Image
ทหารไทย ใน
“สมรภูมิเวียดนาม”
ภาค ๒
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
Image
โน้ตเพลง “มาร์ชเสือดำ” ของกองพลเสือดำ ปรกติทั้งหน่วยจงอางศึกและเสือดำจะมีเพลงประจำหน่วยซึ่งกำลังพลทุกคนต้องร้องได้
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒

ฉากที่ ๕
ตามรอย “สมรภูมิเบียนหว่า”
สาธารณรัฐ
สังคมนิยมเวียดนาม
ปลาย ค.ศ. ๒๐๑๘

ผมใช้เวลา ๓ ชั่วโมงจากเมืองโฮจิมินห์ซิตี (อดีตกรุงไซ่ง่อน) ไปยังพื้นที่ “อดีตสนามรบ” ของทหารไทย

จากโฮจิมินห์ซิตีผมใช้ถนนเดียนเบียนฟูมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมกับถนนหมายเลข ๕๑ (QL51) ผ่านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำที่เคยเป็น “ท่าเรือนิวพอร์ต” (New Port) สถานที่แรกที่ทหารไทยจะได้พบเห็นเมื่อมาถึงเวียดนามใต้ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านหมู่บ้าน คอนโดฯ ราคาแพง มีสวนสาธารณะและตึกที่สูงที่สุดในเวียดนามคือ Landmark 81 เป็นสัญลักษณ์

ถนนสาย ๕๑ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามแม่น้ำด่งนาย (Đồng Nai river) เข้าสู่เมืองอานบิ่งห์ (An Bình) จากตรงนี้มีสี่แยกถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปเมืองเบียนหว่า (Biên Hòa) ซึ่งสมัยสงครามเวียดนามคืออดีตอำเภอลองถั่นห์ (Long Thành) จังหวัดเบียนหว่า (Biên Hòa province) แต่ปัจจุบันชื่อเมืองกลายเป็น “เบียนหว่า” และชื่อจังหวัดถูกเปลี่ยนเป็น “ด่งนาย” ตามชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่าน

ผมเลี้ยวขวาไปใช้ถนนหมายเลข ๕๑ ซึ่งในอดีตคือทางหลวงหมายเลข ๑๕ ที่ “กรมจงอางศึก” และ “กองพลเสือดำ” ดูแลเส้นทางนี้เชื่อมไปทางใต้จนถึงหวุงเต่า (Vũng Tàu) เมืองท่าและเมืองตากอากาศสำคัญ

ตลอดเส้นทาง ที่เห็นหนาตาที่สุดบนถนนคือรถบรรทุกขนาดใหญ่ บรรยากาศขมุกขมัวด้วยฝุ่นละอองตลอดเวลา คนนำทางเล่าให้ฟังว่าที่ที่ผมกำลังไปเป็น “เขตอุตสาหกรรม” ที่เต็มไปด้วยโรงงานจำนวนมาก และปัญหาสุขภาพของผู้คนที่นี่คือมลภาวะจากฝุ่นละอองซึ่งไม่มีใครสนใจ

ผมพบว่ายังมีร่องรอยกองกำลังทหารไทยเหลืออยู่ชัดเจนเรื่องหนึ่ง คือสามแยกซึ่งได้ชื่อว่า “สามแยกไทย” (Ngã Ba Thaí Lan) จากตรงนี้ ถนนฝุ่งฮึง (Phùng Hưng) ขนาดสองเลนที่แยกออกไปทางทิศตะวันออกพาผมไปยังอดีตค่ายแบร์แคต  (Bearcat/หมีขอ) ซึ่งปัจจุบันเป็นค่ายทหารขนาดใหญ่ของกองทัพเวียดนาม และน่าจะมีโรงเรียนทหารด้วยเพราะมีนักเรียนนายร้อยใส่ชุดสีเขียวขี้ม้าเดินอยู่ในตลาดรอบค่ายจำนวนมาก

จาก “สามแยกไทย” ขับรถลงใต้ต่อไปพอพ้นเขตอุตสาหกรรม สิ่งที่สะดุดตาคือสองข้างทางแน่นขนัดด้วยสวนยางพารา คนท้องถิ่นบอกผมว่าการทำสวนยางเป็นอาชีพเก่าแก่ของคนที่นี่ซึ่งถ้าดูแผนที่ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก ด้วยจังหวัดด่งนายอยู่บนเส้นละติจูดเดียวกับจังหวัดชุมพรของไทย

ที่นี่ห่างจากอดีตเมืองหลวงเวียดนามใต้มาทางตะวันออกแค่ประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้นและทิวทัศน์สวนยางริมถนนในปัจจุบันก็คงไม่แตกต่างจากสิ่งที่ทหารไทยชุดแรกเห็น 

พอล เอ็ม เพ็นน็อก แห่งสำนักข่าวสารอเมริกัน รายงานในวารสาร เสรีภาพ ว่า พื้นที่แถบนี้กลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหวได้สะดวกเพราะ “ปกคลุมไปด้วยสวนยางยาวเหยียดเหมาะแก่การซุ่มซ่อน...ที่ไม่เป็นป่าก็มักจะเป็นทุ่งหญ้า มีการฝังทุ่นระเบิดบกและกับดักเต็มไปหมด...”
“สามแยกไทย” ใน ค.ศ. ๒๐๑๘ ทุกวันนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอดีตค่ายแบร์แคตเก่าซึ่งกลายเป็นค่ายทหารของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามยุคปัจจุบัน
Image
“ถนนสมเกียรติ” หรือในสมัยที่ทหารไทยมารบคือ “ถนนสาย ๓๑๙” ตัดล้อมรอบตำบลเญินแจ๊ก 
.
อดีตท่าเรือ “นิวพอร์ต” ของเวียดนามใต้ ปัจจุบันเป็นย่านธุรกิจของโฮจิมินห์ซิตี เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๘ ทหารไทยขึ้นบกบริเวณนี้ก่อนจะเดินทางไปยังค่ายแบร์แคต ที่อยู่ในอำเภอลองถั่นห์ จังหวัดเบียนหว่า (ปัจจุบันคือจังหวัดด่งนาย)

Image
สวนยางพาราของวัดพุทธมหายานแห่งหนึ่งในอำเภอบิ่งห์เซิน (ทางการไทยเรียกบินห์สัน) ทหารไทยเคยต้องรบกับเวียดกงในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วย “ป่าสวนยางพารา” หนาแน่นลักษณะนี้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๗๒
สอดคล้องกับที่ เสลา เรขะรุจิ นักข่าวหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ยุคนั้นเล่าว่า พลตรี ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้บัญชาการกองกำลังทหารไทยในเวียดนามคนแรก (ค.ศ. ๑๙๖๗) ยืนยันว่า ที่นี่เป็น “คลังอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหาร (ของเวียดกง) ...” ถ้าเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากไซ่ง่อน มองลงไปจะเห็น “หลุมระเบิดพรุน... ต้นไม้น้อยใหญ่ล้มระเนระนาดเหมือนถูกถอนด้วยมือมหากาฬ”

