ภาพถ่ายหมู่เจ็ดคน
ผู้ใหญ่สตรีกับเด็กๆ ราวยุค ๒๕๐๐ ด้านหลังเป็นฉากรูปวาดป้อมมหากาฬ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ และโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เข้าใจว่าเป็นฉากในร้านถ่ายรูปชั่วคราวงานแหลมสน อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

ภาพจากอาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ (ซีดีเอนก ๓๖๐๖-๐๐๔-จ๕ตค๒๕๕๘)
ภาพถ่ายเก่า
เรื่อง : เอนก นาวิกมูล
ในบ้านของผมที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีภาพถ่ายให้ดูทั้งบนฝาบ้าน ในซองกระดาษ ในกล่องขนมปัง กล่องสบู่ และกล่องต่าง ๆ ภาพเหล่านี้มีส่วนทำให้ผมสนใจเรื่องภาพเก่าและเป็นประโยชน์ในการทำหนังสือสมุดภาพมาก

ภาพในกล่อง ในซองกระดาษ มักเป็นภาพทิวทัศน์ ภาพส.ค.ส. ภาพถ่ายในหมู่ญาติพี่น้อง ภาพที่โรงเรียน ส่วนภาพถ่ายที่เห็นบนฝาเรือนมักเป็นภาพปู่ย่าตายาย ภาพญาติมิตรที่ส่งให้แก่กันเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึง มันเคยเป็นของใหม่เมื่อครั้งกระโน้น  แต่พอถึงรุ่นผม มันกลับเป็นภาพเก่าที่คลาสสิกจำติดตา
พ่อสอนให้ผมเขียนและอ่านหนังสือก่อนไปโรงเรียนโดยอาศัยกระดานชนวน เขียน ก ข ค ง เป็นที่ฝึกมือก่อนแล้วจึงเขียนลงสมุด  ในบ้านของผมมีหนังสือมากมายเพราะเป็นร้านขายแบบเรียน ผมชอบหยิบหนังสือ “ความรู้ทั่วไป” เล่มหนา ๆ ที่คนเคยนิยมซื้อไว้ติดบ้านมาอ่าน  นำหนังสือ สิ่งปลาดมหัศจรรย์ (สิ่งประหลาดมหัศจรรย์) โดย ไสวย นิยมจันทร์ มาดู เพราะชอบภาพที่ไสวยรวบรวม  ผมชอบเขียนบันทึกและตัดรูปจากแบบเรียนมาทำสมุดภาพ

ในตู้ทรงสูงหรือตู้ทรงตึก มีของที่ระลึก ของเล่น นาฬิกามีเสียงเพลง และกล้องบอกซ์ยี่ห้อโกดัก รุ่น ๒๔๙๗ ของพ่อโชว์อยู่

กล้องบอกซ์สีดำตัวดังกล่าวทำให้ผมอยากรู้ว่ามันทำงานอย่างไร  เมื่อข้ามทะเลสาบไปเรียนในตัวเมืองที่สงขลา ครูสอนโสตทัศนศึกษาถามว่าใครมีกล้องบ้าง ครูจะสอนวิธีถ่ายรูปให้ ผมก็นำกล้องตัวนั้นไปให้ครูบอกวิธีถ่าย ที่สุดผมก็ได้ใช้กล้องตัวนั้นถ่ายรูปบ้านเกิดตั้งแต่ปี ๒๕๑๑
Image
ภาพขาวดำระบายสีด้วยมือ 
ขุนนิตินาถทะเบียนสรรพ์ (มานิต สุวัตถี) อดีตผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน ถ่ายเมื่อเป็นเด็ก ราวยุค ๒๔๕๐ บนการ์ดปิดภาพ พิมพ์ชื่อช่างถ่ายรูปว่า “เอี้ยมฮวง ช่างถ่ายรูป ถนนพาหุรัตน์ กรุงเทพฯ”  ขุนนิตินาถฯ เดิมชื่ิอช่วง เกิดที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๔๓ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๑๕ 

คุณปรียา สุวัตถี บุตรสาว มอบให้บ้านพิพิธภัณฑ์ (ANP-0009-361)
เมื่อปี ๒๕๓๖ คุณธีรพจน์ จรูญศรี ประธานจัดงานชุมนุมศิษย์เก่าโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ขอให้ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือที่ระลึก ผมบอกว่าเรามีหนังสือรวมข้อเขียนกันมามากแล้ว ขอทำหนังสือสมุดภาพบ้าง  
ผมขอให้ลูกน้องของประธานที่อยู่ทางสงขลาไปขอรูปจากร้านถ่ายรูปฉายาสงขลา ซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปเก่าแก่มาลง แล้ว

