พระรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฝีมือปั้นจากพระองค์จริง โดย ซี. เฟโรจี
The Prince & I :
Corrado Feroci and
HRH Prince Narisra of Siam
“ปริ๊นซ์นริศ” กับนายเฟโรจี
: ศิลปะข้ามวัฒนธรรม
ภาค 1
๑๐๐ ปี ศิลป์ สู่สยาม
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
เอื้อเฟื้อภาพเก่า : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
ภาพถ่าย : ประเวช ตันตราภิรมย์
“อากาศยามบ่ายซึ่งอุ่นสบายและทิวทัศน์เขียวชอุ่มสองฟากลำน้ำเจ้าพระยา ทำให้หนุ่มสาวชาวอิตาเลียนคู่หนึ่งบนเรือกลไฟเดินทะเลขนาดเล็ก ซึ่งกำลังใช้ฝีจักรทวนกระแสน้ำบ่ายหน้าลึกเข้าไปในแผ่นดิน เกาะราวลูกกรงข้างกราบเรือทอดสายตาดูอย่างสนใจ ขณะนั้นเป็นวันหนึ่งของต้นเดือนมกราคม ๒๔๖๖ แววตาของชายหนุ่มดูเหมือนจะแฝงประกายของความพอใจในความเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำของพันธุ์ไม้ หมากและมะพร้าวแซงลำต้นไกวตัวอ่อนเอนสยายใบไปตามกระแสลมอยู่ทั่วไป...
“Corrado Feroci พา Fanni ภรรยาที่รักมาถึงกรุงเทพฯ และในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๖ ก็ได้เริ่มรับราชการเป็น
ช่างปั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ๓๙ ปีต่อมา เขาได้ฝากเกียรติคุณไว้ในความรู้สึกของคนไทย และจบชีวิตบนแผ่นดินไทย ในฐานะคนไทย ในนามของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี”
หมายเหตุ :
ชื่อ Corrado Feroci หากใช้หลักการทับศัพท์ภาษาอิตาลี ฉบับราชบัณฑิตยสถานจะต้องเขียนว่า คอร์ราโด เฟโรชี แต่เนื่องจากเอกสารภาษาไทยส่วนมากที่ใช้ในบทความนี้เขียนว่า “คอร์ราโด เฟโรจี” จึงยึดตามเอกสารเหล่านั้น ส่วนชื่อภาษาไทยของ คอร์ราโด เฟโรจี มีเขียนกันทั้ง “ศิลป” และ “ศิลป์” คือทั้งมีและไม่มีการันต์ ในที่นี้เลือกใช้ “ศิลป์” เป็นหลัก ยกเว้นเฉพาะที่เป็นการอ้างอิงข้อความ ซึ่งจะสะกดตามต้นฉบับ
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรจี) หรือ“อาจารย์ศิลป์” หรือ “อาจารย์ฝรั่ง” คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี เมื่อเวลา ๒ ทุ่มกว่าของคืนวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ขณะมีอายุได้ ๖๙ ปี
เกือบ ๓ ปีต่อมาในหนังสือ ประวัติครู ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เนื่องในวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๐๘ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียนยิ้มศิริ (ปี ๒๔๖๕-๒๕๑๔) รักษาราชการแทนคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ต่อจาก “อาจารย์ศิลป์” และหนึ่งในลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้เรียบเรียงชีวประวัติฉบับ “ทางการ” ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในฐานะ “ครู” และ “ข้าราชการ” ขึ้นฉบับหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็น “ฉบับมาตรฐาน” ที่ถูกอ้างอิงและตีพิมพ์ซ้ำมากที่สุด
เดือนถัดมา กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ มีประวัติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อีกสองตอนสั้น ๆ พิมพ์รวมไว้ในตอนต้นของสูจิบัตร ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ การแสดงศิลปนานาชาติ ครั้งที่ ๑ ณ โรงละครแห่งชาติ ตอนแรกใช้ชื่อเรื่องว่า “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์” ซึ่งการบรรยายฉากเมื่อ “อาจารย์ศิลป์” มาถึงเมืองไทยครั้งแรกด้วยชั้นเชิงโวหารแบบนักประพันธ์ดังที่ตัดตอนช่วงเปิดเรื่องและตอนจบมาลงไว้ข้างต้น
แต่หนึ่งในปัญหาที่สงสัยกันมาหลายสิบปีคือข้อเขียนชิ้นนี้เป็นผลงานของใคร เพราะไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ในขณะที่บทความที่ ๒ ซึ่งใช้ชื่อว่า “ศิลป พีระศรี กับงานศิลปในเมืองไทย” มีเนื้อหากล่าวถึงการทำงานและผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ คล้ายกับใน ประวัติครู ปี ๒๕๐๘ และเขียนด้วยภาษาสำนวนค่อนข้างเป็นทางการเช่นเดียวกัน ตอนท้ายระบุว่า “เขียน ยิ้มศิริ” เป็นผู้เขียน
เมื่อพิจารณาจากบริบทแวดล้อมแล้ว น่าเชื่อได้ว่าผู้เขียน “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์” คงเป็นอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ นั่นเองบางที ในฐานะลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ได้รับรู้เรื่องราวมากมายจากปากของครูบาอาจารย์ เขาอาจรู้สึกท่วมท้นจนอยากเล่าเรื่องราวของ “อาจารย์ฝรั่ง” อีกฉบับหนึ่ง ในแบบที่เร้าอารมณ์และเต็มไปด้วยสีสันบรรยากาศ มากกว่าประวัติการรับราชการของข้าราชการไทยคนหนึ่งก็เป็นได้
ถึงวันนี้ กว่า ๖๐ ปีให้หลังจากมรณกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย” กำลังจะถึงวาระครบ ๑ ศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปี ที่นายคอร์ราโด เฟโรจี เดินทางเข้ามาถึงประเทศสยามเป็นครั้งแรก
ห้องช่างปั้น ด้านข้างตึกที่ทำการกรมศิลปากร ต่อมาเป็นห้องทำงานคณบดีคณะประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และท้ายที่สุดกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗
ภาพ : สกล เกษมพันธ์ุ