Image
วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร 
แด่กล้องฟิล์ม
ด้วยรักและคิดถึง
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ณัชชามนต์ ธุระหาญ
Image
รูปเดี่ยวใบนั้นเป็นรูปขาวดำ ขนาด ๒x๓ นิ้ว ขอบกระดาษสี่ด้าน ตัดเป็นหยัก ชื่อร้านและสัญลักษณ์เป็นรอยดุนนูน ด้านหลังประทับหมึก มีวันที่-เดือน-ปี
“ผมฝังใจกับรูปนี้มาก เก็บใส่กระเป๋าสตางค์ตลอดเวลา  ตอนนั้นผมอายุ ๑ ขวบ ที่รู้เพราะผมเกิด ค.ศ. ๑๙๕๔ (ปี ๒๔๙๗) บนกระดาษพิมพ์ว่าถ่าย ค.ศ. ๑๙๕๕  รูปนี้ผมถึงรู้ว่าตอน ๑ ขวบพ่อแม่รักเรามาก ให้ผูกเนกไท แล้วเราจะยืนขากาง ๆ  อันนี้ก็คือเสน่ห์ของกล้องฟิล์ม โดยเฉพาะรูปขาวดำที่เก็บไว้ได้นาน...”
วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๕๒ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ผู้ได้รับรางวัลด้านการถ่ายภาพจากทั่วโลกมากว่า ๑,๒๐๐ รางวัล  ที่สำคัญเช่นรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม (Best of Show) การประกวดภาพถ่ายสไลด์สีนานาชาติทั่วโลก เหรียญทอง จากสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา จำนวน ๘๖ ครั้ง  ได้รับรางวัลนักถ่ายภาพอันดับ ๑ ของโลก ประเภทภาพท่องเที่ยว จากสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (photographic society of America - PSA) ถึง ๑๗ ปี  และติดอันดับช่างภาพ “Top 10” ของโลกมาโดยตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๓๐-๒๕๕๒ หวนรำลึกถึงความผูกพันกับกล้องฟิล์มที่มีมาในทุกช่วงวัย

“สิ่งที่ทำให้ติดใจกล้องฟิล์มมาตั้งแต่เด็กคือ ครูประถมฯ ผมเป็นนักถ่ายภาพที่มีชื่อเสียง ชื่อครูส่งยิ้ม แซ่ปัง เขาใช้กล้องโรลไลเฟลกซ์ (Rolleiflex) ทวินเลนส์ ของเยอรมนี ถ่ายภาพขาวดำเอามาติดบอร์ดอยู่ตรงทางเดินในโรงเรียน  เป็นภาพชีวิตในโรงเรียน รูปทางเดินลายหินแตกมีแสงแดดลอดลงมาจากต้นสน มีเส้นนำสายตาไปสู่เด็กถือกระเป๋า เราไปโรงเรียนแต่เช้าก็ไปเฝ้าดู  ฝังใจว่าทำไมรูปเหล่านี้มันสวยมาก”

ในที่สุดเขาตัดสินใจควักกระเป๋าซื้อกล้องถ่ายรูปตัวแรกเมื่ออายุ ๑๑ ขวบ เป็นกล้องอั๊กฟ่าคลิก (Agfa Click) ราคา ๙๙ บาท แถมฟิล์มขาวดำขนาด ๑๒๐ มาด้วยอีกม้วน

เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่อายุไม่มากนัก อาชีพเซลส์ขายเสื้อผ้าต่างจังหวัดทำให้มีโอกาสนั่งรถส่งของออกเดินทางไปทั่วประเทศ ได้เห็นภาพทิวทัศน์ที่งดงามของเมืองไทย
“วิ่งตั้งแต่เหนือสุดไปใต้สุด ได้เห็นทั้งภูมิทัศน์ บรรยากาศ ทัศนียภาพที่งดงาม ก็เลยอยากจะถ่ายภาพ แล้วเก็บรูปต่าง ๆ มาเป็นเจ้าของ”
Image
วรนันทน์จึงเกิดความคิดจะฝึกฝนการถ่ายภาพอย่างจริงจัง เขาจึงสมัครเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้นการถ่ายภาพ ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ย่านทุ่งมหาเมฆ เรียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์