ผมก็โทรศัพท์ไปสัมภาษณ์คุณป้าเจ้าของร้านมาลง  หนังสือเล่มนั้นมีภาพ “ป๋าเปรม” (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) สมัยเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ยุค ๒๔๗๐ พร้อมภาพเก่าต่าง ๆ มากมาย

ผมทำสมุดภาพสงขลาให้งานประจำปีมาราว ๑๐ เล่ม โดยระยะหลังมีอาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ รุ่นน้องที่ชอบสะสมภาพเก่า เป็นกำลังสำคัญ ทำให้สามารถ
รวมภาพสงขลาได้หลายพันภาพ
Image
ครูเคล้า คชาฉัตร 
ซึ่งเคยสอนพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ ในยุค ๒๔๗๐ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พลเอกเปรมซึ่งเข้าเรียน ป. ๑ ตั้งแต่ปี ๒๔๖๙ จนจบ ม. ๘ เมื่อปี ๒๔๗๘ มีความประทับใจครูคนนี้มาก เพราะเป็นครูที่สอนหนังสือสนุก เล่นละครเก่ง ทำอะไรก็น่าดู เด็ก ๆ ชอบเรียนหนังสือกับครูเคล้า และชอบเดินตามครูเคล้าเพื่อฟังนิทานกันอย่างสนุกสนาน หลังภาพมีลายมือเขียนด้วยดินสอสีสีม่วงว่า “เมื่อครูเคล้าถูกถ่ายรูปเป็นครั้งแรก เอ้าจะถ่ายก็ถ่าย ถ่ายรูปซี เอาท่าไหนล่ะนายช่าง ท่านี้เป็นงาย แล้วทำไมครูจึงทำนิ้วมือยังงี้ยังงั้นเล่า”

ภาพจากอาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ภาพของครูเคล้าเป็นภาพหายาก เพราะท่านไม่ค่อยถ่ายรูป (ซีดีเอนก ๓๖๐๖-๐๒๐-จ๕ตค๒๕๕๘-จรัส)
Image
คณะสงฆ์ออกธุดงค์
พร้อมผู้ติดตาม ยุคใกล้ ๒๔๖๐ 
ไม่ทราบรายละเอียด 

ภาพจากพิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก
วิชาถ่ายภาพเดินทางมาถึงเมืองไทยเมื่อราวปี ๒๓๘๘ หรือเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ (๑๗๓ ปีมาแล้วนับจากปี ๒๕๖๑) พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา  ๒๓๙๗-๒๔๔๗ อายุ ๕๐ ปี) น่าจะเป็นช่างถ่ายรูปต่างจังหวัดคนแรก ๆ เพราะผลงานของท่านมีเก่าไปถึงยุค ๒๔๓๐ เก่ากว่าจังหวัดอื่น ๆ

การถ่ายรูปยุครัชกาลที่ ๓ ต้องถ่ายบนแผ่นโลหะ ต่อมาเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ (ครองราชย์ปี ๒๓๙๔-๒๔๑๑) จึงถ่ายด้วยกระจกอาบน้ำยา  และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ (ครองราชย์ปี ๒๔๑๑-๒๔๕๓) จึงเริ่มใช้ฟิล์มเมื่อปลาย ๆ รัชกาล แต่การถ่ายรูปด้วยกระจกยังคงมีควบคู่กับฟิล์มเรื่อยมา จนถึงยุค ๒๔๙๐ หรือต้นรัชกาลที่ ๙ 
Image
ภาพถ่ายหมู่ห้าคน
ราวยุค ๒๔๖๐ ไม่ทราบรายละเอียด ด้านหลังเป็นฉากถ้ำ เขียนรูปต้นไม้และภูเขา  ภาพจากพิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติจังหวัดตาก ซึ่งทั้งนายกเทศมนตรีและคณะช่วยกันรวบรวมและลงมือจัดของกันเองด้วยความตั้งอกตั้งใจ 

(ซีดีเอนก ๔๒๐๗-๐๑๓-อัง๑๑กค๒๕๖๐-ตาก-๑)
ภาพถ่ายที่กระจัดกระจายอยู่ในบ้านเรือนผู้คนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นสิ่งน่าสนใจเพราะเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์  ภาพเหล่านี้ นอกเหนือจากที่เจ้าภาพนำไปตีพิมพ์ในหนังสืองานศพแล้ว ส่วนที่เหลือก็เก็บอยู่ในบ้าน และอาจถูกโยนทิ้งทำลายเมื่อลูกหลานไม่เห็นคุณค่า

