละเอียดให้รู้ว่า เป็นท่าเรือแห่งไหน ? เหตุเกิดเวลาไหน ?
สิ่งนี้จะกลายเป็นฉากที่สมจริงและได้บรรยากาศเมื่อนำมาเล่าในงานเขียน...
ที่ท่าพระจันทร์ เวลาเช้า ขณะที่ผู้คนกำลังเบียดเสียดรอเรือข้ามฟาก
ตูม !
เมื่อหันไปตามเสียงก็เห็นใครคนหนึ่งกำลังผุดโผล่อยู่ริมโป๊ะรอเรือ จากกิริยาอาการดูออกว่าเขาว่ายน้ำไม่เป็น
คนบนฝั่งหันรีหันขวาง มองหน้ากันไปมาเหมือนหารือหรือเกี่ยงกันอยู่ในทีว่าใครจะลงไปช่วย แต่ยังไม่มีใครยอมเป็นผู้เสียสละ เพราะอย่างน้อยก็เปียก เปื้อน รวมทั้งเสี่ยงด้วย
การเล่าแบบหลังนี้เราจะเห็นว่ามีทั้งฉากสถานที่ที่ชัดเจน เวลา เสียง ภาพ (ตามที่ผู้เขียนบรรยาย) รวมทั้งทัศนะของผู้เขียน (ที่ใส่มาแบบเนียน ๆ ว่าที่ใครไม่ลงไปช่วยคงเพราะกลัวเปียกและเสี่ยงอันตราย)
ตูม !
น้ำแตกกระจายใกล้จุดแรกอีกครั้ง ใครคนหนึ่งตามลงไปช่วยคนเคราะห์ร้าย เขาทำได้ พาคนตกน้ำขึ้นฝั่งสำเร็จ
พลเมืองดีที่มุงดูกันอยู่เต็มท่าเรือพากันปรบมือชื่นชมที่เขามีจิตอาสา
แต่เมื่อเดินผละพ้นฝูงชนออกมาแล้ว เขาถ่มน้ำลายแล้วสบถอย่างหัวเสีย “แมร่ง ตะกี้ใครมันผลักกูลงไปวะ”
เคล็ดลับสำคัญจุดหนึ่งในการ “ปิดเรื่อง” นี้คือการซ่อน ขยักหักมุมจุดที่เป็นใจความสำคัญของเรื่องเอาไว้จุดระเบิดในตอนจบ
...
สารคดีนั้นสร้างเรื่องไม่ได้ แต่สามารถประกอบสร้างขึ้นได้จากการที่ผู้เขียนรู้จักหยิบข้อเท็จจริงมาใช้เป็น
นัยหนึ่งสารคดีมีหลักที่ต้องยึดกุมอยู่กับข้อเท็จจริง และมีขนบของการบอกเล่าและให้รายละเอียดข้อมูลที่ต่างไปจากเรื่องแต่ง ขณะที่อีกนัยหนึ่งก็ไม่มีกฎแห่งสารคดีข้อใดเลย ที่บังคับบงการว่าสารคดีจักต้องบอกเล่าข้อมูลข้อเท็จจริงไปแบบทื่อ ๆ ตรง ๆ เพียงเท่านั้น ในแง่ศิลปะการนำเสนอ ผู้เขียนจะออกแบบสร้างสรรค์ให้ซับซ้อน ยอกย้อน ซ้อนเรื่อง หรือแม้กระทั่งการจบแบบ “หักมุม” ก็สามารถทำได้อย่างไม่แตกต่างจาก
เรื่องสั้น
เคยเจอเรื่องทำนองนี้จากงานเขียนสารคดีเรื่อง “ครอบครัวรถเมล์ โลกใบเล็กของเด็กชายวัน” ของ ธีรนัย โสตถิปิณฑะ นักเขียนค่ายสารคดีรุ่นที่ ๖ เขาเห็นเด็กวัยอนุบาลคนหนึ่งที่ผู้ปกครองพามาเลี้ยงดูบนรถเมล์ก็สนใจ เขานั่งรถเมล์สายนั้นบ่อย ๆ อู่เลี้ยงเด็กกั้นเป็นคอกอยู่ข้างคนขับ ตอนรถว่าง ๆ ผู้โดยสารไม่หนาแน่นเด็กชายก็ออกมาเที่ยวเดินเล่นอยู่ในรถ เวลากลุ่มเด็กช่างกลขึ้นรถมาแบบพร้อมรบเจ้าหนูก็มีเสียวบ้าง ฯลฯ เป็นภาพละครชีวิตจริงที่ผู้เขียนตามเก็บมาเรื่อย ๆ
