กาลครั้งหนึ่งที่ 
“หลังกระทรวงฯ -พลับพลาไชย”
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ย้อนไปราวต้นทศวรรษ ๒๕๒๐
Image
คนที่รักการถ่ายภาพต่างรู้จัก “พลับพลาไชย” ดี ด้วยชื่อนี้หมายถึงย่าน “ศูนย์รวมอุปกรณ์ถ่ายภาพ” แบบครบวงจรของกรุงเทพฯ  ยิ่งถ้าเป็นคนรุ่นเก่ากว่านั้น เขาจะรู้ว่าหากจะซื้อกล้องนอกจากย่าน “พลับพลาไชย” ยังมีย่าน “หลังกระทรวงกลาโหม-ข้างกระทรวงมหาดไทย” เป็นตัวเลือกอีกด้วยในทศวรรษที่กล้องฟิล์มรุ่งเรืองที่สุด ไม่ว่าช่างภาพมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพต่างมาเลือกซื้ออุปกรณ์ในสองย่านนี้ เพราะมีตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

ความรับรู้นี้ดำรงอยู่มาจนถึงปลายทศวรรษ ๒๕๔๐ เมื่อกล้องดิจิทัลรุกตลาดเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว กระทบวิธีซื้อขายที่เปลี่ยนไป ไม่นานเรื่องของกล้องย่าน “หลังกระทรวงฯ-พลับพลาไชย” ก็เป็นเพียงภาพจำเลือนราง

ต่อไปนี้คือ “ความทรงจำ/คำให้การ” และ “ข้อมูลบางประการ” เกี่ยวกับ “หลังกระทรวงฯ-พลับพลาไชย” ก่อนที่ย่านขายกล้องฟิล์มจะหายไปจากหน้า “ประวัติศาสตร์สังคมของกรุงเทพฯ” ตลอดกาล
“หลังกระทรวงฯ”
ย่าน “กล้องฟิล์มมือสอง” แห่งแรก

ในที่นี้ “หลังกระทรวงฯ” หมายถึงส่วนหนึ่งของถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร ซึ่งขนานกับคลองหลอด (คลองคูเมืองเดิม) ทางด้านทิศตะวันออก เริ่มต้นจากบริเวณจุดตัดระหว่างถนนจักรเพชรกับสะพานเจริญรัชเลียบคลองหลอด (ทางด้านทิศตะวันออก) ขึ้นไปทางทิศเหนือจนจดกับถนนราชดำเนินกลางใกล้เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยตั้งชื่อตามพระนามเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสพระองค์ที่ ๗ ในรัชกาลที่ ๕

ส่วนที่เรียกว่า “หลังกระทรวงฯ” คือตั้งแต่ช่วงที่ถนนอัษฎางค์ตัดกับถนนบำรุงเมืองขึ้นมาทางทิศเหนือไปจนจดกับถนนราชดำเนินกลาง ในแถบนี้มีร้านค้าขายของเก่าเป็นห้องแถวเรียงรายตลอดแนว

คนที่เติบโตในยุค ๙๐ อย่างผม รู้จักบริเวณนี้ในฐานะ
“แหล่งขายเครื่องดนตรี” ขนาดใหญ่นอกเหนือจากย่าน
“เวิ้งนาครเขษม” ทว่าความทรงจำเกี่ยวกับเรื่อง “ย่านขายกล้อง” ดูจะเป็นเรื่องแปลกและเป็นข้อมูลใหม่ ด้วยคนรุ่นนี้จะรู้จัก “พลับพลาไชย” ดีกว่า

“ร้านขายกล้องเก่าแก่หลังกระทรวงฯ คือ ช. ศิลป์ชัย ช. ชัยดำรง  เจริญแสง  แสงเจริญพาณิชย์ จนวันนี้ก็ยังมีกล้องมือสองขายอยู่แต่เหลือน้อยมาก นอกนั้นคือกล้องวัดระดับ (ใช้ในงานก่อสร้าง)” สุนทร ธีรธรรมธาดา เจ้าของร้าน “สุนทร โฟโต้ดิจิตอล” ใกล้แยกสามยอด ซึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้วเคยทำงานเป็นลูกจ้างร้าน ช. ศิลป์ชัย มาก่อนให้เบาะแส