เปิด Google Earth จะเห็นว่าด้านใต้สุดของจังหวัดด่งนายคือปากแม่น้ำด่งนายที่ไหลผ่านป่าชายเลนก่อนไหลลงทะเลจีนใต้ บริเวณนี้ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเกิ่นเส่อ (Cần Giờ Mangrove Biosphere Reserve) ตรงกับที่พลตรียศระบุว่าแถบนี้ “ไม่ผิดอะไรกับชายฝั่งแถบบางปูและคลองด่าน” สภาพดังกล่าวจึงเป็น “ดินแดนเวียดกงโดยแท้”

เหนือขึ้นมาจากป่าชายเลนคือเมืองวิงห์แถ่งห์ (Vĩnh Thạnh) อยู่ด้านทิศตะวันตกของถนนสาย ๕๑

สมัยสงคราม ตรงนี้คือตำบลเญินแจ๊ก (Nhơn Trạch) ที่ทางการไทยมักออกเสียงเป็น “โนนทรัค” มีถนนเฮืองโหละ ๑๙ (Hương lộ 19/อดีตถนนสาย ๓๑๙ และอดีต “ถนนสมเกียรติ”)ตัดโอบล้อมพื้นที่

ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว หน่วยจงอางศึกพบว่าพื้นที่ในความรับผิดชอบมีทั้งหมด ๑๔ ตำบลกินอาณาบริเวณราว ๑๐๐ ตารางกิโลเมตร มีความเคลื่อนไหวของทหารเวียดกงสามกองพัน ได้แก่ กองพันที่ ๒๗๔, ๒๗๕ และ ๓๐๐ มีกำลังราว ๓,๐๐๐ คน ขณะที่จงอางศึกที่ไปตอนนั้นมีราว ๑,๐๐๐ คน สัดส่วนกำลังพลจึงคิดเป็นหนึ่งต่อสาม

ดูภาพรวมจะเห็นว่าเขตนี้ทางด้านตะวันตกมีแม่น้ำด่งนายเป็นเขตแดน ด้านเหนือเป็นภูมิประเทศมีเนินสลับ ที่ราบมีป่าคล้ายแถบจังหวัดกาญจนบุรี ถัดลงมาเป็นสวนยาง ส่วนใต้สุดคือป่าชายเลนคล้ายแถบบางปะกง ถนนสาย ๕๑ และ ๓๑๙ ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ต้องออกลาดตระเวน

พอล เอ็ม เพ็นน็อก เล่าว่าทหารไทยมีภารกิจ สามเรื่อง คือ ร่วมมือกับกองทัพเวียดนามใต้ รักษาความสงบในชนบทด้วยปฏิบัติการจิตวิทยา และโครงการช่วยเหลือปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งต้อง “ปฏิบัติพร้อม ๆ กันไป”

ส่วนเวียดกงใช้พื้นที่แถบนี้เป็นแหล่งเก็บเสบียงและส่งกำลังบำรุงให้หน่วยทหารที่กระจายตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ พวกเขาจึงไม่ได้เปิดแนวรบที่ชัดเจน แต่อาศัยความช่วยเหลือจากมวลชนในหมู่บ้านต่าง ๆ

นั่นหมายถึงสงครามครั้งนี้ “ไม่มีแนวรบ”
Image
หลักกิโลเมตรก่อนถึงอำเภอบิ่งห์เซิน จังหวัดด่งนาย “อดีตสนามรบของ จงอางศึก-เสือดำ” 
Image
Image
อนุสาวรีย์จารึกวีรกรรมของ “ผู้พลีชีพ” (เวียดกง) ที่เสียสละต่อสู้กับผู้รุกราน (ไทย) ในพื้นที่ที่เคยเป็นอดีตสนามรบในอำเภอบิ่งห์เซิน ด้านหน้าเป็นอนุสาวรีย์เก่า ตัวอนุสาวรีย์ใหม่เป็นเสาจารึกตั้งอยู่ในศาลา (ด้านหลัง) 
.
สุสานของ “ผู้เสียสละ” (เวียดกง) ต่อสู้กับทหารไทยและทหารจากชาติโลกเสรีที่มารบในเวียดนามใต้ริมถนนสาย ๑๕
Image
หลุมศพของ “ผู้เสียสละ” ริมทางหลวงสาย ๕๑ (อดีตทางหลวงสาย ๑๕ ในสมัยเวียดนามใต้) ทหารเวียดกงเหล่านี้ส่วนหนึ่งเคยรบกับทหารไทย
ฉากที่ ๖
การรณรงค์ของ
“จงอางศึก”
กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๗
ไม่นานก่อนทหารไทยชุดแรกไปถึง กองพลที่ ๙ ของสหรัฐฯ ปูพรมทิ้งระเบิดแถบนี้หลังได้รับข่าวกรองว่าเวียดกงมีแผนโจมตีเครื่องบินลำเลียงที่จะขนทหารไทยมา แต่ก็ใช่ว่าจะทำลายเวียดกงได้เท่าใดนัก ด้วยมีการขุดอุโมงค์ใต้พื้นดินเอาไว้จำนวนมาก

เมื่อทหารช่างไทยมาถึงก็ร่วมกับทหารสหรัฐฯ ปรับปรุงค่ายเพื่อรองรับจงอางศึกส่วนใหญ่ที่จะเดินทางตามมา โดยทหารส่วนใหญ่ลงเรือขนส่งของสหรัฐฯ มาถึงท่าเรือนิวพอร์ตในเดือนกันยายน จากนั้นนั่งรถไปอำเภอลองถั่นห์ จังหวัดเบียนหว่าเข้าประจำที่ค่ายแบร์แคต ค่ายเก่าของกองพลทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ

รองศาสตราจารย์ริชาร์ด เอ. รูท (Richard A. Ruth) แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนนายเรือ สหรัฐอเมริกา (United States Naval Academy) ระบุว่า ขณะเดินทางไปยังค่ายรอบหนึ่ง สหรัฐฯ ต้องนำเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกลบินเหนือขบวนรถแล้ว “ยิงปืนไปยังชายฝั่งแล้วบินวนอยู่รอบ ๆ” ซึ่งทำลายความหวังที่ทหารไทยจะมาเปลี่ยนสถานการณ์ใด ๆ ในเวียดนาม

นอกจากนี้แม้ว่าทหารไทยหลายคนมองว่ามีการต้อนรับอย่างดีที่ท่าเรือและสนามบิน แต่รูทก็ระบุว่าสื่อเวียดนามให้ความสนใจกับการมาถึงของทหารไทยน้อยมาก เขามองว่าสถานการณ์คล้ายการยกพลขึ้นบกของทหารอเมริกันชุดแรกที่ดานังในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ ที่เป็นงานซึ่งอเมริกันเตรียมการเอาไว้มากกว่า

