อนุสาร อ.ส.ท. ใต้บังเหียนของ วินิจ รังผึ้ง
เรื่อง สุเจน กรรพฤทธิ์
ชื่อ อนุสาร อ.ส.ท. (รายเดือน)
วางแผงครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๐๓
จ ำนวนพิมพ์ปัจจุบัน ประมาณ ๓ หมื่นเล่มต่อเดือน
เจ้าของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (รัฐวิสาหกิจ)
สถานะ วางแผงตามปรกติ (๒๕๖๑)
อนุสาร อ.ส.ท. ก่อตั้งและเริ่มวางตลาดฉบับแรกเดือนสิงหาคม ๒๕๐๓ ถือเป็นส่วนหนึ่ง ของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุคนั้นมีการตั้ง หน่วยงานใหม่ ๆ ของรัฐโดยได้ต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (อ.ส.ท. - ปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย - ททท.) ตั้งขึ้นเพื่อทำภารกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็น “ธุรกิจใหม่” ที่คาดว่าจะทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก
วินิจ รังผึ้ง บรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. คนปัจจุบัน (๒๕๖๑) เล่าว่า ในยุคก่อตั้งผู้อำนวยการ อ.ส.ท. เป็นนายทหาร คือ พล.ท. เฉลิมชัย จารุวัสตร์ (ยศขณะนั้น) มองว่า หน่วยงานควรมีสื่อเป็นของตัวเอง “ในยุคที่ทีวียังไม่แพร่หลาย อินเทอร์เน็ตยังไม่มี ก็มองว่าสิ่งพิมพ์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเข้าถึงสังคม”
งานส่วนนี้อยู่ใน “กองวารสาร” ทำหน้าที่ผลิตสิ่งพิมพ์ของ อ.ส.ท. โดยมีทีมงานอยู่ราว ๒๐ ชีวิต อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับแรกวางตลาดด้วยขนาดรูปเล่มที่เล็กกว่า A4 เล็กน้อย จำหน่ายเล่มละ ๑.๕๐ บาท (หนึ่งบาทห้าสิบสตางค์) เพื่อให้คนซื้อแล้วไม่ทิ้งขว้าง แต่เบื้องหลังที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ มีความพยายามทำให้ส่วนงานนิตยสารคล่องตัวตั้งแต่ยุคแรก คือเริ่มขอให้นำเงินรายได้จากการขายมาบริหารจัดการในส่วนของค่าพิมพ์เล่มต่อไปโดยไม่ต้องส่งคืนกองคลัง “เล่มต่อ ๆ มาเราไม่ของบประมาณในส่วนของค่าพิมพ์จากรัฐอีกมาจนถึงตอนนี้ นอกเหนือจากเงินเดือนพนักงานและสถานที่ทำงาน”
วินิจอธิบายว่าแม้จะมีความได้เปรียบแต่ก็ไม่ได้สบาย เพราะต้องบริหารค่าลงพื้นที่ ค่าโรงพิมพ์ และรายได้ให้สมดุล ตลอดเวลา “เราทุกข์ไม่ต่างกับนิตยสารอื่นเวลาต้นทุนค่า กระดาษในตลาดแพงขึ้น ค่าเดินทางลงพื้นที่เพิ่มขึ้น”
ยุคแรก อ.ส.ท. ใช้ระบบสายส่งที่ไม่เหมือนใคร วินิจ ย้อนอดีตช่วงที่ อ.ส.ท. “วางปุ๊บคนซื้อปั๊บ” ว่า “พอหนังสือออกจากโรงพิมพ์เราก็จัดจำหน่ายเองด้วยการเอาไปวางขายที่ถนนราชดำเนินในวันที่ไม่มีมวยต่อยที่เวทีราชดำเนินเพราะรถจะไม่ติดมาก (หัวเราะ) ก็จะมีเอเจนต์หลายเจ้าเอารถบรรทุกเข้ามาซื้อหนังสือแล้วขนส่งไปขาย ตอนนั้นเรามองว่าจะไม่ขายผ่านสายส่งเพราะสายส่งจะขอส่วนแบ่งร้อยละ ๓๕ แต่ถ้าขายเองเราก็ลดราคาให้ร้อยละ ๒๕ ขายวันเดียวก็หมด รายได้มากกว่าขายผ่านสายส่งอย่างน้อยร้อยละ ๑๐”
