สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ ๔๔ ปี คัมภีร์ลูกหนัง สัญชาติไทย

เรื่อง ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล  ภาพ วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ เป็นนิตยสาร ฟุตบอลต่างประเทศที่ยืนหยัดมานานถึง ๔๔ ปี ตีพิมพ์แล้วมากกว่า ๒,๑๐๐ ฉบับ ถือกำเนิดจากความหลงใหลในกีฬาลูกหนังของ ระวิ โหลทอง อดีตหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ
หลังเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักข่าวคนแรกที่นำข่าวกีฬาต่างประเทศมาลงหนังสือพิมพ์ ในปี ๒๕๑๖ ระวิลาออกมาตั้ง หจก. สยามสปอร์ต พับลิชชิง เพื่อทำหนังสือชื่อ กีฬาสยาม ต่อมาในปี ๒๕๑๘ ๒๕๒๓ และ ๒๕๒๔ ได้ออกนิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ นิตยสาร ฟุตบอลสยาม และนิตยสาร เอนเตอร์เทน ตาม ล ำดับ ก่อนโอนกิจการ หจก. สยามสปอร์ตฯ เข้ามาไว้ในบริษัทสยามสปอร์ต พริ้นติ้ง จำกัด ตีพิมพ์หนังสือกีฬาและบันเทิงตามมาอีกมากมาย อาทิ นิตยสาร แค้มปิ้งท่องเที่ยว นิตยสารมวยโลก หนังสือพิมพ์สยามกีฬา นิตยสารมวยสยาม นิตยสารมิวสิคเอ็กซ์เพรส ฯลฯ ปี ๒๕๓๓ ตั้ง บริษัทสยามสปอร์ตซินดิเคท จำกัด (ปี ๒๕๓๘ จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน) โดยรับโอนเครื่องพิมพ์และหัวหนังสือจากบริษัทสยามสปอร์ตฯ มาไว้ที่นี่
จุดเริ่มต้นของการทำนิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ยุคบุกเบิกที่เขายังทำหนังสือเล่มนี้ออกเป็นรายสะดวก จนเกิดข้อเรียกร้องจากทีมงานว่าอยากให้หนังสือออกสม่ำเสมอในรูปแบบนิตยสาร
Image
จากคอลัมน์ “เขี่ยลูกก่อน” ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๒๙ ระวิ โหลทอง เจ้าของนามปากกา “สลร.” ได้ให้รายละเอียดถึงจุดเริ่มต้นของนิตยสารเล่มนี้ว่า จากการประชุมโต๊ะกลมของกลุ่มผู้จัดทำ ผู้อ ำนวยการ และผู้จัดการ ตกลงกันว่านับตั้งแต่นี้ต่อไป สตาร์ซอคเก้อร์ จะกำหนดออกเป็นรายเดือน วางตลาดทุกวันที่ ๒๘ ของแต่ละเดือน
บรรณาธิการผู้เป็นเจ้าของหนังสือยังเขียนถึงความกระตือรือร้นของทีมงานยุคบุกเบิกว่า “คุณสุคต ชูพินิจ และ คุณจรูญ วานิชชา มานั่งออดอ้อนและชักแม่น้ำทั้งห้าให้ฟังเป็นเวลานานพอสมควรที่จะให้ทำ สตาร์ซอคเก้อร์ ออกเป็นประจำแบบสยามกีฬา โดย ‘ย. โย่ง’ และคุณยอดชาย ขันธชวนะ ก็ขมีขมันรับปากจะเขียนเรื่องส่งมาให้ประจำ ใครต่อใครก็สนับสนุน แต่ละคนบอกว่า ‘ฟิตปั๋ง’ จะเขียนเรื่องโน้น... จะทำคอลัมน์นี้...”
สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ หรือ STAR’S SOCCER ตั้งชื่อตามรายการโทรทัศน์ “ฟุตบอลดารา” ซึ่งสมัยก่อนนั้น เป็นการถ่ายทอดเทปบันทึกการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศ ออกอากาศทางช่อง ๙ หน้าปกฉบับแรกเป็นภาพนักเตะทีมชาติไทยชุดคว้า แชมป์กีฬาแหลมทองหรือเซียปเกมส์ (SEAP Games) เนื้อหามีทั้งฟุตบอลไทยและฟุตบอลนอก ขณะที่ใต้หัวนิตยสารคาดค ำว่า FOOTBALL MONTHLY MAGAZINE ก่อนที่จะปรับเป็นรายปักษ์และรายสัปดาห์ เพื่อให้สามารถ รายงานข่าวสารหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทันต่อสถานการณ์ มากขึ้น เนื้อหาก็ค่อย ๆ ปรับมาเน้นฟุตบอลอังกฤษเป็นหลัก
พีรายุ ชื่นกุล เจ้าของนามปากกา “ชู้ตเอ๊าต์” หัวหน้ากองบรรณาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นนักข่าวให้กับสื่อในเครือสยามสปอร์ตฯ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ที่มีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ฟุตบอลยูโร) ค.ศ. ๑๙๙๒ ที่สวีเดน เล่าว่า
“สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ เป็นหนังสือที่คุณระวิปั้นมากับมือ หลังจากได้ไปเห็นหนังสือฟุตบอลในต่างประเทศ ไปอังกฤษก็เห็นว่ามีหนังสือ Shoot ซึ่งเดี๋ยวนี้เลิกผลิตไปแล้ว หรือ Match ซึ่งตอนนี้ยังเห็นอยู่ แต่กลายเป็นหนังสือเด็ก รวมทั้ง World Soccer ที่ออกเป็นรายเดือน ในเยอรมนีมี Kicker กับ Bild คุณระวิบ้าบอลทั้งบอลไทยและบอลนอก สตาร์ซอคเก้อร์ เป็นส่วนหนึ่งของความชอบฟุตบอลของเขา ที่เห็นว่าเมืองนอกมีหนังสือบอลเราก็น่าจะมีเหมือนกัน”

