คัดสไลด์
จากบรรณาธิการ
จำได้ว่าสัก ๑๕ ปีก่อน ช่างภาพนิตยสาร สารคดี ยังใช้กล้องถ่ายรูปด้วยฟิล์มสไลด์สีกันอยู่เลย
เวลาไปถ่ายทำสารคดีพิเศษสักเรื่องหนึ่ง ต้องขนฟิล์มไปกันตั้งแต่ ๑๐-๒๐ กล่อง จนถึง ๕๐-๖๐ กล่อง ในกล่องมีกลักฟิล์มพลาสติกทรงกระบอกกลมมีฝาปิด ข้างในใส่ฟิล์มไว้หนึ่งม้วน
ฟิล์มหนึ่งม้วนปรกติถ่ายได้ ๓๖ ภาพหรือ ๓๖ เฟรม ถ้ามีเวลาและโอกาส แต่ละช็อตมักถ่ายคร่อมหลายภาพโดยเปิดรูรับแสงเผื่อภาพมืดไป-อันเดอร์ และภาพสว่างไป-โอเวอร์ ที่นิยมกันคือถ่ายอันเดอร์ไว้ ๑-๒ สตอป และถ่ายโอเวอร์ไว้อีก ๑-๒ สตอป รวมภาพจังหวะเดียวกัน อาจต้องถ่าย ๓-๕ รูป ฟิล์มม้วนหนึ่งจึงอาจถ่ายได้แค่ ๗-๘ ช็อต มากหน่อยก็ได้กว่า ๑๒ ช็อต
ที่ต้องทำแบบนี้เพราะฟิล์มสไลด์สีเมื่อล้างฟิล์มแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ ช่างภาพจึงต้องละเอียดกับทุก ๆ ชัตเตอร์
ถ้าใครได้มองเข้าไปในช่องเฟรมขนาดกว้างราว ๑ นิ้วของฟิล์มสไลด์สีที่ล้างแล้ว
จะพบว่ามันคือโลกมหัศจรรย์ เพราะไม่ว่ารายละเอียดจะเล็กแค่ไหน ใบไม้แต่ละใบบนต้นไม้ในป่าใหญ่ เกล็ดเล็ก ๆ บนปีกของผีเสื้อ แม้แต่ความหยาบละเอียดของเม็ดทรายชายหาดก็ปรากฏให้เห็นอย่างเหลือเชื่อ
ไม่นับความคมชัดและการให้สีที่สดใสเต็มอิ่มมาเรียบร้อยแบบไม่ต้องมาปรับแต่งตอนหลังเหมือนไฟล์ภาพดิจิทัลปัจจุบัน สไลด์จึงเป็นประดิษฐกรรมสุดพิเศษที่สามารถเก็บโลกใบใหญ่เอาไว้ในโลกใบจิ๋ว
การจะดูภาพสไลด์นั้นต้องส่องสไลด์กับแสงไฟ และต้องมีแว่นขยายเพื่อดูรายละเอียด
เวลาทีมงาน สารคดี จะคัดเลือกภาพสไลด์มาใช้ จะนำแถบฟิล์มสไลด์สีที่ล้างแล้วมาวางบน “ตู้ไฟ” หรือ “กล่องไฟ” ซึ่งเป็นแผ่นอะคริลิกสีขาว ข้างในกล่องติดตั้งหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ให้ความสว่างพอเหมาะพอดี ไม่สว่างหรือมืดไป และให้แสงที่ไม่ทำให้เวลาดูสไลด์สีเพี้ยน (กล่องไฟของ สารคดีนั้น ช่างภาพถึงกับประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อความมั่นใจ)
ช่างภาพจะใช้แว่นขยายยกขึ้นยกลง ส่องดูภาพบนแถบฟิล์มสไลด์ไล่ไปทีละเฟรม ภาพไหนถูกใจจะทำเครื่องหมายไว้ก่อน
เลือกไปจนครบทุกม้วนแล้วใช้กรรไกรแบบคม “กริบ” ตัดภาพที่เลือกแต่ละเฟรมใส่กรอบหรือซองพลาสติก
เรื่องตัดภาพนี่ต้องระมัดระวังสุด ๆ เพราะเผลอตัดผิดอาจเฉือนขอบภาพเสียหาย... ซึ่งเคยน้ำตาตกกันมาแล้ว
เฟรมสไลด์ที่ตัดแล้วทั้งหมดจะเอามาดูภาพรวมอีกครั้ง รูปคล้ายกันเลือกเฟรมที่ดีกว่า รูปไม่เข้าพวกคัดออก หลายครั้งที่ได้ภาพไม่ครบ ต้องกลับไปหยิบแถบฟิล์มทุก ๆ ม้วนมาดูอีกรอบ… และอาจหลายรอบเพื่อให้ได้รูปครบ
ยิ่งถ่ายมามากม้วน เป็นร้อยม้วน ยิ่งต้องมองส่องแว่นกับแสงตู้ไฟนาน นานจนปวดตาไปตาม ๆ กัน แถมตู้ไฟที่ สารคดี ตั้งบนโต๊ะที่ต้องยืนดู ก็ต้องยืนคัดสไลด์กันเป็นชั่วโมง ๆ หรือทั้งวันกว่าจะเสร็จ เลือกกันจนขาเมื่อย ต้องขอนั่งพักยกกันเป็นระยะ ๆ
ถ่ายภาพสารคดีพิเศษเรื่องหนึ่งมักถ่ายกันหลาย
ร้อยถึงหลายพันรูป หลังจากคัดแล้วอาจเหลือแค่
๑๐-๒๐ รูป คือชุดภาพที่เล่าเรื่องครบถ้วน และมีองค์ประกอบศิลปะ จังหวะ แสง สี ดีที่สุด
เราทำงานกันแบบนี้มานาน น่าจะตั้งแต่เริ่มจัดทำนิตยสาร สารคดี ๓๔ ปีก่อน จนถึงวันที่ดิจิทัลแทนที่สไลด์ทั้งหมด
และถึงแม้วันนี้จะเป็นการดูภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ การคัดภาพก็ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม... เพียงแต่ไม่ต้องยืนแล้วครับ
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
ฉบับหน้า
Next Issue
พลาสติกที่รัก (ที่ชัง)