ระบบนี้ใช้มาจนถึงปี ๒๕๓๕ ในที่สุดเพื่อตัดขั้นตอน ผู้บริหารจึงตกลงใช้ระบบสายส่ง “ตอนนั้นเรายังมีอำนาจต่อรองสูงในตลาดหนังสือ เรากำหนดว่าภายใน ๓ เดือน สายส่งจะคืนหนังสือได้ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ข้อได้เปรียบคือ เนื้อหาเรื่องการท่องเที่ยวสามารถอยู่บนแผงต่อได้แม้ว่าหนังสือจะตกเดือนแล้วก็ตาม ร้านหนังสือหลายร้านจึงวาง อ.ส.ท. ต่อไป”
ส่วนในแง่เนื้อหาวินิจแบ่ง อ.ส.ท. นับตั้งแต่เริ่มวางแผง เป็น “ทศวรรษแรก (๒๕๐๓-๒๕๑๓) สร้างความรับรู้เรื่องการท่องเที่ยว สังคมไทยสมัยนั้นยังมองว่าการท่องเที่ยวไม่มีสาระ อ.ส.ท. บอกว่ามันมีประโยชน์ ได้ความรู้ สร้างรายได้ ให้ท้องถิ่น นำกรณีศึกษาของต่างประเทศมาเสนอ ทศวรรษที่ ๒ (๒๕๑๔-๒๕๒๔) เริ่มแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวดี ๆ ของเมืองไทยมากขึ้นเพราะสื่อยังมีน้อย ทศวรรษที่ ๓ (๒๕๒๕-๒๕๓๕) นำเสนอว่าควรเที่ยวอย่างไรให้ยั่งยืน จะดูแลแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเวลาไปเที่ยว ทศวรรษที่ ๔ (๒๕๓๖-๒๕๔๖) พยายามนำเสนอกิจกรรม การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น จักรยานเสือภูเขา ดำน้ำ ล่องแก่ง เรามีส่วนผลักดันให้การล่องแก่งหยุดการตัดไม้ไผ่ แล้วเปลี่ยนมาใช้เรือยาง” วินิจเล่าต่อว่า “ทศวรรษที่ ๕ คือ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมาต้องหาทางนำเสนอเรื่องใหม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป เราต้องหามุมใหม่ หานักเขียนรุ่นใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวแปลกใหม่เกิดขึ้นมากมาย มีการเอาโรงนาเก่า ตึกเก่ามาทำสถานที่ท่องเที่ยว มีการเที่ยวสวน เที่ยวไร่ เกิดเนื้อหาใหม่ๆ คนไทยบินไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินทำได้ง่ายขึ้น”
เขาระบุว่า “ยุคทอง” ของ อ.ส.ท. อยู่ในราวทศวรรษที่ ๒ กับ ๓ (๒๕๑๔-๒๕๓๕) เพราะมีจำนวนพิมพ์มากและสามารถชี้นำ “เทรนด์” การท่องเที่ยวได้ ยังไม่นับว่า อ.ส.ท. สร้างนักเขียนให้มีชื่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นบุกเบิกคือ คุณหญิงคณิตา เลขะกุล ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ หรือรุ่นถัดมาอย่าง ดวงดาว สุวรรณรังษี ธีรภาพ โลหิตกุล เป็นต้น
วินิจเข้ามาทำงานกับ อนุสาร อ.ส.ท. ในปี ๒๕๒๘ “ด้วยความที่เป็นรัฐวิสาหกิจ กึ่งราชการกึ่งเอกชนก็มีทั้งข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีคือการที่เราสังกัดหน่วยงานอย่าง ททท. ทำให้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้านข้อมูลและการอำนวยความสะดวก แต่ข้อด้อยคือโครงสร้างราชการที่ต้องทำตามระเบียบ เช่น ประมูลโรงพิมพ์ทุกปี ปีไหนได้โรงพิมพ์ดีก็เหนื่อยไม่มาก ได้โรงพิมพ์ไม่ดีก็เหนื่อยเรื่องควบคุมคุณภาพการผลิต อัตราการจ่ายค่าตอบแทนไม่ว่าค่าต้นฉบับ หรือภาพก็จะมีเพดานอยู่ โชคดีที่เราได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนในวงการมาช่วยถ่ายภาพ ช่วยเขียน นอกจากกองบรรณาธิการที่มีสถานะเป็นลูกจ้างประจำ แต่จะเอางานระดับโลกนี่ก็ยากเพราะอัตราค่าตอบแทนต่ำ สมัยก่อนก็ภาพละ ๕๐๐ บาท ไม่ว่าจะช่างภาพระดับไหน อาจารย์ บางท่านก็เมตตามาก เช่น อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ท่านวาดภาพให้เป็นกรณีพิเศษ”
สำหรับคนติดตาม อ.ส.ท. อาจคุ้น ๆ ว่าวินิจเคยเป็น บรรณาธิการมาแล้ว “ใช่ครับ ผมเคยเป็น บก. มาแล้ว ครั้งหนึ่งระหว่างปี ๒๕๔๖-๒๕๕๖ ถือเป็น บก. คนที่ ๕ ก่อนที่ อภินันท์ บัวหภักดี จะมารับตำแหน่งต่อ โดยผมย้ายไปกองผลิตอุปกรณ์เผยแพร่ของ ททท. แล้วกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งเมื่อปี ๒๕๖๐
ในยุค “วินิจ ๑” นั้น เขาบอกว่าชอบปกที่เป็นภาพถ่าย เกี่ยวกับทะเลมากที่สุด “ผมจำปกที่ ดวงดาว สุวรรณรังษี ถ่ายเวิ้งอ่าวของหมู่เกาะพีพีจากมุมสูง ยุคนั้นยังไม่มีโดรน ต้องหายอดเขาปีนขึ้นไปถ่ายภาพ ซึ่งก็ทำสำเร็จออกมาสวยทีเดียว อีกเล่มหนึ่งที่รู้จักกันมากคือเล่มที่เปิดภาพน้ำตกทีลอซู ตอนนั้นคนยังไม่รู้จักและยังไม่มีใครเข้าไปเที่ยว”
แต่เมื่อมาถึงยุค “วินิจ ๒” โจทย์ใหญ่ที่สุดคือ “วิกฤตการณ์สื่อสิ่งพิมพ์” นิตยสารท่องเที่ยวหลายหัวต้องอำลาแผงด้วยการด ำเนินธุรกิจไม่คุ้มทุนอีกต่อไปเพราะคนหันไปหาข้อมูลจากระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่าง อ.ส.ท. ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน วินิจเล่าว่าสถานการณ์ต่างจากเมื่อครั้งรับตำแหน่ง ครั้งแรกมาก “ช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ เคยมีโฆษณาจนแทบจะล้นเล่ม มีคำพูดแซวกันในวงการว่า อ.ส.ท. ทำตัวเหมือนกับ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง ไทยรัฐ คือเราไม่มีฝ่ายขายโฆษณา มีแต่ฝ่ายที่ทำสัญญาลงโฆษณาแล้วเก็บเงินอย่างเดียวเท่านั้น และด้วยกรอบของความเป็นหน่วยงานรัฐจึงมีข้อจำกัด” เดือนที่โฆษณาเข้ามากวินิจจำได้ว่ามีรายรับส่วนนี้สูงถึง ๑.๕ ล้านบาท “ยังไม่นับว่ายอดขายสูงมากมาจนถึงทศวรรษ ๒๕๔๐” แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ก็ “ปักหัวลง”
“พูดตรง ๆ คือตอนนี้ปริ่มน้ำ ยอดโฆษณาหายไปเหลือไม่ถึงร้อยละ ๓๐ ยอดตีพิมพ์ของ อ.ส.ท. ยังคงสูง ส่วนหนึ่งนำไปเผยแพร่ในงานของ ททท. อีกส่วนหนึ่งวางบนแผงหนังสือ สถานการณ์นี้เริ่มตั้งแต่สื่อสังคมออนไลน์แพร่หลาย”
วินิจบอกว่าต้องคิดเรื่องการตลาดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน “มีแผนบุกสื่อออนไลน์มากขึ้น ตอนนี้พยายามทำเพจ อ.ส.ท. ให้ติดตลาดเพราะเว็บเพจด้านการท่องเที่ยวไทยยังไม่มีใครยึดตลาดได้และเรามีทรัพยากรที่จะใช้ได้มากมาย เราชวนแฟนเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากๆ มาทำกิจกรรมร่วมกัน เรื่องที่น่าสนใจคือเฟซบุ ๊ก ‘อีจัน’ มาช่วยไลฟ์มีคนดู ๓ แสนกว่า เรตติ้งดีกว่าทีวีดิจิทัลเสียอีก”