อย่างไรก็ตามในพื้นที่ก็มีหลักฐานว่ามีการจัดพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ ที่ตำบลฝุโฮ่ย (Phú Hội) อำเภอเญินแจ๊ก (ห่างจากฐานแบร์แคตไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว ๑๕ กิโลเมตร) 

สูจิบัตรพิธีการต้อนรับกองทหารอาสาแห่งประเทศไทย (Lễ Tiếp Đón Trung-Đoàn Chí-Nguyện Quân-Đội Hoàng-Gia Thái) ให้รายละเอียดคำกล่าวของผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ ๓ เวียดนามใต้ ที่รับผิดชอบพื้นที่ว่า หน่วยจงอางศึกเป็น “สหายร่วมรบ” (comrades in arms) ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดเบียนหว่ากล่าวว่านี่คือการป้องกันร่วมกันของชาติเสรี “ท่านไม่ได้มาเพราะการเคลื่อนกำลังตามปรกติ ไม่ต้องการสร้างผลกำไรหรือนำสิ่งใดกลับ เรารับรู้ถึงความเสียสละที่ทหารอาสามอบให้มนุษยชาติ”
Image
ทหารไทยระหว่างออกปฏิบัติการในสมรภูมิแห่งหนึ่ง
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum

ทหารไทยออกลาดตระเวนผ่านแม่น้ำแห่งหนึ่งที่เอกสารไทยเรียกว่า “ซุยคา”
ขณะที่ผู้แทนประชาชนในพื้นที่หวังว่าการเข้ามาของทหารไทยจะไม่ส่งผลเสียหายกับคน
ท้องถิ่นเพราะต่าง “เป็นคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน” ทหารไทยยัง “ทำให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนมีรอยยิ้ม เกษตรกรกล้าไปไร่นา” ส่วนทูตไทยยืนยันว่านี่คือการ “ร่วมมือป้องกันการรุกรานโดยแท้”

รองศาสตราจารย์ริชาร์ด เอ. รูท (Richard A. Ruth) ระบุว่า การมีอยู่ของกำลังทหารไทยมีความหมายอย่างยิ่งกับรัฐบาลของประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน เพราะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลไทยในสงครามเวียดนาม เป็นสิ่งที่แสดงว่าสหรัฐฯ ไม่ได้รบอย่างโดดเดี่ยว

เดวิด ฮาลเบอร์สแตม (David Halberstam) นักข่าวสงครามชาวอเมริกันที่เคยสัมผัสเบียนหว่าเขียนใน The Making of a Quagmire ว่า ในยุคก่อนทหารไทยจะไปถึงลองถั่นห์ ที่นี่นั้น “เต็มไปด้วยทหารอเมริกัน มีผับบาร์ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แค่ช่วงเต็ต (ปีใหม่ของเวียดนาม ตรงกับช่วงตรุษจีน) ผู้ว่าฯ ก็ทำเงินได้กว่า ๑๐ ล้านเปียสจากการเก็บส่วย ปรกติจะเก็บส่วยเดือนละหมื่นเปียส การคอร์รัปชันลามจนถึงการซื้อขายตำแหน่ง”

พอล เอ็ม เพ็นน็อก เขียนถึงสภาพรอบแบร์แคตว่า “หมู่บ้านหลายแห่งอยู่ในสภาพโทรม ๆ เป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้ก็ผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก เด็กเล็กไม่มีผ้านุ่งห่ม ทหารไทยได้เข้าไปตามหมู่บ้านเหล่านี้บ่อยครั้ง ด้อม ๆ มอง ๆ รอบหมู่บ้านสอดสายตาไปตามกระท่อม พอเจอใครเข้าก็กล่าวทักทาย แต่ก็ไม่กล้าเดินไปตามทางเล็ก ๆ ที่ออกไปสู่ท้องไร่ท้องนาหรือป่าดง เพราะนั่นอาจหมายถึงว่าเดินเข้าไปหามัจจุราช”

ทหารไทยต้องทำภารกิจที่เรียกว่า “ค้นหาและทำลาย” (search & destroy) แต่ละครั้งจะกำหนด “พื้นที่ปฏิบัติการ” (area operation - AO) โดยใช้ชื่อไทยที่คุ้นเคย เช่น “AO นารายณ์” เป็นต้น ส่วนศัตรูมีสามรูปแบบ คือ กองโจร ที่มาราวหนึ่งหมู่ (๑๒ คน) หน่วยเวียดกงประจำถิ่นที่มาครั้งละ หนึ่งกองร้อย (ราว ๙๐-๑๐๐ คน) สุดท้ายคือหน่วยกำลังหลักเวียดกงขนาดหนึ่งกองพัน (ติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพพอ ๆ กับทหารไทย)

การลาดตระเวนส่วนมากจะทำหลังการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B-52 ที่กระทำได้โดยเสรี
Image
ขบวนรถบรรทุกของทหารไทยตั้งแถวบนถนนสายหนึ่งในอำเภอลองถั่นห์ 
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum

Image
ทหารไทยขณะออกปฏิบัติการกับเฮลิคอปเตอร์แบบ “ฮิวอี้” ซึ่งเป็นพาหนะเดียวกันกับที่ทหารอเมริกันใช้รบในเวียดนามเพื่อ “ค้นหาและทำลาย” ศัตรู เนื่องจากสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว 
นักข่าวไทยคนหนึ่งรายงานว่า อเมริกันมักจัดการเวียดกงที่แฝงตัวในหมู่บ้านโดย “จุดใดที่เกิดยุทธบริเวณขึ้น เครื่องบินสหรัฐจะโปรยผงเคมีไปทั่วอาณาบริเวณ (ฝนเหลือง) รุ่งขึ้นอีกวันจะใช้เครื่องอิเล็กโทรนิคตรวจ (หา) ประชาชนทั่วหมู่บ้านเขตย่านนั้น ถ้าผู้ใดถูกผงเคมี ก็ย่อมสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็น ‘เวียดกง’ หรือไม่” (พิมพ์ไทย ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๗)

เอกสาร “ประวัติศาสตร์คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอำเภอลองถั่นห์ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๗๕” (Lịch Sử Đảng Bộ Huyện Long Thành 1930-1975) ที่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเวียดนามเขียนขึ้นโดยรวบรวมการต่อสู้ของชาวบ้านระหว่างสงครามเวียดนาม ให้ภาพการกระทำนี้ว่า “ตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๖๗ ข้าศึกใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีทำลายป่าหลายพันเฮกตาร์...ทำลายพืชผลของชาวบ้านเพื่อทำลายฐานสนับสนุนเรา”

นักข่าวไทยเขียนว่าทหารไทยรบด้วยวิธี “ใช้เครื่องฉีดไฟ ใช้ปืนกลกวาดล้างในรู (อุโมงค์)”

เพ็นน็อกอธิบายยุทธวิธีว่าทหารจะปิดล้อมหมู่บ้านตอนกลางคืน “รุ่งขึ้นทหารอีกหน่วยหนึ่งพร้อมด้วยทหารและตำรวจเวียดนามก็จะเข้าทำการค้นบ้านทุกบ้าน...หาพวกเวียดกงแบบนี้กินเวลานานถึง ๑๒ วันก็มี”