“ตอนที่ผมเรียนกล้องฟิล์มใหม่ ๆ ครูถ่ายภาพคนแรกคืออาจารย์พูน เกษจำรัส [ต่อมาเป็นศาสตราจารย์และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) คนแรก] สอนให้ตัดฟิล์ม ตอนนั้นฟิล์มม้วน ๑๐๐ ฟุต ราคา ๔๐๐ บาท  ผมไม่มีเงินก็ไปขอกลักฟิล์มเปล่าตามร้านเอามาโหลดฟิล์ม ๑๐๐ ฟุต ใส่ลงไป ใส่ได้ ๒๐ ม้วน ตกม้วนละแค่ ๒๐ บาทเท่านั้น”

“สนามแรก ๆ ที่ผมฝึกถ่ายภาพคือสะพานสุขตา บางปู สมุทรปราการ  นกนางนวลจะมาเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ผมไปซ้อมถ่ายวันละเป็น ๑๐ ม้วนก็ไม่เสียดายเงิน”
กล้องฟิล์มเป็นนวัตกรรมสำหรับการถ่ายภาพที่เคยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  การทำงานของกล้องฟิล์มเกิดจากกลไกภายในที่ประกอบด้วยตัวกล้อง เลนส์ รูรับแสง ชัตเตอร์ ปุ่มลั่นไกชัตเตอร์ ช่องมองภาพ ปุ่มหมุนฟิล์ม และช่องใส่ฟิล์ม

การทำงานของกล้องฟิล์มคล้ายการที่ตาเรามองเห็นภาพ กล่าวคือแสงจะผ่านกระจกตามาตกกระทบจอประสาทตา รับและแปลสัญญาณแสงส่งไปแปลผลยังสมอง  ส่วนกล้องรับแสงเข้ามาทางเลนส์ ผ่านรูรับแสง ม่านชัตเตอร์ แล้วตกลงบนฟิล์ม  ฟิล์มจะทำหน้าที่เก็บแสงไว้
 นำไปแปลเป็นภาพถ่าย

พื้นที่ภายในกล้องฟิล์มเป็นเหมือนห้องมืดเล็ก ๆ ที่ป้องกันแสงสว่างจากภายนอก ป้องกันฟิล์มไม่ให้โดนแสงสว่าง นอกจากหลังกดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพ เลนส์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับแสงผ่านไปยังฟิล์ม
“ต้องมั่นใจว่ากล้องยังไม่มีฟิล์ม  ถ้าเปิดฝาหลังขณะที่ยังมีฟิล์มอยู่ฟิล์มจะเสียหาย บางคนถ่ายแล้วฟิล์มไม่เดินก็มีปัญหา ถ่ายเสร็จออกมาแทบจะเป็นลม เพราะฟิล์มไม่เดิน ไม่ได้ภาพ”
ฟิล์มแต่ละรุ่นมีค่าความไวแสงแตกต่างกัน ตั้งแต่ ISO 25 ไปถึง ISO 3200 เลข ISO น้อย ความไวแสงต่ำ ฟิล์มจะรับแสงได้ช้า  แต่ยิ่งเลข ISO มาก ความไวแสงสูง ฟิล์มจะรับแสงได้เร็ว อย่างไรก็ตามฟิล์มที่มีเลข ISO มาก รับแสงได้เร็ว จะให้ภาพที่ดู “หยาบ” กว่า เพราะฟิล์มมีเม็ดเกรนเยอะ

ในทัศนะของศิลปินแห่งชาติ สาขาภาพถ่าย วรนันทน์ย้ำว่าต้องประณีตในทุกรายละเอียด เริ่มตั้งแต่การบรรจุฟิล์มลงในกล้อง

“ต้องมั่นใจว่ากล้องยังไม่มีฟิล์ม  ถ้าเปิดฝาหลังขณะที่ยังมีฟิล์มอยู่ฟิล์มจะเสียหาย บางคนถ่ายแล้วฟิล์มไม่เดินก็มีปัญหา ถ่ายเสร็จออกมาแทบจะเป็นลม เพราะฟิล์มไม่เดิน ไม่ได้ภาพ”

เทคนิคการใส่ฟิล์มยังเป็นตัวบอกได้ว่าใครมีประสบการณ์
หรือทักษะการใส่ฟิล์มมากน้อยเพียงใด

ยกตัวอย่างการใส่ฟิล์ม ๓๕ มม. หรือที่มักเรียกกันว่าฟิล์ม ๑๓๕ ซึ่งปรกติจะถ่ายได้ ๓๖ ภาพ แต่ถ้าเสียบหัวฟิล์มเข้ากับช่องล็อกหัวฟิล์มให้หมิ่นแล้วฟิล์มล็อกติด ก็สามารถถ่ายได้มากขึ้นเป็น ๓๗-๓๘ ภาพ

