2476 กบฏบวรเดช
คณะราษฎร ปะทะ คณะเจ้า
EP.02
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา (บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา)
จากไฟล์ดิจิทัล เก็บรักษาโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
หมายเหตุ : คำบรรยายภาพที่มีเครื่องหมายอัญประกาศ
คือคำบรรยายภาพดั้งเดิม
สารคดี รักษาการสะกดแบบเก่าไว้
ปี ๒๕๖๖ พื้นที่ทุ่งบางเขน-ดอนเมือง
คือย่านรถติดที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ (แม้จะมีรถไฟฟ้า) โดยเฉพาะบริเวณถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต เส้นทางสู่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
ย้อนกลับไป ๙๐ ปีที่แล้ว แถวนี้มีทางสัญจรเส้นทางเดียว คือรางรถไฟสู่ภาคเหนือและอีสาน (ไม่นับคลองเปรมประชากรที่ทอดตัวยาวไปทางเหนือจนถึงพระนครศรีอยุธยา)
จากกรุงเทพฯ รถไฟออกจากสถานีหัวลำโพง ผ่านสถานีสำคัญคือ สามเสน ชุมทางบางซื่อ ดอนเมือง บางเขน หลักสี่ ผ่านเขตจังหวัดปทุมธานี อยุธยา
ถ้าไปภาคอีสานก็ต้องเลี้ยวที่สถานีชุมทางบ้านภาชี จากจุดนี้จะผ่านสถานีสำคัญในจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา คือ สถานีปากเพรียว (สระบุรี) ชุมทางแก่งคอย ผาเสด็จ หินลับ มวกเหล็ก ปากช่อง จันทึก สีคิ้ว สูงเนิน และนครราชสีมา
ในแง่ภูมิประเทศ จากชุมทางบางซื่อถึงสถานีหลักสี่และดอนเมือง ทางรถไฟยกระดับจากพื้นดินข้ามผ่านทุ่งนาเวิ้งว้างที่ต่ำกว่า
นอกเหนือจากสถานีรถไฟก็มีสถานที่ราชการคือสถานีวิทยุหลักสี่อันเป็นสถานีหลักในการส่งสัญญาณวิทยุทั้งในและต่างประเทศ โรงพักบางเขนที่ว่าการอำเภอบางเขน
มีชุมชนกระจายตามทุ่งนา สถานที่สำคัญคือ วัดแครายเหนือ (วัดเทวสุนทร) วัดแครายใต้ (วัดเสมียนนารี) วัดหลักสี่ ตลาดบางเขน
ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ บันทึกของทุกฝ่ายตรงกันว่า มีน้ำเหนือหลากเจิ่งนองทุ่งนาใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว จนบางที่น้ำลึกถึงระดับคอ และมีฝนตกไม่ขาดระยะ
วันที่ ๑๑ ตุลาคม กำลังทหารโคราชเคลื่อนจากสถานีรถไฟนครราชสีมาในเวลา ๑๗.๐๐ น. รถไฟขบวนนี้ปะทะกับรถไฟตำรวจสันติบาลที่สถานีปากช่องจนตำรวจเสียชีวิตสองนาย คือร้อยตำรวจโท ขุนประดิษฐสกลการ (ไปล่ จันทประดิษฐ) และดาบตำรวจ ทอง แก่นอบเชย