Image
ร่องรอย “โยเดีย”
ที่บ้านสุขะ
โลกใบใหญ่
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
“อีไม่ดี” “อำดี” “กิน” “ขนม” ไม่น้อยกว่าสามชั่วคนมาแล้วที่ชุดคำนี้คือรหัสลับ ณ หมู่บ้านสุขะ (Suga village) ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า
บ้านสุขะมีประชากรราว ๒๐๐ ครัวเรือน ในฤดูน้ำหลากแม่น้ำอิรวดีจะเอ่อท่วมจนทั้งหมู่บ้านกลายเป็นเกาะกลางน้ำ จนเข้าถึงได้ด้วยเรือเท่านั้น

อูซอวิน (U Saw Win) ผู้ใหญ่บ้านบอกเราว่า “คำพวกนี้เราไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เราใช้กันเพื่อตรวจสอบว่าเป็นคนดั้งเดิมของที่นี่หรือไม่”

เขายังบอกด้วยว่า คนที่นี่ยังมีค่านิยมเรื่องการไม่แต่งงานกับคนต่างถิ่นเพื่อรักษารหัสลับของหมู่บ้านไว้ไม่ให้รั่วไหล และแม้ว่าช่วงหลังจะมีคนไทยมาเที่ยวที่นี่อยู่บ้าง แต่ความรับรู้เกี่ยวกับคนไทยของพวกเขายังคงมีน้อย ที่สำคัญพวกเขาไม่เรียกตัวเองว่าคนโยเดีย เพราะ “คนโยเดียตอนนี้เราหมายถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยมากกว่า”

แต่สำหรับคน “โยเดีย” (คนไทย) ที่มาเยือน รหัสลับเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญของ “ภาษาไทย”
นักประวัติศาสตร์หลายคนที่เคยมาเยือนสันนิษฐานว่าหมู่บ้านนี้น่าจะมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับชาวโยเดียที่ถูกกวาดต้อนมาเพราะสงครามในอดีตและมีความเป็นไปได้มากว่าจะเป็นสงครามปี ๒๓๑๐ หรือสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ซึ่งทั้งหลักฐานฝ่ายไทยและหลักฐานของพม่าระบุว่ามีการกวาดต้อนเชลยศึกจำนวนมากกลับมายังลุ่มแม่น้ำอิรวดีเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่อาณาจักรด้วยการบังคับอพยพประชากรจากที่อื่นเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ในยุคราชวงศ์คองบองอันเป็นราชวงศ์
สุดท้ายของพม่านั้นมีการย้ายเมืองหลวงถึงสี่ครั้ง ได้แก่ รัตนสิงห์ อังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ ซึ่งทุกครั้งที่มีการสร้างราชธานีใหม่ก็ย่อมต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้คนติดตามไปด้วย และหมู่บ้านแห่งนี้ก็อยู่ไม่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ ราชธานีสุดท้ายของพม่าในสมัยที่ยังมีระบอบกษัตริย์

อูจีโก (U Gyi Co) คนนำทางชาวพม่าที่เป็นผู้ค้นพบสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผู้คนของหมู่บ้านนี้กับ “โยเดีย” เล่าว่าในบันทึกของบางครอบครัวกล่าวถึงบรรพบุรุษที่เป็นช่างดอกไม้ไฟ ผลิตพลุให้แก่ราชวงศ์คองบอง คนในหมู่บ้านนี้ถือว่าตนเองเป็นคนรุ่นที่ ๑๑ นับจากต้นตระกูลที่พวกเขาเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากคนอยุธยา
“ศาลพระภูมิ” จุดเด่นของ “บ้านสุขะ” ที่ต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ ในพม่า
นอกจากภาษาแล้วยังพบเห็นหลักฐานอีกหลายอย่างที่อาจเป็นร่องรอยของชาว “โยเดีย” เช่น การปลูกเรือนใต้ถุนสูงสิ่งปลูกสร้างที่มีหน้าตาคล้ายศาลพระภูมิใกล้ศาลากลางบ้าน คติการนับถือพระราม พระลักษมณ์ และฤๅษี  การก่อเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ที่ไม่พบในหมู่บ้านคนพม่าทั่วไป  และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเล่าเก่าแก่ที่พระสงฆ์ในมัณฑะเลย์รูปหนึ่งบันทึกว่าเคยมีกษัตริย์อยุธยาที่อยู่ในเพศบรรพชิตเสด็จฯ มาและชักชวนคนในหมู่บ้านนี้ไปรับเสด็จ

ยังไม่นับว่ายังมีขนมอีกหลายประเภท
ที่ชาวบ้านช่วยกันทำไว้ต้อนรับผู้มาเยือนจากเมืองไทย ซึ่งมีหน้าตาคล้ายขนมไทย

ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงหรือเรื่องราวที่มาของหมู่บ้านสุขะยังต้องการการค้นคว้าเพิ่มเติมอีกมาก ไม่ว่าจะโดยนักภาษาศาสตร์ นักคติชนวิทยา นักโบราณคดี หรือนักประวัติศาสตร์ แต่เฉพาะหน้า การมีโอกาสต้อนรับผู้มาเยือนจากประเทศไทยทำให้ชาวสุขะโดยเฉพาะผู้อาวุโส รู้สึกฉงนที่ภาษาไทยของเราตรงกับ “รหัสลับ” ของหมู่บ้าน และทำให้เราพอจะสนทนากับชาวบ้านได้ด้วยภาษาไทยเป็นคำ ๆ 

“ความจริงเราอาจไม่ใช่คนอื่นคนไกลกัน” ผู้ใหญ่บ้าน อูซอวิน บอกเราไว้อย่างนั้น
ขอขอบคุณ 
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)