ความทรงจำถึงความรุ่งเรืองนี้ยังได้รับการยืนยันผ่าน พิชัย ตั้งสถิตทอง ที่ทำงานในร้าน ช. ชัยดำรง ตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๒๐ (ร้านเปิดในทศวรรษ ๒๕๑๐) ที่บอกว่า คนทั่วไปจะนึกไม่ออกว่าย่านนี้เคยมีกล้องขายมาก่อน เพราะปัจจุบันย่านหลังกระทรวงฯ มีแต่ร้านขายอุปกรณ์ดนตรี อุปกรณ์เกี่ยวกับทหารและวัสดุก่อสร้างเสียส่วนมาก โดยถ้าย้อนเวลากลับไปช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ จะพบว่าสินค้าที่บูมมากในแถบนี้ คือ พิมพ์ดีด เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ส่วนมากเป็นของมือสอง ก่อนที่จะเริ่มมี “กล้องฟิล์ม” ในฐานะ “ของหลุดจำนำ” มาวางขายในช่วงปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ “ร้านแถบนี้ช่วงแรกขายพิมพ์ดีด จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อนจะมีการนำกล้องถ่ายรูปและเครื่องดนตรีมาขายภายหลัง”
Image
“ห้างถ่ายรูปพร้อม” ปากตรอกชาเตอร์แบงก์ เดิมคือร้านถ่ายรูปของ เจ. อันโตนิโอ อยู่บนถนนเจริญกรุง ปัจจุบันตัวตึกยังอยู่ แต่กลายเป็นร้านขายเครื่องเขียน  
บรรยายภาพ : เอนก นาวิกมูล

พิชัยบอกว่าเฉพาะกล้องถ่ายรูป ร้านเหล่านี้จะมีสายสัมพันธ์กับโรงรับจำนำ หรือบ้างก็มีกิจการโรงรับจำนำของตนเองอันเป็นที่มาของ “กล้องมือสอง” โดยมีกระบวนการคือ “สมัยนั้นโรงรับจำนำจะรับจำนำกล้องฟิล์มด้วย เราไม่ได้ไปนั่งเฝ้า แต่มีการติดต่อกันว่ามีของหลุดจำนำ แล้วเราก็จะไปรับ ของจะมาจากโรงรับจำนำหลายที่ จำนวนก็ไม่แน่นอน แต่ก็มีมากพอที่จะนำมาขายในร้านได้ อย่างกรณีของ ช. ชัยดำรง เรามีกิจการโรงรับจำนำของตัวเองด้วย เจ้าของชอบกล้องก็รับมาขายจนกลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งในร้าน”

ปริมาณกล้องฟิล์มที่หลุดจากโรงรับจำนำต่อเดือนนั้นก็มีมากพอที่จะมาป้อนร้านกล้องฟิล์มมือสอง “ทั้งกรุงเทพฯ สมัยนั้นมีโรงรับจำนำเกือบ ๑๐๐ แห่ง จะมีกล้องหลุดจำนำอยู่เรื่อย ๆ แห่งละ ๕-๑๐ ตัว กล้องฟิล์มจะออกรุ่นใหม่ส่วนมากต้องใช้เวลาร่วมปี กล้องที่หลุดมาจึงจะไม่ตกรุ่นเร็วเกินไปนัก เรามีโรงรับจำนำของเราเองอยู่แล้ว เถ้าแก่ไปเลือกเองเลย เราเอามาทำความสะอาด อันไหนเสียก็ส่งซ่อมแล้วค่อยเอามาขาย

ร้านที่เริ่มหันมาขายกล้องฟิล์มในช่วงเดียวกันคือ ช. ศิลป์ชัยซึ่งถึงตอนนี้ (๒๕๖๑) ช. ศิลป์ชัย ยังเหลือกล้องฟิล์มขายในตู้โชว์แค่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ปรียนันท์ ประชาศิลป์ชัย ซึ่งเป็นภรรยาของอดีตเจ้าของร้านรุ่นที่ ๒ เล่าว่า กิจการของร้านก็ไม่ต่างกับ ช. ชัยดำรง เท่าไรนัก คือรับกล้องมือสองมาจากโรงรับจำนำ

