Image

มนุษย์กับป่าอยู่ร่วมอาศัยซึ่งกันและกันโดยมนุษย์จะไม่พึ่งพาป่าอยู่ฝ่ายเดียว จำเป็นต้องดูแลรักษาป่าและน้ำ ดังคำสอนของบรรพชนที่ว่า “เอาะก่อ เก่อตอก่อ เอาะที เก่อตอที” ซึ่งแปลความได้ว่า “ใช้ป่ารักษาป่า ใช้น้ำรักษาน้ำ”

เอาะก่อ เก่อ ต่อ กอ
จากคำสอนบรรพชน
สู่ฟ้ารุ่งบนดอยช้างป่าแป๋

Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า

เรื่อง : ยสินทร กลิ่นจำปา
ภาพ : กฤต คหะวงศ์

เสาร์แรกของเดือนกันยายน ฝนขาดเม็ดไม่นานก่อนงานฉลองครบรอบ ๔๐ ปีโบสถ์คาทอลิกจะเริ่มขึ้น เสียงเตหน่า ดังไพเราะเพราะพริ้ง ประสานกลมกลืนกับเสียงฮึ่ม ๆ จากเบสและเครื่องตีให้จังหวะหลากชนิด  เสียงดนตรีจากโลกตะวันตกกับท่วง ทำนองพื้นบ้าน ถักทอเข้าด้วยกันอย่างประณีตบรรจง  

ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ เริ่มขับร้อง “เลเลเตหน่ากู” บทเพลงภาษากะเหรี่ยงปกาเกอะญอซึ่งร้องสลับกับภาษาไทย  

เปอ เอาะก่อ เปอ เก่อ ต่อ กอ
เปอ เอาะที เปอ เก่อ ต่อ ที
เปอ เอาะเดะ เปอ เก่อ ต่อ เล
เปอ เอาะ-หญะ เปอ เก่อ ต่อ กวิ๊
เราอยู่กับป่า เรารักษาป่า
เราดื่มน้ำ เรารักษาน้ำ
เรากินเขียด เราดูแลผา
เรากินปลา รักษาลำห้วย

เสียงดนตรีจบลง แสงแดดสาดแย้มไม่เขินอาย ขบวนแห่ขนาดกะทัดรัดพาคณะบาทหลวงจากเชียงใหม่เข้าไปในโบสถ์เพื่อประกอบพิธี

ถึงแม้จะเป็นงานเฉลิมฉลองของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่ศาสนิกชนจากนิกายโปรเตสแตนต์ รวมถึงชาวพุทธในหมู่บ้าน ต่างช่วยกันตกแต่งสถานที่คนละไม้คนละมือ เตรียมข้าวเตรียมน้ำสำหรับแขกเหรื่อจากพื้นราบ  อีกทั้งยังจัดแสดงดนตรีซึ่งเหล่าเด็กในชุมชนมีส่วนร่วมร้องเพลงเจื้อยแจ้ว และการแสดงรำดาบของชายชราชาวปกาเกอะญอจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

พิธีเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วพร้อมท้องฟ้าใสแจ๋วช่วงเที่ยงวัน

ท่ามกลางอากาศเย็นสบายที่ความสูงกว่า ๑,๒๐๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลาง หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซ่อนตัวอยู่กลางภูเขาสลับซับซ้อนบนจุดรอยต่อระหว่างสามอำเภอ สองจังหวัด ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน อำเภอฮอดและอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

“แป๋” เป็นภาษาเหนือที่ใช้เรียก “แป” หรือไม้คานรับน้ำหนักรองรับแผ่นหลังคาบ้าน แต่ความหมายในที่นี้ คือ “อยู่ที่สูง” คนเหนือจึงมักเรียกหมู่บ้านนี้ว่า อยู่ป๋ายแป๋ ป๋ายขื่อ (อยู่ที่สูง)  ขณะที่ดอยช้างคือยอดภูเขาซึ่งเป็นจุดสูงสุดในจังหวัดลำพูน มีความสูงเหนือระดับทะเลปานกลางกว่า ๑,๔๐๐ เมตร และยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน

Image