ในปฏิบัติการย่อย ทหารไทยหน่วยจิตวิทยาจะแบ่งเป็นกลุ่มละสี่คนไปตามหมู่บ้านทุก ๑๔-๑๕ วัน โดยเน้นพื้นที่ที่มีการแทรกซึมของเวียดกง โดยจะมีคนหนึ่งที่พูดภาษาเวียดนามได้เดินทางไปด้วย

สื่อไทยยุคนั้นมักมองว่าเวียดกงเป็นแค่ “โจรผ้าเตี่ยว” ทว่า เดวิด ฮาลเบอร์สแตม นักข่าวสงครามชาวอเมริกันเขียนใน The Making of a Quagmire ว่า เวียดกงมีการจัดองค์กรอย่างดี ผ่านประสบการณ์สู้รบกับฝรั่งเศสมายาวนานถึง ๒๐ ปี “พวกเขามีสำนึกทางทหารอย่างยอดเยี่ยม...ในหน่วยมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรียนรู้เทคนิคของทหารอเมริกัน การลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ การเข้าตีระลอกแรก ระลอก ๒ การทำลายจุดสำคัญของฐานข้าศึก การรวบรวมอาวุธ การจัดชุดป้องกันการถอย”

“ประวัติศาสตร์คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอำเภอลองถั่นห์ฯ” บันทึกการมาถึงของทหารไทยว่า

“๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ หน่วยจงอางศึก (Mãng Xà Vương) ถูกนำมาโดยอเมริกัน ช่วงแรกพวกเขาอยู่ในแบร์แคต หลังจากนั้น ๑ สัปดาห์...คุมถนนสาย ๒๕ ถนนหมายเลข ๑๕ ที่ออกจากตัวอำเภอ ตั้งฐานด้านตะวันตกของถนนหมายเลข ๑๕ ซึ่งมุ่งไปทางแม่น้ำด่งนาย แบ่งค่ายเป็นสี่จุด...ทหารและประชาชนของเราเผชิญความท้าทายในการปฏิวัติ นอกจากสู้อเมริกันและรัฐบาลหุ่น (เวียดนามใต้) ตอนนี้ต้องสู้กับทหารไทย”
หน่วยเสนารักษ์กำลังปฐมพยาบาลทหารไทยคนหนึ่งเสื้อทหารไทยคนนี้โดนลูกปืนจนขาด แต่เจ้าตัวไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก
ภาพ : เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๕๔

ฉากที่ ๗
ศึกชิง “เญินแจ๊ก”
“การใช้กำลังทหาร
ไม่ใช่ทางเดียวที่จะ
เอาชนะสงคราม (เวียดนาม) ได้”

เดวิด ฮาลเบอร์สแตม
(David Halberstam) 
นักข่าวสงครามชาวอเมริกัน

Image
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม /Vietnam Veterans Museum
งานของจงอางศึกช่วงแรกคือค้นหาและทำลายเวียดกงทำให้อำเภอเญินแจ๊กกลับสู่สภาวะปรกติ (pacification) ภายใต้ “ปฏิบัติการนเรศวร” ซึ่งทำให้เกิดการรบครั้งใหญ่ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๗

เอกสารกองทัพไทยมักเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “วีรกรรมแห่งฟุกโถ” ซึ่งคงเป็นการอ่านตามตัวสะกดของคำว่า “เฟื้อกเถาะ” (Phước Thọ) ในภาษาเวียดนามตามอักขรวิธีภาษาอังกฤษ

ตำบลนี้ห่างจากค่ายแบร์แคต ๒๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างถนนสาย ๑๙ ที่โอบรอบตำบลเญินแจ๊กและถนนสาย ๑๕ ที่ทอดยาวจากเหนือลงใต้ (ดูแผนที่)

ทั้งนี้ทหารไทยเข้าไปปรับปรุงถนนสาย ๑๙ จากทางเกวียนให้เป็นถนนลูกรังที่รถสายพานลำเลียงพลสัญจรได้ ตัดต้นไม้ริมทาง ตัดแนวถนนให้เป็นเส้นตรงเพื่อลดความเสี่ยงจากการซุ่มโจมตีต่อมาถนนสายนี้ได้รับการตั้งชื่อจากรัฐบาลเวียดนามใต้ว่า “ถนนสมเกียรติ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ร้อยโท สมเกียรติ ยงประยูร กับพลทหาร สุทิน วงรักค์ ทหารไทยที่ขับรถจี๊ปไปโดนกับระเบิดที่วางไว้บนถนนจนเสียชีวิต

ที่นี่เองหน่วยจงอางศึกตั้งกองร้อยในป่ามะม่วงหิมพานต์ร้างให้กองร้อยที่ ๑ ตั้งคร่อมถนนสาย ๑๙ กองร้อยที่ ๓ อยู่เยื้องขึ้นไปทางด้านตะวันออก กองร้อยที่ ๔ อยู่เยื้องขึ้นไปทางด้านตะวันตกห่างไปราว ๑ กิโลเมตร ส่วนกองร้อยปืนใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสามกองร้อยนี้ห่างออกไป ๑ กิโลเมตร มีป่าคั่น

จากจุดนี้ทหารหน่วยจงอางศึกลาดตระเวนบนถนนในตอนกลางวันเพื่อคุ้มกันเส้นทางตอนกลางคืนดักซุ่มตัดการส่งยุทธปัจจัยของเวียดกง นักข่าวไทยเขียนว่าบริเวณนี้มีกลุ่มบ้านกระจายตัวกลุ่มละสองถึงสามหลัง เป็นตึกชั้นเดียวขนาดเล็ก หลังคามุงกระเบื้อง “ไม่มีบ้านไม้... บางแห่งก็อยู่ริมทาง บางแห่งก็อยู่ในราวป่าห่าง” กลางวันมีแต่เด็กผู้หญิงและคนแก่ ไม่มีผู้ชาย

ทหารไทยตระหนักดีว่าสภาพเช่นนี้อาจมีเวียดกงแฝงตัว หรือชาวบ้านอาจเป็นแนวร่วม 
พันตรี พิชิต คงคาพงษ์ นายทหารปืนใหญ่ ให้สัมภาษณ์นักข่าวสมัยนั้นว่า บางทีรู้ว่ามีเวียดกง แต่ “ไม่อาจให้ปืนใหญ่ของเรายิงทำลายหมู่บ้านนั้นให้ราบเรียบ... ต้องค่อย ๆ ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง...”
Image
รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะของทหารไทยระหว่างปฏิบัติการ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๑/๒๓ ปึก ๑

