Image
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กล่าวปราศรัยต่อต้านสงครามเวียดนามกับประชาชนจำนวนมากที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา เมืองเซนต์พอล ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๗ 
ภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/2d/Martin_Luther_King_Jr_St_Paul_Campus_U_MN.jpg

ทหารไทย ใน
“สมรภูมิเวียดนาม”
ภาค ๔
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ
ฉากที่ ๑๓
แนวรบในสหรัฐฯ
ขณะที่กองพลเสือดำรบกับ
เวียดกงในลองถั่นห์ 
อีกซีกโลกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 
สถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ 
เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

กระแสต่อต้านสงครามมีมากขึ้นเรื่อย ๆ สื่ออเมริกันโจมตีการดำรงอยู่ของทหารไทยในเวียดนามใต้ ด้วยมีเบาะแสว่าสหรัฐฯ ใช้เงินถึง ๒ หมื่นล้านบาทสนับสนุน

พันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยตอบโต้ว่า ประเทศเอเชียส่วนมาก “...รายได้น้อยต้องใช้เงินในด้านการป้องกันประเทศและพัฒนาเป็นจำนวนมาก” การส่งทหารไปรบจึง “เข้าใจกันแล้วว่าฝ่ายอเมริกันจะต้องช่วยเหลือด้านการเงิน” และยืนยันว่าประเทศที่ช่วยรบก็ต้องจ่าย ในทางกลับกันยัง “ทำให้สหรัฐฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายหลายเท่า ถ้าใช้ทหารอเมริกันทั้งหมดค่าใช้จ่ายจะสูงกว่า” ส่วนที่มองว่าเป็นทหารรับจ้างนั้น “เป็นการแสดงสติอันไม่สมประกอบ เป็นความคิดที่ฟั่นเฝือ” (สยามรัฐ ๑๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๙)

ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๓ เอกสารเวียดกงระบุว่า ที่อเมริกันประกาศนโยบาย Vietnamization ถือเป็นความสำเร็จ เพราะเท่ากับยอมรับว่าเวียดกงเป็นส่วนหนึ่งของคนเวียดนามใต้ที่รบกับคนเวียดนามใต้กันเอง ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ ยอมรับว่าคนเวียดนามต้องแก้ไขปัญหากันเองสถานะของพวกเขาจึงได้รับการยกระดับขึ้น

ค.ศ. ๑๙๖๙ เวียดกงระบุว่าทหารไทยป้องกันไม่ให้คนท้องถิ่นติดต่อกับเวียดกงด้วยการลาด-ตระเวนคุ้มครองคนงานกรีดยาง สร้างสถานที่ค้นตัวสุภาพสตรีโดยเฉพาะ จากนั้น “บังคับให้พี่น้องของเราใช้บัตรแสดงตัวที่ทหารไทยออกให้”

เพื่อแก้ลำมาตรการนี้ เวียดกงตอบโต้ด้วยการซุ่มโจมตีรถสายพานลำเลียงพลแยกทหารไทยจากคนท้องถิ่นขณะลาดตระเวน “ทหารไทยชอบนั่งบนรถคันเดียวกับคนงาน เราขู่ว่าหากใครร่วมมือกับทหารไทยจะทรมานจนตาย ผลคือคนงานไม่ยอมเดินทางกับทหารไทย จนทหารไทยยอมเลิกใช้วิธีดังกล่าว คนงานเหล่านี้ยังทำลายเอกสารแสดงตัว ทำให้ทหารไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายทำให้ใหม่อยู่เรื่อย ๆ”

เอกสารยังเอ่ยถึงกองพันที่ ๒๐๗ ของเวียดกงที่โจมตีฐานทหารไทยที่บิ่งห์เซิน ยึดพื้นที่ ยิงทำลายเฮลิคอปเตอร์ที่มาช่วย รถสายพานลำเลียงพลไทยถูกโจมตีจนไฟไหม้ “พวกเขาส่งกำลังอีกกองร้อยมาก็เจอกับดักของกองพันที่ ๔ การรบกินเวลา ๒๐ นาที เราสร้างความเสียหายให้ทหารไทยได้มาก”

สื่อไทยรายงานว่า ตั้งแต่เริ่มรบมาถึง ค.ศ. ๑๙๗๐ ไทยปะทะเวียดกง ๕๒๔ ครั้ง ข้าศึกเสียชีวิต ๖๗๖ คน อัตราเสียชีวิตระหว่างทหารไทยกับเวียดกงคิดเป็นหนึ่งต่อห้า โดยระบุว่าเวียดกงตายมากกว่าไทยเสมอ