อย่างไรก็ตามวรนันทน์ให้ความเห็นว่า “ผมเน้นปลอดภัยมากกว่าว่าใส่ฟิล์มเข้าแน่ ยกเว้นแค่กล้องฮัสเซิลบลัดเท่านั้น”

ฮัสเซิลบลัด (Hasselblad) เป็นกล้องฟิล์มมีเดียมฟอร์แมต (medium format) สัญชาติสวีเดน สำหรับมืออาชีพ (หรือมือสมัครเล่นชั้นนำ) ใช้ฟิล์มขนาด ๑๒๐ ถ่ายได้ ๑๒ ภาพ ตัวกล้องมีลักษณะเป็น modular คือสามารถถอดแยกชิ้นส่วนสลับไปมา หรือเพิ่มเติม accessories ได้หลากหลาย  ส่วนประกอบหลักของกล้องฮัสเซิลบลัดมีสี่ชิ้น ได้แก่ ตัวบอดี้ (body) ที่มีกระจกสะท้อนภาพ เลนส์ผลิตจากชิ้นแก้วเนื้อดี  ฟิล์มแบ็ก (film back) หรือช่องเก็บฟิล์มที่สามารถถอดแยกออกจากตัวกล้องได้ และช่องมองภาพแบบ “ระดับเอว” (waist-level) หมายความว่าช่างภาพต้องก้มมองเพื่อจัดองค์ประกอบของภาพ ไม่ได้ยกกล้องขึ้นมาแนบกับตาอย่างที่เราคุ้นเคย
Image
เขาขยายความต่อ

“ถ้าเป็นฮัสเซิลบลัด ผมจะพยายามใส่ฟิล์มให้ถ่ายได้ถึง ๑๓ ใบ เพราะส่วนมากฟิล์ม ๑๒๐ จะเหลือหางฟิล์มส่วนหัวท้าย magazine ของฮัสเซิลบลัดมีรูเปิดข้างหลังตรงกลางให้ดูตัวเลข เราจะรู้ว่าเป็นฟิล์มที่เท่าไร ถ้าเริ่มที่ ๑ ผมจะเสียดายฟิล์ม ผมจะเริ่มก่อนเลข ๑ เสมอตรงส่วนที่ยังเป็นรูปลูกศรให้ม้วนนั้นถ่ายได้ ๑๓ ใบ”

เหตุผลสำคัญที่เขาเลือกโหลดฟิล์มแบบนั้นก็เพราะฟิล์ม ๑๒๐ มีราคาแพงกว่าฟิล์ม ๑๓๕ มาก

“ฟิล์มใหญ่ เนื้อฟิล์มก็ใหญ่กว่า  รูปหนึ่งถ่ายมานี่หลายบาท” ช่างภาพมือดีเล่าอย่างออกรส

การเลือกใช้ฟิล์มเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกล้องฟิล์มที่เปิดโอกาสให้ช่างภาพได้เลือกฟิล์มที่เหมาะกับวัตถุที่จะถ่าย นอกจากฟิล์มสี ฟิล์มขาวดำ ฟิล์มสไลด์ ยังมีผู้นำฟิล์มอินฟราเรด (infrared) ที่ใช้ถ่ายภาพทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจจับรังสีความร้อนที่มองไม่เห็น มาใช้ถ่ายภาพทิวทัศน์ แล้วพบว่าให้สีสันแปลกตา เช่น ถ่ายต้นไม้ใบไม้จะออกมาเป็นสีขาวราวถูกหิมะปกคลุม หรือถ้าใช้ฟิล์มอินฟราเรดขาวดำถ่าย ใบไม้สีเขียวจะกลายเป็นสีเทา ท้องฟ้าเป็นสีดำ หรือถ้าใช้ฟิล์มสไลด์อินฟราเรด ใส่ฟิลเตอร์สีเหลืองเข้าไป ก็จะได้ใบไม้สีชมพูอมแดง