นักเขียนหนุ่มเอะใจอยู่บ้างที่คู่ผัวเมีย-คนขับและกระเป๋ารถเมล์ ดูสูงอายุพ้นวัยเป็นพ่อแม่อยู่สักหน่อย แต่ฝ่ายหญิงบอกเขาว่าเจ้าหนูเป็นลูกหลง
ต่อมาเขาขอตามครอบครัวรถเมล์ไปถึงบ้านช่องที่หลับนอน ได้ร่วมวงกินข้าวไข่เจียวฝีมือเธอ ได้ดูอัลบั้มรูปถ่ายของบ้านนี้ เขาเห็นตัวละครเพิ่มขึ้นมา เป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่น แม่เด็กบอกว่านั่นเป็นลูกชายคนโตของเธอ อายุห่างเจ้าหนูคนเล็กเกือบ ๒๐ ปี
ลงเก็บข้อมูลซ้ำ ๆ จนสนิทคุ้นเคย แหล่งข้อมูลวางใจและเข้าใจจุดหมายของการนำข้อมูลไปใช้ ตอนหลัง ๆ เหมือนเธอมีอะไรจะบอกอีก แต่ก็ยั้งไว้แค่นั้น
ผู้เขียนนำข้อมูลที่เก็บเกี่ยวจนเต็มอิ่มมาเขียนเป็นงานสารคดีและนำกลับไปให้เธอตรวจทาน
ในตอนนั้นเองที่เธอได้ให้ข้อมูลใหม่ที่ผู้เขียนคาดไม่ถึง
“สารคดีนี่ต้องเป็นเรื่องจริงใช่ไหม” เธอเป็นฝ่ายสัมภาษณ์นักเขียนบ้าง
“ใช่ครับ”
“พี่มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ได้บอกน้อง ความจริงน้องวันไม่ได้เป็นลูกของพี่หรอก เป็นลูกของลูกชายพี่ พ่อแม่เด็กยังอยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ เราเลยรับเป็นพ่อแม่แทน”
ความหวั่นใจและเห็นใจว่านักเขียนหนุ่มจะเขียนเรื่องที่ไม่จริงออกไป ทำให้นางยอมเผยเรื่องเก็บงำของครอบครัว
นักเขียนรีบนำเรื่องนี้มาปรึกษาผมในฐานะครูค่ายฯ ว่าเขาจะต้องรื้อโครงเรื่องใหม่หมดหรือไม่ เขาเริ่มใจเสียเพราะตอนนั้นจวนถึงวันส่งต้นฉบับเต็มทีแล้ว
แต่ผมกลับเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังตระหนกว่าเป็นวิกฤตนั้นคือวัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่จะหยิบมาแปรเป็นสารคดีหักมุมได้โดยไม่ต้องแต่งเติมเลย
เพียงแต่เล่าไปตามที่เขาเขียนมาแต่ต้น และใช้ข้อความสุดท้ายที่แหล่งข้อมูลเพิ่งเปิดเผยกับเขานั่นแลในการปิดเรื่อง
สารคดี “ครอบครัวรถเมล์ โลกใบเล็กของเด็กชายวัน” ประสบความสำเร็จตามสมควรได้รับรางวัลในค่ายฯ และภายหลังผ่านการตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี รายการสารคดีของสถานีโทรทัศน์ NHK มาถ่ายทำเรื่องครอบครัวรถเมล์ไปเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น
นี่ไงที่เป็นบทพิสูจน์ว่า สารคดีส่งผลสะเทือน
ได้ไม่ต่างจากเรื่องแต่ง หากผู้เขียนทำได้ถึง !