Image

ทหารไทย ใน
“สมรภูมิเวียดนาม”
ภาค ๑

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์

Image

“...สถานการณ์ในไซ่ง่อนเข้าสู่ภาวะคับขันระดับที่ ๒ ฉะนั้นข้าราชการผู้ใดที่มีครอบครัวอยู่ในไซ่ง่อนขณะนี้ ขอให้จัดการส่งครอบครัวกลับให้หมด โดยสายการบินไทยเที่ยวแรกภายในสัปดาห์นี้... จะต้องมีการลดจำนวนข้าราชการ (ผู้ชาย) ให้เหลือจำนวนน้อยที่สุด เพื่อสะดวกในการอพยพขั้นสุดท้าย...”

คำสั่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไซ่ง่อน
๗ เมษายน ค.ศ.๑๙๗๕

นาทีที่คำสั่งนี้ออกมา ไซ่ง่อน (Saigon) เมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียดนาม หรือ “เวียดนามใต้” ตกอยู่ในวงล้อมกองทัพเวียดนามเหนือ เหลือทหารไม่กี่กรมทำหน้าที่ป้องกันเมืองและภาวะจลาจลใกล้เข้ามาเต็มที

คำสั่งด่วนนี้ถูกส่งถึงเจ้าหน้าที่ไทยทุกคนในเวียดนามใต้ ในขณะที่สถานทูตไทยเข้าสู่
สภาวะพร้อมอพยพ แต่ยังไม่มีกำหนดแน่นอน ส่วนสถานทูตชาติอื่นเริ่มกระบวนการอพยพแล้ว

อีกซีกโลกหนึ่ง ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด 
(Jerald D. Ford) เตรียมปฏิบัติการ “ลมกระโชก” (operation frequent wind)
อพยพคนอเมริกันออกจากเวียดนามใต้ หลังสภาคองเกรส (สภาผู้แทนราษฎร) ไม่อนุมัติงบประมาณช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ทำสงครามอีกต่อไป

ภาพนี้ตัดกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ประเทศนี้เคยคึกคักด้วยกำลัง
ทหารชาติพันธมิตรนับแสนที่ถูกส่งมาช่วยรบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยส่งทหารมารบในเวียดนามใต้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๔ เป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง ๓๘,๑๘๘ คน มากเป็นอันดับ ๓ รองจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เท่านั้น 

แต่ใครเลยจะคาดคิดว่า ค.ศ. ๑๙๖๕ สหรัฐฯ จะปล่อยให้ไซ่ง่อนตกอยู่ในกำมือเวียดนามเหนือ

สำหรับสังคมไทย ความทรงจำชุดนี้ไม่ปรากฏในแบบเรียน มีเพียงประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ค.ศ. ๑๙๖๔ ในหมู่ทหารผ่านศึก หรือหากจะมีเอกสารราชการกล่าวถึง ก็ให้ข้อมูลน้อยนิดจนไม่ได้รายละเอียด 

นักวิชาการตะวันตกบางคนถึงกับใช้คำว่า “ไทยหายไปจากประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม”

ทั้งที่ถือเป็น “ผู้เล่น” สำคัญชาติหนึ่งใน “สงครามเวียดนาม” ที่คนเวียดนามปัจจุบันเรียกว่า “สงครามต่อต้านสหรัฐฯ” (Kha’ng Chie^’n Cho^’ng My~) เสียด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้รัฐบาลไทยกับเวียดนาม (อดีตเวียดนามเหนือผู้ชนะสงคราม) มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่คนไทยจำนวนมากก็ไม่ทราบว่าในมุมหนึ่ง “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ยังปรากฏชัดเจนในดินแดน “อดีตเวียดนามใต้” อันเนื่องมาจากไทยนั้นเคยเป็นพันธมิตรกับเวียดนามใต้

Image

จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ค.ศ. ๑๙๖๒-๑๙๗๓) ระหว่างส่งหน่วย “จงอางศึก” ลงเรือลำเลียงของสหรัฐฯ ไปเวียดนามใต้ที่ท่าเรือคลองเตย 
ภาพ : Bangkok Post

Image

ทหารไทยกำลังลงจากเรือลำเลียงเข้าสู่ท่าเรือนิวพอร์ต กรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียดนามใต้ (ปัจจุบันคือโฮจิมินห์ซิตี) 
ภาพ : Bangkok Post

Image

ป้ายนี้เขียนว่า “ผู้พลีชีพของกองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๔ กองพลทหารราบที่ ๕ และหน่วยลาดตระเวนที่ ๒๔๐ กองร้อยเญินแจ๊ก ได้เสียสละในสมรภูมิ ในการจู่โจมหน่วยย่อยทหารไทย (กองบัญชาการกองร้อยเหวื่อนเดี่ยว/Vu’o`’n _Die^`u) ที่เฟื้อกเถาะ (ปัจจุบันคือ หมู่ ๕ ตำบลลองเถาะ) ในคืนวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๗” (ทางการไทยเรียกเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่า “วีรกรรมที่ฟุกโถ”)  ป้ายนี้อยู่ที่ “สุสานผู้พลีชีพ” ตำบลเญินแจ๊ก จังหวัดด่งนาย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นร่องรอยของการต่อสู้ฉบับ “ทางการ” ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนาม “ผู้ชนะ” บอกกับสาธารณชน
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

Image
Image

ฉากที่ ๑
สงครามเย็น

“สงครามเวียดนาม” 
คือผลโดยตรงจากสถานการณ์ 
“สงครามเย็น” หลังสงครามโลก
ครั้งที่ ๒

ยุคนั้นโลกถูกแบ่งเป็นสองขั้วอุดมการณ์ คือ “โลกเสรี” นำโดยสหรัฐอเมริกา กับ “โลกคอมมิวนิสต์” นำโดยสหภาพโซเวียต (จีนคอมมิว-นิสต์เสนอแย้งว่า ยังมีอีก “โลก” หรือ “ขั้ว” หนึ่งนำโดยจีน เป็นที่มาของคำว่า “ประเทศโลกที่ ๓”) ส่งผลให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบในบางจุดของโลก เช่นที่คาบสมุทรเกาหลี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๓ เกิดการรบระหว่างเกาหลีเหนือ (ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์) กับเกาหลีใต้ (ปกครองด้วยระบอบเผด็จการสลับกับประชาธิปไตย) โดยแต่ละฝ่ายมีมหาอำนาจสนับสนุน ก่อนจะยุติลงด้วยการหยุดยิง และแบ่งเกาหลีออกเป็นสองส่วน

