Image
ครุฑ-เก่อเส่ทู คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ผู้ริเริ่มโรงเรียนขยะลอแอะ (ขยะน่ารัก) โดยจะสอนเด็กๆ ให้รู้จักรักสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากขยะ อย่างนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาทำเครื่องดนตรีเตหน่า
Image
ขยะลอแอะ
ภารกิจกลับบ้าน ฟื้นฟูขยะ
และวิชาปกาเกอะญอ
ของ เก่อเส่ทู ดินุ
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์ 
ภาพ : ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล
ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไฟฟ้า น้ำประปา และถนนที่เข้าถึงชุมชนบ้านหนองเต่าตลอด ๔๐ ปี ปริมาณขยะที่แปรผันตามความสะดวกคือสิ่งกระตุกให้ครุฑ-เก่อเส่ทูตัดสินใจหวนกลับมาอยู่บ้านเกิดอย่างจริงจัง และลุกขึ้นมาเก็บ คัดแยก สร้างคุณค่าให้กับขยะ
บนทางหลวงชนบทหมายเลข ๑๐๑๓ ท่ามกลางเส้นทางเขาคดเคี้ยวที่เหล่านักท่องเที่ยวนิยมขับรถผ่านเพื่อเดินทางไปยังดอยอินทนนท์ จุดมุ่งหมายหลักคงหนีไม่พ้นการยลโฉมธรรมชาติที่งดงามบนดอย ในขณะที่เส้นทางขับผ่านคงเป็นเพียงดงต้นไม้สูงให้ได้ทอดมองพักสายตา ทว่าหากชะลอรถช้าลงสักนิด คุณอาจสังเกตเห็นกองขยะหลายสิบจุดซุกซ่อนอยู่ตามข้างทางไม่ใช่ธรรมชาติที่งดงามอย่างที่คิด

นี่คือสิ่งที่ครุฑ-เก่อเส่ทู ดินุ มองเห็นและมองเป็นปัญหาที่ต้องลงมือแก้ไข ไม่ใช่เพราะเขาขับรถช้ากว่าคนอื่นแต่อย่างใดหากเพราะที่นี่คือบ้านของเขา บ้านและถนนที่เขาสัญจรผ่านเป็นประจำทุกวัน ณ ชุมชนบ้านหนองเต่า ๑ ใน ๑๓ หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอจากทั้งหมด ๑๙ หมู่บ้าน ใต้เขตการปกครอง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไฟฟ้า น้ำประปา และถนนที่เข้าถึงชุมชนบ้านหนองเต่าตลอด ๔๐ ปี ปริมาณขยะที่แปรผันตามความสะดวกคือสิ่งกระตุกให้ครุฑตัดสินใจหวนกลับมาอยู่บ้านเกิดอย่างจริงจังและลุกขึ้นมาเก็บ คัดแยกสร้างคุณค่าให้กับขยะ เริ่มต้นจากตัวคนเดียวจนกลายเป็น “โรงเรียนขยะลอแอะ” ที่รวมเยาวชนกว่า ๓๐ ชีวิตมาร่วมเก็บขยะทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนขยายสู่การสร้างวิชาชุมชนที่ชวนผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่มาเรียนรู้วิถีชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ

เมื่อบ้านที่อาศัยอยู่ทุกวันไม่สะอาด หากคนในบ้านมองไม่เห็นแล้วใครจะเห็น และหากมองเห็นแต่ไม่ลงมือทำแล้วใครจะทำ
Image
“ตามสบายนะ คิดซะว่าที่นี่เหมือนที่บ้าน” ชายหนุ่มวัย ๓๙ ปีในเสื้อพื้นบ้านและกางเกงขายาวสบาย กล่าวต้อนรับด้วยรอยยิ้มพร้อมผายมือเชิญชวนให้เราก้าวเข้าสู่บ้านของเขาซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นห้องเรียนขยะลอแอะ หลังใช้เวลาเดินทางร่วม ๒ ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนพาชมพื้นที่โดยรอบ

ผิวกรำแดดของคนตรงหน้าบ่งบอกว่าห้องทำงานของเขาไม่ใช่ออฟฟิศแบบคนเมือง แต่เป็นผืนนาและผืนป่า เพราะหากไม่เห็นตัวเรือนห้องเรียนไม้ไผ่ ที่นี่คงเรียกได้ว่าเป็นฟาร์มขนาดย่อม หันไปทางซ้ายก็เจอโรงเรือนเลี้ยงเป็ดและไก่ อีกทางมีแปลงผักและผลไม้ นาข้าวขนาดเล็ก บ่อปลาดุก เดินลึกเข้ามาอีกนิดเป็นลานจัดเก็บขยะที่กองแยกประเภทไว้ ถัดไปเป็นทางเดินไปยังห้องน้ำสีสันสดใสที่ทำมาจากขวดเครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบ้านดินที่ใช้ยางรถยนต์เก่าประยุกต์เป็นหน้าต่าง
Image
การทำเตหน่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๒-๓ วัน เนื่องจากต้องรอให้สีและแล็กเกอร์เคลือบไม้แห้ง จึงจะขึงสายได้
“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือในชุมชนเริ่มมีขยะมากขึ้น ประมาณ ๑๐-๒๐ ปีก่อนเราแทบมองไม่เห็นขยะแต่ทำไมทุกวันนี้มีถนนดี มีไฟฟ้า มีน้ำประปา ขยะกลับเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน เราเลยมองว่าต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว”
Image
กองขยะที่ถูกทิ้งจากฝีมือคนนับร้อย จะแก้ไขด้วยมือคู่เดียวก็คงเป็นไปได้ยาก คงจะดีไม่น้อยถ้ามีคนมาช่วยลงมือเก็บขยะเพิ่ม แต่ใครเล่าจะสนใจ

“ตี่แอ้ เล่นอะไร ช่วนสอนหน่อยได้ไหม” คำถามจากเด็ก ๆในหมู่บ้านที่เกิดขึ้นหลังได้ยินเสียงเพลงจากเตหน่า เครื่องดนตรีท้องถิ่นของชนเผ่าปกาเกอะญอที่ครุฑหรือพะตี่แอ้ชอบเล่นยามว่างหลังเก็บขยะในแต่ละวันกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
Image
Image