เข้มข้นด้วยเนื้อหาจาก “กูรู”

เนื้อหาของ สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ เน้นฟุตบอล อังกฤษเป็นหลัก มีรายงานข่าวและเหตุการณ์สำคั ญๆ มีบทสัมภาษณ์นักฟุตบอลที่ได้รับความสนใจในเวลานั้น มีคอลัมน์วิเคราะห์ วิจารณ์ ประกอบภาพสีสันสวยงาม ต่อมามีผู้อ่านเรียกร้องให้เอาเรื่องฟุตบอลของประเทศอื่น ๆ ลงบ้าง ทีมงานจึงเพิ่มเนื้อหาฟุตบอลจากเยอรมนี อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ร้อยละ ๔๐-๕๐ ยังเป็นฟุตบอลอังกฤษ กองบรรณาธิการหรือคอลัมนิสต์ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวกีฬาที่มีชื่อเสียง หลายคนเคยถูกระวิส่งตัวไปประจำการ ทำข่าวฟุตบอลในต่างประเทศ เป็นคนเขียนที่ผูกพันกับแต่ละวงการ แต่ละลีก ไม่ว่าฟุตบอลพรีเมียร์ลีก (อังกฤษ) กัลโช่ เซเรียอา (อิตาลี) ลาลีกา (สเปน) บุนเดสลีกา (เยอรมนี) พีรายุ ชื่นกุล ก็เคยไปประจำการที่อังกฤษถึง ๒ ปี
การที่ระวิส่งนักข่าวไปฝังตัวอยู่ในประเทศที่มีการจัดแข่งขันฟุตบอลลีก ก็เพราะต้องการสร้างคนข่าวคุณภาพ และเพื่อให้หนังสือในเครือมีเนื้อหาที่ได้รับข้อมูลมาจากแหล่งต้นทางของกีฬาฟุตบอลจริง ๆ
ในนิตยสารมีคอลัมน์ดัง ๆ เช่น “อิสระ เสรี 2499” เขียน โดย พล.อ.ต. นิกร ชำนาญกุล นามปากกา “ก. ป้อหล่วน” เนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลในประเทศเยอรมนีเป็นหลัก “คัมภีร์ ฟุตบอล” โดย ธีระ พรสัมฤทธิ์กุล นามปากกา “ธีระ” เป็น คอลัมน์ตอบค ำถามผู้อ่าน ฯลฯ
คอลัมน์ “คัมภีร์ฟุตบอล” เป็นคอลัมน์ที่มีมานานตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคที่ เอก ชัย นพจินดา หรือ “ย. โย่ง” นักข่าวกีฬาชื่อดังเป็นผู้ตอบ จดหมาย
หัวหน้ากองฯ เล่าถึงความทรงจำที่ตนเองมีต่อคอลัมน์ ตอบจดหมายนี้ว่า “เมื่อตอนที่ผมเข้ามาทำงานใหม่ ๆ จะมีหน้าที่คัดจดหมายให้พี่โย่งตอบ พี่โย่งจะเขียนด้วยลายมือลงบนกระดาษส่งให้ผมเอาไปพิมพ์ต่อ”
ยุคนั้นการตอบจดหมายลงนิตยสารใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะได้รับคำตอบ “ชู้ตเอ๊าต์” เล่าว่า “มีคำถามที่ฮิตมากอยู่ช่วงหนึ่งคือ เด็ก ๆ จะจัดทีมมาให้ ถามว่าทีมที่จัดมาจะคว้าแชมป์โลกได้ไหม หรือจะเป็นแชมป์บอลลีกได้หรือเปล่า แน่นอนทีมที่จัดมามันเกิดขึ้นจริงไม่ได้ แต่พี่โย่ง เคยบอกผมว่าจดหมายเหล่านี้เป็นความฝันของเด็ก ๆ”
“ชู้ตเอ๊าต์” เล่าต่ออีกว่า “เด็ก ๆ อาจกำลังเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด เขาเขียนมาถาม เราตอบให้ คำถามของใครได้ลงนี่เป็นปลื้มสุด ๆ แล้ว ตัดหนังสือไปแปะฝาบ้าน คนที่ไม่ได้ลงเราก็ส่งคำตอบให้ทางไปรษณีย์”
ทุกวันนี้คำถามทางจดหมายแทบไม่มีส่งมา แม้ช่องทางรับคำถามสะดวกสบายขึ้นด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ แต่คำถามก็ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ ยังคงคอลัมน์ “คัมภีร์ฟุตบอล” ไว้
Image

