ห้วงคำนึงที่ตรึงตรา สกุลไทย

เรื่อง อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี ภาพ ประเวชตันตราภิรมย์
นึกถึงความทรงจำวัยเยาว์ คุณแม่ของข้าพเจ้าชอบนั่งอ่าน นิตยสารฉบับหนึ่งอย่างละเมียดละไม ไม่ลุกไปไหน ข้าพเจ้า เพียงตั้งคำถามในใจ นิตยสารอะไรกันดึงดูดให้ผู้ที่ปรกติแล้ว ไม่ชอบอยู่นิ่ง ปัดกวาดเช็ดถูบ้าน เรียกว่าอยู่ไม่ติดที่สักนาทีเดียว แต่ชั่วโมงนั้นสายตาคุณแม่ไม่ห่างจากนิตยสารเลย
วันที่นิตยสารฉบับนี้ปิดตัวลง ข้าพเจ้าจึงไปรื้อกองหนังสือที่บ้านจนพบกับสกุลไทยในความทรงจำที่เห็นคุณแม่นั่งอ่านในวันนั้น ลองหยิบมาอ่านดูบ้าง ปรากฏว่าข้าพเจ้าเงยหน้า มองนาฬิกาอีกที เวลาได้วิ่งนำความรู้สึกไปเสียแล้ว
Image

