ศาสตราจารย์กิตติคุณ
ศักดา ศิริพันธุ์*
คุณค่าและความสำคัญ
ของพิพิธภัณฑ์กล้อง
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
*ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ
ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า
กัลยาณิวัฒนา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ ดำเนินการก่อสร้างภายในคณะวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๓๑ การก่อสร้างแล้วเสร็จกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๔ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา มีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์อุปถัมภ์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ นับเป็นพิพิธภัณฑ์กล้องแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการจัดแสดงกล้องถ่ายภาพ ภาพถ่าย อย่างเป็นการเฉพาะ
“หลังผมกลับมาจากต่างประเทศ ก่อตั้งภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีการพิมพ์ ใครมาขอความช่วยเหลือ เชิญไปเลกเชอร์ที่ไหนผมไปหมด โดยไม่คำนึงถึงสิ่งตอบแทน แล้ววันหนึ่งผมบอกว่าอยากจะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้เรียนรู้ ทุกบริษัทก็ยื่นมือสนับสนุน
“รายชื่อบุคคลที่บริจาคกล้องถ่ายรูป อาทิ คุณบัญชา ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้มอบกล้องรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ท่านเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อท่านทราบข่าวว่าจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ก็นำกล้องที่เคยมีคนซื้อมาเป็นของฝากจากเมืองนอก บางตัวยังไม่เคยใช้เลยมามอบให้ คุณชาติชาย ชุณหะวัณ จำผมได้ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ เห็นผมออกโทรทัศน์ว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์ก็โทรศัพท์มาหา บอกให้ผมไปกินข้าวที่บ้าน เสร็จแล้วพาไปดูกล้องที่ท่านเก็บไว้ บอกว่าขนไปได้ทั้งหมด ผมอายท่านก็ไม่ได้ขน แล้วท่านก็บอกให้คนขนขึ้นรถขับมาให้ที่จุฬาฯ
“ในต่างประเทศผมใช้วิธีที่เรียกว่าตกเบ็ดราว คือผมไปงานโฟโตคีนางานแสดงกล้องระดับโลกที่เมืองโคโลญ เยอรมนี ผมพิมพ์โบรชัวร์ประชาสัมพันธ์ข่าวว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์ไปใส่ไว้ตาม ‘รังนกกระจอก’ ของผู้สื่อข่าวทั่วโลก
โบรชัวร์มีพระบรม-ฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงถือกล้องดาแกร์ เมื่อข่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ มีคนจีนเชื้อสายอเมริกันคนหนึ่งชื่อคุณจอร์จ ลี (George Lee) จากแซนตาครูส แคลิฟอร์เนีย ติดต่อมาหา เล่าว่ามีกล้องอยู่ ๒๐๐ ตัว แต่เมียเขาไม่ชอบกล้อง ถ้าเขาตายเมียคงจะทิ้งทั้งหมด จึงอยากยกให้ ผมนึกว่าเขาพูดเล่น แต่เขายืนยันว่าชอบนิสัยคนไทยที่ไปเรียนหนังสืออยู่ในแคลิฟอร์เนีย บอกให้ผมจัดการเรื่องขนส่งเองนะ ผมก็ออกเงินค่าขนส่งจากบ้านเขามายังสนามบิน แล้วติดต่อบริษัทการบินไทยให้ความอนุเคราะห์ขนส่งกล้อง พอเข้าเมืองไทยก็ได้รับการยกเว้นภาษีเพราะเป็นการบริจาคของเข้าพิพิธภัณฑ์
“กล้องทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์มีนับพันตัว ไม่ได้นำออกมาจัดแสดงทั้งหมดตั้งใจให้มีการหมุนเวียนนิทรรศการ หนึ่งในนั้นเป็นกล้องถ่ายภาพของรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเคยเก็บรักษาที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ผมเห็นว่าอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความชื้นสูง ตั้งทิ้งไว้หลายปีจะมีผลทำให้เลนส์เสียหาย
วันหนึ่งมีการประชุมผมกราบทูลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา องค์อุปถัมภ์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ว่าอยากจะขอเชิญกล้องรัชกาลที่ ๗ มาแสดงที่นี่ ท่านทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทรงเข้าพระทัย ทรงให้คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วยทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญกล้องถ่ายภาพของรัชกาลที่ ๗ มาจัดแสดงและอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์
“การเก็บกล้องและดูแลรักษากล้องต้องอยู่ในสถานที่มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิต่ำกว่า ๕๐ องศาเซลเซียส ภายในห้องจัดแสดงของพิพิธ-ภัณฑ์จึงเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา
“การเก็บรักษากล้องรุ่นเก่า ๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นวิวัฒนา-การของการถ่ายภาพ ได้เห็นวิวัฒนาการความก้าวหน้าของกล้องตั้งแต่เริ่มต้นกระทั่งเจริญถึงจุดสุดยอด ถ้าไม่มีพิพิธภัณฑ์กล้องคนรุ่นหลังก็ไม่รู้ว่ากล้องเกิดมาได้ยังไง คนเราถ้าได้รู้ถึงวิวัฒนาการของกล้องหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมันก็ทำให้ความรู้ความคิดแตกฉาน ความคิดของคนมีการพัฒนา
“คนเมืองนอกไม่ใช่เก่งกว่าเรา แต่สิ่งแวดล้อมเขาดีกว่าเรา พอเขาเรียนในห้องแล้วจะมีชั่วโมงให้ไปดูของจริงในพิพิธภัณฑ์ พอดูแล้วเด็กก็สนุก อยากจะเรียนจากของจริง เกิดความสนใจ วันเสาร์อาทิตย์คุณจะเห็นคนยืนรอหน้าประตูยาวเป็นกิโลเพื่อที่จะเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ ส่วนบ้านเราไปยืนรอหน้าห้างสรรพสินค้า
“ฉะนั้นพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้วิวัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ แล้วนำความคิดนี้ไปเป็นแรงบันดาลใจให้ค้นคว้าสิ่งต่าง ๆ ต่อไปได้ พิพิธภัณฑ์กล้องเป็นสถานที่สร้างความรู้ให้กับคนทั่วไป มูลค่าด้านราคาสำคัญก็จริง แต่มูลค่าที่ทำให้เกิดความคิดริเริ่มสำคัญกว่า”
ขอขอบคุณ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี
และเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์
เจ้าของกล้อง
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ชั้น ๓ อาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ ๐๙.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. โทรศัพท์ ๐-๒๒๑๘-๕๕๘๓
นิตยสาร สารคดี : Linhof Technika และ Horseman SW612
สกล เกษมพันธุ์ : Mamiya RZ67 Pro II และ Pentax 67
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : Nikon F
ขอขอบคุณ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ศักดา ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร. ชวาล คูร์พิพัฒน์ ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ทุกท่าน