Image
ผศ. ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐ
Interview
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ ยังมีเรื่องให้ทำอีกมากในทางวิชาการ”
จากนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ ๒๐ ปีก่อน จนถึงอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในวันนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐเป็นที่รู้จักในแวดวง ทั้งในฐานะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ นักเขียน และคิวเรเตอร์งานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย นอกจากนั้นยังเป็นผู้สอนรายวิชาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย (Modern Art in Thailand) อาจารย์ธนาวิจึงมีสถานะทั้งเป็น “คนใน” ที่อยู่ท่ามกลางวงล้อมแห่งเรื่องราวว่าด้วยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือที่มักเรียกขานกันว่า “อาจารย์ศิลป์” มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ขณะเดียวกันก็ยังมีสถานะเป็น “คนนอก” ในบทบาทผู้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางสังคมและนิยามความหมายของนาม “อาจารย์ศิลป์” ในทางวิชาการอีกด้วย และนั่นคือเหตุผลที่ สารคดี เลือกมาคุยเรื่องนี้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐ
ในฐานะนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร อยากให้เล่าให้ฟังว่าชาวศิลปากรมีประเพณี หรือมีความรับรู้เกี่ยวกับ “อาจารย์ศิลป์” อย่างไรบ้าง
เท่าที่ตัวเองเคยเห็น หลัก ๆ ก็คือวันอาจารย์ศิลป์ วันที่ ๑๕ กันยายนของทุกปีที่จะมีงาน มีการวางดอกไม้ร้องเพลง “Santa Lucia” ที่อนุสาวรีย์ของอาจารย์ศิลป์
ลานหน้าคณะจิตรกรรมฯ  เป็นวันที่ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจะมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงอาจารย์ศิลป์ พูดง่าย ๆก็คือเป็นงานประจำปี ที่ทำหน้าที่รำลึกถึงหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่มีบทบาทสำคัญ อันนั้นคือสิ่งที่เป็นอีเวนต์ใหญ่ประจำปี

อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของคำพูด ถ้อยคำต่าง ๆ รวมทั้งภาพของอาจารย์ศิลป์ อันนี้จะปรากฏตามสถานที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เป็นเหมือนคำขวัญ หรือมอตโต้ (motto) ที่อาจารย์ศิลป์ได้เคยพูดไว้ อย่าง “นายรักฉันนายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน” คือของพวกนี้เป็นอะไรที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของนักศึกษาและคนในมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวได้ว่าเราเห็นอาจารย์ศิลป์ทุกวัน รวมถึงเห็นคำพูด เห็นคำสอนของอาจารย์ศิลป์ด้วย
Image
Image