Image
โปรเฟสเซอร์เฟโรจีกับภรรยาคือนางแฟนนีและโรมาโน บุตรชายที่เกิดในสยาม ราวครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๔๗๐ 
เอื้อเฟื้อภาพ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี

อนุสาวรีย์ คือ
ศิลป์อนุสรณ์ พีระศรี
๑๐๐ ปี ศิลป์ สู่สยาม
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
เอื้อเฟื้อภาพเก่า : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
ภาพถ่าย : ประเวช ตันตราภิรมย์
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และบรรดาลูกศิษย์คือผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างประติมากรรมและอนุสาวรีย์จำนวนมากในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมาที่ หยิบยกนำมารวบรวมไว้นี้เป็นเพียงผลงานบางส่วนเท่า นั้น
Image
ต้นแบบพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ จัดแสดงในหอประติมากรรมต้นแบบ (โรงหล่อเดิม) กรมศิลปากร
๒๔๗๕
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ปฐมบรมราชานุสรณ์เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ออกแบบ : สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ปั้น : ศิลป์ พีระศรี
พิธีเปิด : ๖ เมษายน ๒๔๗๕
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพฯ สร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี เมื่อปี ๒๔๗๕ ดังคำจารึกที่ลับแลหลังพระบรมรูปว่า

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมราชาธิราชมหาจักรีวงศ ได้ทรงสร้างพระมหานครอมรรัตนโกสินทร มาถึงพุทธศักราช ๒๔๗๕ นี้ครบ ๑๕๐ ปี เปนอภิลักขิตมงคล ชาวสยามทุกชาติชั้นบรรดาศักดิ์ อันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๗ ทรงเปนประมุข พร้อมกันสร้างพระบรมรูป ประกอบกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เปนปฐมบรมราชานุสสรเฉลิมพระเกียรติประดิษฐานไว้ให้คนภายหลังระลึกถึงพระเดชพระคุณ ซึ่งพระองค์ทรงพยายามปราบปรามปัจจามิตร กู้บ้านเมืองให้พ้นภัยพิบัติเปนอิสสรภาพ แล้วได้ประดิษฐานพระราชวงศซึ่งทรงทำนุบำรุงประเทศสยาม ให้รุ่งเรืองเจริญสุขสืบมาจนกาลบัดนี้”
Image
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ๖ เมษายน ๒๔๗๕
น่าเศร้าใจที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อยู่เมืองไทยนานพอที่จะได้รู้สึกชอกช้ำเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผลงานยุคแรกของเขาในอีก ๒ ทศวรรษต่อมา ดังรำพึงไว้ในหนังสือ คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง (สำนวนแปลโดย ธนิต อยู่โพธิ์) เมื่อปี ๒๕๐๒ เกี่ยวกับ “ลับแล” หลังพระบรมรูปว่า

“การใช้สีผสมหรือสีเคมี ที่หาซื้อกันได้ในท้องตลาด แต่ไม่รู้จักใช้สีเหล่านั้น ได้ทาเสาและผนังซุ้มจระนำพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร) เป็นสีชมพู ส่วนหลังเป็นสีเหลือง ผู้ที่มีรสนิยมทางศิลปแม้แต่เพียงพื้น ๆ เมื่อได้เห็นสภาพเช่นนี้ก็จะถึงกับตกตะลึง”
Image