แต่เขายืนยันว่านั่นไม่ได้หมายความว่าจะละทิ้งอนุสาร อ.ส.ท. ที่เป็นกระดาษ “เราไม่เคยคิดเลิกทำนิตยสาร การเปิดสื่อใหม่ ๆ เท่ากับมีช่องทางขายโฆษณามากขึ้น โมเดลทางธุรกิจยุคนี้ขายโฆษณาแต่ตัวนิตยสารอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว ด้วยความที่เราเป็นหน่วยงานรัฐการมีช่องทางออนไลน์จะทำงานง่ายขึ้นด้วย อีกอย่างสื่อออนไลน์ก็เข้าถึงสายตาคนจำนวนมาก ซึ่งต้องทำตรงนั้นให้เป็นประโยชน์ แล้วดึงนิตยสารกลับมาอีกครั้ง
“ผมคิดว่าการผลิตนิตยสารไม่ใช่แค่งานที่ทำเสร็จออก เป็นเล่ม สิ่งที่มาด้วยกันก็คือคนอ่านที่สื่อสารกลับมา ผมเคยเจอคนที่ไม่ รู้จักเลยแต่มาคุยด้วยเพราะเขาอ่านสิ่งที่เราเขียน เขาเป็นเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา อ่าน อ.ส.ท. มาตั้งแต่มัธยมฯ ทำให้ขออนุญาตที่บ้านไปเรียนดำน้ำ พอมาทำงานด้านต่างประเทศก็เลือกมาแอฟริกาเพราะว่าจะมาดำน้ำดูสัตว์ ดังนั้นนี่ไม่ใช่งานที่ทำแล้วจบไป”
วินิจเห็นว่าโดยตัวงาน อนุสาร อ.ส.ท. มีมูลค่าแฝงมานานแล้ว เพราะการทำงานของกอง บก. อนุสาร อ.ส.ท.นั้น เสมือนกับ ททท. มีทีมวิจัยของตัวเองที่ลงไปหาข้อมูลในพื้นที่ทั่วประเทศโดยไม่ต้องจ้างหน่วยงานภายนอก ได้ฐานข้อมูลทั้งเรื่องและภาพที่ทันสมัยและสวยงามจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ที่ดีของการท่องเที่ยวที่จะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหลาย กิจกรรม
“ที่ผ่านมาเราไม่เคยของบประมาณในขั้นตอนการตีพิมพ์ ถ้าผู้บริหาร ททท. มองว่าเรายังมีประโยชน์ผมคิดว่าอาจต้องช่วยในส่วนการผลิตหรือจะช่วยแค่ค่าตีพิมพ์ไม่รวมการลงพื้นที่ผมก็คิดว่ารับได้ เพราะก็ได้ผลผลิตในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าเราจะพึ่งแต่ ททท. แต่เพียงอย่างเดียว”
วินิจยืนยันว่าอนุสาร อ.ส.ท. จะเดินหน้าในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไป “เราทำตามนโยบายของ ททท. ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งเราดูแลเนื้อหาว่าต้องไม่ให้คนอ่านรู้สึกว่าถูกยัดเยียดหรือเป็นหนังสือภาครัฐ ผมชอบ อ.ส.ท. เพราะมีภาพสวย งานเขียนมีอารมณ์ความรู้สึก ยุคที่ผมเติบโตมา เวลาอ่านงานเขียนของคนที่ไปเดินป่าก็จะเห็นภาพ
“แน่นอนว่าเราพยายามปรับเนื้อหาให้สั้นกระชับ พยายามหามุมใหม่ๆ มานำเสนอ”
สารคดี ปกปลากัด
“เป็นมุมถ่ายภาพที่แปลก ยุคที่ สารคดี ฉบับนี้ตีพิมพ์ ไม่ค่อยมีใครถ่ายภาพลักษณะนี้”
Sawasdee
“ปกที่กัปตันเครื่องบินถ่ายภาพจากบนอากาศ สมัยนั้นถ่ายยาก ผมจึงจำได้และภาพสวยทีเดียว”
National Geographic ฉบับภาษาไทย
“ผมไม่ได้ชอบปกไหนเป็นพิเศษ แต่ที่อ่านเพราะชอบงานสารคดี ด้านการท่องเที่ยว ธรรมชาติ เราดูข้อมูลและวิธีการถ่ายภาพใหม่ๆ แล้วมาปรับปรุงการทำงานของตัวเอง”