กรณีเวียดนาม สถานการณ์ก็ซับซ้อนไม่แพ้กัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เวียดนามถูกปกครองโดยรัฐบาลอาณานิคมอินโดจีนภายใต้ “รัฐบาลวิชี” ฝรั่งเศส อันเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมนีมีกองทัพญี่ปุ่นคอยกำกับ  ถึงปลายสงครามโลกเมื่อนาซีเยอรมนีพ่ายแพ้ในสมรภูมิยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มถอยร่นในสมรภูมิแปซิฟิก กองทัพญี่ปุ่นจัดการยึดอำนาจปลดรัฐบาลอินโดจีนพร้อมกับเข้าควบคุมการบริหารงานเอง  “ขบวนการเวียดมินห์” กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านที่โดดเด่นที่สุดภายใต้การนำของ โฮจิมินห์ อาศัยช่วงสุญญากาศทางอำนาจเข้ายึดเมืองต่าง ๆ และประกาศเอกราช

เมื่อสงครามโลกยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทัพอังกฤษมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนให้ฝรั่งเศสกลับมาปกครองอินโดจีนตามเดิม เวียดมินห์จึงหันไปทำสงครามกับฝรั่งเศสต่อตั้งแต่ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๔ เมื่อฝรั่งเศสพ่ายศึกที่เมืองเดียนเบียนฟูจึงนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเจนีวา (The Geneva Accords) ค.ศ. ๑๙๕๔ แบ่งเวียดนามเป็นเหนือกับใต้ใช้ “เส้นขนานที่ ๑๗ องศาเหนือ” (เส้นรุ้ง/ละติจูดที่ ๑๗ องศาเหนือ)

Image

กองพันทหารช่างที่ ๒๓ ของไทยและกองพันทหารช่างที่ ๕๓๘ ของสหรัฐฯ ร่วมกันสร้างทางจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปยังจังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในความร่วมมือไทย-อเมริกัน ยุคสงครามเย็น
ภาพ : ร่วมมือกันเพื่อสันติ

เวียดนามเหนือมีพรรคลาวด่ง (พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม) ปกครอง ขณะที่เวียดนามใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีจักรพรรดิบ่าวได่ (Bảo Đại Emperor) เป็นประมุข และ โงดิ่งห์เสี่ยม (Ngô Đình Diệm) เป็นนายก-รัฐมนตรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มรกตวงศ์ ภูมิพลับ
อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในยุคสงครามเย็น อธิบายถึงสถานการณ์ในขณะนั้นให้ฟังว่า “หลังลงนามมีข้อตกลงว่าให้ประชาชนที่อยู่ด้านเหนือและใต้เส้นขนานที่ ๑๗ อพยพขึ้นลงได้อย่างเสรีในช่วงหนึ่ง มีชาวคริสต์ผู้ที่ไม่ยอมรับระบอบคอมมิวนิสต์ประมาณ ๘ แสนคน รวมถึงผู้ที่ไม่พอใจการปฏิรูปที่ดินแบบคอมมิวนิสต์อพยพลงมาเวียดนามใต้รวมกันล้านกว่าคน สถานการณ์ภาคใต้จึงซับซ้อนขึ้นอีก”

อาจารย์มรกตวงศ์อธิบายว่า สิ่งสำคัญในการเข้าใจสงครามเวียดนามหลังแยกประเทศ ค.ศ. ๑๙๕๔ คือ

“อย่ามองเวียดนามเหนือหรือใต้เป็นรัฐบาลหุ่นของมหาอำนาจ (โซเวียต จีน หรือสหรัฐฯ) เท่านั้น เพราะทั้งสองรัฐบาลเป็นตัวของตัวเอง มีการต่อรองในแบบของเขา วิธีคิดเดิมที่บอกว่ามหาอำนาจมาควบคุมนั้นไม่ใช่ทั้งหมด นั่นเป็นวิธีมองในแบบสมัยสงครามเย็น ดังนั้นเพื่อที่จะมองได้อย่างรอบด้านในการอ่านสถานการณ์ทั้งหมด จึงต้องมองปัจจัยที่หลากหลายกว่านั้น”

เมื่อแบ่งเป็นเหนือกับใต้แล้วสนธิสัญญาเจนีวากำหนดให้ทำประชามติเพื่อการรวมประเทศใน ค.ศ. ๑๙๕๖ แต่รัฐบาลเวียดนามใต้ที่นำโดยโงดิ่งห์เสี่ยม (ซึ่งภายหลังทำประชามติเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ มีเสี่ยมเป็นประธานาธิบดีคนแรก) ไม่ยอมรับกระบวนการนี้ เสี่ยมระบุว่าเขา “ไม่ยอมถูกมัดมือด้วยสนธิสัญญาเจนีวาที่ทำขึ้นโดยขัดต่อเจตจำนงของชาวเวียดนาม”

พันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเจรจากับเจ้าหน้าที่จาก American Study Mission
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๐/๑

เขาเชื่อว่าเวียดนามเหนือซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งที่เสรีทำให้ผลการลงประชามติถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า