ช่างภาพมากประสบการณ์ให้รายละเอียดว่ารูปที่ถ่ายมาจากฟิล์มอินฟราเรดสามารถส่งประกวดได้อย่างไม่ผิดกติกา ทั้งประกวดภาพขาวดำ หรือในรุ่นที่ไม่จำกัดกรรมวิธี ถือเป็นวิธีสร้างสรรค์ภาพ เช่น
“เวลาถ่ายภาพช้างแล้วใช้ฟิล์มอินฟราเรดแบบขาวดำ ผิวหนังของช้างจะแสดงรายละเอียดส่วนที่มืดชัด สวยกว่าถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำธรรมดา ภาพจะแปลกออกมา ทำให้ตัว subject โดดเด่นขึ้น”
แต่การใช้ฟิล์มอินฟราเรดมีข้อควรระวังอย่างหนึ่ง คือต้องโหลดฟิล์มในที่มืดสนิทเท่านั้น

“ฟิล์มอินฟราเรดไม่ว่าจะเป็นสไลด์หรือขาวดำ ห้ามโดนแสงและความร้อนเด็ดขาด เพราะจะทำให้ฟิล์มเกิดอาการ ‘ฟ็อกแสง’ ช่างภาพต้องหัดใช้ถุงมืดโหลดฟิล์มเข้าออกจากกลักและกล้องถ่ายภาพ ถ้าไม่มีถุงมืดก็ต้องหัดโหลดตอนกลางคืน ปิดไฟในห้องให้หมด แล้วมุดเข้าไปใต้ผ้านวม นอกจากนี้ยังต้องคอยตรวจดูซีลขอบฝาหลังกล้องอย่าให้รั่ว ทุกขั้นตอนต้องระมัดระวัง พลาดแม้แต่นิดเดียวภาพจะเสีย นี่เป็นความคลาสสิก แล้วก็ตื่นเต้นมาก”

แต่อย่างที่เล่ามาตั้งแต่ต้น การเดินทางทำให้วรนันทน์สนใจการถ่ายภาพ เขาจึงหลงใหลการถ่ายภาพเชิงท่องเที่ยวมากกว่าแบบอื่น โดยมีหลักง่าย ๆ คือใช้แสงธรรมชาติ เน้นหนักไปที่การใช้ขาตั้งกล้อง และควบคุมกล้องด้วยตัวเอง

เขายกตัวอย่างภาพถ่ายพระสงฆ์สวดปาติโมกข์ในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

“วันนั้นทางวัดมีการซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง ห้ามเข้าโบสถ์ แต่ผมขออนุญาตแล้วปีนขึ้นไปบนนั่งร้านชั้น ๒ เห็นกลางภาพมีรูปหล่อพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ ด้านหลังเป็นพระประธานองค์ใหญ่ ด้านหน้าสุดเป็นพระสงฆ์หลายรูปกำลังสวดปาติโมกข์  พิธีกรรมทั้งหมดใช้เวลา ๔๐ กว่านาที เวลาขนาดนี้ผมใช้ขาตั้งกล้องค่อย ๆ ถ่ายได้”

กล้องที่เขาใช้ในวันนั้นคือกล้อง Hasselblad 500CM ฟิล์มขนาด ๑๒๐ ฟิล์มแบ็ก ๖x๖
“ผมเห็นการวางองค์ประกอบภาพเป็นลักษณะสามเหลี่ยม พออยู่มุมสูงเราก็จะเห็นศีรษะพระอสีติมหาสาวกกับพระสงฆ์พุ่งตรงไปยังพระประธาน จิตรกรรมฝาผนังทางด้านข้างยิ่งขับให้พระประธานโดดเด่น มีไฟแสงจันทร์เข้ามาทางหน้าต่าง ทั้งหมดเป็นแสงธรรมชาติ”
การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มช่างภาพต้องแม่นยำ การวัดแสง มุมกล้อง ระยะโฟกัส จะผิดพลาดไม่ได้

“ภาพที่ได้จากกล้องฟิล์มมันจะตรงไปตรงมา เป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ที่เที่ยงตรง คุณจะแก้ไขตอน develop มันก็ได้ แต่จะซับซ้อนยุ่งยาก คนถ่ายจึงต้องวางแผนให้ดี ต้องค่อย ๆ คิดทีละขั้นตอน”  

เขายกตัวอย่างรูปเมื่อครั้งเดินทางไปเที่ยวริมแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม

“ลิบ ๆ ทางโน้นคือฝั่งลาว ทางฝั่งเราเป็นหาดทรายทองศรีโคตรบูรณ์ ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่แม่น้ำโขงกำลังลดต่ำ ผมไปตอนเช้าที่หาดทรายยังไม่มีรอยเท้ามากนัก เห็นฟ้าแล้วเลือกใส่ฟิลเตอร์เลย เพราะการถ่ายต้องจบในตอนนั้น ไม่สามารถนำกลับมาแต่งภาพในคอมพิวเตอร์เหมือนปัจจุบัน ผมใช้ฟิลเตอร์มาเจนตา (magenta) ออกสีชมพูม่วง ๆ ซ้อนท้องฟ้า เพิ่มความเข้มของท้องฟ้าให้น้ำหนักข้างบนกับผิวน้ำเสมอกัน เป็นการผสมสีที่เสร็จในตัว”
Image
หลังจากกดชัตเตอร์ลงไป กระบวนการถ่ายภาพเกิดขึ้นแล้ว ทว่าช่างภาพจะยังไม่เห็นผลงานของตน แม้ช่างภาพที่ชำนาญอาจกำหนดไว้ในใจได้ว่าต้องการภาพถ่ายลักษณะเช่นไร แต่บ่อยครั้งกลับมิได้เป็นไปตามความคาดหวัง

แม้แต่ช่างภาพระดับศิลปินแห่งชาติอย่างวรนันทน์ ในอดีตก็ยังเคยเจ็บช้ำน้ำใจกับกล้องฟิล์มมาแล้ว เขาเล่าประสบการณ์ในวัยหนุ่มที่ไปถ่ายภาพประเพณีแข่งเรือยาว หน้าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา ว่าวันนั้นท้องฟ้าแจ่มใส ถ้าเขาเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สัก ๑/๑๒๕ วินาที ก็คงได้ภาพมาโดยไม่ยุ่งยากอะไร  แต่เขากลับเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อขับเน้นให้เห็นความเคลื่อนไหว

“ผมใช้ความไวชัตเตอร์อยู่ระหว่าง ๑/๔ ๑/๘ หรือ ๑/๑๕ แล้วแพนกล้องตามเรือ”

การถ่ายภาพที่แสดงความหมายของสิ่งที่เคลื่อนไหวจะได้ผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ถ่ายลั่นชัตเตอร์ได้ในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งระยะเวลาที่พอดีนั้นสั้นมาก เพียงชั่วระยะเวลาที่สมองสั่งการจนถึงขณะที่นิ้วลั่นไก

“การทำแบบนี้เสี่ยงจะได้รูปเสียมากกว่าได้  แต่ถ้าได้จะเป็นรูปที่ดีมาก”

เวลานั้นวรนันทน์ไม่ใช่มือใหม่ในวงการถ่ายภาพแล้ว เคยคว้ารางวัลระดับชาติและส่งภาพประกวดเวทีต่างประเทศมาแล้วมากมาย  แต่เมื่อเขานำฟิล์มที่ได้ทั้งหมดกลับมาล้าง กลับกลายเป็นว่าฉากการแข่งเรือยาวอันดุเดือดที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า เกือบทั้งหมดกลายเป็นภาพแม่น้ำที่ว่างเปล่า ปราศจากเรือ

“ทั้ง ๆ ที่ผมวัดแสงถูกแล้ว แต่จังหวะแพนกล้องก็ยังไม่สัมพันธ์กับเรืออยู่ดี ภาพที่ออกมาก็เลยไม่มีเรือ มีแต่น้ำ กว่าจะรู้ก็ตอนล้างฟิล์มแล้ว”
การใช้กล้องฟิล์มยังคล้ายกับการวาดภาพบนกระดาษ แต่ว่าเป็นการวาดภาพด้วยแสง  ในที่นี้แสงคือดินสอหลากสีสัน แผ่นฟิล์มคือกระดาษ กล้องเป็นคนวาดแสงนั้นลงบนฟิล์ม
Image
เมื่อภาพถูกบันทึกหรือวาดลงบนฟิล์มแล้วก็จะนำฟิล์มไปล้าง คือการนำสารเคมีมาทำปฏิกิริยากับฟิล์มให้เห็นเป็นภาพ จากนั้นจึงนำไปอัดและขยายภาพบนกระดาษ

การล้างฟิล์มคือการนำสารเคมีมาทำปฏิกิริยากับฟิล์มให้เห็นภาพ

หนังสือ ตำราถ่ายรูป ของ สนั่น ปัทมะทิน พิมพ์ครั้งที่ ๔ ปี ๒๕๐๔ เขียนบรรยายความสนุกสนานของการล้างฟิล์มไว้ว่า

