คุยกับหลาน
ปรีดี พนมยงค์
ดร. อนวัช ศกุนตาภัย
ศาสตราจารย์ประจำสถาบันปาสเตอร์
ผู้พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
เอื้อเฟื้อภาพ : ดร. อนวัช ศกุนตาภัย
ขอขอบคุณ ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชายหนุ่มร่างสูง น้ำเสียงนุ่มนวล พูดไทยคล่องแคล่ว แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่จะปรากฏคำศัพท์ภาษาอังกฤษปะปนอยู่ตลอด เพราะเรื่องที่เขาสนทนากับสารคดี เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการทำงานของเขาในสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระดับโลก
ก่อนหน้านี้ ๒-๓ สัปดาห์ สารคดี ได้รับข่าวว่า ดร. อนวัช ศกุนตาภัย เดินทางมาเมืองไทยจาก ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีประเด็นที่เชิญชวนคือ ข่าวที่เขาได้รับรางวัล ๑ ใน ๑๐๐ นักประดิษฐ์จากนิตยสาร Le Point ของฝรั่งเศส เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก
เมื่อสืบค้นชื่อบนเว็บไซต์ก็พบความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก คือการมีสถานภาพเป็นหลานของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย
เรามีเวลาสนทนากันประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ แม้บทสัมภาษณ์นี้จะโปรยเรียกแขกด้วยความเป็นหลาน ปรีดี พนมยงค์ แต่เนื้อหาสาระหลักคือการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันระดับโลก และมุมมองต่อการใช้งานวิจัยพื้นฐานช่วยแก้ไขปัญหาโรคระบาดและสาธารณสุข ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ใช้วิทยาศาสตร์แก้ไขอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
จากการเดินทางไปทั่วโลกโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็น soft power วันนี้เขาบอกว่าประทับใจคนญี่ปุ่นที่มีความพอเพียง ถ่อมตัว ไม่กินอาหารเหลือ ใช้ของอย่างประหยัด มีความสุขกับการอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งประเทศตะวันตกไม่มี ขณะที่โลกกำลังเผชิญปัญหาหลายอย่าง การกลับสู่ธรรมชาติ การทำเกษตรกรรมแบบพอเพียง และทุนใหญ่ต้องยอมเสียกำไรบ้าง น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหา แม้ว่าความรุนแรงจากความเปลี่ยนแปลงเรื่องภาวะโลกร้อนจะมาถึงแน่นอน แต่ที่สุดแล้ว
“เราคงต้องคิดในแง่บวกแล้วพยายามหาทางแก้ไขต่อไป”
รางวัลที่นิตยสาร Le Point มอบให้ในฐานะ ๑ ใน ๑๐๐ นักประดิษฐ์อัจฉริยะชาวฝรั่งเศสที่จะเปลี่ยนชีวิตเรา (La relève du génie français : 100 inventions qui vont changer nos vies) เมื่อกลางปีนี้มีที่มาอย่างไร
ทางสถาบันปาสเตอร์เสนอชื่อผมไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และก็มาได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Le Point (หมายถึงประเด็น) ในปีนี้ แต่จริง ๆ เบื้องหลังก่อนหน้านั้น คือ ค.ศ. ๒๐๒๐ ทีมของผมได้รางวัลจากการแข่งขันนวัตกรรม i-Lab Grand Prix ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (Ministry of Higher Education, Research and Innovation) ของฝรั่งเศส ที่นั่นให้ความสำคัญเรื่องงานวิจัยมาก มีการจัดแข่งขันทุกปี
คือนวัตกรรมไม่ใช่แค่ค้นพบอะไรแล้วจดสิทธิบัตร แต่ต้องมีกระบวนการนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ ซึ่งยากมาก เพราะส่วนใหญ่นักวิจัยทั้งหลายจะจบที่จดสิทธิบัตรแล้วก็เงียบหายไป
แต่ที่ฝรั่งเศสมีวิธีการส่งเสริม อย่างการแข่งขันจะไม่ได้ดูในแง่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ดูด้านธุรกิจด้วยว่าเราจะไปรอดไหม จะหาคนมาลงทุนได้ไหม มีตลาดหรือเปล่า จะบริหารและทำตลาดยังไง เรามีคุณสมบัติเป็น CEO หรือเปล่า เขาดูหลายอย่างมาก เพราะฉะนั้นการแข่งขันค่อนข้างจะหนัก ตอนที่สมัครไปก็ไม่คิดว่าจะได้ แล้วก็ได้รางวัลมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และทำให้มาอยู่ในรายชื่อ ๑ ใน ๑๐๐ นักประดิษฐ์
หลังจากได้รางวัลการแข่งขันนวัตกรรมก็ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนนิดหน่อย ได้สร้าง startup ของตัวเอง โดยได้รับเงินทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนของฝรั่งเศส แล้วเขาไม่ได้ให้แค่เงินทุน เขาสนับสนุนเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น วิธีการทำงาน การโค้ชชิ่ง เพื่อให้ startup ของเราโต น่าเสียดายที่ผมยังเป็นนักวิจัยของสถาบัน เลยไม่สามารถเป็น CEO ได้