จุดเริ่มต้นของ ๖๒ ปี สกุลไทย

ในยุคที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงยุคทองของหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ มีหนังสือและนิตยสารจำหน่ายมากมาย โรงพิมพ์ของบริษัทอักษรโสภณ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๕ ถนน บ ำรุงเมือง เยื้องกับเสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร มีความคิดที่จะจัดท ำหนังสือแนวอาชญากรรมโดยตั้งชื่อว่า หลังข่าวอาชญากรรม แต่ทำได้ไม่เท่าไรก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากเนื้อหาไม่เป็นที่นิยม
ประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ และ ลมูล อติพยัคฆ์ จึงคิดใหม่ว่าควรทำนิตยสารที่มีความสวยงาม-อ่านง่าย และเหมาะสำหรับทุกคน ประกอบกับในขณะนั้นนิตยสารสำหรับผู้หญิงยังมีไม่มากนัก นี้ คือโอกาสตีตลาดและจึงได้จัดตั้งหนังสือพิมพ์ สกุลไทย รายสัปดาห์ (นิตยสารได้รับการจัดเป็นหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น) โดยมีประยูรเป็นผู้จัดการ และลมูล เป็นบรรณาธิการคนแรก
Image
“เมื่อคิดรูปแบบออกมาเป็นหนังสือผู้หญิง ก็ต้องคิดต่อว่าผู้หญิงชอบอะไร แล้วคำตอบที่ได้คือนิยาย คุณลมูลแนะนำว่าในอดีตสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ สกุลไทย เลยนำชื่อนั้น มาเป็นชื่อนิตยสาร ออกแบบหัวใหม่เป็นพื้นสีดำ ตัวอักษรสีเหลือง และมีตราช้างเอราวัณที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ คุณลมูลเป็นผู้ออกแบบเอง สมัยนั้นเป็นแท่นพิมพ์ตัวตะกั่ว ลักษณะเป็นตัวเรียง ช่วงแรกทีมงานมีแค่สามคน นักเขียนอาจเขียนหลายเรื่องหลายคอลัมน์ แต่ใช้หลายนามปากกา เพื่อให้ดูหลากหลาย เล่มแรกเป็นปกคุณบุญปรุง ศิริธร ปกมีสามสี ขายเล่มละ ๓ บาท ตอนนั้นมีนวนิยายห้าเรื่อง นอกนั้นเป็นคอลัมน์ มีทั้งหมด ๖๐ หน้า ทำมาได้ปีหนึ่ง ต้องขึ้นราคาอีก ๕๐ สตางค์ เพราะว่ากระดาษราคาเพิ่มขึ้น” นรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการนิตยสาร สกุลไทย คนสุดท้ายเล่าให้ฟัง
จุดเด่นของ สกุลไทย ที่ขาดไม่ได้ตั้งแต่ยุคแรกคือนวนิยาย ตรงนี้เองคงเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแม่ของข้าพเจ้าต้องนั่งนิ่ง จดจ่อกับตัวหนังสือและติดตามซื้อเพื่ออ่านตอนต่อไป “ถ้าเปรียบกับร่างกายคน นวนิยายเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของ สกุลไทย กระดูกสันหลังทำให้เรายืนตัวตรงได้ จากเล่มแรกมาจนถึงเล่มสุดท้ายพัฒนาการของนวนิยายจะมีมากขึ้นตามลำดับ จาก ๕ เรื่องในเล่มแรก เพิ่มมาเป็น ๘ เป็น ๑๐ จนมากที่สุดถึง ๑๘ เรื่อง พอมาในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ลดเหลือประมาณ ๑๓ เรื่อง”
ด้วยวิธีการประชาสัมพันธ์ ที่ไม่เหมือนใครในยุคก่อตั้ง ใช้วิธีการพิมพ์ใบปลิวแจก และจัดกิจกรรมส่งเสริมผู้อ่าน ทำให้ สกุลไทย เป็นที่รู้จัก และแพร่หลายอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างความนิยม ให้เกิดแก่ผู้อ่านในยุคนั้น “ในปีแรก สกุลไทย เน้น เรื่องลดแลกแจกแถม ช่วงนั้นการโฆษณาของหนังสือ ยังไม่มีทางโทรทัศน์ คุณประยูรใช้วิธีแจกใบปลิวด้วยตนเอง มีการจัดกิจกรรมประกวดเรื่องสั้นเพื่อกระตุ้นผู้อ่านด้วย”
นิตยสาร สกุลไทย รายสัปดาห์ฉบับแรกเผยแพร่ในวันจันทร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ถือกำเนิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ภายใต้เอกลักษณ์สองสิ่งหลักคือ นิตยสารสำหรับผู้หญิง (women’s magazine) และนิตยสารวรรณกรรม (literary magazine) โดยมี ลมูล อติพยัคฆ์ เป็นบรรณาธิการก่อตั้ง เริ่มต้นจวบจนปี ๒๕๔๓ ส่งไม้ต่อให้ สุภัทร สวัสดิรักษ์ จนถึงปี ๒๕๔๘ เปลี่ยนมืออีกครั้งสู่ นรีภพ สวัสดิรักษ์ ผู้เป็นลูกสาว บรรณาธิการทั้งสามปลุกให้ สกุลไทย เป็นที่นิยมยาวนานกว่า ๖๒ ปี กล่าวได้ว่าความสำเร็จของ สกุลไทย มาจากการสร้างเอกลักษณ์และบุคลิกที่เด่นชัดจนถึงฉบับสุดท้าย
Image

