Image
“อนาคต” งานหัตถกรรมลำปาง : โคมสายลมคือโคมล้านนาร่วมสมัยในมือของป่าน-วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์ คนลำปางรุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจการทำโคมจากโคมล้านนาในอดีตผสมผสานร่วมกับลวดลายจากวัฒนธรรมลำปาง 
Image
“GHOM LANNA”
แสงไฟดวงเล็กแห่งเมืองลำปาง
Road to Hometown
คนรุ่นใหม่มาให้บ้านเกิด

เรื่อง : คคนางค์ ขามธาตุ
ภาพ : ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช
แสงไฟนับสิบดวงจากโคมล้านนารูปทรงต่าง ๆ กำลังสาดส่องจากตัวบ้านสองชั้นหลังหนึ่งในชุมชนท่ามะโอ ชุมชนเก่าแก่แห่งเมืองลำปาง ท่ามกลางบรรยากาศยามเช้าอันเงียบสงบ บ้านเรือนหลายหลังเริ่มปิดไฟหน้าบ้าน เพราะแสงสว่างจากดวงอาทิตย์กำลังเข้ามาแทนที่ 

ทว่าสำหรับบ้านสองชั้นหลังนี้ ไฟดวงเล็กเพิ่งเริ่มส่องแสงเพื่อเริ่มต้นสู่วันใหม่

“GHOM LANNA Studio” บ้านและห้องทดลองของป่าน-วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์ หนุ่มลำปางผู้มีใจรักในงานหัตถกรรมท้องถิ่นอย่างโคมล้านนา
านนาของลำปางให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มคนได้ง่ายขึ้น ด้วยการทำให้มีรูปแบบที่ย่อยง่าย ทันสมัย และนำไปใช้ได้ในทุกโอกาส
.
เมื่องานหัตถศิลป์พื้นบ้านต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับโคมล้านนาลำปาง โคมลูกใหม่กำลังมาแทนที่โคมลูกเก่าที่อ่อนแสง กระนั้นโคมทั้งสองก็ยังคงช่วยกันส่องสว่างให้เมืองลำปาง

✲ จุดประกายโคม ✲
ห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดไม่ใหญ่นัก มองไปทางไหนก็เห็นความสว่างไสวของโคมล้านนารูปทรงต่าง ๆ ทั้งที่เคยพบเห็นอยู่บ่อยครั้งและแปลกตา ดึงดูดสายตาให้อยากเดินชมรอบ ๆ ได้ไม่ยาก โคมล้านนาที่เห็นในบ้านหลังนี้มีรูปทรงเหมือนหูกระต่าย ดอกบัว ดาว บางลูกดัดแปลงเป็นรูปทรงปลาบางลูกก็เหมือนโคมล้านนาดั้งเดิม แต่เปิดเปลือยโครงสร้างให้เห็นงานไม้ไผ่อันประณีตดูแล้วทันสมัย มีทั้งแบบแขวนและแบบตั้งโต๊ะตามแต่ผู้รังสรรค์

ณ ที่แห่งนี้ บ้านหลังเล็ก ๆ ใจกลางตัวเมืองลำปางเรื่องราวของป่านเริ่มต้นขึ้น

“ผมผูกพันกับลำปางครับ ตอนแรกมีแนวคิดก่อนว่าอยากกลับบ้านมาทำอะไรสักอย่าง”

จากนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่กำลังหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี สู่คนรุ่นใหม่ที่อยากใช้ผลงานของตัวเองบอกเล่าเรื่องราวของลำปางบ้านเกิดผ่านโคมล้านนาร่วมสมัย

ความผูกพันต่อบ้านเกิดก่อกำเนิดแรงบันดาลใจ ผสมผสานกับความชอบงานไม้และงานพับกระดาษ ซึ่งเป็นความถนัดของตัวเองด้วย ป่านจึงอยากให้ผลงานวิทยานิพนธ์ถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นของบ้านเกิด และเชื่อมโยงกับงานวัสดุธรรมชาติแบบที่ตัวเองชอบ ลำปางจึงเป็นสถานที่แรกที่ป่านนึกถึง แล้วกลับมาสำรวจดูสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรบ้าง

