ฟื้นความเก๋า 
เจ้ายักษ์ชักภาพนิ่ง
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
Image
พลั่ก !

สิ้นเสียงบีบลูกยางลั่นชัตเตอร์บันทึกภาพคนเบื้องหน้า กล้องฟิล์มตัวเขื่องก็กลับสงบนิ่งอีกครั้งคล้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้นในสตูดิโอ

บริเวณชั้น ๒ ของบ้านไม้ที่มีระเบียงสวยประดับทางเข้าหน้าบ้าน พ้นฤดูกาลมากว่า ๖๐ ปี แต่ยังคงตั้งสง่าอยู่ในชุมชนบ้านดอนทราย ตลาดห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ในฐานะพิพิธภัณฑ์ร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์ ซึ่งครั้งปี ๒๔๙๙ เคยเปิดรับใครต่อใครที่ต้องการบันทึกภาพเป็นที่ระลึกโดยฝีมือ “ฉลอง พานิชพันธ์” เจ้าของร้าน “ฉลองศิลป์” สตูดิโอถ่ายรูปแห่งเดียวของชุมชน

ยุคนั้นชาวเมืองลองคนใดอยากถ่ายรูปต้องมาที่นี่

ยุคนี้ก็ต้องมาหากอยากรื้อฟื้นภาพประวัติศาสตร์

ชั้นล่างของบ้านไม่เพียงแสดงกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพรุ่นโบราณ ทั้งที่เจ้าของเคยใช้งานและหามาสะสม ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายวิถีชุมชนตลาดสดนี้ในยุคแรก ๆ ตั้งแต่ไม่มีเสาไฟฟ้า หลายเหตุการณ์หาชมยาก อย่างงานฌาปนกิจเจ้าอาวาส หรือครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดแพร่เมื่อปี ๒๕๐๑ กระทั่งยุคประกวดนางงามประจำจังหวัดได้รับความนิยม ภาพเหล่าสาวงามก็ได้รับการบันทึกไว้

น่ารักกว่านั้นคือรูปถ่ายเดี่ยวครึ่งตัวของชาวบ้านยุคเริ่มใช้ฟิล์มสีในสตูดิโอ ที่มาถ่ายรูปเพื่อไว้แลกกับเพื่อน เขียนข้อความที่ระลึกหลังรูป หรือติดสมุดเฟรนด์ชิป หากบวชพระก็มาถ่ายรูปอัดขยายติดฝาบ้าน บ่อยครั้งมีพ่อแม่พาลูกเล็กมานั่งเก้าอี้หวาย หรือพาผู้เฒ่ามาถ่ายรูปเตรียมไว้ใช้ในงานศพ สะท้อนความนิยม-การเปลี่ยนผ่านของชาวเมืองลองในอดีตเป็นอย่างดี
Image
Image
นั่นคือผลงานการชักเงาลูกค้าผ่านกล้องของเจ้ายักษ์ “view camera” บันทึกบนฟิล์มแผ่นขนาดใหญ่ ตัวกล้องส่วนกลางเป็นหนังสีดำพับจับจีบยืดเข้า-ออกเพื่อปรับเลื่อนหาระยะชัดของภาพ ส่วนหน้าเป็นแผงติดเลนส์ ส่วนหลังเป็นแผงกระจกรับภาพและกล่องใส่ฟิล์ม ทั้งแผงหน้าและแผงหลังของกล้องตั้งยึดกับฐานรองรับ สามารถปรับก้ม-เงย หรือเอียงซ้าย-ขวาได้ ฟิล์มแผ่นขนาดใหญ่ที่บันทึกภาพ-ล้าง-อัดเสร็จ ลูกค้าอาจมาสั่งอัดเพิ่มหรือขยายขนาดได้ในภายหลัง

ปัจจุบันจะหาร้านถ่ายรูปที่ใช้กล้องวิวว่ายากมากแล้ว ที่ยากกว่าคือร้านถ่ายรูปที่เลิกกิจการแล้วแต่ยังเก็บรักษากล้องนี้ไว้ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งานอีกครั้งเมื่อต้องการ

เจ้าของพิพิธภัณฑ์-ทายาทเจ้าของร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์กำลังสั่งทำฉากถ่ายรูปวาดด้วยมืออย่างที่สตูดิโอสมัยก่อนนิยม เมื่อเสร็จตามจำนวนที่หวังจะนำกล้องวิวมาตั้งให้นักท่องเที่ยว ชาวชุมชนซึมซับบรรยากาศร้านถ่ายรูปย้อนยุคอย่างเต็มรูปแบบ โดยนำกล้องส่วนตัว หรือโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูปเล่นได้อย่างอิสระ ก่อนที่อนาคตจะเปิดให้บริการถ่ายรูปด้วยกล้องในตำนานนี้เป็นที่ระลึก พร้อมล้าง-อัด-ส่งทางไปรษณีย์ให้เจ้าของ ปลุกบรรยากาศคึกคักในวันวานให้หวนคืนอีกครั้ง

ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์... ต้องมาดู  
Image
สมัยก่อนร้านถ่ายรูปนิยมตั้งชื่อร้านที่พ่วงด้วยคำว่า ‘ศิลป์’ หรือ ‘ฉายา’ ส่วนคำว่า ‘สตูดิโอ’ เพิ่งแพร่หลายยุคหลัง เมืองลองในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าต้องถ่ายและอัดรูปด้วยแสงธรรมชาติ ช่างภาพต้องเข้าใจกลไกทำงานของกล้อง ฟิล์ม และแสง  เวลาล้างฟิล์มจะรวบรวมให้ได้คราวละเยอะๆ ค่อยเข้าห้องมืด กรรมวิธีนี้ยังพอมีให้เห็นในชั้นเรียนถ่ายภาพซึ่งวันหนึ่งก็คงหมดไป  ทุกวันนี้เราถ่ายรูปกันง่ายแค่สัมผัสหน้าจอมือถือ เด็กรุ่นใหม่ไม่มีทางนึกออกเลยว่าภาพมีกระบวนการเกิดได้อย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปภาพถ่ายด้วยฟิล์มและฟิล์มต้นฉบับจะยิ่งกลายเป็นสมบัติประวัติศาสตร์ที่คนในอนาคตไม่เคยเห็นของจริง แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขายังหาดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้”   

โกมล พานิชพันธ์เจ้าของพิพิธภัณฑ์-ทายาทเจ้าของร้านถ่ายรูปฉลองศิลป์