Image
บรรยากาศที่ป้อมหมายเลข ๘ บริเวณหัวเขาแดง ในยามที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวท้องถิ่น
กาลครั้งหนึ่ง
รัฐสุลต่านสงขลา
SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เจ้าเมืองสงขลาได้จัดเตรียมรักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง สั่งให้นำปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนเขา...เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใด พระเจ้ากรุงสยามจะยกพลลงมาตี...”
ซามูเอล พอตต์ส
เจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออก (EIC) ของอังกฤษ ส่งจดหมายถึง ริชาร์ด เบอร์นาบี ที่กรุงศรีอยุธยา ๒๒ มกราคม ๒๒๒๒/ค.ศ. ๑๖๗๙

สายวันนั้น หลังขึ้นเนินชัน ๔๕ องศาของเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มาราว ๔๐ นาที  ผมก็พบว่าตัวเองไม่ใช่ผู้มาเยือนเส้นทางที่เคยเป็นอดีตสมรภูมิยุคโบราณแห่งนี้เพียงคนเดียว

ที่ยอดเขา กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้หลบร้อนอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้ “เจดีย์สองพี่น้อง” โบราณสถานที่ตามประวัติมีว่าขุนนางสยามสองคน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (เจ้าพระยาพระคลัง/ดิศ บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา/ทัต บุนนาค) สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทับโครงสร้างเดิมของป้อมโบราณที่ป้องกันสงขลาในยุครุ่งเรืองที่สุด

ยุคที่ได้รับการเรียกขานว่า “สงขลาหัวเขาแดง”

อาจารย์ที่มากับกลุ่มนักศึกษาเล่าว่า พวกเขาไม่ได้มาที่หัวเขาแดงด้วยจุดประสงค์ทางประวัติศาสตร์ หากแต่มาเพื่อศึกษาพืชสมุนไพรที่มีหลากหลายชนิด

จินตนาการย้อนกลับไป หรือนี่คือหนึ่งใน “ปัจจัย” ที่ทำให้ “แขก” ผู้มาจากโพ้นทะเลคนหนึ่งสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่นี่ จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่นักเดินเรือในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ว่า “Singora” คือนครรัฐอันมั่งคั่ง

ไม่แพ้ปาตานีดารุสซาลาม ก่อนที่จะถูกสยาม (กรุงศรีอยุธยา) ทำลายจนต้องปิดฉากในหน้าประวัติศาสตร์ไป

หลงเหลือจนถึงวันนี้ก็เพียงพื้นที่เล็ก ๆ ใน “ประวัติศาสตร์กระแสรอง” เท่านั้น
Image
แผนผังสังเขปเมืองสงขลาหัวเขาแดง ยุคสุลต่านสุลัยมาน-สุลต่านมุสตาฟา และระบบป้องกันเมือง
(ปี ๒๑๖๓-๒๒๒๘/ค.ศ. ๑๖๒๐-๑๖๘๕)

ดัดแปลงจาก : ภาพใน ชัยวุฒิ พิยะกูล. (๒๕๒๗). ความรู้เรื่องโบราณวิทยาเมืองพัทลุง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.(หมายเหตุ ป้อมหมายเลข ๙ น่าจะจมอยู่ในอ่าวไทย)
Image