จากเบญจอำมฤต
สู่ยาหมอแสง
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
ข่าวผู้ป่วยมะเร็งและญาติเข้าคิวรับยาสมุนไพรหมอแสง หรือแสงชัย แหเลิศตระกูล ที่จังหวัดปราจีนบุรี สัปดาห์ละนับหมื่นคน ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่และตัวละคร และนับวันจำนวนคนที่ไล่ล่าความหวังในการรักษาโรคมะเร็งจะมากขึ้น ๆ ด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย
รูปแบบร่วมของการใช้สมุนไพรต้านมะเร็งเหล่านี้คือใช้ก่อน แล้วมารู้ทีหลังว่าประสิทธิผลของยาเป็นอย่างไร ทั้งนี้อาจเพราะผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะระยะสุดท้ายมักสิ้นหวังกับการรักษา สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ “ความหวัง” แม้จะเป็น “ความหวังสุดท้าย” หรือ “แสงสุดท้าย”
เป็นที่น่าสังเกตว่า งานวิจัยหรือผลการศึกษาถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงจะตามมาภายหลัง บ่อยครั้งพบว่าไม่เกิดผลเชิงการรักษา และส่งผลข้างเคียงต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกาย แตกต่างจากยาสมัยใหม่ที่ศึกษาวิจัยและทดลองใช้ในมนุษย์จนรู้ประสิทธิผลและผลข้างเคียงแล้วจึงเผยแพร่หรือจำหน่าย
ทุเรียนเทศหรือทุเรียนน้ำ กลายเป็นสมุนไพรยอดฮิตเมื่อเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตว่าน้ำต้มใบทุเรียนเทศรักษาโรคมะเร็งได้ บิดาของเพื่อนผู้เขียนซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลงทุนเดินทางไปจังหวัดจันทบุรีหาซื้อต้นทุเรียนเทศมาปลูกที่บ้านเพื่อให้ลูกสาวได้ดื่มกินแบบสดจากต้น
ต่อมาบทความ “ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ ?) ...ที่นี่มีคำตอบ” โดย รศ. ดร. ภญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปว่า ข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคใบทุเรียนเทศแบบชาชงหรือน้ำต้มมีน้อยมาก ส่วนใหญ่พบว่าไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ส่วนงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่ามีฤทธิ์ดังกล่าวต้องใช้ขนาดยาปริมาณสูงเพราะสารสำคัญในพืชชนิดนี้ไม่ละลายในน้ำอุณหภูมิห้อง แต่ละลายได้บ้างในน้ำต้ม และการบริโภคน้ำต้มปริมาณมาก จะมีพิษต่อไตและมดลูก หญิงมีครรภ์จึงไม่ควรรับประทาน และยังมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย
ส่วนการบริโภคใบทุเรียนเทศแบบยาผงหรือยาทิงเจอร์ที่สกัดด้วยตัวทำละลายที่ไม่ใช่น้ำอาจรักษาโรคมะเร็งได้จริง เนื่องจากมีงานวิจัยทั้งในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตามพบสารสำคัญที่หากรับประทานปริมาณมากเป็นระยะเวลานานจะเกิดผลต่อเนื้อเยื่อสมองและไตวายได้
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยาเบญจอำมฤตหรือเบญจอำมฤตย์เป็นสมุนไพรอีกตัวหนึ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่ารักษามะเร็งตับ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หรือ ๔ ปีที่แล้ว กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยมะเร็งตับไปรับยาเบญจอำมฤตที่โรงพยาบาลยศเส บอกว่าจากการศึกษาร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยทดลองทั้งในระดับหลอดทดลองและหนูทดลอง พบว่าหนูมีภูมิต้านทานขึ้น มีประสิทธิภาพต้านทานเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับจากทั่วสารทิศไปรับยาจนเกินความสามารถในการวินิจฉัยโรคของโรงพยาบาล และเป็นที่น่าสังเกตว่ายาที่แจกเป็นยาแคปซูล ส่วนยาที่ใช้ทดลองในหนูเป็นสารสกัดจากเอทานอล
