เรื่อง ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรืองและอิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี
ภาพ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
นิตยสารภาพยนตร์ที่ยืนหยัดมากว่า ๕๐ ปีฉบับนี้ เริ่มต้นจากเด็กมัธยมฯ ปลายสองคน
กิจการห้องภาพสุวรรณของครอบครัวเตชศรีสุธีเป็นโรงพิมพ์ขายโปสเตอร์และภาพดารา ในขณะนั้นบุตรชาย สองคนคือชวนไชยและสุชาติ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสุชาย) ที่ยังศึกษาอยู่ สนใจเรื่องหนังและเพลงสากล แต่ก่อนหน้า ชวนไชยผู้เป็นพี่ชายเคยช่วยนักจัดรายการวิทยุคนหนึ่งทำนิตยสารมาก่อน เมื่อเลิกทำไปจึงชวนน้องชายกับเพื่อน มาทำนิตยสารเล่มใหม่ โดยนำภาพกับข้อมูลมาจากหนังสือและนิตยสารภาพยนตร์ต่างประเทศที่ซื้อมาเก็บสะสมไว้
“นิตยสารโดยทั่วไปในท้องตลาดตอนนั้นพิมพ์ด้วยระบบเลตเตอร์เพรส ใช้บล็อก รูปมีเม็ดสกรีนโตๆ ไม่สวย แต่พี่ชายสั่งเครื่องออฟเซตมา เราทำห้องภาพมาก่อน พี่ก็แยกสีเองอะไรเอง เอาให้มันสวยเลย ใช้สกรีน ๒๐๐ ส่วนที่เป็นขาวดำยังคงเป็นบล็อกอยู่”
สุชาย เตชศรีสุธี รำลึกถึงการผลิตนิตยสารในอดีต ก่อนวางจำหน่ายนิตยสาร สตาร์พิคส์ (STARPICS) ฉบับปฐมฤกษ์ ภาพปกศิลปิน เอลวิส เพรสลีย์ ในปี ๒๕๐๘ ยุคที่นิตยสารยังเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่ได้แพร่หลายนัก
การที่ไม่มีนักเขียนชื่อดังเลยสักคน ขณะที่ทีมงานล้วนเป็นเด็กมัธยมฯ ปลายที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ประกอบกับเป็นมือใหม่ในวงการธุรกิจ ทำให้ช่วงแรกนิตยสารขายไม่ดีนัก จนทางครอบครัวเริ่มตั้งคำถาม แม้สุชายจะไม่ได้ริเริ่มงานนี้มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อสังเกตเห็นว่าแต่ละฉบับที่วางแผงไปขายดีขึ้นเป็นลำดับ จึงอยากทำให้ถึงที่สุด
“ผมไม่มีจุดว่าจะทำอะไรช่วยทางบ้าน ช่วยครอบครัวอย่างเดียว สู้สุดฤทธิ์ ดิ้นรนหาทางประคับประคองให้ได้”
ถือเป็นโชคดีที่มาพร้อมกับภาพยนตร์เพลงเรื่องดังอย่าง The Sound of Music - มนตร์รักเพลงสวรรค์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง เมื่อ สตาร์พิคส์ ฉบับที่ ๙ เป็นนิตยสารไทยหนึ่งในไม่กี่เล่มที่ตีพิมพ์ภาพและเนื้อเพลงจากหนังเรื่องนี้อย่างครบถ้วน ทำให้ขายดีมาก เป็นที่รู้จักของผู้อ่านอย่างกว้างขวาง
หลังจากนั้นเมื่อมีผู้อ่านอยากให้นำเสนอเรื่องราวของภาพยนตร์ไทยมากขึ้นกว่าเดิม ทางนิตยสารจึงตัดสินใจเปิด นิตยสาร ดาราภาพ (แปลจากคำว่า starpics) แยกออกมาต่างหาก เพื่อนำเสนอข่าวคราวหนังไทยและภาพถ่ายดาราไทยโดยเฉพาะ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในเวลาไม่นานชวนไชยได้ดึงตัวกองบรรณาธิการ ดาราภาพ ไปช่วยงานสร้างภาพยนตร์ไทย ส่งผลให้ทีมงาน สตาร์พิคส์ ทำแทนต่อไปไม่ไหว จึงต้องปิดตัวไปในที่สุด คงเหลือแต่ สตาร์พิคส์ ที่วางแผงมาจนถึงปัจจุบัน