บางสิ่ง (ไม่) เปลี่ยนไปในโลกลูกหนังและสื่อ

ไม่ต่างจากคอลัมน์ “คัมภีร์ฟุตบอล” ตอบจดหมายจากคนอ่าน คอลัมน์ “Planet Football” รายงานข่าวฟุตบอลรอบโลกในรอบสัปดาห์ คอลัมน์ “Result” รายงานผลการแข่งขันฟุตบอลรอบโลก รวมถึงรายงานตารางคะแนนในแต่ละลีก คอลัมน์เหล่านี้ต่างเคยถูกตั้งคำถามว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่
เมื่อเทคโนโลยีย่อโลกใบนี้ให้แคบลง วันนี้คอบอลชาวไทยรู้ผลการแข่งขันทันทีที่การแข่งขันเสร็จสิ้น พร้อม ๆ กับแฟนบอลในประเทศอังกฤษ อิตาลี เยอรมนี ฯลฯ ข่าวฟุตบอลรอบโลกคนไทยก็แทบจะรู้พร้อมกันกับแฟนบอลชาวต่างชาติ ประเด็นนี้หัวหน้ากองบรรณาธิการเล่าว่า ที่ผ่านมาเนื้อหาหลักใน สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
“เรื่องจากปกยังเป็นเหตุการณ์หรือนักเตะที่อยู่ในกระแสความสนใจ คนอยากรู้ว่าหมอนี่มีความเป็นมายังไง บางเรื่องเราก็มีติดต่อกับสโมสรโดยตรง เนื้อหาระดับเอกซ์คลูซีฟบางอย่างได้จากสโมสรหรือนิตยสารต่างประเทศที่เขายินดีสนับสนุน
“คอลัมน์ข่าวรายสัปดาห์เราก็คัดเฉพาะข่าวที่น่าสนใจ ที่เป็นไฮไลต์ คือเราเข้าใจว่าความเร็วมันไม่ใช่แล้ว คุณไปอ่านอีกอาทิตย์หนึ่งหนังสือออกมันก็ช้า แต่เราก็ยังคงไว้
ถ้าเกิดวันหนึ่งวันใดมีคนมาพลิกอ่าน เออ มีข่าวนี้ด้วยนะ บางทีเขาอาจจะไปตามต่อในโลกโซเชียลฯ คอลัมน์รายงานผลการแข่งขันก็เหมือนกัน
“ส่วนโปสเตอร์นักฟุตบอลที่แจกในเล่มนั้นก็ยังมีความสำคัญมาก เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับหนังสือตั้งแต่ฉบับแรก วัดจากความคิดตัวเองเลย ตอนเด็ก ๆ เราซื้อ สตาร์ซอคเก้อร์ มา ก็ต้องมีกรีดภาพนักบอลที่เราชอบมาแปะฝาผนังห้องนอน ถึงเด็กรุ่นนี้ก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกัน” สตาร์ซอคเก้อร์ ฉบับปฐมฤกษ์วางขายในราคา ๗ บาท วันนี้ราคาเพิ่มเป็น ๒๐ บาท หลังโลดแล่นมานานถึง ๔๔ ปี ซึ่งเมื่อคิดถึงการพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมัน สี่สีทั้งเล่ม ความหนาประมาณ ๕๐ หน้า ก็นับว่าถูกมาก
“มีคนถามว่าทำไมไม่ขึ้นราคา ขึ้นแล้วก็อาจจะเพิ่มหน้า เจ้านายบอกว่าถ้าขึ้นราคา คนซื้อซึ่งเป็นเด็ก ๆ จะลำบาก คือเขายังมองเห็นว่าเด็ก ๆ ควรจะได้อ่านเรื่องพวกนี้ หนังสือพวกนี้เจ้านายบอกว่าเรื่องสุดท้ายที่เขาจะทำคือขึ้นราคา” หัวหน้ากองบรรณาธิการที่รับผิดชอบ สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ มานานถึง ๑๗ ปี ชี้แจงว่า เมื่อไม่ถึง ๕ ปีก่อน ทางนิตยสารเคยตัดสินใจเปลี่ยนกระดาษ จากกระดาษปรู๊ฟ เป็นกระดาษอาร์ตมันทั้งเล่ม เพื่อเพิ่มความคมชัดให้ภาพ และเพื่อให้ดูทันสมัย น่าอ่าน เป็นโอกาสดีที่จะขยับราคาใหม่ แต่เจ้านายก็ยังยืนกรานราคาเดิมไว้
“ผมว่าเจ้านายไม่ค่อยกังวลเรื่องเสียเงินเท่าไร เพราะท่านชอบ พอเปลี่ยนแล้วความคมชัดมากขึ้นทุกคนก็ยินดี สตาร์ซอคเก้อร์ อาจจะต่างจากนิตยสารเล่มอื่น ๆ หนังสือแฟชั่นเท่าที่ผมทราบอยู่ได้ด้วยโฆษณา ต้นทุนเขาอาจจะ ๑๒๐ แต่ขาย ๘๐ ส่วนต่างมาจากโฆษณา พอมีเทรนด์ยุคใหม่เข้ามา โฆษณาในสิ่งพิมพ์ทั้งหลายแหล่มันหายหมด มันไปอยู่ในโลกโซเชียลฯ ก็เลยเป็นปัญหาที่ทุกเล่มได้รับผลกระทบ ของเราโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องสร้างรายได้ แต่ว่าก็ไม่ใช่ทั้งหมด ของเราอยู่ที่ยอดขาย จากยอดขายคือมันอยู่ได้ แล้วเจ้านายก็ชอบอยู่แล้ว ด้วยความที่ สตาร์ซอคเก้อร์ อยู่มานานมาก เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ประวัติศาสตร์ ข้อมูล ภาพในอดีต ก็ยังไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร อยากให้มันเป็นอย่างทุกวันนี้” ลูกหม้อสยามสปอร์ตยอมรับว่าทุกวันนี้ประชาชนไทย รู้จัก ระวิ โหลทอง ว่าเป็นเจ้าพ่อสื่อเครือสยามสปอร์ตฯ ที่มีนิตยสารมากมายหลายเล่ม เป็นผู้ทำธุรกิจสื่อกีฬาและ ธุรกิจกีฬา แต่สำหรับ “ลูกน้อง” ที่ทำงานด้วยกันมานานมอง เห็นว่า “เจ้านาย” คนนี้ยังมีความ “บ้าฟุตบอล” อยู่เป็นอย่างมาก และในอีกแง่มุมแล้ว
“เจ้านายผมอย่างหนึ่งคือเขาค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ- อนุรักษนิยม จะพยายามยึดหลักเดิม ๆ ไว้ ถ้าปรับเปลี่ยนได้ก็ปรับเปลี่ยนบ้างตามโอกาส แต่ยังอยากให้คงเดิม ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากจนเกินไป” ด้วยรูปเล่มเล็กกะทัดรัด พกพาง่าย ในวันนี้ สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ ยังคงได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่าน เป็นที่นิยมในหมู่คนรักกีฬาฟุตบอลต่างประเทศตั้งแต่เด็กวัย ประถมฯ มัธยมฯ มหาวิทยาลัย จนถึงคนวัยทำงาน หัวหน้ากองบรรณาธิการมากประสบการณ์กล่าวถึง นิตยสารที่อยู่รับใช้คนอ่านมานานจนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสื่อเครือสยามสปอร์ตฯ ไปแล้วว่า
“คือเราอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีลูกค้ากลุ่มหนึ่ง โอเค อาจจะลดลงบ้างตามสมัยนิยม เดี๋ยวนี้คนหันไปเปิดมือถือดูโน่นดูนี่กันหมด ยอดขายมันก็ลดลงบ้างตามสภาพ
“แต่เราก็ยังมีคนอ่านเป็นแฟนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ รุ่น กลาง ที่ยังติดตามกันอยู่”
สามเล่มโปรดของ พีรายุ ชื่นกุล

FourFourTwo (ฉบับภาษาอังกฤษ)

“ผมเป็นคนซีเรียสนะ อ่านเพราะ ได้ความรู้เยอะเพราะเขาทำครอบคลุมทั่วโลก เข้าถึงนักฟุตบอล มีบอลเซอร์เบีย และประเทศต่าง ๆ ที่เราไม่มีปัญญาเข้าถึง สื่อในอังกฤษเองบางทียังเอาคำพูดจากบทสัมภาษณ์ในเล่มนี้มาตีเป็นข่าวต่อ อ่านแล้วเปิดโลกว่าไปถึงไหนกันแล้ว”

"สารคดี"

“เมื่อก่อนอ่านบ่อย หลัง ๆ ไม่ค่อย มีเวลาซื้ออ่าน แต่ยังติดตามบางเล่ม ใช้คำว่าเลือกซื้อ เล่มไหนหัวตรงกับเรื่องที่สนใจ ผมอ่าน "สารคดี" มานานมาก ตั้งแต่หนากว่านี้สองเท่า จุดเด่นของ "สารคดี" คือนำเสนอเรื่องราวที่เราไม่รู้ เรื่องแปลกๆ ที่ เฮ้ย มีอย่างนี้ด้วยเหรอ”

Stuff (ฉบับภาษาอังกฤษ)

“เป็นหนังสือเกี่ยวกับแกดเจ็ตทั้งหลาย ที่ล้ำยุคล้ำสมัย มีเรื่องเทคโนโลยี โทรศัพท์ กล้องรุ่นใหม่ อ่านแล้วได้ ความรู้ดี ผมชอบเรื่องเทคโนโลยี อาจไม่ได้ลงลึก แต่ประดับความรู้ว่า เดี๋ยวนี้สิ่งของไปถึงไหน ชอบอ่านมาตั้งแต่ตอนอยู่อังกฤษ พอมีเวอร์ชันไทยก็อ่านของไทย เจ้านายเราเองที่ซื้อลิขสิทธิ์มาแปล”