Image
“ค้างคาวแดง” 
แฝงความรู้คู่โรงเรียนจีน
hidden (in) museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
 ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
การรู้หนังสือคือโชคอันยิ่งใหญ่ร้อยกว่าปีก่อน ชาวจีนฮกเกี้ยนในภูเก็ตที่มีฐานะจะส่งลูกไปเรียนยังปีนัง ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะส่งมาเรียนกับผู้รู้ที่ศาลเจ้านี้ ซึ่งต่อมาปรับเป็นสำนักเรียนแบบโบราณ ท่องจำโดยไม่มีตำรา ก่อนพัฒนาเป็น “โรงเรียนฮัวบุ๋น” สอนภาษาจีนแห่งแรกของภูเก็ต เวลานั้นเป็นอาคารชั้นเดียวมีหกห้องเรียน  ด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุคต่อมาทำให้โรงเรียนสอนภาษาจีนทั่วประเทศถูกเพิกถอนใบอนุญาตและสั่งปิด เป็นที่มาของสำนวนไทยว่า “เรียบร้อยโรงเรียนจีน”  ปิดอยู่นาน ๖ ปี ได้ฟื้นตัวมาเปิดสอน เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนราษฎร์จุงหัว” ก็มีอันต้องปิดอีก  แต่เมื่อไม่ย่อท้อในที่สุดจึงเกิด “โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว” คราวนี้ดำเนินด้วยดีจนตั้งอีกโรงเรียนไว้ข้างกันเพื่อสอนระดับมัธยมฯ ต้น  ต่อมาย้ายสองโรงเรียนไปตั้งที่ถนนวิชิตสงคราม ที่นี่จึงว่างจากการใช้งาน ในที่สุดก็ระดมผู้เชี่ยวชาญวิทยาการหลายแขนงร่วมบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ซึ่งแม้ไม่ได้จัดการเรียน แต่การศึกษายังเป็นหัวใจสำคัญของสถานที่ เพราะเป็นแหล่งความรู้ท้องถิ่น แสดงประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชนและภูมิปัญญาซึ่งรับอิทธิพลจากชาวจีน

แปลกกว่าที่อื่นตรงการเที่ยวต้องตั้งต้นจากชั้น ๒ ของอาคารลงมาชั้น ๑

เริ่มจากศึกษาบ้านเกิดในเมืองจีนสู่เส้นทางต่าง ๆ ที่นำพาผู้แสวงโชคชาวจีนล่องทะเลลงมายังเกาะภูเก็ต กระทั่งลงหลักปักฐานสร้างชุมชนทั่วเกาะจนปรากฏปูชนียบุคคลผู้สร้างคุณงามความดีมากมาย หนึ่งในผลงานคือกำเนิด “โรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกของภูเก็ต” อดีตของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ด้วยชาวจีนถืออารยธรรมว่า “การบันทึกและศึกษาคือสิ่งสำคัญ” ที่จะนำไปสู่การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และปรัชญาในการดำเนินชีวิตแก่ลูกหลาน จึงร่วมสร้างสถานศึกษาขึ้นเพื่อสืบทอดสิ่งที่มีคุณค่า
Image
อิ่มใจกับการเที่ยวชมภายในแล้ว อยากชวนชื่นตากับสถาปัตยกรรมอาคารภายนอก

เป็นความงามขรึมขลังที่ผสมผสานรูปแบบชิโน-ยูโรเปียน (ต่างจากอาคารส่วนใหญ่ในภูเก็ตที่นิยมแนวชิโน-โปรตุกีส) โดดเด่นตั้งแต่พื้นขึ้นสู่หลังคาที่ตั้งใจออกแบบเป็นทรงกระดองเต่า ซึ่งชาวจีนถือเป็นสัตว์มงคล มีอายุยืน เพื่อให้อาคารมั่นคงและผู้อาศัยมีความสุขยืนยาว

ตัวอาคารประกอบด้วยบันไดทางขึ้นห้าขั้น ยาวขนาบตลอดอาคาร เหนือบันไดเป็นซุ้มโค้งเตี้ยแต่ใหญ่สามซุ้ม แต่ละซุ้มมีเสากลมรับโค้ง หัวเสาแต่งลวดลายบัว ผนังอาคารเซาะร่องขนาดใหญ่ ระหว่างชั้นล่างและชั้นบนมีแนวคิ้วบัวปูนปั้นคั่นผนัง เหนือ-ใต้คิ้วบัวติดป้ายชื่อโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ไทย และจีน ได้กลิ่นอายอดีตโรงเรียนสอนภาษาอันเก่าแก่ ชั้นบนมีซุ้มหน้าต่างสามซุ้ม แต่ละซุ้มเป็นช่องหน้าต่างสองช่อง กรอบหน้าต่างด้านบนเป็นจั่วแบบโรมัน ใช้ไม้ทำบานหน้าต่างและมีช่องแสงกระจกใส

เหนือซุ้มช่วงกลางที่หน้าจั่วมีรูปปั้น “ค้างคาวแดง” แกะสลักลักษณะได้น่ารักมาก

ถือคตินิยมตามบรรพชนจีนว่าค้างคาวเป็นสัตว์มงคล ตามคำพ้องเสียงภาษาจีน

“หงเปียนฝู” (红蝙蝠) หมายถึง ค้างคาวแดง

โดย “หง” แปลว่าแดง พ้องเสียงกับคำที่สื่อความหมายถึงยิ่งใหญ่ (宏)
“เปียนฝู” (蝙蝠) เป็นคำเรียกค้างคาว ซึ่งคำว่า “ฝู” จะพ้องเสียงกับ “ฝู” (福) หรือ “ฮก” ในภาษาแต้จิ๋ว ที่หมายถึงโชคลาภ เป็นการเล่นความหมายตามภูมิปัญญาหนึ่งในวัฒนธรรมจีน

สถาปัตยกรรมจีนมักประดับค้างคาวเป็นสัญลักษณ์มงคล อดีตโรงเรียนสอนภาษาจีนจึงไม่พลาดด้วย น่าสนใจว่าค้างคาวแต่ละรูปแบบก็สื่อความหมายต่าง อาคารบางแห่งอาจเลือกประดับค้างคาวตัวเดียว ห้าตัว หรือจับคู่กับสิ่งอื่นเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล อย่างเช่น ค้างคาวกับก้อนเมฆ ค้างคาวคาบหิน ฯลฯ

ที่นี่เลือก “ค้างคาวสีแดง-กางปีก” ปีกที่แผ่กว้างเสมือนหนังสือที่เปิดออก

การมีโอกาสได้ร่ำเรียนหนังสือ-เปิดโลกกว้างย่อมหมายถึงโชคอันยิ่งใหญ่
Image
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว 
๒๘ ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ 
อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
เปิดทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. 
โทรศัพท์ ๐-๗๖๒๑-๑๒๒๔
(บัตรเข้าชมชาวไทย ๕๐ บาท 
ชาวต่างชาติ ๒๐๐ บาท)