ถึงต้น ค.ศ. ๑๙๗๐ คณะอนุกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ (senate) เปิดเผยให้สาธารณชนทราบเป็นครั้งแรกว่าสหรัฐฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทหารไทยในเวียดนามใต้ทั้งหมด

ประโยค “ทหารรับจ้าง” (mercenary) จึงยิ่งแพร่หลายในสังคมอเมริกัน

การแทรกซึมของเวียดกงในกัมพูชายังทำให้ไทยมีเรื่องกระทบกระทั่งเวียดนามใต้ ด้วยตอนนั้นกองทัพเวียดนามใต้ส่งกำลังบางส่วนไปทำลายเส้นทางโฮจิมินห์ในกัมพูชา ขณะที่ไทยไม่อยากส่งกำลังข้ามแดนเข้าไป
การประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ 
ภาพ : Frank Wolfe / ห้องสมุด Lyndon B. Johnson

ผลคือนายพลโด๋กาวจี๋ (Đỗ Cao Trí) แม่ทัพน้อยที่ ๓ เวียดนามใต้ โจมตีว่าไทยไม่ยอมปราบเวียดกงในกัมพูชาและวิจารณ์ว่า “กองพลเสือดำไม่มีสมรรถภาพและรบเพื่อเงิน” (สยามรัฐ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๐)

เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ในไทย พลเอกประภาส ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกตอบโต้โดยยืนยันว่าสถิติการรบของทหารไทยได้รับการยอมรับ มองว่าการพูดเช่นนี้เป็นการยั่วยุให้ไทยส่งทหารเข้าไปในกัมพูชา “แต่ทางฝ่ายเขาได้ถลำตัวเข้าไปแล้ว” ต่อมาความขัดแย้งดังกล่าวได้รับการไกล่เกลี่ย แต่เหตุการณ์นี้แสดง “ความเห็นต่าง” ของสองฝ่าย ขณะที่รัฐบาลอเมริกันตกที่นั่งลำบากเนื่องจากกระแสต้านสงครามเวียดนามในประเทศสูงขึ้นทุกที

ในที่สุด ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ ไทยก็แจ้งเวียดนามใต้ในเชิง “หลักการ” ว่าจะถอนทหารเพราะหนึ่ง สถานการณ์ในกัมพูชาและลาวตึงเครียดต้องนำกำลังมาป้องกันตนเอง  สอง สถานการณ์เวียดนามใต้ “ดีขึ้น” ภัยคอมมิวนิสต์ “ผ่อนเบาลง”  สาม ทหารเวียดนามใต้มีความสามารถมากขึ้น น่าจะป้องกันตัวเองได้  สี่ ไทยสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการคงกำลังทหารในเวียดนาม

แต่เหตุผลเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีว่ามีน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่ง

ข้อแรกนั้นเป็นจริงเพราะในลาวและกัมพูชามีการรบกันระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่ข้อ ๒ นั้น บุ่ยเสียม (Bùi Diễm) เอกอัคร-ราชทูตเวียดนามใต้ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่าทหารเวียดนามใต้ไม่พร้อม ด้วยตั้งแต่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้ามาอเมริกันก็ “ขโมยสนามรบ” ตัดสินใจรบเองทั้งหมดโดยไม่เข้าใจความซับซ้อนของสถานการณ์ในเวียดนามใต้

ดังนั้นเมื่อคิดที่จะหันกลับมาปรับปรุงกองทัพเวียดนามใต้ก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะผลักดันกองทัพที่หยุดการพัฒนานี้ให้สามารถต่อกรกับกำลังเวียดนามเหนือที่แข็งแกร่งมากกว่าได้
ฉากที่ ๑๔
กลับบ้าน
พันตรีพุทธินาถเล่าให้ฟังว่า เมื่อจะกลับทหารส่วนมากนิยมซื้อของ PX ติดมือ คือ
“กล้อง เข็มทิศ วิทยุ ผมซื้อเสื้อทหารแบบที่ไปเกาหลีกับเข็มทิศ ตัวคนเขาส่งขึ้นเครื่องบิน ส่วนที่ไม่ได้ติดตัวมีตู้คอนเทนเนอร์เล็ก ๆ สำหรับหนึ่งหมวดใส่ของกลับ หมวดของผมมี ๒๕ คน ก็ใส่ของรวมกัน เขาส่งลงเรือไปที่ท่าเรือคลองเตย แล้วเอาไปไว้ที่ค่ายทหารในกรุงเทพฯ จะมีกรรมการตรวจ ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เอาของไปได้”