“ประวัติศาสตร์คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอำเภอลองถั่นห์ฯ” เล่าว่า เวียดกงทราบกิจกรรมทหารไทยดีตั้งแต่กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ พวกเขาพบว่าทหารช่างไทย “ขยายถนนจาก Nước Trong (น่าจะหมายถึงค่ายแบร์แคต) ถึงแยกอานเหล่ย (An Lợi) และตั้งฐานไว้ ต่อมาที่นั่นถูกเรียกว่าสามแยกไทย”

เวียดกงยอมรับว่าหน่วยจงอางศึกกดดันพวกเขาในขณะที่พวกเขาพยายามศึกษาวิธีรบของทหารไทย ปรากฏว่า “คนของเราแปรพักตร์...” พาทหารไทยไปทำลายการเคลื่อนไหวของกำลังในท้องถิ่น  จากนั้นพอถึงเดือนกันยายน “ทหารไทยไปตั้งฐานคุมจุดสำคัญมากขึ้น”

บันทึกบอกว่ามีการปะทะกับทหารไทยอย่างหนักในวันที่ ๑๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๗ ที่หมู่บ้านฮามโฮ (Ham Ho) ตำบลฝูโฮย ทหารไทยเหยียบกับระเบิดบาดเจ็บ ๓๖ คน จึง “ยิงปืนใหญ่ถล่มพื้นที่รอบ ๆ เพื่อตอบโต้ บ่ายวันนั้นทหารไทยพร้อมรถลำเลียงพลก็มาที่หมู่บ้าน เผากระท่อมไม่มีหลังคา จากนั้นพวกเขาไปที่หมู่บ้านอีกแห่งในตำบลเฟื้อกลาย (Phước Lai) เอาหมูและไก่ไป กองโจรเรายิงตอบโต้... สหายมินห์ถูกยิงเสียชีวิตโดยศัตรู” 

อีกครั้งหนึ่งคือ ๒๑ กันยายน ทหารไทยซุ่มโจมตี “ฆ่าสายของเราคนหนึ่ง...ตัดร่างคนเป็น สามส่วนอย่างทารุณ” นอกจากนี้ยังเล่าถึงการที่เวียดกง “เอาคืน” หลายครั้งจนฆ่าทหารไทยได้เกือบ ๑๐๐ คน และทำลายฐานที่มั่นได้บางส่วน

การรบบนถนนลักษณะนี้ปรากฏในสื่อฝั่งไทยเช่นกัน เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๕๔ เล่าเหตุการณ์วันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ ซึ่งพันตรี ณรงค์ กิตติ-ขจร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปช่วยทหารไทยที่ลาดตระเวนบนถนนแล้วถูกกองกำลังเวียดกงหนึ่งหมวดเข้าตี โดยยิงจากเฮลิคอปเตอร์ ตัวพันตรีณรงค์ลงสู่พื้นแล้วเข้ารบประชิดตัวจนกำลังเสริมไปช่วยเหลือทัน การปะทะแบบนี้ดำเนินไปจนถึงปลายปี

ที่น่าสนใจคือเวียดกงถึงกับตั้งหน่วยพิเศษขึ้นรับมือกับทหารไทยเรียกว่า “เครือข่ายสังหารไทย” (Thai killing belt) มีสมาชิก ๒๘ คน และหน่วยพิเศษนี้อ้างว่า “จัดการ” ทหารไทยช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๖๗ ได้ถึง ๕๔ คน

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่มีในบันทึกทางการไทย ทว่าฝ่ายไทยกลับหันไปให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ “วีรกรรมแห่งฟุกโถ” ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ มากกว่า
scrollable-image
ขบวนรถบรรทุกของทหารอเมริกันกำลังขนส่งกำลังพลหน่วยจงอางศึกไปยังค่ายแบร์แคต 
ภาพ : เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๔๖

ศึกเฟื้อกเถาะ

ต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ หน่วยจงอางศึกได้รับข่าวกรองว่าจะมีการเข้าโจมตีฐานที่ตำบลเญินแจ๊ก

๑๙ ธันวาคม พันโท ชวลิต ยงใจยุทธ นายทหารยุทธการ บินจากแบร์แคตเพื่อตรวจฐานในพื้นที่และค้างคืนในกองร้อยที่ ๑ แต่เมื่อไม่เกิดการโจมตีในวันรุ่งขึ้นเขาก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับไปทำภารกิจในไซ่ง่อน

ค่ำวันที่ ๒๐ ธันวาคม กองพันผสมที่ ๒๘๔ ของเวียดกงราว ๕๐๐ คน เคลื่อนกำลังเข้าตีฐานกองร้อยที่ ๑ ซึ่งเหลือทหารเพียงราว ๑๐๐ คน เนื่องจากส่วนมากออกไปลาดตระเวนอยู่นอกฐาน

พลทหาร วัชรินทร์ นครแก้ว ให้สัมภาษณ์ พิมพ์ไทย ว่า เวียดกงยิงปืนใหญ่ถล่มตั้งแต่ช่วงค่ำและตอนนั้นบังเกอร์แต่ละจุดในกองร้อยที่อยู่ห่างกันแค่ราว ๑๕ เมตร ถึงกับต้องสื่อสารกันด้วยวิทยุสนาม

พลเอก ยุทธนา แย้มพันธุ์ อดีตพันตรีผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบาที่ ๑ ขณะนั้น ให้สัมภาษณ์นิตยสารของกองทัพบก ยุทธโกษ (กรกฎาคม-กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑) ว่า รอบกองร้อยมีการวางกับระเบิดแบบ M18A1 Claymore และรั้วลวดหนามป้องกันไว้ชั้นหนึ่ง เมื่อเริ่มโดนโจมตีพวกเขาพบว่าลูกระเบิดเวียดกงส่วนมากยิงมาทางตะวันตก ผู้พันยุทธนาจึงสั่งให้พลวิทยุสอบถามสถานการณ์ผ่านวิทยุจนทราบว่าอยู่ในภาวะย่ำแย่ 

หมวดปืนเล็กที่ ๑ ผู้บังคับหมู่แขนขาดบาดเจ็บสาหัส ข้าศึกกำลังเจาะผ่านแนวลวดหนามด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งการต่อสู้เข้าสู่ขั้นประชิดตัว

ถึงตอนนี้ปืนใหญ่ฝ่ายจงอางศึกเริ่มยิงสนับสนุนจากแนวหลัง พันตรียุทธนาตัดสินใจเสี่ยงวิทยุขอให้ปืนใหญ่ยิงให้กระสุนตกแบบปูพรม ๕๐ เมตรรอบฐาน แทนที่จะเป็นระยะมาตรฐาน ๒๐๐ เมตร

ร้อยโท สาธิต อินตรัย ผู้บังคับหมวดฐานปฏิบัติการปืนใหญ่เกรย์ของหน่วยจงอางศึก เคยเล่าถึงหลักการยิงปืนใหญ่ว่า ถ้ามีคำขอ แม้จะเสี่ยง ทหารปืนใหญ่มีเวลา ๒ นาทีเพื่อตัดสินใจ เพราะ “ช้าเพียง ๒-๓ วินาที ก็อาจหมายถึงชีวิตของทหารราบฝ่ายไทย เวียดนามใต้ หรือไม่ก็ฝ่ายอเมริกัน”

