Image

เปลี่ยน “อาวุธ” 
เป็น “งานศิลป์”
กอนซาลู มาบุนดา 
(Gonçalo Mabunda)

โลกใบใหญ่

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

กอนซาลู มาบุนดา เกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๕ - ปีเดียวกับที่โมซัมบิกบ้านเกิดของเขาได้รับเอกราชจากโปรตุเกสที่ยึดครองดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖

ไม่กี่ปีให้หลังโมซัมบิกมีสภาพไม่ต่างจากอดีตอาณานิคมอีกมากมายในยุคสงครามเย็น คือกลับกลายเป็นเวทีประลองกำลังระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ได้แก่คอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย


แนวร่วมปลดปล่อยโมซัมบิก (Mozambique Liberation Front - FRELIMO)
ขบวนการฝ่ายซ้ายที่เคลื่อนไหวผลักดันจนโมซัมบิกได้รับเอกราช ปกครองประเทศแบบเผด็จการด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว พร้อมกับปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง จึงเกิดขบวนการต่อต้าน(Mozambican National Resistance - RENAMO) ที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้ นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่กินเวลาถึง ๑๕ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๗-๑๙๙๒ ความขัดแย้งยุติลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพโดยมีกองกำลังขององค์การสหประชาชาติเข้าไปรักษาความสงบ จากนั้นโมซัมบิกก็ใช้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน

ในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เด็กชาย
กอนซาลูเติบโตขึ้นในกรุงมาปูโต (Maputo) นครหลวงของประเทศ

“ผมจับอาวุธครั้งแรกตอน ๗ ขวบ
ลุงลองเอาปืนมาให้ถือแล้วถามว่าอยากเป็นทหารไหม ความรู้สึกของผมคือมันหนักมาก แต่ก็ไม่ได้ตกใจอะไรเพราะเป็นช่วงสงครามกลางเมือง ทหารเดินเพ่นพ่านอยู่ตลอดเวลา อาวุธคือเรื่องปรกติ ผมไปเยี่ยมญาติต่างเมืองไม่ได้ หรือถ้าจะไปก็ต้องมีทหารคอยคุ้มกัน คนรู้จักของที่บ้านหลายคนก็เสียชีวิตไปในสงครามกลางเมือง” กอนซาลูเท้าความระหว่างทำงานในเวิร์กช็อปชั่วคราว ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้เขาใช้เป็นสถานที่ผลิตงานศิลปะในฐานะศิลปินรับเชิญ เพื่อจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำโมซัมบิก

กอนซาลู (ขวาสุด) กับผู้ช่วยสองคนที่มาทำงานในเมืองไทย

Image
Image
Image

Image

นิทรรศการของกอนซาลูในกรุงเทพฯ ใช้ชื่อว่า “ทำลายเขตแดนวัฒนธรรม : ปลดกับดักความคิด” (Culture breaking barriers : demining min[e]ds) จัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ถึงกลางเดือนธันวาคม ๒๕๖๑

ผลงานของเขาก็คือการนำเศษซากอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นลูกระเบิด จรวด หรือกระสุน มาสร้างชิ้นงานศิลปะที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น หุ่นยนต์ บัลลังก์ประธานาธิบดี หรือทำเป็นหน้าคน

แรงขับดันสำคัญของการผลิตงานแนวนี้ย่อมมาจากประสบการณ์วัยเด็กของศิลปิน

“ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ เมื่อสถานการณ์สงบแล้วมีการเก็บรวบรวมอาวุธที่อยู่ในมือ
พลเรือนมาทำลาย องค์กรศาสนาคริสต์ของโมซัมบิกจึงเกิดแนวคิดว่าน่าจะนำอาวุธเหล่านี้ไปทำงานสร้างสรรค์ได้เลยรวบรวมศิลปิน ๑๐ คน ให้นำเศษซากอาวุธพวกนี้มาทำงานศิลปะ  ก่อนหน้านี้ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ผมเคยเรียนรู้การทำงานศิลปะแนวนี้จาก อันเดรส โบทา (Andries Botha) ศิลปินแอฟริกาใต้ที่ให้ผมไปเป็นผู้ช่วยอยู่ ๓ เดือน ผมจึงพอมีพื้นฐานการทำงานวัสดุประเภทเหล็ก”