สตาร์พิคส์ ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปี ๒๕๒๐- ๒๕๓๐ แม้โรงภาพยนตร์แบบ stand alone จะเริ่มซบเซา ก่อนเปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคโรงหนังมัลติเพลกซ์ จนถึงปัจจุบัน นิตยสารก็ยังได้รับความสนใจจากผู้อ่าน เริ่มต้นนั้นแม้ผู้ที่เกี่ยวข้องเองก็ยังคิดว่านิตยสารภาพยนตร์อาจหาโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจได้ยาก เพราะถูกมองว่าเป็นนิตยสารเฉพาะกลุ่ม แต่สุชายยืนยันกับภรรยาผู้ช่วยงานด้านโฆษณาว่า
“หนังเป็นเรื่องบันเทิง ใครๆ ก็อ่านได้”
ความเชื่อและความมั่นใจดังกล่าวดูเหมือนจะสัมฤทธิผล เป็นอย่างดี สตาร์พิคส์ จึงมีโฆษณาทุกประเภท ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ขนม ไปจนถึงเครื่องเขียน มิได้จำกัดเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับหนังหรือเพลงเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่สุชายมองเห็นคือนิตยสารประเภทนี้ต้องปรับตัว ให้ทันกับรสนิยมของวัยรุ่น ซึ่งเป็นคนดูหนังกลุ่มหลักอยู่ตลอดเวลา
“อย่างตอนผมทำขึ้นมา เราเด็ก เรารู้ว่าวัยรุ่นเป็นยังไง เราต้องตามวัยรุ่นให้ได้ว่าตอนนี้ตลาดทำอะไร” บุษบา เตชศรีสุธี บุตรสาว ซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารนิตยสารคนปัจจุบันตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ กล่าวถึง สตาร์พิคส์ ยุคปัจจุบันว่า
“เราทำนิตยสารที่ค่อนข้างเปิดรับผู้อ่าน อ่านไม่ยาก เราไม่ได้เป็นหนังสือวิชาการ มันเป็นหนังสือที่วางอยู่ในบ้าน พ่อ แม่ เด็ก สามารถหยิบมาอ่านได้ทุกเพศทุกวัย แต่ทุกวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงไป หนังสือมีความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น ความบันเทิงทั่วๆ ไปอาจลดลง ก็มีคนอ่านคอมเมนต์มาว่า อ่านยากจัง บทวิจารณ์นี้ปีนบันไดเกินไป เราก็รับฟัง แต่ส่วนมากคนอ่านก็จะมาแก้กันเอง เล่มนี้คนหนึ่งว่ามา แต่อีกคนจะมาบอกว่าผมว่ามันก็ดีนะ”
เอลวิส เพรสลีย์ บนปกแรกของสตาร์พิคส์ และปก โอลิเวียร์ ฮัสซีย์ จาก Romeo and Juliet (ค.ศ. ๑๙๖๘) หนึ่งในปกที่ขายดีของสตาร์พิคส์
ในยุคที่โรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบจากการละเมิด ลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ รวมถึงยังต้องแข่งขันกับบริการ ชมภาพยนตร์แบบสตรีมมิงถูกกฎหมาย แต่บุษบาเชื่อว่า โรงหนังจะยังไม่ตาย เพราะคนดูยังต้องการประสบการณ์ การชมบนจอใหญ่เช่นเดิม เพียงแต่ต้องมีการปรับตัว