พันตรียุทธนายังวิทยุเรียกหมวดปืนเล็กที่ไปปฏิบัติการนอกฐานให้ถอนกลับฐานด้านทิศตะวันออกโดยขอให้ปืนใหญ่เว้นระยะการยิงพื้นที่นี้ ทำให้ทหารชุดนี้กลับมาเสริมแนวป้องกันที่จำเป็นได้ทัน

ถึง ๒๔.๐๐ น. เวียดกงก็ “โอบล้อมเข้ามาทุกด้าน” ทหารไทยเล่าว่าข้าศึกใส่แต่ “ผ้าเตี่ยวและสายพาดกระสุน” มีลูกปืนครกที่ลอยมาตกที่บังเกอร์ทำให้ทหารไทยเสียชีวิตอีกหลายคนถึงตอนนี้ได้ยิน “เสียงโห่ร้องเกรียวของฝูงข้าศึกที่แหกหักฝ่าด่านหน้าของแนวบังเกอร์...จำนวนมหาศาลทยอยข้ามสะพานเหนือลวดหนามเข้ามา...ไฟนรกแดงวาบ ๆ ไม่ขาดสายจากปากกระบอกปืนกลทุกกระบอก”
ฐานปืนใหญ่กำลังเตรียมยิงไปยังเป้าหมายที่ทหารราบแจ้ง
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒

Image
Image
Image
ทหารไทยบนเฮลิคอปเตอร์ระหว่างออกปฏิบัติการในอำเภอลองถั่นห์
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum

Image
อุโมงค์ที่กองกำลังเวียดกงขุดขึ้น
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum

ในที่สุดก็มีการสั่งติดดาบปลายปืนและตะลุมบอนถึงขั้น “ด่าแม่ซึ่งกันและกันในระหว่างภาษาเวียดกงกับภาษาไทย... ลงมือกันทั้งศอกและทั้งเข่า ทั้งกระทืบและเตะถีบพัลวันไปหมด...”

๐๑.๐๐ น. กองร้อยทหารปืนใหญ่แจ้งมาที่กองร้อยที่ ๑ ว่า กระสุนปืนใหญ่ที่มี ๑,๔๐๐ นัดหมดแล้วกำลังขอมาเสริม และหากฐานถูกยึดจะขอให้ “ยิงทำลายฐานที่มั่น (ของกองร้อยปืนใหญ่)” ทันที

ไม่นานเฮลิคอปเตอร์ก็มารับคนเจ็บ เครื่องบิน C-47 ติดปืนกลถูกส่งออกมายิงคุ้มกันรอบฐาน

พลเอกยุทธนาเล่าว่าตอนนี้ “สว่างไสวไปด้วยกระสุนส่องแสงจากปืนใหญ่ จากเครื่องยิงลูกระเบิด และจากพลุส่องแสงที่ทิ้งมาจากเครื่องบิน”

ในที่สุดเวียดกงก็ถอนตัวพร้อมกับที่ทหารไทยส่งยานเกราะออกโจมตีตอบโต้รอบ ๆ ฐาน

การปะทะกินเวลาตั้งแต่ ๒๒.๐๐ น. ถึง ๐๕.๐๐ น. ของวันใหม่ ผลคือเวียดกงเสียชีวิต ๑๘๕ คน ไทย ๘ คน หลังเสียงปืนสงบฐาน “เต็มไปด้วยสิ่งปรักหักพัง ฝุ่นจากแรงระเบิด... ตามกระสอบทรายหัวกระสุนชนิดต่าง ๆ เสียบติดอยู่ หางลูกระเบิดจากเครื่องยิงลูกระเบิดของข้าศึกขนาด ๘๒ มม. ตกกระจายอยู่เต็มพื้นที่”

ที่น่าหดหู่คือ “ข้าศึกนอนเสียชีวิตในฐานปฏิบัติการหลายศพ พื้นที่นอกฐาน...ศพข้าศึกมากมายระเกะระกะเต็มไปหมด ตามหลุม ตามจอมปลวก ศพกองสุมกันอยู่ พื้นที่การรบเต็มไปด้วยเลือดและเศษชิ้นส่วนของร่างกาย ส่วนข้าศึกที่นอนหายใจรอความตายทหารก็ช่วยให้ตายเร็วขึ้น”

วารสาร เสรีภาพ ระบุว่า ในเอกสารที่ยึดได้จากเวียดกงภายหลังเผยว่าผู้บังคับการกรมที่ ๒๘๔ ของเวียดกงที่นำทหารเข้าโจมตีครั้งนี้ถูกปลด  เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและสหรัฐฯ ขณะที่พลเอกยุทธนากล่าวกับ ยุทธโกษ ว่า ผู้บัญชาการเวียดกงถึงกับยิงตัวตาย ส่วนลูกน้องของเขา “ดีอกดีใจกับผลการรบครั้งนี้ว่า ข้าศึกตายอย่างมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียของฝ่ายเรา”
ฉากที่ ๘
“กองพลเสือดํา” 
ไปเวียดนาม
๒๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ 
ร่างทหารหน่วยจงอางศึกที่เสียชีวิตจากการรบที่เฟื้อกเถาะแปดนาย กลับถึงสนามบินดอนเมืองด้วยเครื่องบิน C-123 ของกองทัพอากาศไทย มีการทำพิธีทางศาสนาก่อนหีบศพถูกเชิญขึ้น “วางบนรถถังขนาดยักษ์ เอ็ม ๔๒ ซึ่งมาจอดรอรับอยู่ครบจำนวนแปดคัน”

จากนั้นขบวนก็มุ่งไปยังวัดโสมนัสวิหาร

ช่วงที่ขบวนผ่านถนนราชดำเนินนอก บนระเบียงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ  นักเรียนนายร้อย บัญชร ชวาลศิลป์ ชั้นปีที่ ๓ ออกมายืนดูด้วยความรู้สึกหลายอย่างระคนกัน “เสียงดนตรีจากวงดุริยางค์ เสียงปรบมือ เสียงรถหุ้มเกราะ สง่างาม น่าภูมิใจ”

ที่วัดโสมนัสวิหาร พลเอก ประภาส จารุเสถียร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ทักทายพูดคุยกับญาติทหารทั้งแปดนาย ทุกคนต่างเศร้าสลดเสียใจแต่ “ภูมิใจที่เขาได้รับใช้ชาติอย่างนี้” (เดลินิวส์ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘) 

Allied Participation in Vietnam ระบุว่าตั้งแต่จงอางศึกไปถึงเวียดนามใต้ช่วงกลาง ค.ศ. ๑๙๖๗ รัฐบาลไทยก็เพียรติดต่อสถานเอกอัคร-ราชทูตสหรัฐฯ เสนอส่งกำลังรบภาคพื้นดินเพิ่มขึ้นโดยสหรัฐฯ พยายามประเมินว่าการส่งกำลังระดับ “หนึ่งกองพลน้อย” (brigade) ออกนอกประเทศ จะส่งผลต่อการรักษาความมั่นคงภายในของไทยแค่ไหน เพราะน่าจะเกินกว่าสมรรถภาพของกองทัพไทยในตอนนั้น