“ในช่วงที่ขายดีมากจริง ๆ คือช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ จำได้ว่ากล้องวางโชว์อยู่ทั้งร้าน มีกล่องใส่ฟิล์มวางอยู่เป็นแพ็ก ๆ ลูกค้าของที่นี่มีหลายแบบ คนที่มีชื่อเรื่องถ่ายภาพอย่างอาจารย์จิตต์ จงมั่นคง (ศิลปินแห่งชาติ) ที่มักจะแวะเวียนมาหากล้องฟิล์มดี ๆ ไปใช้ เจ้าของรุ่นที่ ๒ คือคุณยงยุทธ เขามีคนรู้จักในวงการมากก็จะมีคนในวงการมาซื้อของบ่อย ๆ สมัยนั้นเรามีร้านกว้างสองคูหา คนงานห้าหกคน คนมาเรื่อย ๆ และของก็ขายได้”
Image
พิชัยจำได้ว่า ช. ศิลป์ชัย กับ ช. ชัยดำรง ที่เขาทำงานอยู่ “มีกล้องเยอะที่สุดแล้วในแถบนี้ สมัยที่รุ่งเรืองมาก ๆ ขายกล้องได้ตกวันละ ๑๐ ตัว ยี่ห้อที่ขายคล่อง คือ แคนนอน (Canon) นิคอน (Nikon) เพนแท็กซ์ (Pentax) คนที่ไม่ค่อยมีเงินก็มาซื้อยี่ห้อจำพวกยาชิกา (Yashica) มินอลตา (Minolta) ฟูจิกา (Fujica)  ตอนนั้นมีกล้องมือสองหลายยี่ห้อวางอยู่เต็มร้าน บางทีของไม่พอต้องสั่งจากญี่ปุ่นมา นอกนั้นก็คืออุปกรณ์การถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษอัดภาพ น้ำยาล้างฟิล์ม ฯลฯ”

ที่หลังกระทรวงฯ นี้เองที่กลายเป็นที่ “ฝึกงาน” ของเจ้าของกิจการร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพ “รุ่นที่ ๒”
“พลับพลาไชย” : 
ยุครุ่งเรืองของกล้องฟิล์ม

Image
Image
Image
ร่องรอยความรุ่งเรืองของร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ปัจจุบันหลายร้านนำกรอบรูปและสินค้าอื่น ๆ มาขายแทน
ร้านย่าน “หลังกระทรวงฯ” ที่เริ่มหันมาขายกล้องถ่ายรูปมือสองจริงจัง เป็นย่านสำคัญของคนรักกล้องไม่กี่ปี ไม่นานกิจการเดียวกันก็กลับไปบูมและเติบโตอยู่ในบริเวณ “พลับพลาไชย”

ตามคำบอกเล่าของคนเล่นกล้องหลายคน บริเวณที่เรียกว่า “พลับพลาไชย” แหล่งซื้อขายอุปกรณ์ถ่ายภาพ ในทางกายภาพไม่จำกัดแค่บริเวณใกล้แยกพลับพลาไชยที่มีร้านกล้องเต็มไปหมดเท่านั้น หากยังหมายถึงสองข้างทางของ “ถนนเจริญกรุงตอนใน/ตอนบน” ตั้งแต่แยกสามยอดไปตามถนนทางทิศตะวันออก ผ่านสี่แยกสำคัญ เช่น เอส เอ บี  เสือป่า  แปลงนาม (เชื่อมกับถนนพลับพลาไชย) ต่อเนื่องไปจนแยกหมอมีที่ตัดกับถนนพระรามที่ ๔ และถนนทรงสวัสดิ์