นวนิยายเป็นหลัก และคอลัมน์เด่น

นิตยสาร สกุลไทย ฉบับสุดท้าย “จารึกไว้ในใจนิรันดร์” ครบรอบปีที่ ๖๒ ฉบับที่ ๓๒๓๗ ประจำวันอังคารที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ กว่า ๖ ทศวรรษที่ผ่านมานิตยสารเล่มนี้ เป็นทั้งผู้ให้และสร้างงานเขียนให้กับวงการวรรณกรรมไทย “ในช่วงปี ๒๕๒๐-๒๕๓๘ สกุลไทยมีนักเขียนนวนิยาย ดังๆ พร้อมกับคอลัมน์ต่างๆ เยอะมาก เป็นยุคสูงสุดของ สกุลไทย จากตีพิมพ์ ๖๐ หน้า สู่ ๑๖๐ กว่าหน้า โฆษณาเยอะมาก มียอดพิมพ์มาก ที่สุดแสนกว่าฉบับต่อสัปดาห์ ได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่าน ค่อนข้างมาก ผู้อ่านติดมาก ขนาดไปขออ่านถึงโรงพิมพ์เอง คุณแม่-สุภัทร สวัสดิรักษ์ เล่าว่ามีจดหมายส่งมามากกว่า ๒๐๐ ฉบับต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ให้ผู้อ่านส่งผลงานมา อย่างเรื่องสั้นมีเยอะมาก รอคิวลงตีพิมพ์ถึง ๒,๐๐๐ กว่าเรื่อง”
หญิงสาวผู้นั่งเก้าอี้บรรณาธิการนิตยสาร สกุลไทย คนสุดท้ายเล่าให้ฟังว่า สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการรุ่น ก่อนกล่าวว่า “นวนิยายเป็นเสมือนการศึกษามานุษยวิทยา นอกเวลาเรียน เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต ให้ข้อคิด เช่น เรื่อง ความรัก การเสียสละ ฯลฯ นักเขียนจะสอดแทรกในเรื่อง โดยไม่ได้บอกตรงๆ ตรงนี้เองที่ทำให้นวนิยายใน สกุลไทย เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและให้ความคุ้มค่ากับผู้อ่านมาตลอด”
นิตยสาร สกุลไทย ได้เชิญพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอ เป็นภาพปกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ซึ่งเป็นฉบับครบรอบ ๑ ปี จากนั้นเชิญพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์เป็นภาพปกในวาระพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งนำเสนอภาพข่าวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเรื่อยมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ พร้อมกันนั้นสกุลไทย ได้ขอความกรุณาจากนักเขียนกิตติมศักดิ์หลายท่าน อาทิ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนเล่าถึงการตามเสด็จหรือ เรื่องราวการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระราชวงศ์ ทำให้ผู้อ่านเกิดความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น จนนับเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของสกุลไทย
Image
ส่วนคอลัมน์ซึ่งเป็นอีกแรงเสริมที่ทำให้นิตยสารมีความหลากหลายตามนโยบายของนิตยสาร สกุลไทย ตั้งแต่ก่อตั้ง ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก จากแฟนนิตยสาร สกุลไทย คือ “ฝากใจไว้ที่นี่” และ “กฎหมายพาที” เกิดขึ้นช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๔๐ บุคลิกของคอลัมน์ “ฝากใจไว้ที่นี่” คือการให้ผู้อ่านส่งจดหมาย เข้ามาพูดคุยปัญหาชีวิต แล้ว “น้ำผึ้งป่า” ก็ตอบจดหมายในลักษณะใช้ธรรมะเข้ามาช่วยให้กำลังใจ โดยใช้หลักของพุทธศาสนา ผู้อ่านติดใจคอลัมน์นี้มาก สัปดาห์หนึ่งมีจดหมายมาถึงหลายร้อยฉบับ อีกคอลัมน์คือ “กฎหมายพาที” ผู้อ่านส่งคำถามที่เกี่ยวกับกฎหมายเข้ามาแล้ว ทองใบ ทองเปาด์ ก็ตอบด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สองคอลัมน์นี้ถ้านักเขียนไม่อยู่ หรือส่งต้นฉบับ ไม่ทัน จะทำให้ฉบับนั้นถูกไถ่ถามและต่อว่าจากผู้อ่านถึงเหตุที่คอลัมน์หายไป
นรีภพพูดถึงยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูก่อนเข้าสู่ยุคโรยรา นับตั้งแต่วิกฤตฟองสบู่ทำให้ทุกอย่างเริ่มถอยลง ราคากระดาษสูงขึ้นจึงจำเป็นต้องลดหน้ากระดาษและลดคอลัมน์ แล้วยังมีปัญหาเรื่องสายส่งที่ตามมา สายส่งรุ่นหลังไม่ทำกิจการต่อ รวมถึงโฆษณาที่ลดน้อยลง ทำให้ตอนปลายการพิมพ์เหลือเพียง ๓ หมื่นกว่าฉบับ
อย่างไรก็ตามกองบรรณาธิการ สกุลไทย พยายามปรับเปลี่ยนเพื่อให้นิตยสารสามารถเดินทางต่อไปได้ด้วยการทดลองเผยแพร่ทางออนไลน์
“เราพยายามปรับ คุยกันหลายครั้งเหมือนกัน ทำอย่างไรให้อยู ่ได้ จะทำออนไลน์ไหม ลองหยั่งเสียงดู ปรากฏว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้อ่าน สกุลไทย เป็นกลุ่มผู้มีอายุ เขาไม่สามารถอ่านออนไลน์ได้ถนัด”
Image

