Image
คนโก้/กาดโกโก้
CHOCOLATE IN SIAM
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“คุณภาพเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เราถ่ายทอดให้เกษตรกรช่วยพัฒนาเมล็ดโกโก้ให้ดีขึ้น ถ้าเรารีบซื้อ รีบขาย อยากจบไว ๆ จะไปต่อได้ไม่นาน”

ในร้านกาดโกโก้ (KAD KOKOA) คาเฟ่โกโก้และช็อกโกแลตกลางซอยนราธิวาสราชนครินทร์ ๑๗ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ต้น-ปณิธิ ชุณหสวัสดิกุล และ ต้า-ณัฐญา ชุณหสวัสดิกุล สองสามีภรรยาถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของกาดโกโก้ที่ผ่านมาเกือบทศวรรษ รวมถึงเป้าหมายที่ต้องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโกโก้ไทย

ทั้งคู่ยกตัวอย่างวันที่เดินทางไปบรรยายตามจังหวัดต่าง ๆ ครอบครัวแถวนั้น หรือแม้แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านก็เข้ามาฟังเพราะรู้ว่าทั้งคู่เข้ามาให้ความรู้อย่างจริงจัง

“ตอนนี้เรากำลังอยู่บนหลังเสือ มีหลายชีวิตเกี่ยวข้อง มีพี่น้องเกษตรกร เครือข่ายนักวิชาการ ผู้ถือหุ้นจากการระดมทุนเพื่อขยับขยาย ทุกคนรอดูอยู่ว่าเราจะก้าวต่อไปยังไง เรามีกำลังใจและมุ่งมั่นที่จะทำให้วงการโกโก้ไทยก้าวต่อไปข้างหน้า สินค้าทุกอย่างของกาดโกโก้ต้องผลิตจากเมล็ดโกโก้ที่ปลูกในประเทศ ถ้าต้องเปลี่ยนไปใช้โกโก้นำเข้าจากต่างประเทศ ผมคิดว่าแบรนด์ของเราก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกัน”
MIDLIFE CRISIS
ตามหาความหมายของชีวิต

การออกเดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิประเทศอันงดงามตามจังหวัดทางภาคเหนือของไทยด้วยมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ ขึ้นเขาลงห้วย ค่ำไหนนอนนั่น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตสองสามีภรรยานักกฎหมาย

“เรียกได้ว่าเป็นช่วงวิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis)” ต้น
อดีตศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่อย ๆ ไล่ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อร่วม ๘ ปีก่อน

“ตอนนั้นเราทั้งคู่ยังเป็นลูกจ้างบริษัท อยู่ในสำนักงานกฎหมาย หลังเรียนจบก็ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบมาตลอด จนผมได้ออกไปท่องเที่ยวขี่บิ๊กไบค์กับเพื่อน ๆ  ได้เห็นความเขียวขจีของจังหวัดทางภาคเหนือก็ติดใจ กลับมาชวนคุณต้าว่าออกไปขี่บิ๊กไบค์ด้วยกันเถอะ ซื้อชุด หมวกกันน็อก รองเท้าหนัง อุปกรณ์ทุกอย่างให้เขาซ้อนท้ายเรา เที่ยวไปทั่วทั้งภาคเหนืออยู่นานร่วมปี”

ต้าที่นั่งอยู่ข้าง ๆ สามีเล่าเสริมว่า “เราเคยคิดว่าจะเกษียณประมาณ ๕๐ ตอนนั้นเพิ่งจะ ๔๐ ปลาย ๆ  ระหว่างขี่บิ๊กไบค์ก็ไปเจอที่ดินผืนหนึ่งตรงทางขึ้นแม่กำปอง บรรยากาศดีมากเห็นท้องฟ้าสีฟ้า ภูเขาสีเขียว พูดขึ้นว่าหลังเกษียณเรามาปลูกบ้านอยู่ที่นี่กันดีกว่า ปลูกอะไรกิ๊ก ๆ ก๊อก ๆ ให้พอมีรายได้”
Image