สองฝั่งถนนเจริญกรุงช่วงนี้ไปจนถึงรอบ ๆ แยกพลับพลาไชยจะมีร้านขายกล้องห้องแถวหลายแห่ง บางส่วนตั้งกระจายอยู่บริเวณตลาดสะพานเหล็กที่คร่อมคลองผดุงกรุงเกษม ส่วนหนึ่งอยู่บนอาคารภิรมย์พลาซ่า (ถัดจากตรงนี้คือ “ถนนเจริญกรุงตอนใต้” ที่หักลงไปทางใต้จนบรรจบกับถนนตก) และอีกส่วนหนึ่งก็อยู่ในตลาดสะพานเหล็กที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

เดิมทีพลับพลาไชยคือย่านของคนเชื้อสายจีนกวางตุ้งและแต้จิ๋วซึ่งอยู่มาตั้งแต่ยุคต้นกรุงเทพฯ ก่อนที่ต่อมาจะมีการตัดถนนเจริญกรุงในสมัยรัชกาลที่ ๔

พิชัยบอกเราว่าสมัยนั้นการที่ร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพไปชุมนุมกันบนถนนเจริญกรุงและย่านพลับพลาไชยเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป “ส่วนหนึ่งที่ไปตั้งร้านขายของแถวเจริญกรุงก็เป็นคนคุ้นเคย บางคนเคยทำงานเป็นลูกจ้างในร้านแถบนี้แล้วออกไปสร้างกิจการของตัวเองก็มี”
Image
ร้าน ช. ศิลป์ชัย ปัจจุบันมีกล้องฟิล์มเหลืออยู่จำนวนหนึ่งในตู้โชว์ แต่ไม่มีใครมาซื้อพักใหญ่แล้ว
สุนทรคือหนึ่งในกรณีที่ว่า เขาเคยทำงานในร้าน ช. ศิลป์ชัย มาก่อน ต่อมาก็ออกมาเปิดกิจการบริเวณตลาดสะพานเหล็กและสี่แยกเสือป่า “ผมทำกิจการแบบเดียวกัน รับกล้องมือสองมาจากโรงรับจำนำ ดูกล้องตัวที่สภาพดีแล้วนำมาขายต่อ  แถบเจริญกรุงยังมีร้านแบบนี้อีกหลายร้าน แยก เอส เอ บี มีสี่ร้าน ไปทางด้านทิศตะวันออกอีกหน่อยก็ร้านเจริญกรุง ร้านเวิลด์คาเมร่าสาขาแรก ไปอีกนิดจะเป็นย่านพลับพลาไชย ที่จะมีเป็นสิบร้านกระจายอยู่บริเวณนั้น”

ร้านที่มีชื่อเสียงคุ้นหูมีหลายร้าน เช่น โฟโต้ไฟล์ คาเมราคอลเลกชัน เจริญกรุง พลับพลาไชยโฟโต้ ไชยโฟโต้ซัพพลาย นอกจากนี้ยังมีผู้ขายรายย่อยที่อาศัยพื้นที่เล็ก ๆ ในตลาดสะพานเหล็ก หรือริมทางวางของขาย

อนุสรณ์ กล้าณรงค์ ซึ่งเคยทำธุรกิจขายกล้องมือสองโดยอาศัยพื้นที่ริมทางช่วงหัวค่ำที่แยกหมอมีและย่านสะพานเหล็กในปี ๒๕๒๙ เล่าให้ฟังว่า “ยุคนั้นคนมาเดินเยอะ ร้านแถวพลับพลาไชยขายกล้องฟิล์มทั้งหมด ทุกร้านนอกจากกล้องยังมีขายกระดาษอัดรูป น้ำยาล้างรูป สารพัดอุปกรณ์ เป็นยุคที่พลับพลาไชยรุ่งเรืองมากเรื่องขายอุปกรณ์การถ่ายภาพ”

ประวิทย์ ไชยะประสาธน์ผล (แซ่ฉั่ว) วัย ๗๐ ปี เจ้าของร้านพลับพลาไชยโฟโต้ ซึ่งยังคงเปิดกิจการอยู่ที่ถนนพลับพลาไชย (ไม่ไกลจากแยกแปลงนาม) มาจนถึงปัจจุบันก็มีความทรงจำเดียวกัน “พ่อกับแม่ของผมมาจากเมืองซัวเถา เป็นจีนแต้จิ๋ว มาแต่งงานกันในเมืองไทย เซ้งได้ห้องแถวตรงนี้เมื่อ ๘๐ ปีก่อนแล้วปล่อยต่อให้คนอื่นเช่าประกอบกิจการร้านถ่ายรูปชื่อลียีอี คนมาเช่าเป็นเพื่อนพี่ชายของผม พอเขาเลิกกิจการผมชอบกล้องก็รับช่วงทำต่อ”