แต่สิ่งที่ทำให้เวียดนามใต้เผชิญปัญหาคือเสี่ยมปกครองแบบอำนาจนิยม ไม่ยอมรับแนวคิดตั้งรัฐบาลผสมจากหลายฝ่ายที่สหรัฐฯ โน้มน้าวให้ดำเนินการ เขาสร้างศัตรูจำนวนมากแทนที่จะใช้เวลาจัดการขบวนการใต้ดินและรวมทุกฝ่ายในเวียดนามใต้เป็นหนึ่งเดียว หนำซ้ำเสี่ยมยังขัดแย้งกับสหรัฐฯ เพราะมองวิธีพัฒนาประเทศแตกต่างกัน รศ. ดร. เอ็ดเวิร์ด มิลเลอร์ (Edward Miller) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เวียดนามระบุว่า เสี่ยมพยายามสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล (personalism) แต่เขากลับไม่สามารถเป็นตัวแทนของ “ชาตินิยม” อุดมการณ์ที่มีพลังในใจคนเวียดนามได้เหมือนโฮจิมินห์ ดังนั้น “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้” (National Liberation Front - NLF) และกองกำลังที่เป็นปีก NLF ซึ่งรัฐบาลเวียดนามใต้เรียกว่า “เวียดกง” (Việt Cộng - VC) ที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๖๐ โดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือจึงได้ชาวบ้านในชนบทและฝ่ายตรงข้ามกับเสี่ยมมาเป็นพวกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่เวียดนามใต้วุ่นวาย  เวียดนามเหนือซึ่งใช้ระบอบคอมมิวนิสต์กลับควบคุมประชากรได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการปฏิรูปที่ดินที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม 

ค.ศ. ๑๙๖๓ เสี่ยมซึ่งเป็นชาวคริสต์ก่อความขัดแย้งกับชาวพุทธด้วยการจำกัดเสรีภาพทางศาสนา ทำให้ชาวพุทธรวมตัวกันประท้วงครั้งใหญ่ตามเมืองต่าง ๆ  เหตุการณ์ถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเกิดเหตุพระสงฆ์เผาตัวเองประท้วงจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แล้วมาดามญู (Trần Lệ Xuân) ภริยาของน้องชายเสี่ยมออกมาพูดจาเหน็บแนมว่าการเผาตัวเองดังกล่าวเป็นแค่การ “ปิ้งบาร์บีคิว” ยิ่งทำให้เกิดเหตุพระสงฆ์เผาตัวตายอย่างต่อเนื่องและสร้างกระแสต่อต้านไปทั่วโลก

Image

จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี
(ค.ศ. ๑๙๖๒-๑๙๗๓)
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒)

ในที่สุดรัฐบาลของเสี่ยมก็ถูกกองทัพทำรัฐประหารในเดือนตุลาคม เวียดนามใต้ตกอยู่ในภาวะวุ่นวายและเกิดรัฐประหารอีกหลายครั้งจนเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๕ ก็มีรัฐบาลใหม่นำโดยประธานาธิบดีเหงวียนวันเถี่ยว (Nguyễn Văn Thiệu) มีพลอากาศตรี เหงวียนกาวกี่ (Nguyễn Cao Kỳ) เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาล “เถี่ยว-กี่” ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลของเสี่ยมทั้งการคอร์รัปชันและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

ช่วงนี้เองที่สหรัฐฯ ตัดสินใจดำเนินโครงการ “More Flags” นำทหารชาติพันธมิตรมาร่วมรบโดย ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงที่ทำเนียบขาวช่วงต้น ค.ศ. ๑๙๖๔ ว่า “เราอยากเห็นธง (บทบาท) ประเทศอื่น (other flags) ที่นั่น (เวียดนามใต้) ...เราจะร่วมกันหยุดการขยายลัทธิคอมมิวนิสต์”

ถ้าเทียบห้วงเวลา ยุคเสี่ยมตรงกับรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม (๒) ที่มีอำนาจจากการรัฐประหาร ค.ศ. ๑๙๔๗ ต้องหมายเหตุในที่นี้ว่า รัฐบาลไทยรับรองรัฐบาลเวียดนามใต้ตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๕๔ ผูกนโยบายต่างประเทศกับสหรัฐฯ ที่ปิดล้อมคอมมิวนิสต์ตาม “ทฤษฎีโดมิโน” (domino theory) ซึ่งเชื่อว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงจะพลอยเป็นไปด้วย ไทยจึงเริ่มได้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเวียดนามใต้มากขึ้น นโยบายนี้สืบเนื่องมาถึงสมัยที่จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ใน ค.ศ. ๑๙๖๒

นั่นเป็นคำตอบเบื้องต้นว่าทำไมไทยจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “สงครามเวียดนาม”

Image

พันเอก ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Image

จอมพล ประภาส จารุเสถียร รองนายกฯ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้มีบทบาทในการวางนโยบายต่างประเทศยุคสงครามเย็น
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒

“สงครามเวียดนาม” 
คือส่วนหนึ่ง
ของสงครามเย็น
ในระดับโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มรกตวงศ์ ภูมิพลับ
อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ทำวิจัยหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในยุคสงครามเย็น”

เมื่อพูดถึงสงครามเป็นเรื่องธรรมดาที่มีการมองหาพระเอกหรือผู้ร้าย แต่ข้อเท็จจริงนี้ขึ้นกับใครเขียนประวัติศาสตร์ การเขียนจึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น การเมือง การโฆษณาชวนเชื่อ แต่แนวโน้มการศึกษาประวัติศาสตร์สงครามในวงวิชาการนานาชาติแทบไม่สนใจเรื่องนี้แล้ว ในช่วงเกือบ ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์พยายามมองว่ามันทำให้สังคมเปลี่ยนไปอย่างไร

“เราตีความใหม่ว่า เมื่อเกิดสงครามเย็นประเทศในซีกโลกใต้ (global south/ด้อยพัฒนา) โดนผลกระทบ คนจำนวนมากบาดเจ็บล้มตาย ประเทศเหล่านี้คือสนามรบจริง สงครามเย็นจึงเป็นสงครามร้อนที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๑๐ ล้านคนทั่วโลก ส่วนสงครามเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นในระดับโลก (the global cold war) เกิดขึ้นในช่วงของการสร้างชาติ การเมืองไม่มั่นคง การมองสงครามยังต้องดูว่าแต่ละฝ่ายมีปัจจัยทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ กระทั่งเหตุผลส่วนตัวอย่างไร เช่น คนเวียดนามใต้ที่ไปอยู่ฝ่ายเวียดกง บางคนไม่ได้นิยมคอมมิวนิสต์ แต่ถูกรัฐบาลเวียดนามใต้กระทำ เขาก็เลือกอีกฝ่าย ในเวียดนามยังมีกลุ่มการเมืองที่หลากหลาย ชาวคริสต์ที่อพยพจากภาคเหนือมีแนวทางต้านรัฐบาลเวียดนามเหนือในแบบของตัวเอง แม้กระทั่งชาวพุทธในเวียดนามใต้ก็ไม่เป็นเอกภาพ