“ความเพลิดเพลินและความสนุกอันเกิดจากการเล่นถ่ายรูปโดยเพียงแต่ถ่ายรูปแล้วส่งให้ร้านล้างฟิล์มและอัด หรือขยายรูปมาให้ดูนั้น เป็นเพียงความสนุกเพลิดเพลิน ส่วนหนึ่งที่ได้เห็นรูปอันเกิดจากฝีมือในการถ่ายรูปของตน ความสนุกเพลิดเพลินที่กล่าวนี้จะไม่มีมากเท่ากับได้เห็นรูปถ่ายอันเกิดจากฝีมือของตนเองทั้งหมด นับแต่ถ่าย ล้าง อัด ขยาย และแต่ง จนสำเร็จเป็นรูปถ่ายอยู่ในอัลบั้มหรือกรอบอย่างสมบูรณ์ตามที่ตนชอบ”

วรนันทน์เองก็ให้ความเห็นสอดคล้องในเรื่องนี้ว่า

“เสน่ห์ของกล้องฟิล์มนอกจากถ่ายแล้วต้องล้างเองถึงจะสนุก ล้างฟิล์มขาวดำถ้าปัจจุบันลงทุนก็ไม่น่าจะเกิน ๒,๐๐๐ บาท ซื้อถุงมืด ที่ตวงน้ำยา ผลิตภัณฑ์สำหรับผสมเป็นน้ำยาจะสำเร็จรูปหรือชงเองก็ได้  ถ้าซื้อแต่ละอย่างมาผสมเองตามสูตรต่าง ๆ จะถูกกว่าน้ำยาที่ผสมมาเสร็จแล้ว ซื้อเครื่องล้างแบบใช้แล้วก็ไม่กี่ร้อยบาท”
การล้างฟิล์มจึงเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหลายคนที่สนใจกล้องฟิล์ม แต่พร้อมกันนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างสูง เช่น ถ้าคนล้างไม่ชำนาญ ฟิล์มจะติดกันเป็นก้อน  หรือหากอุณหภูมิของน้ำและน้ำยาเคมีสูงเกินไป ความร้อนอาจทำให้เยื่อไวแสงของฟิล์มยุ่ย แตกระแหง หรือล่อนหลุดได้
และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ช่างล้างฟิล์มทุกคนจะทำได้ดี

วรนันทน์เล่าถึงประสบการณ์ส่งฟิล์มสไลด์ล้างในแล็บต่างประเทศครั้งหนึ่งว่า เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน ตอนนั้นเขาเพิ่งอายุ ๒๐ ต้น ๆ มีโอกาสเดินทางไปถ่ายภาพในสาธารณรัฐประชาชนจีน

“ผมเข้าไปถ่ายภาพภูมิทัศน์ในพื้นที่เข้าถึงยากก็เลยอยากจะดูว่าภาพที่ถ่ายมาเป็นอย่างไร ภาพเมฆหมอก ภูเขา ต้นไม้ใบไม้ ภาพคนท้องถิ่น ถ่ายออกมาจะหน้าตาเป็นอย่างไร”

สองวันสุดท้ายก่อนกลับบ้าน คณะเดินทางแวะไปฮ่องกง แล้วจู่ ๆ ความคิดหนึ่งก็แวบเข้ามา  วรนันทน์ฉุกคิดขึ้นมาว่ามาตรฐานการล้างฟิล์มสไลด์ของฮ่องกงน่าจะดีกว่าในเมืองไทย เพราะยุคนั้นขนาดฟิล์มสไลด์ที่มีขายในประเทศยังต้องนำเข้าจากฮ่องกง  ทั้ง ๆ ที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ด้วยความกระหายอยากเห็นภาพที่ถ่ายมา เขาจึงตัดสินใจส่งฟิล์มสไลด์ไปล้างในแล็บที่นั่น

ผลปรากฏว่าภาพทั้งหมดสว่างเกินไป หรือโอเวอร์ไปประมาณครึ่งสตอป

“ถ้าผมส่งร้านที่เคยล้างฟิล์มสไลด์เป็นประจำ สีของภาพจะต้องออกมาพอดีกว่านี้”

เขาบอกอย่างเสียดาย

และนั่นอาจเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของวิชากล้องฟิล์ม คือไม่อาจมีใครแน่ใจได้ว่าภาพที่ถ่ายมาจะเป็นเช่นไร