เหตุการณ์ที่เขาจำได้ดีคือ “ผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งขนของกลับ ๒๐ ตู้ ลงเรือหลวง พงัน ไปถึงคลองเตยก็ใช้รถทหารขนไปส่งให้ที่บ้านแถวบางนา นี่แทบยก PX กลับบ้าน เรานี่แช่งแหลก”

พันเอก เจริญ เจริญมาก ซึ่งไปรบรุ่นเดียวกับสิบเอกพุทธินาถเล่าว่า หลายคนสูญเสียของขลังติดตัวในขากลับเพราะ “ผบ. กองกำลังคนหนึ่งมีลูกน้องยศจ่าเป็นนักเลงพระ คอยดูว่าพระใครดีแล้วพาเจ้าของไปหา นายหักคอเลยว่าจะเอา คิดเท่าไรวางเงินให้เดี๋ยวนั้น พวกที่ไปก็แค่นายสิบกับพลทหารใครจะกล้าขัด กลับเมืองไทยก็บ่นกัน ร้องไห้ว่าไม่น่าทำผมเลย”

เสลา เรขะรุจิ แห่ง พิมพ์ไทย รายงานว่าเรื่องพระเครื่องนี้ทหารไทย “ทุกคนมีติดตัว ห้อยคอพวงโต ๆ แม้แต่ในหมวกเหล็กก็มีประเจียด” เขาเขียนว่า “มีอานุภาพ ทำให้กล้าหาญ ทำให้มีสติมั่น ไม่กลัวความตาย” ทหารไทยจึงมีขวัญกำลังใจดี “มีสมรรถภาพในการรบสูงกว่าพวกเวียดกง” ทั้งยังอ้างถึงพลทหารบางคนที่โดนยิง “เสื้อตรงต้นแขนซ้ายขาดกระจุยเป็นรูใหญ่ แต่ก็หาได้ระคายเคืองผิวหนังแม้แต่น้อยไม่...”
Image
กำลังพลส่วนใหญ่ของกองพลเสือดำถูกส่งกลับไทยด้วยเครื่องบิน มีไม่กี่หน่วยที่ต้องลงเรือ เช่น หน่วยที่ขนอาวุธหนักอย่างรถถังและปืนใหญ่

วิทยา ตัณฑะรัตน์ ที่อยู่ในกองพลเสือดำผลัดสุดท้ายเล่าว่า ขากลับเขาได้เงินติดตัวจำนวนหนึ่ง “ก่อนไปได้ ๘,๐๐๐ บาท ขากลับจำจำนวนเงินไม่ได้ ที่จำได้คือตลอด ๑ ปี เพื่อนในกองร้อยตายไป ๑๒ คนจากการรบ โดนฟ้าผ่า เสพกัญชาเกินขนาด ผมมาถึงดอนเมืองพร้อมกับสุนัขสองตัวที่เกิดใต้เตียงในค่ายแบร์แคต พอสวนสนามกลับมาเอาของ อ้าว ! มันหายไปเสียแล้ว”

เขาสรุปว่าที่ดอนเมืองนั่นเอง “ทุกคนก็แยกย้ายไปตามทาง”

เอกสารกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าไทยใช้เวลาถอนกองพลเสือดำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๑ ถึงพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ ในที่สุดก็เหลือเพียงหน่วยที่ประจำอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตเท่านั้น ส่วนหน่วยบินวิกตอรีและหน่วยเรือซีฮอร์สทั้งหมดกลับถึงบ้านในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๒
ฉากที่ ๑๕
ลองถั่นห์หลังจากนั้น
ต้น ค.ศ. ๑๙๗๓ 
เหตุการณ์เปลี่ยนแปลง
อย่างรวดเร็ว

๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๓ สหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญาปารีสกับเวียดนามเหนือ สาระสำคัญคือหยุดยิง สหรัฐฯ ถอนทหาร แลกเปลี่ยนเชลยศึกกับเวียดนามเหนือ ยินยอมให้กองกำลังแต่ละฝ่ายอยู่ในที่ตั้งสุดท้าย

