รําแม่มด
ศาสนาผีอีสานใต้
ศาสนาผีอีสานใต้
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
แม่มด ในอีสานใต้ไม่ใช่หญิงหมอผี ไม่ใช่หญิงแก่ใจร้ายขี่ไม้กวาดอย่างในนิทานฝรั่ง แต่เป็นผู้หญิงพื้นบ้านทั่วไปในทุกสถานะทางสังคม อาชีพ และวัย ที่สามารถสื่อสารกับผีบรรพบุรุษที่อยู่ต่างภพผ่านการเข้าทรง เป็นผู้นำและที่พึ่งในการบำรุงรักษาเยียวยาปัญหาในครอบครัว เครือญาติ และชุมชน จนถึงความเจ็บไข้ทางกาย-ใจที่แพทย์แผนใหม่หาสาเหตุไม่ได้ ทั้งยังว่ากันว่าเป็นผู้นำทางจิตใจที่มีอยู่ก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนา และยังคงอยู่จริงอย่างเหนียวแน่นในแถบสามจังหวัดชายแดนอีสานใต้ทุกวันนี้ ยามค่ำคืนตามหมู่บ้านในช่วงเดือนสามถึงเดือนห้า ยังมีพิธีกรรมในบรรยากาศขลังๆ แบบขแมร์ให้เห็นอยู่ทั่วไป
ท่ามกลางเสียงดนตรีพื้นบ้านอีสานที่กำลังบรรเลงท่วงทำนองอันหวานไหว ให้ผู้หญิงในชุดแต่งกายแปลกตากลุ่มหนึ่งร่ายรำไปตามจังหวะดนตรีอันเร่งเร้าใจนั้น จู่ ๆ เด็กสาวร่างท้วมที่นั่งอยู่โคนเสามุมหนึ่งของปะรำพิธีก็กรีดร้องขึ้นสุดเสียง แล้วร้องไห้โฮตัวสั่นเทิ้มเหมือนกำลังตระหนกหวาดผวากับอะไรสักอย่าง
คนที่เจนจัดพิธีรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น ครูมะม็วตหยิบหมากคำโตใส่ปากเคี้ยวถี่ ๆ พลางบริกรรมคาถาเสียงดังแล้วพ่นใส่เด็กสาวจากหัวจดเท้าสามรอบ เธอสงบลงแต่ยังมีสะอึกสะอื้นขณะมีคนประคองออกจากปะรำพิธีไปพักในบ้าน
คนที่เข้าใจพิธีกรรมช่ำชองพูดกันว่า ทำไมไม่เอาไปตั้งให้เขากินนอกปะรำพิธีตั้งแต่ต้น เจ้าภาพยืนยันว่าทำแล้วแต่ไม่รู้ว่าทำไมวิญญาณผีเร่ร่อนถึงยังมารบกวนพิธีให้ต้องสะดุดและเดือดร้อนครูมะม็วตต้องลุกไปเสกมนต์พ่นหมาก
ครูมะม็วตถือเป็นผู้นำและกำกับดูแลการประกอบพิธีกรรมให้ลุล่วงไปโดยราบรื่นเรียบร้อย เป็นคนแรกที่เข้าทรง และเริ่มพิธีด้วยการรำดาบทำท่าฟาดฟันผีสาง แล้วฟันเปขาดร่วงลงพื้น ก่อนนำออกไปวางข้างนอกให้ห่างบ้าน เซ่นภูตผีเร่ร่อนไม่ให้เข้ามารบกวนกิจกรรมภายในปะรำพิธี
แต่งานรำแม่มดที่บ้านสะเดาใหญ่คืนนี้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมถึงยังมีผีร้ายมาเข้าเด็กสาวที่นั่งอยู่โคนเสาปะรำพิธีได้ ทั้งที่เจ้าภาพวางเครื่องเซ่นไว้ข้างนอกแล้ว
ครูมะม็วตจากบ้านไทรสันนิษฐานว่าอาจเป็นการลองของจากคนมีของที่อยู่แถวนี้ก็เป็นได้
เป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ เฉพาะหน้า ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาระหลักของพิธีกรรม โผล่แทรกเข้ามาโดยไม่คาดหมายและไม่ได้เชื้อเชิญ เมื่อ ปรมินทร์ ศรีรัตน์ พ่อครูมะม็วตจากบ้านไทร อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ จัดการให้ผ่านไปได้ งานรำแม่มดที่บ้านสะเดาใหญ่ อำเภอขุขันธ์ ในจังหวัดเดียวกันก็ดำเนินต่อไปตามเป้าหมายของพิธีที่เป็นการเชิญผีบรรพบุรุษมารำให้สำราญ ช่วยบำบัดโรคภัยที่รักษาด้วยหนทางอื่นไม่หาย และเป็นขวัญกำลังใจช่วยปกป้องดูแลลูกหลาน
เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่คนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ร่วมยืนยันว่ามีอยู่ และพวกเขาให้ความนับถือศรัทธา สืบทอดกันมายาวนาน
อาจยาวนานก่อนโลกจะมีศาสนาใดอุบัติขึ้นก็เป็นได้เป็น “ศาสนาผี” ที่ยอมรับนับถือกันในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอีสานใต้ และในทางวิชาการสากลยอมรับว่าเป็นศาสนา แต่ในวงวิชาการศาสนาไทยนับเป็นเพียงความเชื่อชุดหนึ่ง
คนถิ่นอีสานใต้เรียกพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีที่นับถือนี้ว่าโจลมะม็วต หรือเรือมมะม็วต และเลือนมาพ้องเสียงเป็นคำไทยว่ารำแม่มด ทั้งให้นิยามแบบรวบรัดกระชับความว่าเป็นพิธีกรรมบำบัด
เป็นการรักษาทางจิตวิญญาณ ใช้เสียงดนตรีและการร่ายรำที่สนุกสนานกล่อมบรรเลงให้คนไข้คลายทุกข์คลายโรค
เล่าขานกันว่า บางทีคนป่วยที่ไม่กินข้าวกินน้ำ ไม่อยากหมากพลูบุหรี่ ไม่พูดจามาเป็นแรมเดือน พอได้ยินทำนองดนตรีแม่มดบรรเลงขึ้นก็ลุกขึ้นมานั่งน้ำตาคลอเรียกขอข้าวปลากินหรือบางคนป่วยหนักนอนอยู่ในห้อง ก็ลุกขึ้นมารำตามจังหวะเพลงได้
เครื่องเซ่นสรวงและของบูชาตามแบบแผนของพิธีกรรม จะวางเรียงรวมกันไว้ที่เสากลางของปะรำพิธีที่เรียกว่า “ประต็วล” กล้วยกับขนมข้าวต้มมัดใน “จรอม” ผูกอยู่บนสุด ถัดลงมาเป็นเส้นด้าย บายศรี จวมกรู ขันครู ฯลฯ วางอยู่บนแท่นวางเครื่องบูชาที่เรียกว่า “ตระน็วล”
เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่คนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ร่วมยืนยันว่ามีอยู่่ เรือมมะม็วต ที่เลือนมาพ้องเสียงเป็นคำไทยว่า รำแม่มด พิธีกรรมบำบัด ใช้เสียงดนตรีและการร่ายรำที่สนุกสนานกล่อมบรรเลงให้คนไข้คลายทุกข์คลายโรค