“เมื่อก่อนคนไปดูหนังก็คือไปจีบกัน เดี๋ยวนี้อาจจะดู ที่บ้านได้ คนไปดูหนังอาจเปลี่ยนกลุ่ม อย่างคุณแม่ชอบไปดูหนังที่โรงเพราะมันไม่เหมือนดูหนังที่บ้าน การดูหนังที่โรงมันก็มีอรรถรสที่ไม่เหมือนกัน คนดูทุกวันนี้อาจต้องการกิจกรรม เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ได้ตัดสินที่หนังดีหรือไม่ดี แต่ว่าไปดู เพราะอะไรมากกว่า เช่นเอาหนัง Star Wars จากภาคแรก มาฉายเป็นอีเวนต์ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าโรงหนังไม่หาย แต่โรงหนังต้องเปลี่ยนวิธีคิด หนังสือเองก็เหมือนกัน”
เธอยอมรับว่าในช่วงหลายปีมานี้คนหันไปอ่านข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของภาพยนตร์บนโซเชียลมีเดีย สตาร์พิคส์ เองก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน แต่เธอเชื่อว่าการปรับตัวจะทำให้นิตยสารยังไม่หายไปไหน
“ตั้งแต่โตมาก็เห็นมีปัญหาตลอด ตอนเด็ก ๆ เราก็รู้สึกว่าไม่ทำหรอก ดูแล้วไม่ราบรื่น ไม่แปลกหรอกที่คนยุคนี้จะไม่ทำหนังสือ เพราะว่ามันยาก เป็นงานที่เหนื่อย ละเอียด วุ่นวาย แต่ก็ต้องถามใจตัวเองว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร คิดว่าหนังสือคงไม่ได้หายไปเลย มันคงจะเหลืออยู่เฉพาะเล่มที่มันควรจะอยู่จริง ๆ”
ดาราภาพ ชื่อภาษาไทยของนิตยสาร กลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่อยู่คู่กับ สตาร์พิคส์ มาอย่างยาวนาน สุชายเล่าที่มาว่า เดิมทีชวนไชยอัดภาพดาราชื่อดังมาวางขาย ซึ่งในอดีตภาพสีไม่ได้หาง่าย ๆ ดังนั้นในยุคแรกๆ ต้องนำภาพขาวดำมาลงสีเอง แม้ในปัจจุบันภาพเหล่านี้จะลดจำนวนลง แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในภาพที่สวยงามมาตลอด
คอลัมน์ในอดีตที่ได้รับความนิยมก็ยังอิงกับ “ภาพ” ดังเช่น “Staedtler Art Club” คอลัมน์วาดภาพที่สนับสนุนโดยเครื่องเขียน Staedtler ที่ให้ผู้อ่านทางบ้านส่งภาพวาดมาลง และมีผู้เชี่ยวชาญติชม พร้อมให้รางวัลรูปที่ได้รับการคัดเลือกประจำฉบับ
“คนอ่านสตาร์พิคส์เป็นลักษณะที่ชอบดูรูปเยอะ แล้วก็ชอบงานแบบประมาณนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่วาดรูปเหมือนหรือลายเส้น หลังจากที่หยุดคอลัมน์นี้ไปเราก็มีประกวดแฟนอาร์ต ตั้งหัวข้อแล้วให้คนเขียนเข้ามาอะไรประมาณนั้น อยู่เหมือนกัน” บุษบากล่าว
อีกคอลัมน์ที่อยู่กับ สตาร์พิคส์ มายาวนานคือ “The Critics’s Picks & Pans” ที่รวบรวมความเห็นจากบทวิจารณ์ต่างประเทศ กับ “ดูหนังในหนังสือ” คอลัมน์วิจารณ์หนัง ขณะที่นักเขียนและนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคนแจ้งเกิด
