Image
เสน่ห์ที่ยังมีชีวิต
ของห้องภาพโบราณ
เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
จะดีแค่ไหนถ้ายุคนี้ยังมีร้านถ่ายรูปขาวดำและซีเปียอย่างที่พ่อแม่เคยถ่ายให้รุ่นเราได้สัมผัสเสน่ห์โบราณโดยไม่ต้องย้อนวันวานผ่านละครพีเรียดในไทยเหลือไม่มาก แต่ยังพบที่ ศิลป์ธรรมชาติ ร้านถ่ายรูปขนาดเล็ก ในตลาดสามชุกซึ่งยังรักษาความนิยมตกทอดสู่ทายาทรุ่นที่ ๒
ตลาดสามชุก ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้วเคยเป็นย่านการค้าและชุมชนชาวจีนที่สำคัญ จนกระทั่งการเดินทางด้วยเรือไม่เป็นที่นิยมตลาดแห่งนี้จึงซบเซา ร้านรวงทยอยปิดกิจการจนแทบร้างแต่เมื่อมีการฟื้นตลาดในรูปแบบย้อนวันวานอีกครั้งในปี ๒๕๔๗ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลเข้ามาสัมผัสบรรยากาศตลาดโบราณแห่งนี้เป็นจำนวนมาก...
อยู่มาเกือบ ๗ ทศวรรษ
ตลาดสามชุกยามสายของวันหยุด ขวักไขว่ด้วยนักท่องเที่ยวที่มุ่งมาสัมผัสกลิ่นอายย้อนยุค  ในบรรดา “ของแท้” ที่ท้าหัวใจคนหลงใหลวิถีดั้งเดิมมีร้านถ่ายรูป “ศิลป์ธรรมชาติ” ให้แวะมาเยี่ยมเยือน

ที่นี่คงเป็นไม่กี่แห่งในไทยที่ยังให้บริการลูกค้าด้วย “กล้องวิว” (view
camera)

ไม่เพียงรับถ่ายรูปด้วยฟิล์ม ล้างอัดด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมเจ้าของร้านยังยืนหยัดถ่ายรูปในสตูดิโออย่างเดียวโดย
ไม่พ่วงธุรกิจอื่น ความชัดเจนปรากฏผ่านเครื่องมือและการแต่งร้านด้วยรูปถ่ายบุคคลมีชื่อเสียงแขวนเรียงรายตั้งแต่หน้าประตูสู่ด้านในเรือนไม้สองชั้นขนาดสองคูหาซึ่งเป็นทั้งร้านและบ้านในคราวเดียว

“คุณพ่อเคยเล่าว่าเลือกตั้งร้านตรงนี้เพราะติดแม่น้ำท่าจีน สมัยก่อนใครจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หรือไปไหนต้อง
ใช้เรือ ซึ่งตลาดสามชุกเป็นจุดพักที่คนเดินทางต้องผ่าน ถือเป็นทำเลดีสำหรับย่านการค้า และที่ตั้งใกล้แม่น้ำก็สะดวกในการใช้สอยอุปโภคบริโภค”

สุรีย์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์ เจ้าของร้านศิลป์ธรรมชาติ ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ ๒
ย้อนความถึงพ่อ

นับแต่หนุ่มแต้จิ๋วข้ามทะเลจากเมืองซัวเถามาตั้งรกรากกับคู่ชีวิตสัญชาติเดียวกันที่สามชุกก็เก็บหอมรอมริบควบคู่กับศึกษาวิธีถ่ายรูปจนพร้อมลงทุนซื้อกล้องตัวแรกเพื่อเปิดกิจการร้านถ่ายรูปแห่งนี้เมื่อปี ๒๔๙๓

