น้ำเต้า (Bottle gourd)
Oh ! seed
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ภาพประกอบ : จัน-เจ้า-ค่ะ
เห็นตรงหน้าคือเมล็ดจากผลขนาด ๖.๕ เซนติเมตร ผลหนึ่งมีไม่น้อยกว่า ๕๐ เมล็ด แต่ละเมล็ดมีขนาดเท่าเมล็ดแตงโม ผิวของเมล็ดที่เป็นสีน้ำตาลเข้มให้สัมผัสคล้ายผ้ากำมะหยี่นุ่ม ๆ
เจ้าไม้เถาล้มลุกตระกูลแตงนี้มีหลายพันธุ์ ถ้าผลกลมเกลี้ยงมีคอคอดมักเหมารวมเรียก “น้ำเต้า” แต่ถ้าเป็นผลกลมยาวจะเรียก “น้ำเต้างาช้าง” นิยมนำไปทำเครื่องดนตรี
ที่คุ้นเคยในไทยเป็น “น้ำเต้าทรงเซียน” (น้ำเต้าพื้นบ้าน) มักทำเครื่องประดับอีกชนิดคือ “น้ำเต้าขม” ผลคล้ายน้ำเต้าพื้นบ้าน แต่เนื้อ ต้น และใบมีรสขม ชนิดนี้ไม่นิยมปลูกทั่วไป จะปลูกก็เพื่อนำไปทำยาหรือปรุงเป็นอาหารสมุนไพร
ทีเด็ดของเมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด แก้อาการบวมน้ำ แก้ปวดศีรษะ บางคนนำ “น้ำมัน” ในเมล็ดไปใช้ประโยชน์เป็นยาทาศีรษะแก้อาการทางประสาทบางชนิด หรือกินช่วยทำให้อาเจียน
ชาวแอฟริกันจะใช้น้ำมันจากเมล็ดในการปรุงอาหาร บ้างก็นำเมล็ดไปตากแห้งแล้วคั่วกินเล่น
ต้นน้ำเต้ามีอายุเพียงปีเดียว ถ้าอยากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดต้องใจเย็นนิดหนึ่ง รอให้ผลแก่จนเถาแห้งคาต้นค่อยเก็บทั้งผลมาตากจนแห้งสนิท หากเขย่าแล้วมีเสียงแกรกๆ แสดงว่าแห้งพอ ค่อยใช้มีดกรีดเปลือกนำเมล็ดออกมาอย่างระวัง
ผลหน้าตาน่ารักยังนำไปเป็นเครื่องประดับได้อีก
ถิ่นที่อยู่ของน้ำเต้า
ถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนใต้แต่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของไทยที่มีดินร่วนระบายน้ำดี ชอบแดด-ฝน