“กรณีไทยส่งทหารไปรบ ไทยชัดเจนว่าใช้เวียดนามใต้เป็นแนวหน้าหยุดการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ดับไฟก่อนที่จะลามเข้าบ้าน จะเห็นว่า
พอเวียดนามใต้ใกล้แพ้ ไทยเปลี่ยนนโยบายติดต่อเวียดนามเหนือ ความสัมพันธ์ทางการทูตยุคนั้นจึงคำนึงเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ  ส่วนเวียดนามใต้ในฐานะสมรภูมิ ได้รับผลจากการมาของทหารพันธมิตรนับแสน  หลังสงครามทหารเวียดนามใต้ที่ไปอยู่สหรัฐฯ บางคนมองว่าที่เวียดนามใต้แพ้มีส่วนทำให้ภูมิภาคเบื่อสงครามประเทศอื่นรอด

“การตีความว่าไทยแพ้สงครามนี้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่าการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและผลที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ไม่ว่าทหารอาสา ครอบครัวทหาร ชาวเวียดนาม ฯลฯ เพราะสงครามไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่การถอนทหาร สงครามทำให้เกิดบาดแผลที่มนุษย์กระทำต่อกันประวัติศาสตร์ที่เขียนถึงการสังหารเพื่อนมนุษย์จึงควรเป็นบทเรียน เพราะท้ายที่สุดทุกฝ่ายต่างสูญเสียไม่มากก็น้อย”

ฉากที่ ๒
“สหายศึก”
ไทย-เวียดนามใต้

“จะไม่มีการพูดถึง
การถอนตัวจากการต่อสู้ 
(ในเวียดนาม)”

ถนัด คอมันตร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์
สื่อต่างชาติที่ Oversee Press 
Club, New York
ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๔

ค.ศ. ๑๙๖๔ รัฐบาลไทยระแวงการขยายตัวของคอมมิวนิสต์มากขึ้นนับตั้งแต่ “วันเสียงปืนแตก” ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ ไทยเริ่มใช้กำลังทหารปราบพลพรรคพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตชนบท โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน

ผมพบข้อมูลในแฟ้มเอกสารกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ว่าไทยเริ่มส่งความช่วยเหลือทางทหารให้เวียดนามใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ หลังพลเอก เหงวียนขาญ (Nguyễn Khánh) ประธานสภาปฏิวัติทหารและนายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ขณะนั้นส่งสาส์นถึงนายกรัฐมนตรีไทยว่าเวียดนามใต้กำลังเผชิญกับการรบแบบกองโจร “ผู้รุกรานได้เพิ่มกำลังพลและกำลังอาวุธอย่างมากมาย” และหวังว่าไทย “จะยินดีให้ความสนับสนุนต่อเราเท่าที่เห็นว่าจะเหมาะสมและทำได้”

ไทยตอบสนองด้วยการเปิดหลักสูตรฝึกนักบินไอพ่นให้กองทัพอากาศเวียดนามใต้ขอสนับสนุนเครื่องบินฝึกไอพ่นแบบ T-33 จากสหรัฐฯ ด้วยช่วงนั้นเครื่องบินรุ่นนี้ขาดแคลนจนแม้แต่กองทัพอากาศไทยยังต้องยุติการฝึกนักบินไอพ่นของตนชั่วคราว หลังจากนั้นจึงมีการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารสองชาติบ่อยขึ้น ไทยยังได้ส่งความช่วยเหลือด้านอื่นเช่นวัสดุก่อสร้าง (เหล็กและปูนซีเมนต์) ให้แก่เวียดนามใต้

กันยายนปีเดียวกันไทยส่งนักบินและช่างอากาศในนาม “หน่วยบินลำเลียงทหารอากาศไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม” ที่มีฉายาว่า “หน่วยบินวิกตอรี” (Victory Wing Unit)

ถือเป็นทหารไทยกลุ่มแรกในเวียดนามใต้

พลตรี บัญชา มินทร์ขินร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามใต้ ให้การต้อนรับทหารไทยที่ไปถึงกรุงไซ่ง่อน
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒

พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ แช่ม ทิพโกมุต เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไซ่ง่อน แจ้งรัฐบาลไทยเป็นการภายในก่อน เจิ่นวันโด๋ (Trần Văn Đỗ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามใต้จะมาเยือนกรุงเทพฯ ว่าเวียดนามใต้มีท่าทีขอกำลังทหารไทยไปช่วยรบอย่างจริงจังและขณะนั้นมีประเทศที่ส่งทหารไปรบในเวียดนามใต้แล้วหกชาติ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สเปน และฟิลิปปินส์

ที่น่าสนใจคือท่านเอกอัครราชทูตทักท้วงว่าไทยมี “หน่วยบินวิกตอรี” อยู่ “ก็ควรพอแล้ว” เพราะ “ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ทุกวัน” และเสนอว่าไทยควรส่งทหารที่ไม่ใช่หน่วยรบไปช่วยจะเป็นการดีกว่า เพราะหน่วยรบ “ต้องการไว้ใช้ในบ้านเรา” เพื่อต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากกว่า

แต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามใต้มาเยือน นายกรัฐมนตรีไทยคือจอมพลถนอมกลับแสดงท่าทีชัดเจนว่ายินดีให้ความช่วยเหลือ เพราะ “ไทยอยู่ใกล้เวียดนาม... ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ประกาศชัดว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวปลดปล่อยในไทย (พคท.) ...คาดว่าไทยจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์”