“ผมนึกถึงงานประเพณียี่เป็ง ชอบบรรยากาศภายในงาน มันมีแสงไฟ มีโคมล้านนาแปลก ๆ เยอะ แต่ละรูปแบบก็ใช้ในงานที่แตกต่างกัน เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากพัฒนาโคมล้านนาลำปางให้ร่วมสมัยมากขึ้น”
Image
มรดกศิลปะ “โคมล้านนา” : พ่อครูมณฑล ปินตาสี สล่าโคมล้านนา (ช่างทำโคมล้านนา) ชี้ชวนชมโคมม่านแปดเหลี่ยมซึ่งมีลักษณะของโครงสร้างไม้ไผ่ประกอบกันทั้งหมดแปดทิศ มีรูปทรงและลวดลายพม่าผสมกับศิลปะล้านนา
ป่านเริ่มศึกษารูปแบบและลวดลายของโคมล้านนาลำปางผ่านปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง รวมถึงเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับแม่ครูที่เชียงใหม่ เพื่อเก็บเป็นเทคนิคและองค์ความรู้เล็ก ๆ ของตนเอง 

“ผมก็ลองดูว่ามีโคมล้านนาที่ไหนบ้าง ดูรูปแบบ ดูโอกาสที่จะเป็นไปได้ เมื่อค้นคว้าข้อมูลก็พบว่าพ่อครูมณฑล ปินตาสีเป็นต้นตำรับของการทำโคมล้านนาลำปางในบ้านวังหม้อใกล้บ้านผมด้วย”

เข้าไปนั่งคุยและฝึกทำอยู่เป็นเดือน จึงเกิดแรงบันดาลใจและหาจุดที่อยากพัฒนางานเจอ

“พ่อครูช่วยเสนอไอเดียให้ตลอด ‘ทำแบบนี้ไหม ทำแบบนี้ได้นะ’ โคมล้านนาจะมีรูปแบบแปลก ๆ เยอะอยู่แล้ว เลยนำมาเล่นได้เยอะครับ แล้วพ่อครูเองไม่ได้จำกัดว่าแบบนี้ผิดหรือถูก หรือลวดลายนี้นำมาใช้แบบนี้ไม่ได้นะ เขาไม่ห้าม เพราะเขาเข้าใจความร่วมสมัยที่อยากจะพัฒนา เข้าใจเป้าหมายของหัวข้อผมว่าจะทำแนวไหน พ่อครูจึงเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างจะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ให้ลำปาง”
✲ แสงสว่าง ✲
ของโคมลูกใหม่

แช็ก แช็ก

โต๊ะทำงานคราฟต์ขนาดกะทัดรัด มีอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับงานหัตถศิลป์วางอยู่เป็นระเบียบ ชายหนุ่มกำลังจุดไฟแช็กลนบนเส้นไม้ไผ่ที่เหลาเอง ดัดแปลงเป็นรูปร่างอย่างตั้งใจ เพื่อสาธิตวิธีทำโคมที่เขาออกแบบใหม่ ซึ่งก็มาจากการจับเทคนิคของรูปทรงนู้นนิดรูปแบบนี้หน่อย นำมาผสมผสานกลายเป็นโคมล้านนาร่วมสมัย ที่รวมหลายโครงสร้างของโคมล้านนาดั้งเดิมไว้

“โคมสายลมเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ของผม นำโครงสร้างหลักมาจากโคมดาว โคมผัด และโคมเพชรดอกบัว”
“พ่อครูของผมเคยสอนว่า ‘ของบ่กินฮู้เน่า ของบ่เล่าฮู้ลืม’ ของทุกอย่างน่ะ ถ้าอมไว้มันก็หาย ถ้าคายมันก็ยังอยู่ยังรอด”

มณฑล ปินตาสี

Image
ลวดลายโคม “ล้านนา” : ลวดลายโคมมาจากลายดั้งเดิมของล้านนา ส่วนหนึ่งและจากศิลปะพม่าอีกส่วนหนึ่งแต่เดิมมี ๑๒๐ ลวดลายอยู่ใน “พับสา” (สมุดข่อย) ของวัดพระธาตุเจดีย์ซาว แต่พับสาหายไป มณฑลจึงตัดลวดลาย ทั้งหมดและตีพิมพ์ในหนังสือ (เล่มที่กำลังเปิดดู) เพื่อบันทึกไว้ไม่ให้หายไป
Image
Image