บทบันทึก/จากบรรณาธิการ

นรีภพกล่าวกับข้าพเจ้าในระหว่างการสนทนาของเราครั้งนี้ คำขอบคุณผู้อ่านมีออกมานับไม่ถ้วน เป็นคำขอบคุณที่ข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าออกมาจากใจของบรรณาธิการนิตยสาร สกุลไทย
“พอผู้อ่านทราบว่าจะปิดตัว โทร. เข้ามาบอกไม่ให้ปิด ก็มี ร้องไห้ก็มี เขียนจดหมายเข้ามาเยอะมาก เป็นจดหมายด้วยลายมือเขียนทั้งนั้น เราก็ภูมิใจนะ ผู้อ่านบอกเพิ่มค่าสมาชิกก็ได้เขายอมขึ้นราคาหนังสือก็ได้เขาก็ยอม เราต้องกราบขอบคุณเขา แต่เราไปไม่ได้ก็ต้องขอโทษจริงๆ”
สายตาที่เล่าเรื่องราวให้ข้าพเจ้าฟังเป็นสายตาของผู้ที่ยืนอยู่ในวงการนิตยสารมายาวนาน คำถามที่ข้าพเจ้าอยากรู้ และคิดว่าผู้อ่านคงอยากรู้เช่นกันคือ ได้อะไรจากการทำนิตยสารที่มีอายุร่วม ๖๒ ปี
“แน่นอนได้เรียนรู้เนื้อหาในเล่ม ได้ความรู้ เราอ่าน ต้นฉบับท่องเที่ยวเหมือนได้ไปเที่ยวกับผู้เขียน นิยายก็ได้
บทเรียนชีวิต ข้อคิดต่างๆ ขณะเดียวกันในการทำงานเราต้องเดินหน้าอยู่ตลอดเวลา ได้เรียนรู้วิธีการทำงาน ต้องแข่งกับเหตุการณ์ เวลา คน เพื่อให้หนังสือวิ่งไปข้างหน้า เราต้องคิดนอกกรอบด้วยเพื่อให้หนังสือแปลกออกไปและติดตลาด แต่ขณะเดียวกันมาตรฐานก็ยังต้องมีอยู่”
แม้จะถึงเวลาร่ำลากับความผูกพันกว่า ๖ ทศวรรษ แต่เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนยังคงเก็บพื้นที่ความทรงจำให้นิตยสาร สกุลไทย ได้ลองหวนคิดถึงหน้ากระดาษและนวนิยายที่เคยอ่าน ดังสิ่งที่บรรณาธิการนิตยสาร สกุลไทย ฝากไว้ในการสนทนาครั้งนี้
“หนังสือหรือนิตยสารเป็นเอกสารบันทึกทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ จึงมีความส ำคัญกับชีวิตมาก วัฒนธรรมการอ่านคือสิ่ง ที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้คงอยู่”
นิตยสารในดวงใจฉบับแรกคือ สกุลไทย เนื่องจากเห็นคุณแม่- สุภัทร สวัสดิรักษ์ ทำงานในกองบรรณาธิการมาตั้งแต่เด็กจนตนเอง ได้ขึ้นมานั่งเป็นบรรณาธิการคนที่ ๓ ต่อจากคุณแม่
“ฉบับต่อมา สตรีสาร นิตยสารผู้หญิงรายสัปดาห์ เริ่มอ่านสมัยเรียนมัธยมฯ ตามประสาวัยรุ่นทั่วไปในยุคนั้น
“และสุดท้ายคือ สารคดี ที่ให้ข้อมูล ความรู้ ประกอบกับชื่นชอบงานเขียน สารคดี ช่วงหนึ่งมีโอกาสเดินทางบ่อย ได้เขียนหนังสือ ซึ่งจะต้องหาข้อมูลเอง ต้องไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เห็น วัฒนธรรมที่ไม่เคยเห็น จึงชื่นชอบแนวการเขียนสารคดีด้วย”