ในที่สุด กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๖ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไทยมีมติให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมโดยส่งเรือหลวง พงัน (เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่) และ เรือ ต. ๑๒ (เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง) ไปรบในเวียดนามใต้ในนาม “หน่วยเรือซีฮอร์ส” (ม้าน้ำ/Sea Horse Task Element)

Image

แสตมป์ที่ระลึกของรัฐบาลเวียดนามใต้ แสดงจำนวนชาติพันธมิตรค่ายโลกเสรีที่ส่งทหารมาช่วยรบกับเวียดกง เจ็ดชาติ โดยมีไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย  

Image

จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกฯ ไทยขณะรับการต้อนรับจาก เหงวียนวันล็อค (Nguyen Van Loc) ที่สนามบินเตินเซินเญิ้ต ในโอกาสตรวจเยี่ยมทหารไทยในเวียดนามใต้ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๑/๑๑

เหงวียนวันเถี่ยว ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ (ซ้าย) กับจอมพลถนอม ดื่มชาเวียดนามระหว่างไปตรวจเยี่ยมทหารไทย  
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๑/๑๑

ต้น ค.ศ. ๑๙๖๗ ไทยยังอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพสำหรับเครื่องบินโจมตีและทิ้งระเบิดโดยบอกกับสื่อมวลชนว่าเพื่อให้ “สงครามเวียดนามจบลงโดยเร็วที่สุด” (Bangkok Post ๒๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗) และ “ป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์” จอมพลถนอมระบุว่านี่เป็น “สงครามนอกแบบ” ที่ต้องรบแม้จะเสียงบประมาณเพื่อ “รักษาสันติสุขของประเทศผู้รักเสรีในเอเชียอาคเนย์...”

อย่างไรก็ตามมีข้อมูลในเอกสารราชการไทยชัดเจนว่า ในการนี้รัฐบาลไทยไม่ต้อง “จ่าย” มากนัก อาทิ เอกสารกองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) ส่วนหน้า “ลับ” วันที่ ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๗ เปิดเผยว่า เรือรบและเครื่องบินเหล่าที่ส่งไปเวียดนามใต้ทั้ง “วิกตอรี” และ “ซีฮอร์ส” คือเรือลำเลียงแบบ PGM (เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง) LST (เรือลำเลียง) และเครื่องบินลำเลียง C-123 สองเครื่อง ทั้งหมดอเมริกามอบให้ทั้งสิ้น

ยังปรากฏหนังสือราชการ กองบัญชาการทหารสูงสุด “ลับมาก” ที่ กห. ๐๓๑๒/๕๐๓๒ ระบุว่างบประมาณและการเดินทางของทหารไทยที่จะไปเวียดนามใต้ ทางสหรัฐฯ “สนับสนุนเคลื่อนย้ายทั้งสิ้น” รวมถึงเบี้ยเลี้ยงและอาวุธต่าง ๆ

ปลายปีนั้นคณะรัฐมนตรีก็มีมติว่าการส่งความช่วยเหลือให้เวียดนามใต้จะไม่ปิดลับอีกต่อไป เพราะหลายประเทศเปิดเผย ทั้งในสื่อยังปรากฏภาพการประชุมหัวหน้าหน่วยทหารแต่ละชาติที่มักปรากฏ “ธงไทย” ด้วย จึง “เป็นการพ้นวิสัยที่จะปิดบัง” อย่างไรก็ตามไปรษณีย์อากาศ ที่กระทรวงการต่างประเทศส่งถึงสถานทูตไทยในไซ่ง่อน ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๖ ก็แนะนำสถานทูตไทยเป็นการเฉพาะว่า

“แต่ก็ไม่สมควรให้มีการโฆษณาในเรื่องนี้”

Image
Image

เรือหลวง พงัน ที่ไทยส่งไปรบเวียดนามใต้ในนามหน่วย “ซีฮอร์ส” (ม้าน้ำ) 
ภาพ : เสรีภาพ ฉบับที่ ๑๓๖
.
ป้อมปืนกลบนเรือ ต.๑๒ ที่กองทัพเรือไทยส่งไปรบในเวียดนามใต้ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๐/๒๒

ฉากที่ ๓
โฉมหน้าของ “จงอางศึก”

ต้น ค.ศ. ๑๙๖๗ 
ไทยตัดสินใจส่งทหาร
อย่างน้อย ๑,๐๐๐ คน
(ราว ๑ กองพัน)
ไปช่วยเวียดนามใต้รบ

๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗ สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่บทความ “แผนต่อต้านการรุกราน” ชี้ให้เห็นภัยคอมมิวนิสต์  เหตุผลที่ไทยต้องส่งทหารไปเวียดนามใต้ว่า ถ้าไม่หยุดการรุกรานของคอมมิวนิสต์ “คลื่นคอมมิวนิสต์ก็จะไหลบ่าไปท่วมภาคพื้นส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

จอมพลถนอมแถลงว่า “คอมมิวนิสต์ไม่ใช่จะมุ่งรุกรานเฉพาะเวียดนามใต้... ทำลายญวน (เวียดนามใต้) ได้สำเร็จก็จะมุ่งมาไทย” (ไทยรัฐ ๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗) โดยแจ้งว่ามีการเตรียมงบประมาณและได้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ด้านอาวุธ กองทหารนี้จะเป็น “หน่วยอาสาสมัคร” คาดว่าจะมีคนสมัครมากเช่นเดียวกับที่ส่งทหารไปรบในสงครามเกาหลี

ผมพบว่ายุคนั้นยังมีคำถามคุ้นหูที่นักข่าวยกขึ้นมาถามจอมพลถนอมว่า “นำเด็กเกเรไปรบด้วยได้หรือไม่” ซึ่งนายกฯ ตอบว่าถ้าผ่านการฝึกวิชาทหารก็ดี แต่ “พวกนี้อาจไปทำยุ่งที่โน่นก็ได้” (สยามนิกร ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗) ส่วนเสียงวิจารณ์จากประเทศสังคมนิยมจอมพลถนอมไม่สนใจเพราะ “ฝ่ายคอมมิวนิสต์...เขาก็โจมตีเราอยู่แล้ว”

