ภาพถ่ายในงานเลี้ยงวันเกิดอาจารย์ศิลป์ปีสุดท้าย 
๑๕ กันยายน ๒๕๐๔ ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

The Prince & I :
Corrado Feroci and
HRH Prince Narisra of Siam
“ปริ๊นซ์นริศ” กับนายเฟโรจี
: ศิลปะข้ามวัฒนธรรม
ภาค 2

๑๐๐ ปี ศิลป์ สู่สยาม

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
เอื้อเฟื้อภาพเก่า : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
ภาพถ่าย : ประเวช ตันตราภิรมย์

ย้อนกลับไปยังทศวรรษ ๒๔๖๐ อีกครั้ง

ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๘  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา สืบราชสันตติวงศ์ทรงครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ 

ด้วยปัญหาด้านการคลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หนึ่งในนโยบายเฉพาะหน้าของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้

๑๙ เมษายน ๒๔๖๙ มีพระบรมราชโองการประกาศยุบเลิกกรมศิลปากร ความว่า “เนื่องจากที่เงินรายได้ของแผ่นดินไม่พอกับรายจ่ายนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เปนการจำเปนที่ควรจะยุบเลิกกรมศิลปากรเสีย เพื่อตัดรายจ่ายเงินแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ”

เดือนมิถุนายน ๒๔๖๙ ช่างฝรั่งสี่นายจากกรมศิลปากรเดิม รวมทั้งหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร (ปี ๒๔๓๒-๒๔๗๘) สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาจากเอกอลเดโบซาร์ (École des Beaux-Arts / School of Fine Arts) ของฝรั่งเศสถูกโอนย้ายจากกรมศิลปากรไปยังศิลปากรสถาน ขึ้นตรงกับหน่วยงานราชบัณฑิตยสภาที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิ-เทพสรรค์เป็นผู้อำนวยการศิลปากรสถาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทรงอยู่นอกราชการ ให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสภา ฝ่ายศิลปากร

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปลายปี ๒๔๖๙ สมเด็จฯ ทรงอธิบายแนวคิดเบื้องหลังการโอนย้ายช่างฝรั่งเหล่านี้ว่า

“การช่างจะเจริญไม่ได้นอกจากตั้งเปนโรงเรียนช่างรับคนเข้าฝึกหัดทำการของพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวแลการของรัฐบาล การของบ้านเมือง เอางารที่ทำเปนบทเรียน เอาฝรั่ง ๔ คนนั้นเปนครู...เปนต้นว่าวิชาทำรูปหุ่นให้เหมือนคนนั้นคนนี้ เช่นกำลังทำพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลานี้ ซึ่งคนไทยังไม่มีใครทำได้สักคนเดียว จะต้องเริ่มเรียนปั้นแลหล่อไปจนฉลักหินได้”

Image