ประวิทย์บอกว่าลูกค้าสมัยนั้นมีตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงานที่เป็นช่างภาพอาชีพ และเหตุที่แถบพลับพลาไชยเป็นตัวเลือกที่ดีก็เพราะย่านนี้เป็นย่านที่รับอุปกรณ์กล้องมาขายส่ง ของที่นี่ราคาจึงถูกกว่าที่อื่น
Image
Image
พิชัย ตั้งสถิตทอง กับ “กล้องฟิล์ม” ที่ยังเหลืออยู่ในร้าน ช. ชัยดำรง หลังกระทรวงฯ
Image
สุนทร ธีรธรรมธาดา
Image
ประวิทย์ ไชยะประสาธน์ผล
ผู้ประกอบการขายกล้องถ่ายรูปที่ย่านพลับพลาไชยเหล่านี้อาจนับเป็นผู้ประกอบการ “รุ่นที่ ๒”

ยุคที่พลับพลาไชยรุ่งเรืองที่สุดน่าจะเป็นทศวรรษ ๒๕๓๐ ไปจนถึงทศวรรษ ๒๕๔๐ ในช่วง ๒๐ ปีนี้ถือได้ว่าเป็นยุคของกล้องฟิล์มอย่างแท้จริง อีกทั้งธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้ภาพถ่ายและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ
พิมพ์ นิตยสาร ร้านถ่ายรูป อยู่ในช่วงขาขึ้นทั้งหมด  สุนทรเล่าว่าในยุคนี้พลับพลาไชยยังปรากฏ “ห้าเสือ” ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการอุปกรณ์ถ่ายภาพร่วมกันนำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศ “ผมจำได้ราง ๆ ว่ามีร้านแคปปิตอลโฟโต้ ร้านกรุงเทพอุปกรณ์ กับอีกสามร้าน คนในวงการจะรู้เลยว่าถ้าจะซื้อกล้องให้มาโซนเจริญกรุง ซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไปแยกพลับพลาไชย”

ยังไม่นับว่าพลับพลาไชยนั้นอยู่ใกล้กับย่านการค้าที่สำคัญ เช่น ย่านค้าทองคำบนถนนเยาวราช (ที่ตัดขนานทางด้านทิศใต้ของเจริญ-กรุง) ย่านค้าเครื่องดนตรีที่เวิ้งนาครเขษม ย่านขายเกมและของเล่นบริเวณสะพานเหล็ก มีร้านอาหารอร่อยกระจายอยู่โดยรอบ อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะของคนไทยเชื้อสายจีน ทำให้ในแต่ละวันมีคนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยจำนวนมากจนกลายเป็นย่านที่จอแจและการจราจรติดขัดมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
“หลังกระทรวงฯ-พลับพลาไชย”
ในวันโรยรา 

ปัจจุบัน (๒๕๖๑) ถ้าลองกลับไปที่แหล่งดั้งเดิมคือหลังกระทรวงฯ ก็ยากที่จะระบุว่าร้านไหนคือร้านขายกล้องถ่ายรูป เนื่องจากอดีตร้านขายกล้องต่างพากันย้อนกลับไปหาธุรกิจดั้งเดิม คือ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ก่อสร้างจำพวกกล้องวัดระดับ นอกนั้นก็คือร้านขายเครื่องดนตรีและอุปกรณ์สนามของทหาร

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือ ร้าน ช. ชัยดำรง ตู้โชว์สินค้าในร้านถูก “กล้องวัดระดับ” และอุปกรณ์ก่อสร้างอื่น ๆ ยึดครองพื้นที่ เหลือกล้องฟิล์มมือสองแค่สองตู้ ร้าน ช.ศิลป์ชัย เหลือกล้องฟิล์มวางโชว์ในตู้สินค้าราว ๕๐-๖๐ ตัว