นั่นหมายถึงกองกำลังเวียดกงจำนวนมากยังอยู่ในเวียดนามใต้ คาดกันว่า ณ วันที่ลงนาม
มีทหารเวียดกงในเวียดนามใต้ถึง ๑.๕ แสนคน ยังไม่นับที่อยู่ในลาว กัมพูชา ซึ่งพร้อมจะยกกำลังเข้าโจมตีอีก ๑ แสนคน

ในสนธิสัญญาไม่มีข้อห้ามเวียดนามเหนือส่งกำลังสนับสนุนผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ (ในลาว กัมพูชา) จีนคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตยังสนับสนุนเวียดนามเหนือด้านอาวุธ ขณะที่การสนับสนุนเวียดนามใต้จากสหรัฐฯ ลดลงเรื่อย ๆ

เฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีนิกสัน ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาระบุว่า “หากไม่สามารถใช้ทหารอเมริกัน ๕ แสนคนและการทิ้งระเบิดผลักดันเวียดนามเหนือได้ เป้าหมายนั้นคือการบูชายัญ (หากจะดำเนินการต่อ)” เป็นเหตุที่ทำให้เขาถอนทหารอเมริกันออกมา

แน่นอนเวียดนามใต้ตกอยู่ในภาวะจำยอมด้วยสหรัฐฯ ยื่นคำขาดว่าหากไม่ยอมตกลงในสิ่งที่สหรัฐฯ เจรจา  สหรัฐฯ อาจถอนทหารโดยไม่เหลือการสนับสนุนใด ๆ ให้

ตอนนี้ประธานาธิบดีนิกสันประกาศกับชาวอเมริกันว่า สหรัฐฯ ได้ “สันติภาพที่มีเกียรติ” (peace with honor) ตามที่เขาเคยสัญญาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งแล้ว

สถานการณ์ที่ซับซ้อนเวลานี้คือ รัฐบาลที่กรุงไซ่ง่อนมีอำนาจไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เขตชนบทตกอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลสาธารณรัฐเวียดนามใต้ (Provisional Revolutionary Government - PRG) และกำลังของเวียดกง สิ่งที่สหรัฐฯ ชดเชยให้เวียดนามใต้คือมอบอาวุธจำนวนมากให้สามเหล่าทัพสนับสนุนแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์เสียหนึ่งลำ สหรัฐฯ มอบลำใหม่ให้หนึ่งลำ ทำให้เฉพาะกำลังทางอากาศเวียดนามใต้ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตเท่านั้น

ประธานาธิบดีนิกสันให้คำมั่นกับประธานาธิบดีเหงวียนวันเถี่ยวว่า หากเวียดนามเหนือละเมิดข้อตกลงแล้วรุกรานเวียดนามใต้ สหรัฐฯ จะ “ตอบโต้อย่างเต็มกำลัง” (with full force)

ค.ศ. ๑๙๗๔ ไทยมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเวียดนามใต้หลังทหารเรือเวียดนามใต้จับกุมและทำร้ายคนบนเรือประมงไทยหลายลำ โดยก่อนหน้าไม่นานเวียดนามใต้ประกาศอาณาเขตทางทะเลด้านที่ติดกับอ่าวไทยใหม่จนทับซ้อนกับไทย
Image
ภาพถ่ายทางอากาศของฐานแบร์แคต 
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum

น่าสังเกตว่าในช่วงนั้นไทยเพิ่งเปลี่ยนรัฐบาลจากกรณี ๑๔ ตุลาฯ และเริ่มปรับนโยบายต่างประเทศ

สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกฯ คนใหม่เปิดเผยว่ากำลังพิจารณาว่าจะเจรจากับจีนแผ่นดินใหญ่และเวียดนามเหนือด้วย ถ้าเจรจาได้ “ปัญหาคอมมิว-นิสต์อาจแก้ได้” (China Post ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๔)

ปลายปีเดียวกัน เวียดนามเหนือส่งสาส์นถึงรัฐบาลไทยในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ไทยตอบกลับในวันที่ ๓๐ ธันวาคม เนื้อหาคือพิจารณาเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เงื่อนไขที่ทางฮานอยต้องการคือไทยต้องถอนทหารสหรัฐฯ ในไทยออกไป ส่วนไทยกังวลเรื่องเวียดนามอพยพในภาคอีสานที่เป็นปัญหาคาราคาซังมานานและยังไม่แน่ใจว่าเวียดนามเหนือมีเจตนารุกรานไทยหรือไม่