เวลานั้นร้านศิลป์ธรรมชาติเป็นร้านถ่ายรูปแห่งที่ ๒ ของตลาดสามชุก ก่อนที่ต่อมาจะมีเพื่อนทางธุรกิจในละแวกนี้รวมห้าร้าน สะท้อนความนิยมถ่ายรูปในสตูดิโอของชาวชุมชนยุคนั้น บ้างใช้บริการถ่ายรูปติดบัตร ส่วนหนุ่มสาวนิยมมาถ่ายเพื่อความสนุกสวยงามเป็นที่ระลึก ในราคาโหลละ ๑๒ บาท ครึ่งโหล ๘ บาท
“เสน่ห์ของรูปถ่ายขาวดำคือสีไม่เคยซีดจางลงเลยไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน”
Image
หญิงวัยกลางคนชี้ให้ดูหลักฐานที่ติดอยู่บนฝาผนัง เป็นรูปเธอเองที่พ่อถ่ายให้เมื่อ ๓๐ ปีก่อน

ท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพพัฒนาไปไกลจนร้านถ่ายรูปด้วยกล้องโบราณทยอยปิดกิจการ ที่ยังดำรงอาชีพก็เลือกจะปรับไปให้บริการด้วยกล้องดิจิทัลเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการรูปสวยสดใสในเวลาอันรวดเร็ว แต่ศิลป์ธรรมชาติยังคงให้บริการถ่ายรูปด้วยฟิล์มมาตลอดระยะเวลา ๖๘ ปี

สุรีย์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเกือบ ๗ ทศวรรษของร้านศิลป์ธรรมชาติคือนักท่องเที่ยวชื่นชอบการถ่ายภาพโบราณยิ่งเพิ่มมาก สวนทางกับวัสดุอุปกรณ์ที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ

“แก่ก็ไม่ได้แย่เสมอไป สมัยก่อตั้งเป็นยังไงตอนนี้ก็เป็นแบบนั้น เราไม่เปลี่ยนแปลง” แล้วความเชยผิดยุคก็กลายเป็นความยูนีกที่คนรุ่นใหม่ถวิลหา

รู้กันว่าหากใครต้องการภาพถ่ายสไตล์โบราณต้องมาเยือนที่นี่
คุณค่าแห่ง “ศิลป์” 
และ “ธรรมชาติ”

โป๊ะ ! โป๊ะ !

เสียงเครื่องประทับตราส่งแรงกดจากน้ำหนักมือลงกระดาษ

พลันรูปถ่ายนั้นก็ปรากฏชื่อ “ศิลป์ธรรมชาติ” เป็นรอยนูนเล็ก ๆ 

แสดงเอกลักษณ์หนึ่งของร้านถ่ายรูปสมัยก่อนที่นิยมฝากลายเซ็นบนผลงานเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการอัดภาพอันเป็นขั้นตอนสุดท้าย จากนั้นก็รอให้ลูกค้ามารับรูปตามกำหนดเวลาที่ตกลง

“เด็กรุ่นใหม่ที่มาเที่ยวตลาดสามชุกแล้วอยากเข้ามาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกมักเข้าใจว่าถ่ายเสร็จแล้วไปเดินเล่นไม่กี่ชั่วโมงก็มารับภาพได้เลย พอบอกว่าต้องรอเป็นเดือนเขาก็ไม่เข้าใจ”
Image
สิ่งที่เธอเล่าถึงขั้นตอนการถ่ายรูปในสตูดิโอดั้งเดิมได้รับการอธิบายโดยสถานการณ์จริงเมื่อมีลูกค้าเข้าร้านพอดี

ช่างภาพหญิงยื่นอัลบัมตัวอย่างให้ลูกค้าเลือกรูปแบบที่ต้องการ เมื่อตกลงเรียบร้อยจึงนำทางไปสตูดิโอถ่ายรูปที่โถงหลังบ้าน สุรีย์ช่วยไขความกระจ่างว่าการถ่ายรูปในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยแสงแดด โดยทำหลังคาแบบเปิดบนเพดานสตูดิโอให้แสงลอดผ่านได้