ส่วนร้านแสงเจริญพาณิชย์กลายเป็นร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป กล้องฟิล์มเหลือวางอยู่ในตู้เล็ก ๆ หน้าร้านเท่านั้น

ส่วนการสำรวจถนนพลับพลาไชยช่วงที่เชื่อมต่อกับถนนเจริญกรุงทางทิศเหนือซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพตั้งอยู่มากที่สุดก็ไม่พบบรรยากาศคึกคักแบบในอดีตสภาพซบเซานี้ยังเกิดขึ้นกับร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพตลอดแนวถนนเจริญกรุงตอนใน โดยเฉพาะช่วงที่มีร้านกล้องรวมกันมาก ๆ ตั้งแต่แยกแปลงนามย้อนขึ้นไปทางทิศตะวันตกจดแยกสามยอด ตอนนี้ก็เหลือร้านที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการถ่ายภาพไม่กี่ร้าน ส่วนหนึ่งก็ปรับตัวด้วยการหันไปขายกรอบรูป และที่ยังอยู่ได้ก็คือร้านที่ขายฟิล์มและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้คนเฉพาะกลุ่มที่ยังคงเล่นกล้องฟิล์มซึ่งมีจำนวนไม่มาก

มีคำให้การจากผู้ประกอบกิจการร้านถ่ายรูปหลายเจ้าว่ากิจการซื้อขายกล้องฟิล์มและของที่เกี่ยวเนื่องนั้นเริ่มโรยราตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๒๕๔๐ เมื่อกล้องดิจิทัลเริ่มเข้าสู่ตลาด เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผลที่ตามมาคือทุก ๒ หรือ ๓ เดือนจะมีกล้องดิจิทัลรุ่นใหม่วางขาย สถานการณ์นี้ “กระทบร้านขายกล้องมือสองมาก คนเริ่มซื้อกล้องฟิล์มลดลง โรงรับจำนำเริ่มไม่รับจำนำกล้องฟิล์ม ดังนั้นของหลุดจำนำก็ลดลง ยอดขายลดลง เราคำนวณแล้วว่าไม่คุ้มที่จะเอากล้องดิจิทัลมาขายเพราะไม่นานก็ตกรุ่น ไม่คุ้มเจ้าของก็ตัดสินใจหยุด กล้องฟิล์มที่เหลือในร้านก็ขายไปเรื่อย ๆ หมดเมื่อไรก็เมื่อนั้นไม่มีการรับมาใหม่อีก แล้วก็หันไปขายอย่างอื่นแทน” พิชัยเล่าถึงการปรับตัวของร้าน ช.ชัยดำรง 
บรรยากาศร้านขายกล้องฟิล์มแห่งหนึ่งบริเวณชั้น ๕ ห้างสรรพสินค้าเมก้าพลาซ่า สะพานเหล็ก 
Image
Image
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับร้าน ช. ศิลป์ชัย เช่นกัน “ยอดขายเริ่มตกตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๔๐ ในที่สุดก็มองว่าเราไปไม่ไหว สามี (ยงยุทธ) จับสัญญาณนี้ได้ก็เลยไปนำกล้องชนิดอื่นเข้ามาขายร่วมกับกล้องฟิล์มด้วย พอปี ๒๕๔๗ ร้านขายกล้องก็เหลือคูหาเดียว อีกครึ่งหนึ่งไปขายอย่างอื่น”

ห้วงเวลาที่กล้องดิจิทัลเข้ามาตีตลาดอย่างเห็นชัดเจน กินเวลาตลอดทศวรรษ ๒๕๕๐ เจ้าของร้านขายกล้องฟิล์มหลายคนยังจำได้ว่ามีลูกค้าชาวต่างประเทศโดยเฉพาะคนญี่ปุ่นเข้ามาซื้อกล้องฟิล์มที่ราคากำลังตก โดยเฉพาะกล้องรุ่นที่ถือว่าคลาสสิกจะถูกเหมาซื้อไปเป็นจำนวนมากในฐานะของสะสม “ผมจำได้ว่ามีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มีภรรยาเป็นคนไทยพามาซื้อกล้องฟิล์มที่ร้านหลังกระทรวงฯ เพราะแถบสะพานเหล็ก พลับพลาไชย ของหมดไปเยอะ ไม่แน่ว่าเขาอาจจะโดนฟัน (โก่งราคา) มาเยอะด้วย” พิชัยย้อนรำลึก