ต้น ค.ศ. ๑๙๗๕ เวียดนามเหนือเริ่มทำสงครามเต็มรูปแบบกับเวียดนามใต้ พอถึงเดือนมีนาคมทหารรัฐบาลเวียดนามใต้ทิ้งพื้นที่และเมืองสำคัญใต้เส้นขนานที่ ๑๗ ทิ้งที่ราบสูง Central Highland จนเกิดคลื่นผู้อพยพจำนวนมากจากเมืองเหล่านี้เข้าไปยังหัวเมืองชายฝั่งทะเลจีนใต้อย่างดานัง กวีเญิน ฯลฯ 

เป็นการพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วจนแม้กระทั่งฝ่ายรุกอย่างเวียดนามเหนือเองก็ประหลาดใจ

สหรัฐฯ เองก็ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างงบประมาณช่วยเหลือทางทหารแก่เวียดนามใต้ แม้ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ที่ดำรงตำแหน่งแทนนิกสัน (ลาออกเพราะกรณีคดีวอเตอร์เกต) พยายามขอร้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอเมริกันให้คงความสนับสนุนพันธมิตรของโลกเสรีต่อไป

ต้น ค.ศ. ๑๙๗๕ ไทยมีเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่นำโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ยังคงเจรจากับเวียดนามเหนือต่อไปผ่านช่องทางการทูตในลาวพร้อมกับจับตามองสถานการณ์ในเวียดนามใต้อย่างใกล้ชิด

ผมพบเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศส่งโทรเลขขอให้เอกอัครราชทูตในเวียงจันทน์ (ลาว) จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) และปารีส (ฝรั่งเศส) ติดต่อกับทูตเวียดนามเหนือประจำประเทศนั้น ๆ เพื่อหยั่งท่าทีเวียดนามเหนืออย่างไม่เป็นทางการหากจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต

การช่วยเหลือเวียดนามใต้เหลือเพียงส่งมอบอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคตามที่ร้องขอ

ถึงตอนนี้ทหารไทยที่เคยไปรบเวียดนามใต้ต่างกระจัดกระจายแยกย้ายไปคนละที่แล้ว
ฉากที่ ๑๖
สิ้นชาติ
ปลายเดือนมีนาคมเวียดนามใต้เสียดานัง เมืองใหญ่อันดับ ๒ ของประเทศ จากนั้นต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ ก็เสียจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และที่ราบสูง Central Highland ทั้งหมด
บันทึกของ สุบรรณ เศวตมาลย์ เอกอัคร-ราชทูตไทยคนสุดท้ายในไซ่ง่อน ระบุว่าสถานทูตไทยเริ่มพิจารณาแผนอพยพตั้งแต่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ โดยต้นเดือนเมษายนเรียกประชุมคนไทยและแนะนำให้ “อพยพในโอกาสแรกที่ทำได้โดยไม่ชักช้า” ถ้าใครยังอยู่ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของตนเอง

เขาเล่าว่ามีการเปิดวิทยุสื่อสารระหว่างสถานทูตกับกระทรวงการต่างประเทศ ๒๔ ชั่วโมง และแทงเรื่องเสนอพลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ขณะนั้น) ให้พิจารณาแนวนโยบายใหม่ในกรณีเวียดกงควบคุมเวียดนามใต้ได้ เขายังออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไทยส่งครอบครัวกลับภายในวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ และลดจำนวนบุคลากรสถานทูตให้อยู่ในระดับต่ำสุด

๘ เมษายน ไซ่ง่อนเข้าสู่สภาวะเคอร์ฟิว (ห้ามออกจากบ้าน) ๒๔ ชั่วโมง

๑๔ เมษายน เอกอัครราชทูตสุบรรณมารายงานข้อราชการที่กระทรวงการต่างประเทศในกรุงเทพฯ ย้ำกับผู้บังคับบัญชาให้อพยพเจ้าหน้าที่ภายใน ๒๐ เมษายน โดยประเมินว่าหากช้ากว่านั้นสนามบินจะใช้การไม่ได้และเส้นทางออกจากเวียดนามใต้จะปิดลง เขาวิเคราะห์ว่าหากเวียดกงยึดไซ่ง่อนได้ คนไทยจะตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากไทยเคยส่งทหารไปรบ เคยคัดค้านฐานะรัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลเวียดนามใต้ (PRG) เพื่อหนุนหลังรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามบนเวทีระหว่างประเทศหลายครั้ง