หากโชคยังดีอาจมีรถซาเล้งไปเก็บมาขายและนักสะสมซื้อไปเก็บในคลังส่วนตัว หากไม่มีการนำภาพมาตีพิมพ์หรือเปิดเผยในอินเทอร์เน็ต ภาพเหล่านั้นก็เหมือนซากอดีตที่อยู่ในพีระมิด  

การทำสมุดภาพ การก๊อบปี้ภาพเพื่อสำรองข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องทำงานแข่งกับเวลา

Image
ขบวนแห่นาค
ชาวกำแพงดินรังนก อำเภอสามง่าม 
จังหวัดพิจิตร ถ่ายราวยุค ๒๕๑๐ 

ภาพจากพระครูศรีปริยัติวิฑูรย์  
เจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน  
(ซีดีเอนก ๔๑๔๙-๐๐๖-พุธ๑๙เมษา๒๕๖๐)
Image
ช่างซอจากเชียงใหม่ 
(หมายถึงนักร้องและนักดนตรี) ถ่ายกับนายชัย บำรุงตระกูล (ซ้ายสุดแถวหลัง) ราวยุค ๒๔๗๐  นายชัย เดิมชื่อซุ่นใช้ เกิดปี ๒๔๒๓ ถึงแก่กรรมปี ๒๔๙๗ อายุ ๗๔ ปี เป็นเจ้าของห้างรัตนมาลา ห้างสรรพสินค้าและห้างบันทึกเสียงชั้นนำของกรุงเทพฯ นายชัยได้เชิญนักร้อง นักดนตรีมาบันทึกเสียง (แผ่นเสียงตราหมา) ไว้มากมาย  

ภาพจากคุณสุทธิพงศ์ บำรุงตระกูล 
(ANP-0021-498)
ร้านถ่ายรูป
และร้านทำฟันนายมั่น

หรือเต๊กหมัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่  

ภาพจากคุณมงคลรัตน์ โอจรัสพร นักสะสม 
(ซีดีเอนก ๑๘๕-๑๔๐)
ในช่วงหลัง ๆ  ผมกับคนรักหนังสือคือคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ สำนักพิมพ์ต้นฉบับ ได้พยายามทำโครงการสมุดภาพจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี คหบดี เจ้าอาวาส และชาวบ้านชาวเมือง  

หลักการทำงานคือ เมื่อจดคำบรรยาย จดชื่อเจ้าของภาพ และก๊อบปี้ภาพแล้วก็ส่งคืนเจ้าของในทันที  เมื่อนำไปตีพิมพ์ก็ได้ให้เครดิตเจ้าของภาพทุกภาพ และส่งมอบหนังสือให้แก่ผู้อนุเคราะห์ทุกท่าน

ปัจจุบันมีผู้สนใจสะสมภาพถ่ายเก่ากันมาก หลายคนมีภาพดี ๆ ในคลัง ทั้งภาพที่พบในเมืองไทยและซื้อ หรือประมูลจากต่างประเทศ 

ประเทศนี้มั่งคั่งพอที่จะพิมพ์สมุดภาพให้มากขึ้นได้แล้ว
ถนนเจริญกรุง
เห็นเจ๊กลากรถ คนขี่จักรยาน รถรางไฟฟ้า ตึกแถวแบบจีน ป้ายหยุดรถรางรูปสามเหลี่ยมบนเสาไฟฟ้าและป้ายร้านขายเพชรพลอย Indian Chinese มุมขวาบน

ภาพจากอัลบัมนายเอก วีสกุล นักหนังสือพิมพ์ยุคเก่า ด้วยความเอื้อเฟื้อของอาจารย์บุญวัฒน์ วีสกุล บุตรชาย (เคยสอนเอนกที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) (SLA-2423-003)
Image
สะพานไม้แผ่นเดียวข้ามคลองระโนด
อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  เอนก นาวิกมูล ถ่ายด้วยกล้องตัวแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๑๑  สะพานดังกล่าวทำด้วยไม้เคี่ยม ถือเป็นสะพานตำนาน เพราะคนข้ามต้องเดินให้ได้จังหวะการเด้งของสะพาน  หากเดินไม่เป็นก็ตกน้ำ ขายหน้าคนทั้งตลาด ผู้เขียนเคยเดินข้ามสะพานนี้แค่ครั้งเดียวเมื่อตอนเป็นเด็ก รู้สึกหวาดเสียวมากจนแทบคลาน เหตุที่ทำแผ่นเดียวก็เพื่อให้ยกได้สะดวกเวลาเรือที่มีหลังคาสูงแล่นผ่าน ภายหลังมีการเพิ่มไม้สะพานและทำถาวรขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสะพานคอนกรีตที่รถปิกอัปก็แล่นข้ามได้ในปัจจุบัน 

(BBW-0002-007-อา๒๕สค๒๕๑๑)