Image
ทุ่งนาสีเขียวและอากาศเย็นกำลังดี
เหมาะสำหรับทำกิจกรรมที่ “ละอ่อนโฮม” 
จัดเตรียมไว้ให้เด็กๆ เล่นและเรียนรู้ร่วมกัน

Image
“ละอ่อนโฮม”
บ้านสร้างเด็ก
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : ปาลิดา วีระวัฒน์
ภาพ : อภิสิทธิ์ ปานวิเศษ
“ถุงใบใหญ่ ใส่วีว่า ใส่ออก้า ใส่ออโต้ ใส่อันนา ใส่ภูชิก ใส่ข้าวหอม ใส่มายเดียร์ ใส่ก้ามปู ใส่ปั้นแป้ง ใส่โมเดียว ใส่ชีตาร์…”
เด็กวัยกำลังซน ๑๐ กว่าชีวิตร้องขานชื่อของตนเองและเพื่อน ๆ ต่อกันไปเรื่อย ๆ ตามกติกาที่กำหนด เสียงเจื้อยแจ้วยิ่งกว่านกแก้วนกขุนทองนี้ดังมาจากบ้านกึ่งไม้กึ่งปูนสองชั้นหลังหนึ่งในชุมชนบ้านหนองเลา พื้นที่ชนบทเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาในอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

หญิงอายุราว ๓๐ ปีท่าทางใจดีกำลังพาเด็ก ๆ ที่มารวมตัวกันเข้าสู่กิจกรรมแรกของวันตามกำหนดการ นั่นคือ “ถุงใบใหญ่” เป็นการแนะนำตัวและสร้างความคุ้นเคยระหว่างกลุ่มคนที่ยังไม่เคยพบกันมาก่อน ถึงแม้เด็กส่วนใหญ่จะรู้จักกันดีอยู่แล้วเพราะอาศัยอยู่ในบ้านหนองเลาและบ้านธาตุภูซางที่อยู่ติดกัน แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษที่มีสมาชิกใหม่เดินทางมาจากตัวอำเภอเชียงคำ ซึ่งอยู่ห่างไปจากอำเภอภูซางประมาณ ๑๕-๒๐ นาที มาร่วมกิจกรรมด้วย การแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่จึงถือเป็นเรื่องจำเป็น

กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มละอ่อนโฮม มีแอมมี่-กัญธิมา มงคลดี และภูซาง-วรสถิตย์ บัวแดง อดีตนักกิจกรรมหนึ่งคู่ที่ตัดสินใจกลับบ้านเพื่อมาทำงานพัฒนาศักยภาพเด็กและชุมชนเป็นหัวเรือใหญ่

“เรากลับบ้านมาเป็นนักจัดการชุมชน”

ก่อนจะกลับบ้าน

ฉันเชื่อว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ แต่ต่างจากการเรียนรู้ของเด็กวัยฟันน้ำนมอยู่มาก เพราะด้วยอายุที่ถือว่าเข้าใกล้วัยผู้ใหญ่มากขึ้นอีกขั้น ความอิสรเสรีก็มากขึ้นตาม สิ่งนี้ทำให้วัยรุ่นสำรวจโลกได้กว้างขึ้น ตั้งคำถามกับโลกรอบตัว ซึ่งนำไปสู่การหาคำตอบและลงมือแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ได้จริง

แอมมี่เล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักกิจกรรมจากเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว หลังมีโอกาสไปเข้าค่ายอาสาบำเพ็ญประโยชน์ตามพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเชียงรายที่กำลังศึกษาอยู่ จนเริ่มต้นเรียนรู้และมองเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ของสังคมมากขึ้น ประกอบกับเวลานั้นทางบ้านของเธอประสบปัญหาถูกกลั่นแกล้งเรื่องสิทธิที่ดิน ทำให้เธอตระหนักว่าปัญหาในสังคมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

ต่อมาแอมมี่จึงเลือกไปทำงานกับมูลนิธิที่ดูแลประเด็นเรื่องที่ดินทำกิน ที่ดินที่มีข้อพิพาท จนมีโอกาสได้ลงพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ  ทั้งชุมชนที่พี่น้องร้องเรียนเรื่องเหมืองแร่ การสร้างเขื่อนหรือชุมชนชาติพันธุ์ที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินในเขตป่ากับภาครัฐและนายทุน

“เราศึกษาลงพื้นที่มาโดยต่อเนื่อง แล้วเห็นว่าสังคมมันมีอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลที่เขาให้ชาวบ้านและนักศึกษาเป็นด้านที่เขาอยากให้รู้เท่านั้น เราเห็นว่าโลกไม่ได้ยุติธรรมเลยเลือกมาทำงานด้านนี้”

ประสบการณ์จากการลงพื้นที่จริงทำให้เธอตระหนักถึงความไม่ยุติธรรมของสังคม ได้สัมผัสปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย จนกระทั่งเล็งเห็นว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ไปมาก

“สังคมชนบทในไทยเป็นสังคมแหว่งกลาง” คือคำอธิบายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ครัวเรือนในสังคมชนบทส่วนมากประกอบด้วยคนสองรุ่น คือรุ่นปู่ย่าตายายและวัยเด็ก ช่วงวัยที่หายไปคือวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน ซึ่งต้องออกไปแสวงหาโอกาสในพื้นที่อื่นอย่างในเมืองหลวง เพราะพื้นที่บ้านเกิดล้มเหลวในฐานะการเป็นพื้นที่ให้พวกเขาเติบโต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การงานหรือแม้แต่จะหยิบยื่นและต่อยอดความฝัน
Image
พี่แอมมี่ - กัญธิมา มงคลดี อธิบายว่าวันนี้เด็กๆ จะทำกิจกรรมอะไรกันบ้างและร่วมเล่นเกมด้วยกันก่อนจะทำกิจกรรมอื่นๆ

เริ่มต้นไม่ง่าย

“พอกลับบ้านมาหลังจากไม่ได้อยู่บ้าน ๑๐ กว่าปี สังคมเหมือนเดิมเลย กลับมาบ้านแผนพัฒนาชุมชนก็หนีไม่พ้นแค่สามเรื่อง คือ น้ำ ถนน ไฟฟ้า”

ภูซางเล่าว่า “บ้าน” ที่เขากลับมา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากบ้านในความทรงจำเมื่อ ๑๐ ปีก่อนนัก

“สังคมต่างจังหวัดหรือชุมชนรอบนอกมีอะไรให้ทำไม่กี่อย่างไม่มีร้านหนังสือเหมือนในเมือง ไม่มีพื้นที่ให้กิจกรรมต่าง ๆ เช่นเราชอบเต้น มันจะมีพื้นที่ให้ไปเต้นมั้ย  เราชอบเล่นดนตรี จะมีพื้นที่ให้เล่นดนตรีหรือเปล่า  ชอบภาษา มีพื้นที่ให้ไปเรียนไหมฉะนั้นการรวมกลุ่มของเด็กบ้านนอกอย่างเราก็คือชวนเพื่อนมานั่งกินเหล้า แล้วก็หนีไม่พ้นชกต่อยมีเรื่องกันซึ่งตอนวัยรุ่นเราก็เป็น”

พวกเขามองว่าเมื่อความเจริญจากภายนอกรุดหน้าเข้ามา แต่พื้นที่ชนบทยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพของคน พวกเขาจึงมุ่งวางแผนพัฒนาชุมชนผ่านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่
Image
Image