ต่อมา รศ. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัช-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความ “เบญจอำมฤต ตำรับยารักษามะเร็งตับ ?” ว่า “แม้จะมีการทดลองในหลอดทดลองว่าองค์ประกอบบางตัวในยาตำรับนี้มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่การทดลองนั้นใส่สารสกัดให้สัมผัสเซลล์มะเร็งโดยตรง ต่างจากการรับประทานซึ่งยาต้องผ่านการดูดซึม และผ่านทางกระแสเลือดไปยังตับ โดยอาจเปลี่ยนรูปหรือไม่ก็ได้ การออกฤทธิ์ของยาอาจเหมือนหรือไม่เหมือนการทดลองในหลอดทดลอง อีกประการหนึ่งคือยาตำรับนี้เป็นยาถ่ายที่ออกฤทธิ์เร็ว ดังนั้นสารที่ยับยั้งเซลล์มะเร็งอาจถูกขับถ่ายออกก่อนการดูดซึม จึงยังสรุปไม่ได้ว่ายาเบญจอำมฤตสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้” และ “การใช้ยาตำรับเดียวเป็นเวลานานจะทำให้ธาตุไฟลดลง และต่อมาอาจกระตุ้นการทำงานของตับที่รับผิดชอบต่อธาตุไฟต้องทำงานเพิ่มขึ้น อาจไม่ดีต่ออาการและโรคมะเร็งตับ”
สิ่งที่ยืนยันว่ามีการประชาสัมพันธ์สรรพคุณยาเบญจอำมฤตผ่านสาธารณะก่อนผลการศึกษาในมนุษย์จะเสร็จสิ้น คือ ข่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑ ว่า สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานีประกาศรับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งตับจำนวน ๘๑ คน เพื่อเข้าร่วมโครงการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตในผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ การศึกษาทางคลินิกระยะที่ ๒
ทั้งนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพบว่า เมื่อใดก็ตามที่เผยแพร่สรรพคุณยาต้านมะเร็งต่อสาธารณะ โดยผู้เผยแพร่เป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกใช้อ้างอิงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังเช่นเมื่อปีที่แล้วพี่ชายของผู้เขียนป่วยเป็นมะเร็งตับ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) แพทย์พื้นบ้านในระดับอำเภอจ่ายยาเบญจอำมฤต โดยสลากระบุว่ารักษาโรคมะเร็งตับ
ส่วนยาหมอแสงที่กำลังโด่งดัง มีคนไปรับยานับหมื่นราย กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๑ ว่า การวิจัยยาสมุนไพรทั้งเรื่องประสิทธิผลต่อเซลล์มะเร็งและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเสร็จสิ้นแล้ว และการทดลองในหลอดทดลองพบว่ายาดังกล่าวไม่มีผลยับยั้งเซลล์มะเร็ง ส่วนตัวหมอแสงยังยืนยันจะแจกยาต่อไป
จะเห็นได้ว่าการติดตามข้อมูลข่าวสารสมุนไพรต้านมะเร็งในโซเชียลมีเดียเป็นดาบสองคมที่ผู้รับสารต้องใช้วิจารณญาณขั้นสูง ในบทความ “ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ ?) ...ที่นี่มีคำตอบ” ให้ข้อคิดว่า แม้การใช้ตามภูมิปัญญาจะมีความปลอดภัยเพราะใช้มาหลายชั่วอายุคน สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ใช้ส่วนใดของพืช เตรียมยาอย่างไร เช่น ต้ม ชง ดอง หรือผง และใช้รักษาโรคอะไร ส่วนข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นควรไตร่ตรองว่าเป็นการศึกษาระดับใด เช่น ระดับหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง ในคน (clinical trail) หรือเป็นกรณีศึกษา (case study)
หากติดตามข้อมูลดังกล่าวตามแนวทางข้างต้นรับรองว่าจะไม่หลงทางแน่นอนค่ะ ส่วนรู้ประสิทธิผลของยาแล้วจะยังกินต่อหรือไม่นั้น ผู้เขียนถือว่าเป็นสิทธิและอำนาจการตัดสินใจของแต่ละคน
สำหรับบางคน
การมีความหวัง
ย่อมดีกว่าสิ้นหวัง