Image
เขากับเรา
จากบรรณาธิการ
เคยสงสัยไหมว่าเมื่อไรที่มนุษย์เริ่มยกพวกตีกัน หรือที่สุดกลายมาเป็น “สงคราม” ในขนาดและความรุนแรงระดับใหญ่กว่า 
การศึกษาชิมแปนซี ลิงไม่มีหางที่มีวิวัฒนาการมาร่วมกับมนุษย์และยังมีดีเอ็นเอเหมือนกันกับมนุษย์กว่า ๙๘ เปอร์เซ็นต์พบว่าพวกมันก็มีการแบ่งกลุ่มและฆ่าล้างกลุ่มชิมแปนซีที่อยู่ใกล้กันเพื่อแย่งชิงการครอบครองอาณาเขตหากิน 

สำหรับมนุษย์ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบันทึกว่าเรายังฆ่าหมู่เพื่อนมนุษย์ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และทำสงครามระดับข้ามทวีปด้วยสาเหตุอื่น ๆ ตั้งแต่ผลประโยชน์ทางการค้า การแย่งชิงทรัพยากร การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา หรืออุดมคติทางการเมือง

คำถามคือ อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่แยกเขากับเราจนเป็นศัตรู

คำตอบที่นักชีววิทยาค้นพบอาจซ่อนอยู่ในสมองเรานี่เอง

ในบทความชื่อ “This is Your Brain on Nationalism : The Biology of Us and Them” เขียนโดยนักชีววิทยา โรเบิร์ต ซาโปลสกี (Robert Sapolsky) ซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เล่าถึงการทดลองเกี่ยวกับการทำงานของสมอง โดยฉายภาพใบหน้าคนต่าง ๆ ให้อาสาสมัครคนผิวขาวดู ปรากฏว่าเมื่อเป็นภาพใบหน้าคนผิวดำเมื่อไร สมองส่วนอะมิกดาลาที่เกี่ยวข้องกับความกลัวและความก้าวร้าวจะตื่นตัว ส่งสัญญาณขึ้นทันทีในเวลา ๑ ส่วน ๑๐ วินาที  หลังจากนั้นสมองส่วนหน้าจะรีบเข้ามาควบคุมทำให้สัญญาณจากอะมิกดาลาสงบลง แม้อาสาสมัครคนนั้นจะเชื่อมั่นว่าตนเองไม่ใช่พวกเหยียดผิวก็ตาม

หากให้ดูภาพมือของใครบางคนที่คล้ายเผ่าพันธุ์เดียวกันกับเราถูกเข็มปัก สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจะมีสัญญาณกระตุ้นแรง แต่มือคนต่างเผ่าพันธุ์ถูกเข็มปัก ก็ดูจะมีสัญญาณกระตุ้นอ่อนกว่า

โดยพื้นฐานสมองเรา ความรู้สึกต่อใบหน้าและความเห็นอกเห็นใจจึงไม่ได้เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

เรียกได้ว่าสมองเรามีความเป็น “ชาตินิยม” (อ่อน ๆ)

เราอาจบอกว่าอคติเหล่านี้ต้องสะสมผ่านการถูกสั่งสอนและประสบการณ์ แต่ก็พบว่าสมองตั้งแต่แรกเกิดก็เริ่มทำงานแยกแยะเขากับเราแล้ว เพราะทารกและเด็กเล็กชอบคนที่มีผิวสีหรือเผ่าพันธุ์เดียวกับพ่อแม่มากกว่าผู้คนที่ดูต่าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังมีฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin ที่บางคนเรียกว่าฮอร์โมนความรัก) ช่วยสร้างความผูกพันรักใคร่ระหว่างแม่กับลูก รวมทั้งคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด แต่จะทำให้รู้สึกตรงกันข้ามถึงขั้นก้าวร้าวกับคนแปลกหน้า 

อ่านบทความถึงตรงนี้สายเสรีนิยมอาจรู้สึกสิ้นหวัง...แต่มาดูการทดลองของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียก่อน

เขาทำวิจัยโดยให้คนดูรูปผู้คนต่าง ๆ แล้วจัดกลุ่มรูป พบว่าคนมักจัดกลุ่มรูปตามเผ่าพันธุ์ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นรูปคนสวมชุดเครื่องแบบ เราก็จะจัดกลุ่มรูปตามชุดเครื่องแบบแทนการให้ความสำคัญกับเผ่าพันธุ์ หมายความว่าการตัดสินแยกแยะแบ่งกลุ่มขึ้นอยู่กับบริบทและความสัมพันธ์ทางสังคมอื่น ๆ และยังเปลี่ยนแปลงได้ง่ายด้วย เขายกตัวอย่างคนแปลกหน้าในซอยเปลี่ยวที่ดูน่าหวาดกลัว แต่ถ้าคนแปลกหน้านั้นร้องเพลงเชียร์ฟุตบอลทีมเดียวกันกับเราบนอัฒจันทร์เราก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นพวกเดียวกัน ต่างจากสัตว์แบ่งกลุ่มชัดเจนและขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่างเท่านั้น (มักเป็นปัจจัยทางธรรมชาติ) เช่น การใช้กลิ่น หรือความเป็นเครือญาติที่เติบโตมาด้วยกัน

ดังนั้นแม้ว่าการตอบสนองทางชีววิทยาแยกเขาแยกเราในสมองจะปฏิเสธไม่ได้ แต่มันไม่ใช่สิ่งตายตัวและอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทแวดล้อม เรื่องน่ากลัวก็คือการแบ่งกลุ่มของเราอาจเกิดจากอะไรที่ไม่ได้มีเหตุผลเริ่มต้นมากมายเลย เพราะในอีกการทดลองหนึ่ง นักวิจัยแบ่งกลุ่มคนแปลกหน้าด้วยการโยนหัวก้อย แม้ทุกคนจะรู้ว่าการแบ่งแบบนี้ไม่มีความหมายใด ๆ แต่แค่ไม่กี่นาที คนแปลกหน้าในกลุ่มก็สนิทสนมและไว้วางใจกัน และเริ่มไม่ไว้ใจคนกลุ่มตรงข้าม แล้วลองคิดถึงการถูกปลูกฝังแนวคิดต่าง ๆ กันมานานที่ทำให้เราแยกเขาแยกเรากันมากยิ่งขึ้น

ซาโปลสกีสรุปตอนท้ายบทความว่า เราอาจต้องยอมรับธรรมชาติของสมองแบบชาตินิยม และหาวิธีใช้มันให้ถูกทาง แทนที่จะรักชาติแบบโวยวายและใช้ความรุนแรงต่อคนเห็นต่าง ผู้นำประเทศควรหันมาสนับสนุนความร่วมมือของคนในชาติให้เห็นอกเห็นใจกันในฐานะมนุษย์ สร้างความภูมิใจของคนในชาติ ว่าสามารถดูแลและพัฒนาศักยภาพของคนในสังคม แทนที่จะภูมิใจว่ามีกำลังทหารสูงกว่าประเทศอื่น เพราะมันไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่สมองของมนุษย์จะชักนำให้เราเดินหน้าทำสงครามกัน

เขาจบประโยคสุดท้ายว่า “ด้านที่เลวร้ายที่สุดของชาตินิยม ไม่ใช่สิ่งที่จะเอาชนะได้ง่ายภายในเร็ววันนี้”

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า
Next Issue
Image
มองจีน 
สู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก