Image
ชุมชนปากน้ำประแส ร้อยละ ๘๐ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ทะเลจึงเปรียบเสมือนลมหายใจที่คอยหล่อเลี้ยงชาวปากน้ำประแสมาหลายชั่วอายุคน 
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

ฐานถิ่นที่สูญหาย
ประแสในกระแส
ความเปลี่ยนแปลง
Foto Essay
เรื่องและภาพ : เยาวชนชาวค่ายสารคดี ๑๘
ลมจากริมน้ำด้านขวาทักทายมาเป็นระยะเมื่อเดินผ่านช่องว่างระหว่างบ้านไม้ยกเสาสูง บางบ้านมีกลิ่นอายไทย-จีน ผสมผสานท้องถิ่นของคนทะเลอย่างเรือนสูงโปร่งสองชั้น มีระเบียงไว้รับลมทะเลและชมวิวเรือที่แล่นผ่านไปผ่านมา ทุกบ้านมีช่องลมเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ประตูไม้บานเฟี้ยมมีให้เห็นอยู่เรื่อยไป
ชุมชนปากน้ำประแส ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แบ่งเป็นสองฝั่ง คือปากน้ำประแสฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของบ้านแหลมสน หมู่บ้านประมงพื้นบ้าน และปากแม่น้ำประแสฝั่งตะวันออกเป็นชุมชนใหญ่ ที่ตั้งของตลาด

ทำเลตั้งติดปากน้ำแม่น้ำประแส ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ทะเลมากมายหลายชนิด จนครั้งหนึ่งกลายเป็นเมืองประมงพาณิชย์ที่รุ่งเรืองและใหญ่ที่สุดในแถบตะวันออก แต่ความเจริญของประแสต้องหยุดชะงัก ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้เศรษฐกิจซบเซา อีกทั้งปัญหาธรรมชาติ และนโยบายของภาครัฐ

ตามรายงานคุณภาพน้ำแม่น้ำประแส ปี ๒๕๖๔ ปากน้ำประแสอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวไทยส่งผลกระทบถึงบริเวณปากน้ำประแส ปากคลองแกลง ปากแม่น้ำระยอง หาดทรายแก้ว หาดแหลมรุ่งเรืองและหาดแม่รำพึง  หรืออาจเพราะผลกระทบจากภาวะโลกรวน ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น เสียงชาวประมงจึงต่างบอกความหนักใจว่าสัตว์ทะเลหายากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

สิ่งหนึ่งที่รับรู้จากเรื่องราวของชาวบ้านประแส คือมนุษย์เราต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไป  

คำถามน่าคิดก็คือมนุษย์กับธรรมชาติจะอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ หรือ

และขณะที่ธรรมชาติสวมบทบาทคือผู้ให้ มนุษย์เรากำลังสวมบทบาทอะไรอยู่ผู้สร้าง ผู้อนุรักษ์ หรือผู้ทำลาย
ประมงพื้นบ้าน
ประมงพื้นบ้านแห่งปากน้ำประแสใช้เครื่องมือประมงหลากหลาย ตามชนิดสัตว์ที่มาบรรจบกันในฤดูที่แตกต่าง เช่น ช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมเป็นช่วงมรสุมทำให้จับปลาและออกทะเลลึกได้ยาก ประมงต้องปรับเครื่องมือจากอวนปลามาใช้อวนปูหรือลอบดักปูแทน หรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนชาวประมงบางส่วนจะมาพึ่งพิงอวนกุ้งและรุนเคย
Image