กอนซาลูอธิบายแนวคิดของเขาว่าเป็นการ “เปลี่ยนวัตถุอันตรายให้กลายเป็น
มิตรเพื่อสื่อสารเรื่องสันติภาพ” เขาเชื่อว่าลูกกระสุนทุกนัดที่เขานำมาทำงานศิลปะ อาจหมายถึงชีวิตของคนคนหนึ่งที่ลูกปืนนั้นพรากไป

“ผมอยู่กับสงครามกลางเมืองมานาน เวลาเอาอาวุธพวกนี้มาทำงานศิลปะผมจะรู้สึกดีมาก เพราะขึ้นชื่อว่าอาวุธเราจะกลัวมัน แต่นี่เราเปลี่ยนมันมาเป็นของ
ที่ปลอดภัย” เขาย้ำ

ผลงานของกอนซาลูได้รับการจัดแสดงทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นที่ชื่นชมของผู้นำระดับโลกจำนวนมาก เช่น บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ


ใน ค.ศ. ๒๐๑๘ เขาตอบรับคำเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุง
มาปูโต ให้มาจัดแสดงงานศิลปะในไทยโดยใช้ “วัสดุ” จากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ของไทยซึ่งทำหน้าที่เก็บกู้กับระเบิดตามแนวชายแดน กอนซาลูนำผู้ช่วยมาด้วยอีกสองคนก่อนลงมือสร้างงานนับสิบชิ้นเพื่อจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เจ้าตัวเล่าว่า “ผมใช้เวลาแค่ ๘ วัน เป็นเรื่องท้าทายมากเพราะต้องสร้างงานหลายชิ้นภายในเวลาจำกัด”

Image

งานที่จัดแสดงที่หอศิลป์ทุกชิ้นมีลักษณะเฉพาะคือทำมาจากเศษซากอาวุธ บ้างก็เป็นวิทยุสื่อสาร แบตเตอรี่ที่ผ่าครึ่งทำเป็นรูปหน้าคน ลูกปืนถูกเชื่อมเข้ากับเหล็กจนกลายเป็นเก้าอี้ผู้นำ ฯลฯ

“อย่างกรณีของเก้าอี้ ผมนึกไปถึงประธานาธิบดีที่เข้าสู่อำนาจด้วยการใช้กำลังอาวุธ ไม่ผ่านการเลือกตั้ง... จริง ๆ ชิ้นงานจะเล่าเรื่องของตัวมันเอง เราใส่ความคิดลงไปก็จะสื่อสารได้กับคนทุกชาติทุกภาษา เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ผมชอบที่หลายคนพยายามไปมองชิ้นงานใกล้ ๆ ก่อนจะอุทานว่า ว้าว ! นี่มันอาวุธนี่นา”

บางชิ้นเขาก็ทำงานร่วมกับนิสิตคณะครุศาสตร์ “ผมสร้างโครงขึ้นมาแล้วปล่อยให้เด็ก ๆ ทำไปตามใจ ซึ่งก็ออกมาเป็น ‘บังตา’ เขามองเรื่องการเติบโต ซึ่งก็สนุกดีครับ”

กอนซาลูยืนยันกับเราว่าศิลปินอย่างเขาทำงานเชื่อมร้อยกับสังคมรอบตัวตลอดเวลา

“คุณจะสื่อสารกับสังคมได้ถ้าคุณ
เล่าเรื่องราวของเขา ศิลปินไม่สามารถตัดขาดตัวเองออกจากสังคมได้ ยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน น่าอายมากที่ศิลปินบางคนหันไปสนับสนุนเผด็จการ ผมจะไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น เพราะนั่นคือเรื่องของอำนาจ เขาให้เงินคุณ แล้วคุณก็จะไม่เป็นตัวของตัวเอง ผมเชื่อว่าปัญหาใหญ่ของโลกยุคนี้คือการแสวงอำนาจและเงินตรา โลกมันซับซ้อนครับ แทนที่จะสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เขากลับสร้างระเบิด 

“แต่ที่มันซับซ้อนก็คือมีคนได้ประโยชน์จากการสร้างของแบบนั้นขึ้นมา...”