จากคอลัมน์ “ที่ตรงนี้คุณเขียน” เช่น กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ซึ่งต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตอบจดหมายเรื่องหนังจากคนอ่าน ผ่านคอลัมน์ “ตอบจดหมาย โดยบรรณาธิการ” ในนามปากกา “ทิวลิป” (เดิมเป็นนามปากกาของ มานิจ โมฬีชาติ) จนมีผู้ตั้งฉายาให้ว่าเป็นเอนไซโคลพีเดียด้านภาพยนตร์
รวมถึงนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคน อาทิ ประวิทย์ แต่งอักษร กฤษดา เกิดดี วาริน นิลศิริสุข ก็เริ่มต้นจากการส่งผลงานตีพิมพ์ที่นี่ตั้งแต่ยังเรียนอยู่
หลายครั้งคอลัมน์ “ตอบจดหมาย โดยบรรณาธิการ” ที่ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็สร้างกำลังใจให้แก่คนทำงานอีกด้วย
“เมื่อไม่นานมานี้เขียนลงคอลัมน์ ‘เปิดม่าน’ (บท บรรณาธิการ) บ่นๆ ว่าไม่รู้ว่าจะทำถึงเมื่อไร อารมณ์แบบไม่แน่ไม่นอน ก็มีจดหมายเข้ามาว่ามีเพื่อนเป็น สตาร์พิคส์ มาแล้วกี่ปกๆ เขาอยากให้กำลังใจ อยากจะให้ยังมีอยู่ทุกเดือน เขาเอาบทบรรณาธิการที่คุณพ่อเขียนเมื่อ ๓๐ ปี ที่แล้วมาให้กำลังใจเรา โอ้โฮ ! เขายังจำได้เลยนะ มันนานมาก หรือบางคนส่งภาพหนังสือทุกเล่มที่เก็บมาตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน เยอะมาก บางคนก็เก็บฉบับละสองเล่ม คือมันเป็นความผูกพัน กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตเขา”
หากเทียบกับนิตยสารหนังอีกหลายเล่ม สตาร์พิคส์ ยืนระยะการจำหน่ายมาได้ยาวนาน หากแต่ก็ต้องผ่านการปรับตัวหลายครั้ง ช่วงที่ได้รับความนิยมเคยวางแผงเป็นรายปักษ์ นำเสนอข่าวสารของวงการภาพยนตร์และดนตรี ก่อนที่จะแยกฉบับออกเป็นเรื่องหนังและเพลง แต่ฉบับเพลงได้ปิดตัวไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ส่วนปัจจุบันวางจำหน่าย เป็นรายเดือนในราคา ๘๐ บาท
ทาง สตาร์พิคส์ เปลี่ยนทีมงานมาแล้วหลายรุ่น นอกจากนี้ยังเคยเปิดร้านขายโปสเตอร์และของสะสมจากภาพยนตร์ ตามโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รวมถึงไปออกบูทกับร้านหนังสือเครือต่างๆ อีกด้วย
“ผมทำอะไรก็ตาม ผมไม่เลิกง่ายๆ ผมสู้ สู้จนสุดฤทธิ์” สุชายกล่าว แม้จะยอมรับว่าวิกฤตของนิตยสารปัจจุบัน หนักกว่าทุกครั้งก็ตาม
สิ่งที่มีส่วนช่วยสนับสนุนนิตยสารในปัจจุบันคือการพิมพ์ฉบับพิเศษในวาระต่าง ๆ ถือเป็นการเสริมรายได้ที่ค่อนข้างไปได้ดี ไม่ว่าจะเป็น สตาร์พิคส์ ฉบับ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ฉบับหนังสยองขวัญ ฉบับสตูดิโอจิบลิ ผู้สร้างแอนิเมชัน ชื่อดังของญี่ปุ่น ฯลฯ
ฉบับพิเศษซึ่งขายดีบางฉบับเช่นฉบับสตูดิโอจิบลิ กลับไม่ใช่หนังที่มีคนดูวงกว้าง นั่นทำให้การพิมพ์ฉบับพิเศษต่างๆ ถูกพิจารณาเรื่องที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่นฉบับ LGBT ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับเพศที่ ๓ หรือฉบับหนังชีวประวัติ
อีกสิ่งที่ทำคือการจัดงานมอบรางวัล Starpics Thai Films Awards ให้แก่ภาพยนตร์ไทย โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นช่วงที่หนังไทยเริ่มกลับมาได้รับความสนใจจากคนดูอีกครั้ง
“คุณเกรียงศักดิ์ (เกรียงศักดิ์ เตชะเกรียงไกร บรรณาธิการ บริหารขณะนั้น) และคุณวิโรจน์ (วิโรจน์ สุทธิสีมา นักวิจารณ์ภาพยนตร์) เขาคิดกันว่าน่าจะมีการให้รางวัลหนังไทย จะได้เป็นการช่วยโปรโมตหนัง คนอ่าน สตาร์พิคส์ ก็เอียงไปทางหนังฝรั่งเยอะ ซึ่งทุกปีเราก็มีการสำรวจความคิดคน ก็จะมีให้โหวตว่าชอบหนังไทยเรื่องไหน หนังฝรั่งเรื่องไหน แต่หลายคนเขียนมาว่าไม่ดูหนังไทยเลย เราก็เลยรู้สึกว่าอย่างน้อยให้เขาได้รู้ว่ามีหนังไทยอะไรบ้างในแต่ละปี”
สตาร์พิคส์ ยังยืนยันที่จะยืนหยัดอยู่บนแผงหนังสือต่อไป และมีแผนการในอนาคตที่จะย้ายที่ทำงานใหม่ ไปจนถึงแนวคิดเก็บบันทึกเล่มในอดีตด้วยรูปแบบดิจิทัล หรือการปรับตัวของคอนเทนต์สู่ออนไลน์อย่างค่อยเป็นค่อยไป
บุษบามองเห็นคุณค่าจากการทำงานนิตยสารในยุคที่กระแสของสื่อมุ่งไปทางออนไลน์ว่า
“การทำนิตยสารทำให้มีโอกาสได้สื่อสารอะไรที่อยู่ในใจ แสดงความคิด แสดงตัวตนของเราหลายๆ อย่าง ตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้สึกว่าบทบันทึกมันจะสำคัญอะไรนักหนา จนพอเราอายุมากขึ้นแล้วย้อนไปดูไดอะรีเก่าๆ
“...หนังสือก็ทำหน้าที่นั้น มันเป็นบทบันทึกหรือไทม์แมชชีน”
สตรีสาร นิตยสารเล่มแรกในชีวิตที่ซื้ออ่านเอง เลยกลายเป็นอะไรที่อยู่ในความทรงจำ ในเล่มจะมีทั้งนิทานภาพสำหรับเด็ก เกม มุมระบายสี หาเพื่อน เขียนกลอน ครั้งหนึ่งยังเคยคิดเล่นๆ ว่า STARPICS น่าจะทำเป็นฉบับจูเนียร์ ออกแนว edutainment สำหรับเด็กบ้างเหมือนกัน
a day ฉบับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เลือกฉบับนี้ก็เพราะว่าชอบสำนักพิมพ์ผีเสื้ออยู่แล้วด้วย โตมากับการอ่านหนังสือแปลจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ แล้วก็ชอบในความใส่ใจ พิถีพิถัน ยิ่งได้อ่านข้อมูลในเล่มนี้ที่พาไปรู้จักคนที่ทำงานในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ซึ่งไม่ได้มีกันมากมาย แต่ว่าทำด้วยใจรักจริงๆ
STARPICS เป็นนิตยสารที่ผูกพันกับชีวิตของเรา ชนิดที่ว่าเกิดและโตมากับ STARPICS จริงๆ ตรงตามตัวอักษรเลย แม้ว่าหลายๆ ครั้งมันจะเป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเหนื่อยบ้างก็ตาม แต่เหมือนเป็นตัวตนของเราที่หนีไม่พ้น ถึงแม้วันใดวันหนึ่งจะต้องหายไป มันก็คงยังอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