คำแสด
(Annatto tree)
Oh! seed
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
สีแสบแซ่บของ “เยื่อหุ้มเมล็ด” คือส่วนที่ใช้ประโยชน์จากต้นคำแสดมากสุดชาวเผ่าในประเทศปาปัวนิวกินีใช้ทาร่างกายและใบหน้าเพื่อแสดงอัตลักษณ์
คนทั่วไปเล่นง่าย เพียงเก็บเมล็ดในผลแก่ที่ยังไม่หล่นพื้น-ไม่ขึ้นรา มาต้มหรือแช่น้ำร้อนให้เยื่อที่เปลือกละลายเป็นตะกอนบิกซิน (bixin) สีส้ม แล้วกรองเฉพาะน้ำมาแต่งสีเนย ไขมัน ไอศกรีม หรือเพิ่มความเข้มให้ไข่แดงในขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ บางคนยังใช้เป็นเครื่องสำอางแทนสีทาเล็บ ทาแก้ม หรือทาปากแทนลิปสติก
คนรุ่นใหม่รู้จักทำผงแห้งเก็บไว้ โดยนำเมล็ด ๑ กิโลกรัม หมักกับน้ำร้อน หรือต้มกับน้ำยาโซเดียมคาร์บอเนต (โซดา ซักผ้า) และเกลือแกง แช่ไว้ ๑ วัน จึงขยำเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออกและแยกเมล็ดจากน้ำหมัก นำน้ำหมักมาเคี่ยวไฟให้หนืด ผึ่งแดด ๕-๗ วัน จนแห้งเป็นผงตะกอนเรียกว่า “แอนแนตโต” (annatto) ศัพท์นี้ใช้เรียกเฉพาะสีที่สกัดได้จากเยื่อหุ้มเมล็ดคำแสด เมื่อจะใช้ย้อมเส้นใยค่อยนำผงไปละลายน้ำ สีจะติดแน่นไม่ตกง่าย ซึ่งแม้ด้าย-ผ้าที่ย้อมด้วยสีสกัดนี้จะคงทนต่อเหงื่อและการซักดีมากแต่ไม่คงทนต่อแสง จึงควรถนอมสีสันโดยตากในที่ร่ม
ผล
ออกเป็นช่อ รูปไข่-ปลายผลแหลม ขนาด ๒.๕x๔ เซนติเมตร ผลแก่มีเปลือก-ขนสีแดงสดคล้ายผลเงาะ เมื่อแก่เต็มที่จะคล้ำลงจนเป็นสีส้มอมน้ำตาลและแตกเป็นสองซีกตามร่องแนวยาวเผยให้เห็นเมล็ดจำนวนมาก
เมล็ด
เล็ก รูปสามเหลี่ยม แต่ละผลอาจมีถึง ๓๐-๕๐ เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดฉ่ำน้ำประกอบด้วยสาร “บิกซิน” สีส้มและสาร “แอนแนตโต” สีแดง สารสีธรรมชาติที่อยู่ในเมล็ดมีมากถึง ๑๓-๑๖ เปอร์เซ็นต์ น้ำมันจากเมล็ดมีรสร้อน หอม ทาแก้อัมพฤกษ์อัมพาต แก้ขัดตามข้อได้
ถิ่นที่อยู่ของคำแสด
ถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้และประเทศอเมริกากลาง ปัจจุบันกระจายทั่วโลกในแถบประเทศอบอุ่น ในไทยพบมากทางภาคเหนือตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง หรือบริเวณดินร่วนซุย สูงจากระดับทะเล ๑,๒๐๐ เมตร
"ความจริงแล้วพืชที่มียางทุกชนิดให้สีย้อมได้หมด ต้นคำแสดนี่จะมียางเยอะที่เมล็ด ช่วงมกราคมถึงมีนาคมที่คำแสดออกผลกะเหรี่ยงบ้านเราจะเก็บมาทำสีย้อมด้ายกันตั้งแต่ยังเป็นผลสีแดงเลย จะให้สีส้มสด แต่ถ้าอยากได้สีเข้มขึ้นก็รอเก็บจากผลแห้ง เมล็ด ๑ กิโลกรัม ย้อมด้ายได้ ๑๐ หัว ปรกติแค่ต้มเมล็ดในหม้อสักชั่วโมงสีก็ละลายออกมาแล้ว แต่เราจะนำเมล็ดมาตำเป็นผงก่อน ไม่ก็ช่วยบีบขยี้อีกแรงให้สีออกเยอะขึ้น มือจะติดสีจากเมล็ดคำแสดอยู่เป็นสัปดาห์กว่าจะล้างหมด เสร็จแล้วก็กรองตะกอนทิ้ง ใช้เฉพาะน้ำมาต้มไฟอ่อนๆ จุ่มด้ายที่จะย้อมลงไป ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงค่อยนำขึ้นมาซักน้ำแล้วผึ่งลมให้แห้ง เมล็ดคำแสดให้สีสวยโดยไม่ต้องผสมวัตถุดิบอื่นเลย แต่ถ้าอยากลดความสดให้ได้โทนสีที่อ่อนลงสว่างขึ้น ก็ใช้สารส้มช่วย แต่พวกเราชอบสีสดมากกว่า เอาไปทอลายผ้าจะได้โดดเด่น”
มึหน่อวา (พัชราภรณ์ ต๊ะกู่)
ประธานกลุ่มผ้าทอจอมป่า อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก