ดำรง พุฒตาล
เรื่อง ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
หากย้อนเวลากลับไปต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๐ คงไม่มีใครคาดคิดว่านิตยสารที่มียอดขาย อันดับ ๑ อย่าง คู่สร้างคู่สม จะปิดตัวลงในอีกเพียง ๔ เดือนต่อมา ด้วยหน้าปกฉบับที่ ๙๙๔ ทศ ๑ (ฉบับวันที่ ๑-๑๐ กันยายน ๒๕๖๐) เพิ่งโปรยข้อความว่า “วิกฤตสื่อหนังสือ ดำรง...ยืนยัน ‘คส.คส.’ ไม่มีวันเจ๊ง !” น่าจะ สร้างความเชื่อมั่นให้ใครต่อใครได้ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ ที่นิตยสารทั้งหลายพากันปิดตัว สังคมไทยจะยังคงมี คู่สร้าง คู่สม โลดแล่นอยู่ในฐานะ “เรือธง” อย่างท้าทาย
แต่หากมีใครเปิดอ่าน คู่สร้างคู่สม เล่มนั้นไปถึงคอลัมน์ “ดำรงตอบจดหมาย” ก็คงพอสังเกตได้ถึงความผิดปรกติ บางอย่าง
เมื่อ ดำรง พุฒตาล เจ้าของนิตยสารตอบข้อสงสัย คนอ่านว่า
“ปีนี้ ‘คส.คส.’ มีอายุ ๓๘ ปี อีก ๑๒ ปีจะได้ฉลอง ครบรอบ ๕๐ ปี ตอนนั้นผมก็อายุ ๘๕ ปีพอดี ตอนแรก กะเอาว่าผมน่าจะอยู่ถึงปีนั้นนะ แต่เดี๋ยวนี้เลิกคิดแล้ว เพราะ ‘คส.คส.’ ต้องตายก่อนผมแน่”
ผู้นำวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ปรมาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน ยังสรุปตบท้าย “ก็ในเมื่อคนเขาไม่อ่านหนังสือเป็นเล่ม ยุทธจักรหรือองคาพยพของหนังสือมันก็ต้องจบสิ้น” คล้าย ส่งสัญญาณให้สังคมรับรู้...
นับตั้งแต่รายการ “คู่สร้างคู่สม” ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง ๕ ให้คู่สามีภรรยาผลัดกันมาตอบคำถามเกี่ยวกับกันและกัน ก็มีผู้ชมทางบ้านเขียนจดหมายมาบอกว่าดูรายการ ไม่ทัน เวลาออกอากาศ ๑ ชั่วโมงนั้นก็น้อยไป ดำรงจึงเสริม ช่องทางวิทยุ ใช้วิธีอ่านจดหมายชีวิตคู่ของคนที่เขียนเข้ามา แต่ก็พบว่ายังระบายข้อมูลไม่ทันอยู่ดี จึงตัดสินใจทำนิตยสาร คู่สร้างคู่สม ให้เป็นช่องทางระบายข้อมูลที่ถูกส่ง เข้ามายังสองรายการข้างต้น โดยเขาช่วยคิดวิเคราะห์กับทีมงานว่าควรมีคอลัมน์อะไรบ้าง ก่อนตกผลึกออกมาเป็น คอลัมน์ “หนุ่มจีบสาว-สาวจีบหนุ่ม” “ผัวเมียละเหี่ยใจ” “เรื่องจริงจากผู้อ่าน” “คู่สมกับราศี” “ดำรงตอบจดหมาย” ไปจนถึงคอลัมน์แนะนำร้านอาหาร การเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ
คู่สร้างคู่สม ฉบับแรกวางแผงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๓ ราคาเล่มละ ๘ บาท พิมพ์ออกมา ๓ หมื่นเล่ม ซึ่งนับว่ามาก สำหรับนิตยสารที่เพิ่งจะเปิดตัว ปรากฏว่าขายหมดใน ๓-๔ วัน จนต้องพิมพ์ซ้ำอีกสองครั้ง ครั้งละ ๓.๕ หมื่นเล่ม รวมยอดพิมพ์สูงถึง ๑ แสนเล่ม ทำลายสถิติการพิมพ์ นิตยสารในประเทศไทย
ความสำเร็จครั้งนั้นนักวิจารณ์หลายคนเชื่อว่าเป็นแค่ “ไฟไหม้ฟาง” สาเหตุที่หนังสือขายดีเพราะแรงโฆษณาจาก สื่อที่ดำรงมีอยู่
แม้ได้รับคำวิจารณ์ว่าชื่อหนังสือ โลโก้ หน้าปก รวมทั้งการออกแบบด้านในล้าสมัย ได้ยินชื่อคอลัมน์แล้วเนื้อหา คงหนีไม่พ้นเรื่องผัวๆ เมียๆ แต่ดำรงมีความเห็นว่า “นี่เป็นหนังสือที่ให้ความรู้อย่างจริงจัง พูดตรงๆ ก็คือเป็นความรู้ที่ผมอยากจะรู้ เมื่อผมอยากรู้ อยากเห็นอะไร ได้เห็นแล้ว ก็เอามาลงใน คู่สร้างคู่สม ให้คนได้อ่านกัน ยกตัวอย่าง ผมชอบชีวิตสัตว์ซาฟารีในทวีปแอฟริกา อยากรู้ว่าสัตว์ในป่า เป็นอยู่อย่างไร ชีวิตคนป่าอันตรายแค่ไหน เจ้าหน้าที่ดูแล National park อย่างไร เมื่อผมได้เห็นก็เก็บมาเล่า ผมไป อียิปต์ไปดูพีระมิดบ่อยเป็นสิบๆ ครั้ง ได้พูดคุย สัมภาษณ์ ซื้อหนังสือภาษาอังกฤษกลับมา ก็นำมาบอกต่อ ให้ความรู้คนอ่านไปด้วย”
ช่วงปี ๒๕๒๓-๒๕๓๒ คู่สร้างคู่สม วางตลาดเป็นรายเดือน เกิดกระแสเรียกร้องว่าเปิดอ่าน ๒-๓ วันก็หมดเล่ม อ่านวนซ้ำจนจำได้ กว่าฉบับหน้าจะออกต้องรอนานเกินไป เมื่อเห็นว่าวัตถุดิบที่ใช้เขียนหนังสือมีอยู่มากมาย ช่วงปี ๒๕๓๓-๒๕๔๗ จึงออกถี่ขึ้นเป็นรายปักษ์ ปี ๒๕๔๘ ออกเป็นรายทศหรือ ๑๐ วัน เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านจุใจถึงสามฉบับต่อเดือน
ด้วยได้รับความนิยมจากผู้อ่าน ปี ๒๕๕๕ จึงขยับถี่ขึ้นเป็นรายสัปดาห์ ทว่าปี ๒๕๕๘ มีเสียงสะท้อนว่าอ่านไม่ทัน ออกถี่เกินไป อีกทั้งกองบรรณาธิการต้องทำงานอย่างหนัก จึงถอยกลับมาออกเป็นรายทศอีกครั้งตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา
ที่ผ่านมา คู่สร้างคู่สม เคยปรับราคาสี่ครั้ง จาก ๘ บาท เป็น ๑๐ บาท ๑๒ บาท ๒๐ บาท และ ๓๐ บาท ทุกครั้งที่ขยับราคา เมื่อเทียบกับนิตยสารเล่มอื่นๆ ในท้องตลาดก็ยังนับว่าราคาถูก และครองแชมป์ยอดพิมพ์สูงสุดต่อเดือนในกลุ่มนิตยสาร เคยมียอดพิมพ์สูงถึงสัปดาห์ละ ๔ แสนเล่ม เฉพาะที่ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ ๔ หมื่นเล่ม หรือถ้าคิดเป็นเดือนก็เดือนละ ๑.๒ ล้านเล่ม
ด้วยรูปแบบหนังสือเล่มบางประมาณ ๑๐๐ หน้า เย็บสันด้วยลวดเย็บกระดาษ คู่สร้างคู่สม ได้ชื่อว่าเป็นนิตยสารขวัญใจแม่บ้าน คนทำงาน คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า ไม่ว่าที่ใดในโลกนี้ที่มีคนไทยอยู่อาศัย ก็จะมี คู่สร้างคู่สม วางขาย
ในเมืองไทย คู่สร้างคู่สม เป็นนิตยสารที่มักพบอยู่ตามชั้นหนังสือของโรงพยาบาล ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย สถานี ขนส่ง สถานที่สาธารณะ ฯลฯ โดยเฉพาะร้านเสริมสวยนั้น เรียกว่าเป็นขาประจำบนชั้นวาง รอท่าคุณผู้หญิงที่กำลังจะเข้ามาทำผม เสริมความงาม หรือระหว่างนั่งรอคิว
มีเรื่องเล่าจากเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งว่า วันหนึ่ง มีลูกค้าเปิดประตูเข้ามา เอ่ยปากถามเจ้าของร้านว่า “คู่สร้าง คู่สม มาหรือยัง ?”
“ยัง” เจ้าของร้านตอบสั้น ๆ
“ถ้างั้นก็ยังไม่สระผม” พูดจบคุณลูกค้าก็ปิดประตูจากไป
ดำรงเล่าถึงความสำเร็จด้านยอดขายว่า “โอ้โฮ มันขายดี ทุกเล่มครับ เล่มที่ขายหมดเร็วที่สุดวางตลาดวันนี้ พรุ่งนี้ เกลี้ยงแล้ว คือปกคุณธงไชย แมคอินไตย์ ช่วงนั้นกำลัง แสดงละครเรื่อง คู่กรรม คู่กับคุณกมลชนก โกมลฐิติ”
บรรณาธิการและเจ้าของนิตยสารสมองเพชรเล่าว่า อันที่จริงทีมงานส่งภาพปกมาล่วงหน้า แต่เขายังไม่เอาลง เพราะเห็นว่าละครยังไม่ออกอากาศ
“ต่อเมื่อละครออกอากาศ คนดูเห็นคุณเบิร์ดเล่นละคร คู่คุณกวางผมถึงนำขึ้นปก ปรากฏว่าขายหมดเร็วมาก เร็วที่สุด ผมรู้ว่าปกเป็นตัวที่จะทำให้หนังสือขายดีหรือไม่ดี”
ในแวดวงนิตยสาร มีคำกล่าวว่าหนังสือคือบรรณาธิการ แต่กับ คู่สร้างคู่สม แล้วตำแหน่งนี้ใช้วิธีหมุนเวียนกันในแต่ละฉบับหรือแต่ละทศ กระนั้นชายวัย ๗๓ ปีสารภาพว่า “จริงๆ แล้วบรรณาธิการตัวจริงคือผมครับ เพียงแต่เราก็ตั้งคนในกองฯ ขึ้นมาสลับเป็นบรรณาธิการ การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ผมคนเดียว”
หลังโรมรันกับโลกนิตยสารนานถึง ๓๘ ปี บทสรุปของ การทำนิตยสารสำหรับบรรณาธิการตัวจริงเสียงจริงคนนี้ มีอยู่ว่า
“จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำสื่ออย่างอื่นมาด้วย ทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ งานนิตยสารมีความสุขมากกว่า เพราะ ข้อ ๑ มันเป็นหนังสือของผมเอง ข้อ ๒ มันไม่มีใครมา ควบคุม กับงานโทรทัศน์จะต้องมี กบว. มีเจ้าของสถานี แต่ คู่สร้างคู่สม ผมมีอิสระ เสรี ทำได้อย่างเต็มที่ โดยระมัดระวัง ไม่ให้ผิดกฎหมาย ไม่ให้หมิ่นประมาทใคร ผมถือว่างานนิตยสารเป็นสื่อที่ผมมีความสุขที่สุด”
เมื่อถึงวันอำลา ฉบับที่ ๑๐๐๕ ทศ ๓ (ฉบับวันที่ ๒๐- ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็น คู่สร้างคู่สม ฉบับสุดท้าย ดำรง เขียนไว้ในหน้าแรกๆ เรื่องพิเศษชื่อ “ดำรง พุฒตาล เล่า ให้ฟัง... ครั้งสุดท้าย” ว่า “ผมตัดสินใจสละแชมป์ในขณะที่ เรายังเป็นแชมป์เสียในวันนี้จะดีกว่า” พร้อมให้เหตุผลของการตัดสินใจยุติการผลิตสามข้อ
ข้อแรกไม่ต่างจากนิตยสารอื่นที่ชิงหยุดไปก่อน คือคนอ่านมีจำนวนน้อยลง ข้อ ๒ การถูกสังคมโซเชียลมีเดีย ฉกฉวยบทความนำไปเผยแพร่อย่างไร้จรรยาบรรณ ไม่ให้ เครดิต โดยเฉพาะคอลัมน์ดูดวง “คู่สมกับราศี” ข้อ ๓ เขาเห็นว่าแม้วันนี้จะยังเป็นแชมป์ยอดพิมพ์สูงสุด แต่ถึงวันหนึ่งก็คงต้องปิดตัว
คลื่นลูกใหม่ในวงการนิตยสารจะเกิดขึ้นหรือไม่ ดำรง มีความเห็นว่า
“น่าจะเกิดขึ้นยาก เพราะไม่ได้เกิดจากคนทำที่จะเป็น คลื่นลูกใหม่ แต่มันเกิดจากผู้บริโภคคือผู้อ่าน วันนี้นิสัยของผู้อ่าน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก ตาม เทคโนโลยี คือหันมาอ่านทางโซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ต ไม่อ่านตัวอักษรที่พิมพ์ในกระดาษ หนังสือถ้าไม่มีคนอ่าน มันก็จบ คลื่นลูกใหม่ก็ไม่ทันได้เป็นคลื่น”
ความทรงจำที่ผู้คนจะมีต่อคู่สร้างคู่สม
“คู่สร้างคู่สม จะอยู่ในความทรงจำของผู ้คนไปอีกไม่นาน เพราะว่าคนไทยลืมอะไรง่ายๆ บุคคลสำคัญของประเทศ หลายคนที่มีชื่อเสียง มีคุณูปการ พอนานไปคนไทยก็ลืม ไม่ได้นึกถึง คนไทยไม่ค่อยมีนิสัยหรือจิตวิญญาณที่จะรำลึกถึงอดีตโดยเฉพาะตัวบุคคล ฉะนั้นนิตยสาร คู่สร้างคู่สม ไม่ช้าคนก็จะลืม”
คำกล่าวที่ว่ากันว่าไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด หรือ สถานที่ใดในโลก ขอแค่มีคนไทยอยู่ที่นั่นก็จะมี คู่สร้างคู่สม ก็คงจะเลือนหายไป เมื่อ คู่สร้างคู่สม ตัดสินใจที่จะปิดตำนานของตัวเอง
ตำนาน คู่สร้างคู่สม และตำนานบรรณาธิการกล่าว ยอมรับว่า
“ผมรู้สึกใจหายที่ต่อไปนี้จะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งที่รักซึ่งได้ทำมาครึ่งชีวิตอีกต่อไปแล้ว”
Hello !
“ตลอดชีวิตผมเดินทางต่างประเทศตลอด ผมชอบนิตยสาร Hello ! ภาคภาษาอังกฤษ พิมพ์ในประเทศอังกฤษ แต่ก็มีวางขาย ทั่วโลก ชอบเพราะอ่านง่าย เป็นภาษา อังกฤษที่ไม่ยากนัก มีเรื่องราชวงศ์ วงการ บันเทิง กีฬา ทุกวันนี้เวลาไปต่างประเทศ ถ้าเจอ Hello ! ก็จะรีบซื้อ เพราะในไทย เล่มหนึ่งเกือบ ๔๐๐ บาท มันแพง” ด ำรง พุฒตาล ชี้แจงในส่วนของนิตยสาร ไทยว่า ไม่ถึงกับชอบเล่มหนึ่งเล่มใดเป็น พิเศษ แต่ก็อ่านหลายเล่มอยู่เป็นประจ ำ เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ “นิตยสารทั่ว ๆ ไป เจอที่ไหนก็อ่านก็ซื้อมา จะมีก็แต่ หนังสือที่น ำเสนอเกี่ยวกับนิยายเท่านั้น ที่ไม่อ่าน”
Magnum
“ผมชอบชีวิตสัตว์ป่าซาฟารีในแอฟริกา มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เพื่อนคนไทยในโจฮัน- เนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ จะคอยส่งมาให้ ชื่อ Magnum เป็นหนังสือปืน แต่ผมไม่ เคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับปืนเลย ผมอ่านเรื่อง พราน เพราะเมื่อเป็นหนังสือปืนพรานก็ จะซื้อ มีเรื่องที่พรานเขียนมาเล่า ผมสนุก ในการอ่านเรื่องราวที่พรานทั้งหลาย เขียนเข้ามา”