พลอากาศตรี เหงวียนกาวกี่ นายกฯ เวียด-นามใต้ขณะนั้นส่งสาส์นต้อนรับการตัดสินใจนี้ด้วยความยินดีเพราะ “แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกกลมเกลียวระหว่างประเทศ” ในการรักษาสันติภาพถือว่าไทย “ใช้สิทธิอันชอบธรรมในการป้องกันร่วมกัน... สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อยับยั้งนโยบายขยายอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์”

ไม่นานกระทรวงกลาโหมก็ประกาศรับอาสาสมัคร ๑,๐๐๐ คน ระหว่าง ๑๖ มกราคม - ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๗ ที่กองบังคับการกรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ ถนนพระรามที่ ๕, กองบัญชาการกองพลที่ ๑ กองบังคับการทหารบกจังหวัดพระนครและธนบุรี และมณฑลทหารบกหรือในจังหวัดทุกแห่งในเวลาราชการ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้สมัครต้องมีอายุ ๑๘-๓๕ ปี สุขภาพแข็งแรง เป็นทหารประจำการ ทหารกองหนุน (รับราชการทหารตามที่กำหนดแล้วปลดประจำการ) หรือทหารกองเกิน (ผ่านการฝึกวิชาทหาร)  มีความสามารถด้านแพทย์ วิศวกรรม วิทยุสื่อสาร ขับยานพาหนะ พิมพ์ดีด

สวัสดิการที่จะได้รับคือเบี้ยเลี้ยง พลทหารได้วันละ ๗ ดอลลาร์สหรัฐ (๑๔๐ บาท) นายทหารสัญญาบัตรได้ ๑๐ ดอลลาร์สหรัฐ (๒๐๐ บาท) ทุกคนจะได้รับเงินก่อนออกเดินทาง ๓,๐๐๐ บาท ตลอดช่วงประจำการ ๑ ปี พลทหารได้เงินเดือนเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ชั้นสัญญาบัตรได้สูงสุดถึงเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท (ถ้าเทียบจากราคาก๋วยเตี๋ยวยุคนั้นซึ่งอยู่ที่ชามละ ๒-๓ บาท เงินเดือนอัตรานี้จึงมีมูลค่าประมาณ ๒๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท ใน ค.ศ. ๒๐๑๙)

ที่มา : พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม/Vietnam Veterans Museum

Image

หนังสือพิมพ์ไทยยุคนั้นรายงานว่ามีคนสมัครมากมายจน “เกินจำนวน”

ภายในวันแรกทั้งประเทศมีผู้สมัครเป็นหลักหมื่น  ที่กรมทหารราบที่ ๒๑ กรุงเทพฯ “มีชายฉกรรจ์ไปยืนคอยตั้งแต่รุ่งอรุณ” สองชั่วโมงมีผู้สมัคร ๓,๐๐๐ คน (พิมพ์ไทย ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗) ส่วนที่กองพลที่ ๑ ถึงกับ “เบียดเสียดยื้อแย่งใบสมัคร... ยังผลให้ปะรำจ่ายใบสมัครแห่งหนึ่งเกิดพับพังกระดานหักลง”

หนังสือพิมพ์ยังรายงานด้วยว่า บริเวณสถานที่รับสมัครประดับตกแต่งด้วยข้อความปลุกใจ เช่น “ตื่นเถิดชาวไทย ไฟไหม้ข้างบ้าน ท่านจะช่วยกันไหม” “เวียดกงไม่ใช่เทวดา อย่างดีก็แค่หมาบ้าที่อดโซ”

ข้อมูลในหนังสือพิมพ์ยังบอกเราว่าผู้สมัครรุ่นแรกมีทั้งพระภิกษุ ชาวนา นักศึกษาวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) บางส่วนเป็นคนมีฐานะ ส่วนมากมีวัย ๒๑ ปีขึ้นไป เป็นทหารกองหนุน กองเกิน และนักศึกษาวิชาทหาร

เหตุผลของพวกเขาที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดูคล้ายกัน เช่น “อยากไปขยี้เวียดกงเร็ว ๆ” (ชายหนุ่มวัย ๒๑ ปี) “ถ้าชาติย่อยยับศาสนาก็อยู่ไม่ได้” (พระสงฆ์) “ไม่มีห่วงอะไร ลูกเมียไม่มี” (คนโสด) (ไทยรัฐ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗)

ยังมีทหารประจำการที่เปิดรับแต่เพศชาย ยศนายพันรับไม่เกินยศพันเอก อายุไม่เกิน ๔๕ ปี ส่วนยศนายร้อยและนายสิบอายุต้องไม่เกิน ๓๕ ปี (ไทยรัฐ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗)

จอมพลถนอมยังแถลงว่าเพื่อให้เป็นตัวอย่าง จึง “สั่งให้พันตรี ณรงค์ กิตติขจร (บุตรชาย) ...รองผู้บังคับกองพันผสม กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ ไปอาสาช่วยกวาดล้างภัยคุกคาม”

ส่วนกรณีพระสงฆ์สมัครไปรบ ภายหลังมหาเถรสมาคมออกประกาศห้ามเพราะ “มิใช่กิจของสงฆ์”

เมื่อปิดรับสมัคร ปรากฏว่ายอดอยู่ที่ประมาณ ๔ หมื่นคน

Image

การตรวจความพร้อมรบของหน่วยจงอางศึกก่อนไปเวียดนามใต้ที่ค่ายกาญจนบุรี 
ภาพ : กองพลเสือดำ ๒๕๑๑-๒๕๑๒)

ฉากที่ ๔
การเตรียมตัวของ
“จงอางศึก”

ในมุมมองสหรัฐฯ 
เสียงตอบรับในเมืองไทย
เรื่องส่งกำลังทางทหาร
ไปเวียดนามใต้เกินความ
คาดหมาย 

งานศึกษาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Pentagon) เรื่อง การมีส่วนร่วมของพันธมิตรในเวียดนาม (Allied Participation in Vietnam) ระบุว่าปัญหาที่ตามมาเมื่อไทยคิดส่งทหารจำนวนที่เริ่มจะมากกว่าระดับ “กองพัน” ตามที่สื่อสารกันไว้ช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๖๖ คือ “การสนับสนุนด้านยุทธศาสตร์และปัจจัยพื้นฐานจำนวนมากที่สหรัฐฯ ต้องมอบให้”

แต่ในที่สุดเพนตากอนก็อนุมัติโดยยึดแนวทางเดียวกับการสนับสนุนทหารเกาหลีใต้ที่ไปรบในเวียดนามใต้อยู่ก่อนแล้ว

ปรากฏการณ์ทหารอาสานี้ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยพ่อค้าหัวใส เช่น ขายบัตรชมการแสดงในสงขลา ยะลา และปัตตานี อ้างว่าจะสมทบทุนส่งทหารไปเวียดนามใต้ กำหนดราคาสูงสุดที่ ๒,๐๐๐ บาท หากไม่ซื้อจะถูกกล่าวหาว่า “ไม่รักชาติ” (พิมพ์ไทย ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๗) จนมีการร้องเรียนกันใหญ่โต

พอล เอ็ม เพ็นน็อก นักข่าวอเมริกัน เขียนใน เสรีภาพ นิตยสารโฆษณาชวนเชื่อของสำนักข่าวสารอเมริกัน ที่พิมพ์เผยแพร่ในไทยว่า ทหารไทยที่ไปเวียดนามส่วนมาก “เป็นทหารอาสาสมัครและเกือบครึ่งหนึ่งของกองพลนี้เป็นทหารประจำการ”

ทหารผ่านศึกเวียดนามท่านหนึ่งยืนยันกับผมว่า การไปรบในเวียดนามสัดส่วนทหารประจำการและกองหนุน (เคยเกณฑ์ทหาร) อยู่ที่ร้อยละ ๘๐ ส่วนอาสาสมัครที่เป็นคนนอกนั้นมีเพียงราวร้อยละ ๒๐

เอกสาร “ลับมาก/ด่วนมาก” สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีช่วงกลาง ค.ศ. ๑๙๖๗ ระบุว่า ผู้ที่ไปรบได้สวัสดิการจากสหรัฐฯ เท่ากับที่ไปรบในเกาหลี คือพลทหารได้เบี้ยเลี้ยงวันละ ๑.๓๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๒๒ บาท) กรณีเสียชีวิต นายทหารได้ ๑.๑ แสนบาท นายสิบ ๗ หมื่นบาท พลทหาร ๕ หมื่นบาท

หน่วยจงอางศึกแสดงท่าพร้อมรบให้สื่อมวลชนได้ชมระหว่างการฝึกในประเทศไทยเมื่อต้น ค.ศ. ๑๙๖๗ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป๕/๒๕๑๐/๒๒ ปึก ๗

ต่อมามีการปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงเป็นพันตรีขึ้นไปได้วันละ ๘ ดอลลาร์สหรัฐ (๑๖๐ บาท) ต่ำกว่าพันตรีได้วันละ ๖ ดอลลาร์สหรัฐ (๑๒๐ บาท) ร้อยเอกวันละ ๕ ดอลลาร์สหรัฐ ร้อยตรีวันละ ๔ ดอลลาร์สหรัฐ นายสิบวันละ ๒.๓ ดอลลาร์สหรัฐ จ่าเอกวันละ ๒ ดอลลาร์สหรัฐ จ่าโท ๑.๖๕ ดอลลาร์สหรัฐ จ่าตรี ๑.๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนพลทหารจ่ายตามอัตราที่สหรัฐฯ กำหนด (ชาวไทย ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๗)

ไม่นับอาวุธ ค่าขนส่ง ค่าอยู่ค่ากิน รัฐบาลไทยมีค่าใช้จ่ายเรื่องเดียวคืองบประมาณปลีกย่อยและเงินเดือนทหารอาสา (ไม่รวมเงินเดือนทหารประจำการที่ได้อยู่แล้วแม้อยู่นอกประเทศ) ประมาณปีละ ๔๓.๘ ล้านบาท

กองทัพบกกำหนดให้หน่วยทหารนี้เป็นหน่วยเฉพาะกิจ (Task Force) ชื่อ “กรมทหารอาสาสมัคร” (อสส.) (The Royal Thai Volunteer Regiment) ถือเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ (พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) มีฉายาว่า “จงอางศึก” (Queen’s Cobra)

เอกสารกองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า (ลับ) ๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๗ ระบุว่า หน่วยนี้มีกำลังเต็มอัตรา ๒,๒๐๗ นาย (ภายหลังคือ ๒,๒๘๗ คน) สหรัฐฯ สนับสนุน “จัดอาวุธยุทโธ-ปกรณ์ตามอัตราการจัดทั้งสิ้น” ทั้งยังจัดอาวุธสำหรับฝึก การฝึกเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗

นอกจากนี้ยังยกระดับกองบัญชาการหน่วยช่วยเหลือทางทหารของประเทศไทยประจำสาธารณรัฐเวียดนาม (บก.ชท.วน./Royal Thai Military Assitance Group Vietnam - RTMAG-T) เป็นกองบัญชาการกองกำลังทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม (บก.กกล.ไทย วน./Headquarters Royal Thai Forces Vietnam - HQRTFV) แต่งตั้งพลตรี สนั่น ยุทธสารประสิทธิ์ เป็นผู้บังคับการกรมจงอางศึกคนแรก โดยอยู่ภายใต้การบัญชาการของพลตรี ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้บัญชาการกองกำลังทหารไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม (คนที่ ๑) 

Image

หน่วยจงอางศึกขณะอำลาพระแก้วมรกตในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ก/ป๕/๒๕๑๐/๒๒

การระดมกำลังของไทยรวมถึงพันธมิตรอเมริกันในเวียดนามใต้ครั้งนี้ถูกวิจารณ์จากนายพลหวอเงวียนซ้าป (Võ Nguyên Giáp) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนามเหนือว่า อเมริกัน “ล้มเหลว” ในการคุมพื้นที่ชนบทเวียดนามใต้จนต้องให้พันธมิตรมาช่วย ขณะที่สหภาพโซเวียตประท้วงเรียกร้องให้ไทย “หยุดอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีเวียดนามและทบทวนการตัดสินใจส่งทหารไปเวียดนามใต้” (Bangkok Post ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๗)