“เวียดกงย่อมถือว่าไทยเป็นศัตรู”

อย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศทำเพียงลดระดับคณะทูตลงเหลืออุปทูต ทำให้เอกอัครราชทูตสุบรรณไม่สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในกรุงไซ่ง่อนได้อีก

๑๙ เมษายน ทางการไทยออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สถานทูตทำลายเอกสารสำคัญ

๒๓ เมษายน เมื่อเห็นว่าเวียดนามใต้ใกล้แพ้ รัฐบาลไทยสั่งปิดสถานทูตในไซ่ง่อน สั่งอพยพโดยเครื่องบินกองทัพอากาศ อย่างไรก็ตามกว่าเครื่องบินจะไปรับก็ต้องรอถึงวันรุ่งขึ้น ขณะที่สถานการณ์เลวร้ายลงทุกชั่วโมง  เมื่อเครื่องบินของกองทัพอากาศไปถึงสนามบินเตินเซินเญิ้ตก็ไม่สามารถลงจอด “เนื่องด้วยการติดต่อขออนุญาตสับสน” นอกจากนี้สนามบินก็ถูกโจมตีด้วยจรวดบ่อยครั้งขึ้น

เจ้าหน้าที่ทูตที่เหลือในสถานทูต ได้แก่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ทหารเรือ และการพาณิชย์ จึงหาทางออกด้วยการ “อาศัยมากับเครื่องบินเอกอัครราชทูตเยอรมนีตะวันตกที่เช่าไปอพยพพวกชาวเยอรมันและถูกเก็บค่าโดยสารภายหลัง” ส่วนที่เหลือ “ออกมาได้โดยเครื่องบินของรัฐบาลออสเตรเลียที่ช่วยขนข้าวสาร (๒๐๐ กระสอบ) ของรัฐบาลไทยไปให้รัฐบาลเวียดนามใต้” ช่วงนั้นพอดี

ในมิติทางทหาร ปฏิบัติการนำคนไทยออกจากเวียดนามใต้จึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากความล่าช้าในการตัดสินใจ

๒๕ เมษายน เจ้าหน้าที่ทูตไทยชุดสุดท้ายเดินทางกลับถึงประเทศไทย

๒๘ เมษายน ประธานาธิบดีฟอร์ดสั่งเปิดปฏิบัติการ “ลมกระโชก” (Frequent Wind) เพื่อนำพลเมืองสหรัฐฯ ออกจากไซ่ง่อนด้วยทัพเฮลิคอปเตอร์จนกลายเป็นภาพจำเรื่องความพ่ายแพ้ของอเมริกัน

ในที่สุด ๓๐ เมษายน กรุงไซ่ง่อนก็ตกอยู่ในความควบคุมของเวียดนามเหนือ
สถานทูตไทยในไซ่ง่อนระหว่างสงครามเวียดนาม 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๑/๒๓ ปึก ๑
.
สถานทูตไทยในไซ่ง่อน ค.ศ. ๒๐๑๘ ยังใช้อาคารเดิม กลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อเวียดนามเปิดประเทศ ส่วนมากสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ในยุคสาธารณรัฐเวียดนามใต้จะแปลงสภาพเป็น “สถานกงสุลใหญ่” สำหรับไซ่ง่อน เมืองเศรษฐกิจที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “โฮจิมินห์ซิตี” หลัง ค.ศ. ๑๙๗๕
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

ค.ศ. ๒๐๑๙

นับจากวันที่กรมจงอางศึกเข้าสู่สมรภูมิในค.ศ. ๑๙๖๗ เวลาผ่านมาแล้วร่วมครึ่งศตวรรษ คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างอายุมากขึ้นและบางท่านก็จากเราไปแล้ว

กาลเวลาทำให้เราเห็นชีวิตช่วงต่อมาของคนสำคัญในเหตุการณ์ (ฝ่ายไทย) หลายคน

จอมพล ถนอม กิตติขจร  จอมพล ประภาส จารุเสถียร ถูกพลังประชาชนโค่นในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ ส่วนพันเอกณรงค์มีการสันนิษฐานว่าเขาอาจนำเทคนิคการยิงจากเฮลิ-คอปเตอร์ในเวียดนามใต้มาใช้กับประชาชนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ -- ทั้งสามคนกลายเป็น “สามทรราช” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังไทยในเวียดนามใต้ เกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะเป็นผู้นำ “กบฏ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๗” และถูกตัดสินประหารชีวิต