ขณะที่ปรียนันท์บอกว่า “ที่ร้านมีฝรั่งมาซื้อกล้องหลายคน บางคนเป็นนักสะสม ลูกค้ากลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่เราเห็นบ่อยในช่วงก่อนที่ตลาดกล้องฟิล์มจะซบเซา”

ส่วนสุนทรเล่าภาพในยุคเปลี่ยนผ่านว่า “ผมจำได้ว่ากล้องฟิล์มเหลือเต็มร้านเป็นร้อยตัว ขายไม่ได้เลยแม้แต่ตัวเดียวตอนที่กล้องดิจิทัลเข้ามา อาจารย์ที่สอนนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเตือนมาว่าให้หยุดเรื่องกล้องฟิล์ม เพราะคนที่มาเรียนส่วนมากก็ซื้อกล้องดิจิทัลและจำนวนคนมาเรียนเรื่องการถ่ายภาพก็ลดจำนวนลงมากเพราะรูปถ่ายง่ายขึ้นด้วยกล้องดิจิทัล”

ในที่สุดปลายทศวรรษ ๒๕๕๐ กล้องถ่ายรูปที่วางขายในท้องตลาดส่วนมากก็เปลี่ยนเป็นกล้องดิจิทัลทั้งหมด คนไทยส่วนมากไม่ใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพอีกต่อไป

กิจการเกี่ยวเนื่องไม่ว่าร้านถ่ายรูป ร้านอัดล้างภาพ หากไม่ปรับตัว-ก็ต้องปิดกิจการ
“ร้านกล้องฟิล์ม” ที่ยังอยู่
ปัจจุบันแม้ว่ากล้องถ่ายรูปในท้องตลาดเกือบทั้งหมดจะเป็นกล้องดิจิทัล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ร้านกล้องฟิล์ม” ที่พลับพลาไชยและหลังกระทรวงฯ จะหายไปทั้งหมด

ประวิทย์ เจ้าของร้านพลับพลาไชยโฟโต้บอกว่าเขายังไม่เลิกกิจการ “ผมอายุ ๗๐ ปีแล้ว จะไปทำอย่างอื่นก็ไม่ไหว เมื่อก่อนมีลูกจ้างหลายคน ตอนหลังผมทำคนเดียวเลยยังอยู่ได้ ลูกค้าก็เปลี่ยนกลุ่ม คนที่ยังเล่นกล้องแอนะล็อกก็มาซื้อกับเรา พวกเล่นดิจิทัลก็ไปซื้อกับร้านใหญ่ ๆ ในห้าง”

นอกจากพลับพลาไชยโฟโต้ ผมพบว่าร้านในย่านเดียวกันก็ยังคงอยู่อีกหลายร้าน เพียงแต่ส่วนหนึ่งปรับตัวด้วยการนำสินค้าอื่นเช่นกรอบรูปมาขายเพื่อเลี้ยงกิจการให้อยู่รอด
Image
คนเล่นกล้องฟิล์มจำนวนหนึ่งยังคงไปเดินเลือกซื้อของที่ชั้น ๕ เมก้าพลาซ่า สะพานเหล็ก
ส่วนหนึ่งของร้านกล้องฟิล์มในย่านนี้ย้ายไปเปิดอยู่บนชั้น ๕ เมก้าพลาซ่า (เดิมคือ “เมอร์ รี่คิงส์ วังบูรพา”) จากการเดินสำรวจผมพบร้านที่มีกล้องฟิล์มขาย เช่น Antique Camera, The Eye 2, Camera Classic, The Shutter เป็นต้น  อนุสรณ์ เจ้าของร้าน Camera Classic ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับกล้องฟิล์มอย่างจริงจังจนเป็นที่ยอมรับในวงการบอกว่า ในเมก้าพลาซ่ามีร้านขายกล้องถ่ายรูปหลายร้าน แต่ร้านที่ขายกล้องฟิล์มอย่างเดียวมีอยู่หกร้าน และกลุ่มลูกค้านั้น “มีทุกวัย ทั้งคนที่ยังรักกล้องฟิล์ม นักสะสม คนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจกล้องฟิล์ม”

