Image
กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบงเป็นกลุ่มที่ “พี่ฉัตร”-ทิพย์อุสา จันทกุล รวมเยาวชนในพื้นที่ให้มาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้เกิดการอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ของตัวเองได้
Image
เสน่ห์ทะเลดุหยง
พาคนรุ่นใหม่กลับบ้าน
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : ปณิชา ปานกลาง
ภาพ : กัญจน์ มั่นจีระ
เกลียวคลื่นขนาดใหญ่สาดซัดเป็นระลอกเข้าหาประติมากรรมหินที่สรรค์สร้างจากฝีมือธรรมชาติ เวิ้งทะเลจดแผ่นขอบฟ้าสีแดงอมส้มยามพระอาทิตย์อัสดงที่สะพานหินคือฉากหลังอันงดงามราวกับภาพวาด

ในความเงียบสงบ เสียงคลื่นกระทบโขดหินดังก้อง ใครคนหนึ่งบอกเราว่าช่างเหมือนภาพสะท้อนชีวิตของเธอและเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายคนที่ต้องผ่านด่านทดสอบมากมาย แรงกระทบจากปัจจัยภายนอกคือบทพิสูจน์ว่าร่างกายและจิตใจมีกำลังต้านไหวแค่ไหน

หนุ่มสาวผู้เกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดินที่ล้อมรอบด้วยผืนน้ำ ออกเดินทางไปใช้ชีวิตตามเส้นทางที่ตนเองเลือกโลกข้างนอกกว้างใหญ่รอคอยให้พวกเขาและเธอเสาะแสวงหาประสบการณ์ ครั้นถึงช่วงเวลาหนึ่งเงื่อนไขบางอย่างในชีวิตนำพาพวกเขาและเธอหวนกลับบ้านอีกครั้ง

ณ ถิ่นดุหยง บนเกาะลิบง

กลับมา
เป็นตัวเอง
ที่บ้านเกิด

เรือหางยาวค่าตั๋วเพียง ๕๐ บาท ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะรับส่งผู้คนสัญจรข้ามฟากไปมานับครั้งไม่ถ้วน จากท่าเรือหาดยาวมุ่งหน้าสู่เกาะลิบงใช้เวลาเดินทางราว ๒๐ นาที

เกาะลิบงเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศใต้ของท่าเรือประมาณ ๓ กิโลเมตร คลื่นทะเลแรงซัดเรือจนโคลงเคลงไปมาแต่ไม่น่ากลัวมากนัก อาจเพราะรู้สึกไว้ใจคนขับเรือมากประสบการณ์ที่อยู่กับอาชีพนี้มาเกือบครึ่งชีวิต

เรือจอดเทียบท่าที่ท่าเรือบ้านพร้าว รถซาเล้งพ่วงข้างซึ่งเป็นยานพาหนะหลักในการเดินทางทั้งในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนและบริการรับส่งนักท่องเที่ยวไปยังจุดต่าง ๆ มารอรับเราเพื่อเดินทางไปยังที่พัก

เกลียวคลื่นสีขาวม้วนตัวซัดเข้าหาผืนทรายเป็นจังหวะคือเสียงแรกที่ได้ยินเมื่อก้าวลงจากรถซาเล้งพ่วงข้าง ทิวมะพร้าวริมทะเลโอนเอนเมื่อลมพัดโชยมา ให้ความรู้สึกเย็นสบาย ฉัตร-ทิพย์อุสา แสงสว่าง วัย ๔๔ ปี เป็นบุคคลแรกที่เข้ามาต้อนรับเรา เธอคือเจ้าของลิบงแคมป์โฮมสเตย์และร้านกาแฟเล็ก ๆ พ่วงด้วยบทบาทอาสาสมัครนักอนุรักษ์แห่งเกาะลิบง

ฉัตรเป็นผู้หญิงโฉบเฉี่ยวและมั่นใจ เธอสวมเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด โพกศีรษะด้วยผ้ารูปโลมา และสวมสร้อยคอรูปพะยูนตัวน้อยที่ทำจากไม้เทพทาโร บุคลิกที่เป็นกันเองและเข้าถึงง่ายทำให้เราผ่อนคลายเมื่อได้เริ่มต้นทำความรู้จัก  ฉัตรยืนประจำที่เคาน์เตอร์ร้านกาแฟ เราแนะนำตัวและชวนคุยถึงเรื่องราวชีวิตของเธอ

“ตอนกลับมาอยู่บ้านใหม่ ๆ พี่ก็ไม่ชินนะ เคยทำงานทุกวันแต่ต้องมาปรับตัวให้ชีวิตมันช้าลง”

ฉัตรเป็นคนเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยกำเนิดชีวิตเธอผูกพันกับทะเลตั้งแต่เล็กจนโต แต่การออกไปเรียนหนังสือ ทำงาน และใช้ชีวิตข้างนอกก็ทำให้ไม่ได้กลับบ้านบ่อยนัก เส้นทางชีวิตไม่ได้แตกต่างจากหนุ่มสาวคนอื่นเท่าไรที่เมื่อถึงเวลาก็อยากออกไปหาประสบการณ์
Image
แรกเริ่มเดิมที “พี่ฉัตร” อาสาสมัครแห่งเกาะลิบง จังหวัดตรัง ออกไปทำงานนอกชุมชนและไม่ได้สนใจเรื่องการอนุรักษ์เลย แต่ท้ายสุดก็เลือกกลับบ้านเกิดและเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงอีกด้วย
อาสาสมัคร
พิทักษ์ดุหยง

“คนในชุมชนเกาะลิบงรักและผูกพันกับพะยูนเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่ใช่แค่มาเรียม แต่กระแสของมาเรียมทำให้คนข้างนอกรู้จักกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงและตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ในแถบทะเลอันดามัน เกาะลิบงถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ที่สุดและเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของพะยูนฝูงสุดท้ายในประเทศไทย ที่นี่จึงถูกขนานนามว่าเป็นบ้านของพะยูน หรือชื่อในภาษามลายูเรียกว่าบ้านดุหยง มีความหมายว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล
Image
Image
Image