แต่แล้ววันหนึ่งโลกของการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่าศตวรรษก็ถูกท้าทายด้วยคู่แข่งใหม่ คือกล้องดิจิทัล

ในยุคแรก ๆ ของกล้องถ่ายภาพดิจิทัล ช่างภาพส่วนมากยังไม่ยอมรับ หลายคนปฏิเสธ บ้างก็ถึงกับต่อต้าน และวรนันทน์คือหนึ่งในจำนวนนั้น

“กล้องดิจิทัลเข้ามาในเมืองไทยราว ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๐ (ปี ๒๕๔๒-๒๕๔๓) ช่วงที่เข้ามาใหม่ ๆ ราคาแพง ตัวละ ๖-๗ แสนบาท เฉพาะการ์ดแผ่นเดียวขนาด ๑ กิกะไบต์ ราคาเป็นหมื่นบาท ถ้าคุณไม่ได้ทำสตูดิโอหรือเป็นสำนักงานซื้อไม่ไหว ภาพที่ได้ก็แค่ ๔-๕ ล้านพิกเซล  ไหนจะต้องซื้อคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ ต้องมีโปรแกรมจัดการ แล้วอย่างนั้นเรื่องอะไรเราจะต้องไปจ่ายแพง 

“แรก ๆ ผมก็แอนตี้ เพราะว่าราคาสูงแล้วคุณภาพสู้กล้องฟิล์มไม่ได้  เรื่องการเก็บสี โดยเฉพาะสีแดงสีเหลืองก็ทำได้ไม่ดี ใช้ฟิล์มถ่ายเก็บแล้วมันนุ่มกว่า”

แต่แล้วด้วยเหตุผลบางอย่าง เขากลับเปลี่ยนใจในที่สุด

“กล้องดิจิทัลใช้เวลา ๕ ปีเปลี่ยนความคิดคน ออกรุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่แพงมาก ราคา ๒-๓ หมื่นบาท ตอนหลังถ่ายไปถ่ายมาเจอข้อดีว่ามันไม่ต้องไปล้าง ก็เริ่มค่อย ๆ ใช้  พอเราอายุเยอะความสะดวกมันต้องมาก่อน  จะมาล้างฟิล์มแบบเมื่อก่อนไม่ไหว เพราะผมทำละเอียด คุมอุณหภูมิ คุมน้ำ ใจเย็น ๆ แต่เสียเวลามาก

“ถามว่าตอนนี้กระแสกล้องฟิล์มกลับมาไหม ? กลับมา แต่ไม่รุ่งมาก เหตุผลว่าคนยังขี้เกียจ เรื่องการล้างฟิล์มอย่างที่บอก ล้างเองแทบตาย เพราะทำละเอียด แค่ ๑๐ ม้วนก็หมดไป ๑ วัน  ถ้าถ่ายมาแล้วไปจ้างเขาล้าง คุณอย่าไปถ่ายเลยดีกว่า เพราะเขาจะล้างให้คุณไม่ดี  ไหนจะต้องมาสแกนอีก เนื้อมันเสียไปอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เราต้องยอมรับว่าโลกไปไกลมาก ไม่ดิจิทัลก็ไม่ได้
“เราเติบโตมาจากกล้องฟิล์มก็ยังรักฟิล์มอยู่ ทั้งสไลด์และขาวดำ  ตอนส่งรูปประกวดสร้างชื่อเสียงมาก็จากฟิล์มทั้งนั้น  ผมคิดว่าเขาเป็นเพื่อนที่ติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง เป็นเพื่อนที่รู้ใจ

“หลายคนถามว่าผมไม่มีลูกเหรอ ก็มีกล้องเป็นลูกไง เวลาไปไหนก็พกติดตัวไปตลอด ไม่ว่ากล้องเล็กกล้องใหญ่ รักเหมือนลูกคนหนึ่ง”
ขอขอบคุณ
คุณวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร  
คุณรชฏ วิสราญกุล  
ผศ. สุรพงษ์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์  
ผศ. ดร. ชวาล คูร์พิพัฒน์
สมนึก อิทธิศักดิ์สกุล  
สกล เกษมพันธุ์ และฝ่ายภาพนิตยสาร สารคดี 

เอกสารประกอบการเขียน
สนั่น ปัทมะทิน. ตำราถ่ายรูป พิมพ์ครั้งที่ ๔ พระนคร : ไทยวัฒนา
พานิช, ๒๕๐๔.