ร้านขายกล้องถ่ายรูปในตึกนี้ส่วนมากตั้งปะปนกับร้านขายโมเดลและของเล่นที่ส่วนหนึ่งย้ายมาจากบริเวณตลาดสะพานเหล็กที่ถูกรื้อถอนในช่วงปี ๒๕๕๘

อนุสรณ์ไม่เชื่อว่ากิจการเกี่ยวกับกล้องฟิล์มจะหายไป ถ้าไม่นับงานสื่อมวลชน หรือถ่ายภาพเพื่อความสนุกสนาน เขาเชื่อว่าคนที่ถ่ายภาพจริงจังยังเลือกกล้องฟิล์มซึ่งมีความเสี่ยงในการเก็บรักษาน้อยกว่าสื่อดิจิทัล เขาเชื่ออีกว่าอัตราการใช้กล้องฟิล์มจะเพิ่มขึ้นแม้จะไม่เท่าในอดีตก็ตาม “อนาคตเครื่องมือถ่ายภาพจะมีกล้องฟิล์ม (สำหรับคนที่ถ่ายจริงจัง) นอกนั้นคือโทรศัพท์มือถือ (ถ่ายภาพทั่วไป) และกล้องดิจิทัลในระดับมืออาชีพ”

การคาดการณ์ของอนุสรณ์จะเป็นจริงหรือไม่ เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ

ถึงตอนนี้คนเล่นกล้องรุ่นใหม่ย่อมไม่คุ้นชินกับย่าน “หลังกระทรวงฯ-พลับพลาไชย” อีกต่อไป ด้วยพวกเขาย่อมซื้อกล้องดิจิทัลจากร้านขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้า และถ้าจะหากล้อง (ไม่ว่าจะดิจิทัลหรือฟิล์ม) มือสองก็สามารถดูตามเว็บไซต์ต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต หรือติดต่อกับผู้ขายโดยตรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์

แต่จะบอกว่าร้านขายกล้องสมัยใหม่เหล่านี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ “หลังกระทรวงฯ-พลับพลาไชย” ก็ไม่ถูกนัก ด้วยเจ้าของกิจการบางรายสมัยเริ่มชีวิตการทำงาน พวกเขาล้วนเป็น “คนคุ้นหน้า” ในย่านพลับพลาไชย เคยทำงานในฐานะลูกจ้าง หรือเคยเป็นผู้จัดการในร้านขายกล้องก่อนจะแยกตัวมาเป็นผู้ประกอบการ “รุ่นที่ ๓”

ดังนั้นหากกิจการแถบ “หลังกระทรวงฯ-พลับพลาไชย” เป็น “รุ่นปู่-รุ่นพ่อ” ก็อาจเรียกได้ว่ากิจการร้านกล้องขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ในตอนนี้คือ “รุ่นเหลน” ที่ขยายกิจการออกไปทั่วประเทศตามแบบของตนเอง
“หลังกระทรวงฯ-พลับพลาไชย” จึงยังมีต่อไป เพียงแต่ใน “สถานที่” และ “ความหมาย” แบบอื่นนั่นเอง 
หนังสือประกอบการเขียน
ทวี วัดงาม. ถนนเก่าในเมืองกรุง. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, ๒๕๔๐.

เอนก นาวิกมูล. ถ่ายรูปเมืองไทยสมัยแรก. พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ : แสงแดด, ๒๕๓๕.

_________. ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย. กรุงเทพฯ :
สารคดีภาพ, ๒๕๔๘.

Byrne Bracken, G. Bangkok : A Walking Tour. Singapore : Time Editions, 2003.