Image
ดว่าน เล มิงห์ เจิว*  
(Đòan Lê Minh Châu)
“เรายังต้องการองค์กร
อย่างอาเซียน”
* นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ASEAN Youth
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“ฉันเกิดที่เว้ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๕ พ่อเป็นตำรวจ แม่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายคนเวียดนาม ในรุ่นฉันเติบโตหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เรียกว่านโยบาย ‘จินตนาการใหม่’ (Doi Moi) ฉันเรียนระดับมัธยมฯ และมหาวิทยาลัยในเมืองเว้ พอจบปริญญาตรีก็เป็นผู้ช่วยสอนในมหาวิทยาลัยเดิมอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะมาฝึกงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาตามแนวชายแดนไทย-พม่าอยู่ ๓ เดือน

“สิ่งที่ฉันค้นพบคือ เชียงใหม่คล้ายกับเว้ เป็นเมืองเก่า สงบ หลังจากนั้นฉันก็
ไปทำงานที่อำเภอแม่ริม เห็นชนบทของเมืองไทย ฝึกงานเสร็จก็กลับไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเดิมอีกระยะก่อนจะมาเรียนต่อปริญญาโทในกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองใหญ่ ฉันตกใจกับความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท คนจน คนรวย และลักษณะการบริโภคสินค้าต่าง ๆ ของคนสองกลุ่มนี้

“สมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเว้ฉันเลือกเรียนสังคมวิทยาเพราะอยากเข้าใจสภาพสังคม ก่อนหน้านั้นอยากเรียนกฎหมายเพราะพ่อเป็นตำรวจ แม่ก็สอนเรื่องนี้ โตมาก็อยากรู้อะไรที่ซับซ้อนขึ้น จะไปเรียนปรัชญาในเวียดนามก็
ไม่กว้างเลยเรียนสังคมวิทยาแทน แต่หลังจากฝึกงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในเมืองไทย บวกกับประสบการณ์ช่วงเรียนมัธยมฯ ฉันตัดสินใจเลือกเรียนปริญญาโท สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะอยากมีประสบการณ์ระดับนานาชาติเรื่องการพัฒนา หลักสูตรที่จุฬาฯ เป็นหลักสูตรสามภาคการศึกษา ต้องเรียนให้จบภายใน ๑ ปี ซึ่งก็หนักพอสมควร และฉันตั้งใจจะทำเรื่องที่ดินกับการอพยพย้ายถิ่น ก่อนจะกลับไปสอนหนังสือในเวียดนาม

“ที่เวียดนามแม้ว่าเราเริ่มปฏิรูปทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๖ ในภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและ
ต่อเนื่องแต่มองให้ลึกลงไปก็จะมีปัญหาอื่นตามมา เวียดนามยังมีปัญหาการไหลของทรัพยากรมนุษย์ แรงงานที่มีทักษะส่วนมากมุ่งหางานทำและย้ายไปตั้งถิ่นฐานนอกประเทศมากกว่าที่จะกลับมาอยู่ในเวียดนาม ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญประเทศอื่นก็เข้ามาทำงานในเวียดนามมากขึ้น
“ก่อนหน้าจะมาฝึกงานในเมืองไทย ฉันรู้จักเมืองไทยแค่เป็นประเทศที่คนชอบไปเที่ยว มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เป็นประชาธิปไตย คนชอบยิ้ม แต่พอมาที่นี่ก็พบว่าไทยก็มีปัญหาในแบบของตัวเอง”
ฉันไปเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีการเลื่อนเลือกตั้งที่กระทบไปหมด (หัวเราะ) สิ่งที่ฉันไม่ชอบที่สุดคือการจราจรที่ติดขัด แต่ในแง่ของคน ฉันไม่เคยเจอปัญหาในการติดต่อกับคนไทยในเรื่องต่าง ๆ เลย

“วัยรุ่นเวียดนามที่เติบโตในยุคหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจส่วนมากได้เรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ระดับประถมฯ มัธยมฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องเล่าตามที่รัฐต้องการ
ให้รู้ แต่คนยุคหลังโชคดีที่มีอินเทอร์เน็ต เราก็รู้ว่านั่นอาจเป็นแค่ข้อมูลชุดหนึ่ง และบางเรื่องอาจไม่จริง ยังมีด้านมืดอีกหลายเรื่องซึ่งถ้าหากรู้แล้วก็คงหงุดหงิดและโกรธว่ามันมีเรื่องแบบนั้นด้วย เช่น ฉันทำเรื่องที่ดิน ฉันก็รู้ว่ามีเกษตรกรจำนวนมากสูญเสียที่ทำกิน การปฏิรูปที่ดินสมัยก่อนก็มีคนลำบากมากมาย

“องค์กรระดับภูมิภาคอย่างอาเซียน
แม้จะถูกปรามาสว่าเป็นเสือกระดาษ เอาแต่จัดประชุม ไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวนัก แต่เรายังต้องการองค์กรอย่างอาเซียนอยู่จริงๆ ประโยชน์ของอาเซียนมีมากกว่าการที่เราสามารถเดินทางไปเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาคได้สะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องขอวีซ่า

“ที่ชัดเจนคืออย่างน้อยอาเซียนช่วยให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคมีอำนาจต่อรองกับจีนได้ดีกว่าการเจรจาทวิภาคีไปทีละประเทศซึ่งแบบนั้นเราจะเสียเปรียบมาก” 
ขอขอบคุณ คุณอรรคณัฐ วันทนสมบัติ