จู-สุรศักดิ์ เย็นทั่ว เจ้าของ “บ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ” นักกิจกรรมที่ผันตัวมาสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่บ้านเกิด
ป่าบ้านเกิด
ชายชื่อจู
และผองเพื่อนนักอนุรักษ์
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : เนตรนภา ก๋าซ้อน
ภาพ : กัปตัน จิรธรรมานุวัตร
เรื่องราวชีวิตจริงที่นำแสดงโดย สุรศักดิ์ เย็นทั่ว หรือ “จู ร้อยหวัน” ชายหนวดเฟิ้มวัยใกล้เกษียณ จัดฉายผ่านผืนป่าในเทือกเขาบรรทัด ผ่านสายตาของ “ฉัน” ผู้เข้าไปสัมผัสและลิ้มรสความกลมกล่อมของละครชีวิตเรื่องนี้
ม่านบนเวทีการแสดงเปิดขึ้นด้วยการคัดค้านสัมปทานป่าของบรรพบุรุษ ในยุคที่การต่อสู้ด้วยความปรานีไม่สามารถเอาชนะได้ กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ไล่ยิงกลางป่าระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน
ทั้งจูและลูกหลานบ้านบางเหรียง ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง รับรู้ประวัติศาสตร์บทนี้ผ่านผู้ใหญ่ในครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก
ระหว่างทางไปแลงามน้ำตกพบพืชพรรณหลากหลาย รวมถึงพืชที่พบได้เฉพาะบริเวณป่าต้นน้ำ
โรงเรียนธรรมชาติ
“ถ้าให้พวกมึงตัดโค่นต้นไม้ตรงนี้ แล้วลูกหลานเราจะอยู่อย่างไรกับสายน้ำที่มันแห้งในอนาคต”
ถ้อยคำที่คุณตากล่าวด้วยความห่วงใยธรรมชาติและลูกหลาน จูจำใส่หัวใจไว้ตลอด ทั้งยังนำมาบอกต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานอีกทอดหนึ่งในช่วงเวลาที่เขาเปิด “โรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่า” บนพื้นที่บ้านเกิด ที่เขาศรัทธาและอยากดูแลให้คงคุณค่าสืบไป
ปี ๒๕๔๙ โรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่ามีจุดประสงค์เพื่อสร้างกิจกรรมการศึกษานอกห้องเรียนให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า แหล่งน้ำ โดยการเรียนการสอนจะเกิดในพื้นที่จริง ซึ่งเป็นป่าใกล้ ๆ หมู่บ้านช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ มีครูใหญ่เป็นต้นไม้นานาพันธุ์ เหล่าสัตว์ป่า และสายน้ำธรรมชาติ จูบอกเล่าประวัติศาสตร์โดยสอดแทรกให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับ เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มีทั้งเด็กในพื้นที่บ้านบางเหรียงและนอกพื้นที่อย่างนครศรีธรรมราชและตรัง
“เอาตรง ๆ เบื่อที่ต้องมานั่งทำรายงาน แต่งคำหรู ๆ ใส่รีพอร์ต”
โรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่าปฏิเสธการขอรับทุนจากภาครัฐ จูบอกว่าการเขียนรายงานโครงการส่งหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเรื่องยาก เพราะบางเรื่องไม่สามารถเป็นไปตามแผนได้ จูทำงานกับชาวบ้านเป็นหลัก มีวาระและบริบทซับซ้อน ไม่เหมือนกับองค์กรรัฐหรือเอกชนที่มีผู้ปกครองหรือคำบัญชาการ จูจึงเลือกใช้เงินทุนของตัวเองทั้งหมดเพื่อโรงเรียนแห่งนี้
“จูคิดว่าการเลือกสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่นี่จะช่วยสร้างรายได้ให้คนต้นน้ำที่รักษาป่าไว้ เพื่อให้น้ำสะอาดยังส่งไปถึงคนกลางน้ำและปลายน้ำ”