เธอให้อิสระลูกค้าเลือกฉากหลังเป็นภาพวาดสถานีรถไฟหัวหิน ตลาดสามชุก หรือฉากสีเดียว แล้วเลือกอุปกรณ์ประกอบฉากได้ตามใจชอบ รวมถึงมีชุดไทยหลากหลายรูปแบบให้เลือกสวมเสริมบรรยากาศย้อนยุค  สำหรับผู้หญิงนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องแต่งหน้าหรือสีสันของเสื้อผ้า เพราะไม่ว่าอย่างไรรูปก็ไม่ปรากฏสีฉูดฉาด

เมื่อลูกค้าพร้อม สุรีย์จะช่วยจัดวางท่าให้บ้างนิดหน่อยเพื่อความสง่างาม แล้วกลับมาประจำหลังกล้อง ตรวจตราความเรียบร้อยของลูกค้าอีกครั้งผ่านมุมมองภาพแบบกลับหัวของกล้องโบราณ เนื่องจากเป็นการถ่ายด้วยฟิล์ม หากพลาดแล้วคงยากที่จะกลับมาแก้ไข
“ยังมีคนอีกไม่น้อยที่หลงรักการถ่ายรูปขาวดำและซีเปีย ลูกค้าเก่าพอมีครอบครัว มีลูกหลาน ก็มักพามาถ่ายรูปอีกครั้ง  ร้านศิลป์ธรรมชาติจึงเป็นเหมือนหลักหมายสำคัญที่สตูดิโอถ่ายรูปโบราณแห่งหนึ่งยังรอคอยผู้คนที่ชื่นชอบเข้ามาเสมอ”
สุรีย์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์
เสน่ห์แห่งการรอคอย
แก้ก ! แก้ก !

สิ้นสุดเสียงชัตเตอร์หลังสุรีย์บีบลูกยางสั่งการให้กล้องทำงาน

“กล้องตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่คุณพ่อใช้มาตั้งแต่เปิดร้าน นำเข้าจากเยอรมนีในราคา ๘,๐๐๐ บาท และอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ในร้านที่ยังใช้งานอยู่ก็ตกทอดจากคุณพ่อทั้งนั้น”

น้ำเสียงภาคภูมิใจนั้นอวดไปถึงความทนทานของเครื่องมืออาชีพ

สำหรับเธอปัญหาของร้านถ่ายรูปโบราณที่พบไม่ใช่กล้อง แต่คือฟิล์มและกระดาษอัดรูปซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ นับแต่ระบบดิจิทัลเข้ามาแทนที่ บริษัทผลิตฟิล์มและกระดาษอัดรูปหลายรายก็เลิกกิจการไป ที่ยังอยู่ก็ลดอัตราการผลิตทำให้วัตถุดิบมีราคาสูง ร้านศิลป์ธรรมชาติต้องใช้วิธีกักตุนไว้
สุรีย์เสริมถึงขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและความประณีตเพื่อทำให้รูปบนฟิล์มปรากฏเป็นภาพขาวดำและซีเปียที่สวยงามคุ้มราคา ๓๕๐ บาท  เริ่มจากนำฟิล์มไปล้างในห้องมืดที่ดัดแปลงจากห้องใต้บันได ตัดหัวฟิล์มสอดที่แกนของล้อม้วนฟิล์มจนหมดแล้วบรรจุลงแท็งก์ล้างฟิล์ม เทน้ำยาสร้างภาพ (developer) แช่ให้เกิดภาพตามเวลาที่กำหนด เรื่องเวลาก็เป็นสูตรสำคัญที่เธอรับมรดกวิชามาจากพ่อ  จากนั้นจะเทน้ำยาหยุดภาพ (stop bath) และน้ำยาคงสภาพ (fixer) ลงไป ต่อด้วยนำฟิล์มไปล้างในน้ำสะอาดที่ไหลเอื่อยตลอดเวลาเพื่อชะน้ำยาบนผิวฟิล์มออก แล้วนำไปทำให้แห้งสนิทก่อนตัดฟิล์มเก็บในซองป้องกันฝุ่นละอองและรอยขีดข่วน  ฟิล์มที่ล้างแล้วเรียก “เนกาทีฟ” ให้สีขาว-ดำตามค่าของแสงและเงาที่ฟิล์มรับจากการถ่ายภาพ