ในที่สุดเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ เอกสาร กระทรวงการต่างประเทศลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ ระบุว่า ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเจรจากับประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ว่าจะ “รับภาระในสัดส่วนที่เหมาะสม” พร้อมแจ้งว่าไทยกำลังประสบปัญหาความมั่นคงภายใน (ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) แต่ยัง “หวังว่าสหรัฐฯ จะสนองความต้องการทางทหาร” ด้วยการ “จัดหาอาวุธยุทโธ-ปกรณ์” เพื่อให้ไทยป้องกันตัวเองได้
Image
ภาพนี้คาดว่าน่าจะถ่ายที่สนามบินลองถั่นห์เหนือ ใกล้กับฐานแบร์แคต 
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม / Vietnam Veterans Museum

ผลคือสหรัฐฯ รับภาระค่าใช้จ่ายในการฝึกทหารอีก ๑ หมื่นคน โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อไทยถอนทหารกลับอาวุธที่มอบให้สามารถนำกลับได้ทั้งหมด อีกทั้งฝ่ายสหรัฐฯ จะรับผิดชอบค่าเบี้ยเลี้ยงทหาร จัดอาวุธสำหรับหน่วยจู่โจมทางอากาศหนึ่งหน่วย ติดอาวุธให้ทหารสองกองพล เพิ่มเงินช่วยเหลือทางทหารประจำ ค.ศ. ๑๙๖๘ ขึ้นอีกเป็น ๗๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. ๑๙๖๗ ไทยได้มาแล้ว ๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองศาสตราจารย์ริชาร์ด เอ. รูท ระบุในงานวิจัยว่าด้วยทหารไทยในสงครามเวียดนามชื่อ “In Buddha’s Company” ว่า อเมริกาต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งทหารไทยไปเวียดนามใต้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๘-๑๙๗๑ ถึงปีละ ๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่น่าสนใจคือ บัญชา มินทร์ขินร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามใต้ เสนอความเห็นว่า ไทยเป็นประเทศเล็กและมีภาระเรื่องภายในอยู่มากแล้ว “ไม่น่าจะเสียสละเพิ่มกำลังทหารให้เป็นการเสียเลือดเนื้อและเป็นภาระผูกพันมากขึ้นอีก เว้นแต่จะได้รับประโยชน์ยิ่งใหญ่ทางการเมืองหรือทางอื่นใดอันจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ”

๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๗ ไทยตัดสินใจประกาศส่งทหารไปเวียดนามใต้อีกหนึ่งกองพล
ข่าวในหนังสือพิมพ์ The Saigon Daily News ระบุว่าทหารไทยจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง ๑.๒ หมื่นคน เมื่อกองพลเสือดำเดินทางไปเวียดนามใต้ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
กต ๙๐.๓.๑.๓/๑๓ ปึก ๑

Image
Image
พลโท โชติ หิรัญยัษฐิติ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก มอบเหรียญกล้าหาญของไทยและสหรัฐฯ ให้กับทายาทของทหารไทยที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม ณ ห้องประชุมกรมยุทธศึกษาทหารบก ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๐ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ก/ป๕/๒๕๑๐/๒๒

ประธานาธิบดีเหงวียนวันเถี่ยวแห่งเวียดนามใต้กล่าวว่า “เป็นการช่วยเราต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์จากทางเหนือ” (สุนทรพจน์ทำเนียบประธานาธิบดี ๑๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘) ส่วนที่สหรัฐฯ ชาร์ลส์ เพอร์ซี (Charles H. Percy)วุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ชื่นชมไทยเพราะ “เด็กหนุ่มชาวอเมริกัน ๑๐,๐๐๐ คน จะไม่ต้องไปเสี่ยงภัย ครอบครัวพวกเขาจะสบายใจ” (Bangkok Post ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๗) 

เรื่องที่ไม่เป็นข่าวในไทยอีกเรื่องคือ ข่าวสหรัฐฯ มอบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศและอาวุธอื่น ๆ ให้แก่ไทยเป็นการตอบแทน จนถูกสหภาพโซเวียตโจมตีว่า “ไทยส่งทหารไปแลกเปลี่ยนกับจรวดและอาวุธ...เป็นผู้สมคบอย่างแข็งขันในการรุกรานของอเมริกัน” (The Scotman ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๗) ขณะที่วิทยุมอสโกประกาศว่า “ไทยถูกแปรสภาพให้เป็นศูนย์กลางการรุกรานของสหรัฐฯ” (๑, ๒๓ และ ๒๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๗)
Image
ร้าน “คุณลุงไทย” บริเวณใกล้กับค่ายแบร์แคตเก่า ร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ของค่ายแบร์แคตที่กลายเป็นค่ายทหารเวียดนามไปแล้ว
แต่ไทยก็ยังเดินหน้าระดมอาสาสมัครต่อไปต้น ค.ศ. ๑๙๖๘ นอกจากข่าวจอมพลถนอม เดินทางไปเยี่ยมทหารไทยที่แบร์แคต ยังมีข่าวว่ากองพลใหม่มีผู้สมัครถึง ๑๕,๐๐๐ คน คัดไว้ ๘,๐๐๐ คน (หลักเมือง ๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘)

หนังสือพิมพ์ Yên Yên ของเวียดนามเหนือโจมตีว่า นี่เป็น “เส้นทางของแมลงเม่า” และ “ผลักไสเยาวชนไทยเรือนพันไปตายแทนพวกอเมริกัน” และทหารไทยนั้น “เริ่มต้นลิ้มรสการลงโทษของทหาร (เวียดกง) และประชาชนเวียดนามใต้มาแล้วเมื่อไม่นานนี้” เวียดนามเหนือยังย้ำว่าสื่อสหรัฐฯ เรียกทหารไทยว่า “ทหารรับจ้าง” ทำให้รัฐบาลไทย “ขายหน้าและจำต้องยอมทนเจ็บใจมาแล้ว” ส่วนวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) กระบอกเสียงของ พคท.ประกาศว่า การปลอบขวัญจงอางศึกของจอมพลถนอมคือการปลอบคนที่ถูกส่งไป “รับกระสุนตายแทน อม. (อเมริกา) ที่ถูกประชาชน วน. ใต้โจมตีอย่างหนัก”

แต่ดูเหมือนเหล่าทหารอาสาไม่ได้คิดเช่นนั้น

สิบเอก พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ทหารประจำการสังกัดกองพันทหารม้าที่ ๔ รักษาพระองค์ เมื่อทราบประกาศก็สมัครไปรบเพราะ “เป็นทหารไม่ได้รบจะเป็นทำไม”

