Image
ดร. วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร
Interview
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“ตอนนี้สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี เป็นหน่วยงานเดียวที่มีข้อมูลอาจารย์ศิลป์มากที่สุด”
ภาพของเขามีให้เห็นเต็มฝาผนังทุกด้านในทุกห้องนิทรรศการ  ผู้ชายฝรั่งผิวขาว ร่างสูง ผมหยักศก สวมแว่นสายตาหนาเตอะคนนั้น ปรากฏตัวทั้งในภาพถ่ายเก่ามากมาย เดินไปเดินมาอยู่ในคลิปภาพยนตร์ที่ฉายขึ้นจอ ทั้งยังแปลงรูปไปเป็นภาพปั้น ภาพวาดลายเส้น ภาพสีน้ำมันอีกสารพัด

นักศึกษาหนุ่มสาวสองคนในเครื่องแบบมหาวิทยาลัยศิลปากรนั่งอยู่ตรงมุมห้องข้างประตูทางเข้า ทั้งสองร่วมกันบรรเลงเพลง “Santa Lucia” เพลงพื้นเมืองอิตาลีที่กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ครูของเขาและเธอ ผู้เป็นอดีตคณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ บอกผมอย่างภาคภูมิใจว่าท่วงทำนองที่หยอกล้อตอบโต้กันระหว่างแซกโซโฟนและคลาริเน็ตที่ได้ยินอยู่นี้ คือผลงานการเรียบเรียงเสียงประสานของลูกศิษย์นักดนตรีนั่นเอง

นี่คือวันเปิดงานนิทรรศการ ๑๐๐ ปี ศิลป์สู่สยาม ภาพถ่าย ผลงาน ชีวิต แนวคิด คำสอน ๒๔๖๖-๒๕๖๖ เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีการมาถึงเมืองไทยของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จัดขึ้นที่ชั้น ๒ ของศูนย์การค้าศิลปโบราณ-วัตถุริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๖ มีทั้งคนในแวดวงศิลปะ ศิลปินรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ นักสะสมงานศิลปะคนดัง นักข่าวต่างประเทศ เข้าร่วมงาน รวมกันแล้วหลายสิบชีวิต

ข้าวของในนิทรรศการทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกับ “ฝรั่ง” คนนั้น มิสเตอร์คอร์ราโด เฟโรจี “คนไทย” ผู้มีชื่อว่า “ศิลป์ พีระศรี” จัดขึ้นโดย “สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี” หน่วยงานวิชาการอิสระที่มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว และทำงานด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวล้วน ๆ  วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อให้สังคมไทยได้ขุดค้นสรรพวิชาจากศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรี

เจ้าหน้าที่คนเดียวที่ว่านั้นคือศิลปินหนุ่มใหญ่ ดร. วิจิตรอภิชาติเกรียงไกร อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Art Record in Thailand  เจ้าของรางวัลผลงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายต่อหลายครั้ง

และนี่คือเรื่องราวและเรื่องเล่าของเขา
สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี มีที่มาอย่างไร
ย้อนกลับไปในปี ๒๕๒๐ กว่า ๆ มีกลุ่มพวกอาจารย์ดำรง (ดำรง วงศ์อุปราช) อาจารย์สุเชาว์ (สุเชาว์ ศิษย์คเณศ) และอีกหลาย ๆ คน พวกนี้ไปเห็นว่าห้องทำงานอาจารย์ศิลป์ปิดตายอยู่ เช็กกับทางกรมศิลปากรแล้ว ของบางอย่างน่าจะแพ็กเก็บ บางอย่างก็ยังวางตั้งอยู่ในห้อง

วันหนึ่งอาจารย์เฟื้อ (เฟื้อ หริพิทักษ์) รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจิตรกรรม (ปี ๒๕๒๓) แล้วอาจารย์เฟื้อไปยืนถ่ายรูปหน้าประตูห้องทำงานอาจารย์ศิลป์  ภาพนั้นเป็นภาพที่ทำให้ผมเชื่อมโยงได้ว่า คนรุ่นนั้นพอเห็นสภาพห้องที่ไม่ได้ถูกใช้ ก็เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าแล้วของอาจารย์ศิลป์อยู่ไหน ? ก็เลยระดมเงินกันก่อตั้งเป็นกองทุน ตอนนั้นกรมยังไม่ได้มีงบประมาณอะไร แต่พวกอาจารย์ผู้ใหญ่เขาคงผลักดัน พอได้เงินมาแล้วก็ทำให้กรมต้องตัดสินใจทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกรมก็ได้ประโยชน์จากการระดมทุน จากการดึงงานกลับมาของพวกศิษย์เก่า แล้วก็มีแนวคิดว่า กองทุนนี้จะใช้ในการบำรุงรักษา ซึ่งก็คงบวกกับงบประมาณของกรม
Image
Image
Image
Image
“การมีคนไปที่หลุมศพอาจารย์ศิลป์ ซึ่งเล็กนิดเดียว ทำให้คนเฝ้าสุสานเขาสงสัยว่า ทำไมหลุมศพนี้จึงมีคนไทย เดินทางมาเป็นระยะๆ กลายเป็นที่แปลกใจเป็นที่จดจำ”
Image