กระบวนการอัดขยายภาพเริ่มจากนำฟิล์มเนกาทีฟใส่ในเครื่องอัดขยายภาพ ปรับระยะรูรับแสงที่เลนส์ จากนั้นตั้งเวลาเปิดให้แสงฉายลงกระดาษ นำกระดาษไปล้างในน้ำยาและน้ำสะอาดเช่นเดียวกับขั้นตอนล้างฟิล์ม แล้วค่อยนำกระดาษไปเข้าเครื่องทำแห้ง หรือผึ่งลมจนแห้งสนิท

ลูกค้าของร้านศิลป์ธรรมชาติจะได้รูปขาวดำและซีเปียขนาด ๓.๕x๕ นิ้ว อย่างละรูป พร้อมประทับตราชื่อร้านเป็นรอยนูน จัดส่งให้ตามชื่อและที่อยู่ที่แจ้งไว้ ใครชอบรูปใหญ่ให้ระบุขนาดล่วงหน้า มีให้เลือกตั้งแต่ ๘x๑๒ นิ้ว ๑๐x๑๒ นิ้ว ๑๒x๑๖ นิ้ว และใหญ่กว่า ๒๔ นิ้ว ราคาตั้งแต่ ๘๐๐-๒,๕๐๐ บาท  หากต้องการเก็บฟิล์มไว้ใช้ขยายหรืออัดเพิ่มจำนวนในภายหลังก็จ่ายเพิ่มอีก ๕๐ บาท
Image
การล้างอัดขยายภาพหมายถึงต้นทุนค่าใช้จ่าย ทางร้านจึงจำเป็นต้องถ่ายรูปเก็บไว้ให้ได้จำนวนฟิล์มคุ้มพอจะนำเข้าไปล้างในห้องมืดพร้อมกัน คนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้กระบวนการจึงอาจไม่เข้าใจเหตุผลที่ต้องรอนานนับเดือนกว่าจะได้เห็นรูปตน

ถึงอย่างนั้นก็มีคนจำนวนไม่น้อยยอมรอคอย

เพราะรู้ว่านี่คือเสน่ห์ของการถ่ายรูปในสตูดิโอด้วยกล้องฟิล์ม

สุรีย์เชื่อว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่หลงรักการถ่ายรูปขาวดำและซีเปีย ลูกค้าเก่าพอมีครอบครัว มีลูกหลาน ก็มักพามาถ่ายรูปอีกครั้ง ร้านศิลป์ธรรมชาติจึงเป็นเหมือนหลักหมายสำคัญที่สตูดิโอถ่ายรูปโบราณแห่งหนึ่งยังรอคอยผู้คนที่ชื่นชอบเข้ามาเสมอ

อย่างไรก็ตามเสน่ห์เหล่านี้ย่อมมีราคาที่ต้องแลก สิ่งนั้นคือเวลา

“หากวันหนึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้การไม่ได้ พัง ไม่มีอะไหล่ ซ่อมไม่ได้ ก็คงต้องเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้เห็นและศึกษาต่อไป ถือว่าร้านนี้ทำหน้าที่อย่างจบครบถ้วน” 
Image
ร้านศิลป์ธรรมชาติ
เลขที่ ๓๙๓ ซอย ๓ ตลาดสามชุก
อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ๗๒๑๓๐
โทร. ๐-๓๕๕๗-๑๐๑๙
เวลาเปิด-ปิด ๑๐.๐๐-๑๗.๐๐ น.