ส่วนที่มาของสงครามเขาได้ยินว่าเพียงเพื่อต้านคอมมิวนิสต์

ด้วยความที่เป็นทหารม้า พุทธินาถถูกส่งไปฝึกที่ศูนย์การทหารม้าจังหวัดสระบุรีกับรถสายพานลำเลียงพลรุ่นใหม่ล่าสุดที่สหรัฐฯ มอบให้คือ M125 ติดเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม. จากนั้นฝึกร่วมกับทหารเหล่าอื่นที่จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนออกเดินทางเขาถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ มาสวนสนามที่ท้องสนามหลวง จากนั้นไปกราบอำลาพระแก้วมรกตแล้วลงเรือไปเวียดนามใต้ช่วงกลาง ค.ศ. ๑๙๖๘

ทหารอาสาที่ไปรุ่นของพุทธินาถเป็น “กองพลเสือดำ” (Black Panther Division) รุ่นแรก (ค.ศ. ๑๙๖๘) มีกำหนดการประจำการผลัดละ ๑ ปี (มีทั้งหมดสามผลัด)

“เสือดำ” รุ่นที่ ๓ (ค.ศ. ๑๙๗๐) อย่าง บัญชร ชวาลศิลป์ เล่าเหตุผลที่สมัครไปรบว่า

“นักเรียนนายร้อยรุ่นผมจบแค่ปี ๔ (ปรกติต้องเรียน ๕ ปี) เพราะนายทหารขาดแคลนทางการรีบให้จบแล้วติดยศร้อยตรี ผมสมัครไปเวียดนาม ตั้งใจว่ากลับมาค่อยแต่งงานเมื่อไปทางราชการก็มีเงินพิเศษให้ด้วย”
Image
ร่างของทหารไทยหน่วยจงอางศึกแปดนาย กลับถึงสนามบินดอนเมือง ในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๖๗ พร้อมกับพิธีรับอย่างสมเกียรติในสนามบินก่อนจะเคลื่อนไปทำพิธีทางศาสนา 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๑/๒๓ ปึก ๑

ส่วนบริบทของสงคราม เขารับรู้มาเพียง “คอมมิวนิสต์จะมายึดประเทศ  มีจีน โซเวียตเป็นหัวโจกตามด้วยเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้อยู่ข้างเดียวกับเรา อเมริกันเป็นผู้นำโลกเสรี เราสู้ศัตรูของโลกเสรี เราสู้เพื่อไม่ให้สงครามเข้ามาถึงบ้าน”

“เสือดำ” รุ่นที่ ๓ (ค.ศ. ๑๙๗๐) อีกคนคือ วิทยา ตัณฑะรัตน์ เล่าว่า “ตอนนั้นทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดเชียงใหม่ ไปส่งเพื่อนสมัครเป็นทหารอาสา ผู้บังคับการค่ายกาวิละชวนให้ไป ก็ตัดสินใจไป อีกทั้งเราเรียนมาน้อย ที่บ้านฐานะไม่ดี เงินเดือนที่ได้ตอนเป็นทหารจะส่งให้ทางบ้านทั้งหมด”

พลทหารคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า การไปรบเกิดจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทำให้เขาได้เงิน ๖๕๐ บาทต่อเดือนที่จะส่งให้ครอบครัว ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ ๒ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๔๐ บาท) และอาหารฟรี (Bangkok Post ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘)

ส่วนการเดินทาง พุทธินาถจำได้ว่า “ขึ้นเรือลำเลียงพลขนาดใหญ่กินน้ำลึกเก้าชั้น ทหารไทยไปอยู่ชั้น ๕ จำได้ว่าห้องน้ำสะอาดมากน้ำไหลแรงยังกับน้ำตก ใช้เวลา ๓ วันก็ถึงท่าเรือนิวพอร์ตกรุงไซ่ง่อน”

ทั้งนี้การขนส่งกองพลเสือดำเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๘ กำลังส่วนใหญ่จำนวน ๔,๕๐๐ นายพร้อม “อาวุธยุทโธปกรณ์และยานพาหนะทั้งสิ้นที่ได้รับการบรรจุจากสหรัฐฯ ในประเทศไทย” ถูกขนส่งด้วยเรือลำเลียงสหรัฐฯ ชื่อ USS Okanogan (APA-220) ทั้งหมดสามเที่ยว เที่ยวละ ๑,๕๐๐ นาย 

การเดินทางเริ่มออกจากค่ายฝึกกาญจนบุรีมายังท่าเรือกรุงเทพฯ ด้วยรถ ๔๐ คัน เรือออกวันเดียวกันตอน ๑๘.๐๐ น. หลังจากขนสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ส่วนยานพาหนะไปขึ้นเรือลำเลียงสหรัฐฯ ที่ท่าเรือสัตหีบสองเที่ยว หนังสือราชการ กองบัญชาการทหารสูงสุด “ลับมาก” ที่ กห. ๐๓๑๒/๕๐๓๒ ระบุว่า ภายใน ๙๐ วันทหารไทยจะเพิ่มกำลังถึง ๑๒,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นระดับ “กองพลน้อย” (brigade) ตามอัตราการจัดกำลังของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการระดมกำลังออกไปรบนอกประเทศจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ไทยเป็นรัฐชาติสมัยใหม่
Image
ที่มา : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม/Vietnam Veterans Museum
เมื่อถึงค่ายแบร์แคต พุทธินาถพบว่า

“เป็นค่ายใหญ่มีพื้นที่ราว ๑๐ ตารางกิโลเมตร ภายในมีโรงไฟฟ้า โรงงานทำน้ำประปา ทหารอยู่กันเป็นกระท่อม (hut) ห้องน้ำแบบอเมริกันนี่นั่งคุยกันไปถ่ายทุกข์กันไปได้ด้วย ฝรั่งไม่อายกัน กระดาษชำระก็ดีมากเหนียวนุ่มมีให้ใช้ไม่อั้น”

กิจกรรมที่สิบเอกพุทธินาถสนใจคือการ “เผาอุจจาระ” อันเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์กช็อปแนะนำความเป็นอยู่ในค่าย

“เขาสอนว่าทำบังเกอร์อย่างไร ถ่ายอุจจาระแล้วต้องเผาด้วยน้ำมันเบนซิน ทุกเช้าที่เก็บของเสียในห้องน้ำซึ่งทำจากถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตรผ่าครึ่งจะถูกดึงออกมา เอาน้ำมันเทผสมแล้วเผา อเมริกันจ่ายน้ำมันไม่อั้นเซ็นเบิกได้ตลอด ตอนเช้าจะเห็นควันโขมงเป็นจุด ๆ นั่นละครับ...เผาขี้”

ผ่านไป ๕ วัน สิบเอกพุทธินาถก็ได้รับภารกิจนำยานเกราะไปป้องกันถนนสาย ๑๕ ขณะที่ทหารราบกลุ่มอื่นแยกย้ายกันออกปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เช่น ด้านจิตวิทยา ลาดตระเวน ฯลฯ