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีบทบาทสำคัญในศึกร่มเกล้ากับลาว มีบทบาทสำคัญในนโยบาย ๖๖/๒๓ สมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำให้เอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ ต่อมาลงเล่นการเมืองจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๒

พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา เกษียณด้วยยศพันตรี “คิดเสมอว่าไปรังแกคนเวียดนามคิดถึงทหารเวียดกงคนที่ยิงต่อสู้กับเรานับถือเขาเป็นวีรบุรุษ แต่ไม่ไปที่นั่นก็ไม่ได้บทเรียนที่จะทำให้เราเอากลับมาทำให้ลูกน้องรอดในสนามรบอีกหลายคน”

บัญชร ชวาลศิลป์ เกษียณด้วยยศพลเอกปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์และนักเขียน เขามองสงครามเวียดนามว่า “เป็นผลจากเส้นทางที่ไทยเลือกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒”

วิทยา ตัณฑะรัตน์ เกษียณจากอาชีพตำรวจ ประสบการณ์จากสงครามทำให้ครั้งหนึ่งเขา
ตัดสินใจไม่ยิงกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เห็นจากระยะไกล “คิดว่าคนไทยด้วยกันจะฆ่ากันทำไมเพราะคิดต่างกัน ประสบการณ์ในเวียดนามมันโหดร้ายมากพอแล้ว”

ในแง่องค์ความรู้ สงครามเวียดนามเป็นบทเรียนสำคัญของสหรัฐฯ ส่งผลกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอเมริกันอีกหลายชุด ส่งผลถึงการทำสงครามอ่าวเปอร์เซียสมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (ค.ศ. ๑๙๙๐) เพราะหลังสงครามเวียดนาม ถ้าต้องทำสงครามกับต่างประเทศ สหรัฐฯ มักเลือกใช้กำลังทางอากาศเป็นตัวเลือกแรกและคิดหนักทุกครั้งในการส่งกำลังภาคพื้นดิน ด้วยไม่ต้องการ “ติดหล่ม” เหมือนในเวียดนาม
สงครามเวียดนามยังทิ้งผล
ในเชิงรูปธรรมให้เราเห็นในปัจจุบัน คือ

เวียดนามเหนือได้รวมชาติ 
เวียดนามใต้สิ้นชาติ
แผนที่เวียดนามกลายเป็นหนึ่งเดียว

ที่ลืมไม่ได้คือ ผู้เสียชีวิตในสงครามราว ๓.๘ ล้านคน ทั้งเวียดนามเหนือ/ใต้ อเมริกัน ไทย ลาว และกัมพูชา

สำหรับสังคมไทย มากกว่ารำลึกถึงทหารผ่านศึกและเล่าประวัติศาสตร์แบบเก่าที่เวียนมาทุกปี 

คำถามสำคัญคือเราจะนำบทเรียนจากอดีตมาใช้กับปัจจุบันอย่างไร ? 

เราได้อะไรจากสงครามเวียดนาม ? 
เรื่องนี้ อยู่ที่คนไทยทุกคนต้องพิจารณาด้วยตัวเอง

Image
เสรีภาพ
วารสาร เสรีภาพ เป็นวารสารรายเดือน เจ้าของคือ “สำนักสารสนเทศอเมริกัน” (United States Information Agency - USIA) หน่วยงานที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก่อตั้งและปฏิบัติการระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๙๙ (ยุคสงครามเย็น) รู้จักในต่างประเทศในนาม “สำนักข่าวสารอเมริกัน” (The United States Information Service - USIS) 

USIS ทำหน้าที่สร้างภาพลักษณ์และเผยแพร่ความร่วมมือของสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรทั่วโลกเพื่อทำสงครามข่าวสารกับสหภาพโซเวียตด้วยงบประมาณกว่า ๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

ในเมืองไทย USIS ออกสิ่งพิมพ์ฉบับนี้เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของสหรัฐอเมริกาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไม่ปรากฏจำนวนพิมพ์  เสรีภาพ ใช้กระดาษคุณภาพดีและรูปคุณภาพสูง จัดพิมพ์และส่งจากกรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) มายังกรุงเทพฯ ก่อนกระจายไปยังหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ  
Image