ทำให้มีแถลงการณ์ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนของกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า “โซเวียตต้องการปกปิดบทบาทที่น่าเหยียดหยาม” ที่ส่งอาวุธช่วยเวียดนามเหนือ ทั้งยังยื่นเอกสารพร้อมข้อโต้แย้ง ๑๑ ข้อ ระบุว่าไทยจะหยุดเมื่อ “การรุกรานโดยคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์สิ้นสุดลง”

ส่วนในมุมมองของเวียดกง A Vietcong Memoir บันทึกของ เจืองญือต่าง (Trương Như Tảng) ผู้ก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนาม (NLF/เวียดกง) ซึ่งเป็นคนเวียดนามใต้ที่ถือว่าเป็น “ศัตรู” ทหารไทยกลับมองว่า การปลดแอกเวียดนามไม่ได้จบลงใน ค.ศ. ๑๙๕๔ สภาพรัฐบาลอำนาจนิยมในเวียดนามใต้ที่มีอเมริกาหนุนหลังทำให้เขา “ยอมรับระบอบใดก็ได้ที่นำมาซึ่งอิสรภาพและคำนึงถึงประชาชนอย่างแท้จริง ผมให้เครดิตกับรัฐบาลเวียดนามเหนือของ โฮจิมินห์ เพราะการสร้างชาติต้องผ่านกระบวนการและใช้เวลานาน”

เมื่อได้ปริมาณทหารอาสาเพียงพอ ทางการไทยก็เริ่มส่งทหารกระจายกันไปฝึก ศูนย์ใหญ่อยู่ที่ค่ายฝึกทหารอาสาตำบลลาดหญ้า (ใกล้เขาชนไก่) จังหวัดกาญจนบุรี อีกแห่งหนึ่งคือที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้คือการฝึกที่หน่วยต้นสังกัดสำหรับเหล่าทหารช่าง ทหารปืนใหญ่ และทหารม้า (ยานเกราะ)

Image

ญาติพี่น้องของทหารอาสาจำนวนมากไปส่งกองพันทหารช่างของหน่วยจงอางศึกจำนวน ๑๗๙ คน ลงเรือหลวง พงันไปเวียดนามใต้ที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ก/ป๕/๒๕๑๐/
๒๒

การฝึกเริ่มช่วงปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๗ เป็นการฝึกหนักวันละ ๑๒ ชั่วโมงทั้งกลางวันและกลางคืน ขั้นแรกใช้เวลา ๑ เดือนฝึกเบื้องต้น ฝึกระดับหมู่ ขั้นที่ ๒ ใช้เวลา ๑ เดือน ฝึกระดับกองร้อย ต่อต้านสงครามกองโจร ขั้นที่ ๓ และ ๔ ใช้เวลา ๒ เดือน  ฝึกที่ศูนย์ฝึกกาญจนบุรี ผสมกับทหารเหล่าอื่นในระดับกองพัน

ช่วงนี้ยังปรากฏข้อมูลว่าเริ่มมีทหารหนีทัพ จอมพลถนอมเอ่ยถึงเรื่องนี้ว่า “คือพวกที่ทนการฝึกหนัก ๆ ไม่ไหว กับพวกที่ผิดหวังเรื่องเงินเดือน
เบี้ยเลี้ยงที่คิดว่าจะได้มาก ๆ”

หน่วยจงอางศึกยังอาจเป็นหน่วยทหารแรกของไทยที่ติดอาวุธทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เช่น ปืนกลอัตโนมัติ M-16 เครื่องยิงลูกระเบิด M-79s ปืนใหญ่ Howitzer ขนาด ๑๕๕ มม. รถสายพานลำเลียงพลรุ่น M-113 ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด ๘๑ มม. ที่สหรัฐฯ จัดหาให้ทั้งหมดโดยไม่คิดมูลค่า

ในการนี้ยังมีการปลุกเสกผ้ายันต์สีขาวพิมพ์รูปท้าวเวสสุวรรณ ยันต์สีเหลืองพิมพ์รูปธรรมจักร (เมตตามหานิยม) โดยนำผ้าสีแดงประกบ นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมยังลงทุน ๒.๕ แสนบาท ปลุกเสกผ้าประเจียดลงอาคม มีพิธีที่วัดมหาธาตุ-ยุวราชรังสฤษดิ์ราชวรมหาวิหาร จำนวน ๕.๓๒ แสนผืน จัดชุดกับของมงคลปล่อยบูชา ๕ หมื่นชุด ทำให้มีรายได้ถึง ๑ ล้านบาท (Bangkok Post ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๗)

Image

จอมพล ถนอม กิตติขจร ส่งบุตรชาย พันตรีณรงค์ ไปรบในเวียดนามใต้ที่สนามบินดอนเมือง 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ : ก/ป๕/๒๕๑๐/๒๒ ปึก ๖

ทหารอาสายังได้รับแจกพระเครื่องมากมาย อาทิ วัดชัยพฤกษมาลา อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี มอบหลวงพ่อโพธิ์ ๒,๕๐๐ องค์ (กรุแตกค.ศ. ๑๙๖๖) และพระสังกัจจายน์ ๒,๕๐๐ องค์ ยังไม่รวมที่ตัวทหารอาสาแต่ละคนไปเสาะหามา หรือได้รับจากญาติพี่น้อง

ภาพเก่าทหารไทยในสมรภูมิเวียดนามจึงมักปรากฏ “พระเครื่อง” ห้อยคอจนเป็นจุดสังเกตเสมอ

สุดท้ายรัฐบาลจัดให้มีพิธีส่งตัวไปรบอย่างเป็นทางการ ณ ท้องสนามหลวง ให้ทหารทุกคนสวนสนามและให้ทหารอาสาที่นับถือพุทธศาสนาเข้าสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