Image
ซากเรือประมงสัญชาติเวียดนามที่รุกล้ำเข้ามาหาปลาในน่านน้ำไทยเมื่อหลายปีก่อนถูกลากมาจอดทิ้งไว้ในทะเลสาบสงขลา ทรุดโทรมผุพังตามกาลเวลากลายเป็นขยะชิ้นใหญ่
4 วาระสิ่งแวดล้อม
รอบ (ลุ่ม) ทะเลสาบสงขลา
SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแบบลากูน (lagoon) หนึ่งเดียวของประเทศไทย รองรับน้ำจืดจากน้ำฝน น้ำคลอง และน้ำหลากจากแผ่นดิน โดยมีน้ำเค็มจากทะเลรุกเข้ามาผสมผสาน ความเค็มของน้ำในทะเลสาบจึงเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและอิทธิพลของน้ำทะเล
ทะเลสาบสงขลาแบ่งเป็นสี่ส่วนใหญ่ ๆ แต่ละส่วนมีค่าความเค็มของน้ำแตกต่างกันไป ไล่จากเหนือลงใต้ ได้แก่ ทะเลน้อย น้ำเป็นน้ำจืด พื้นที่ ๒๗ ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย ๑.๒ เมตร ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง พบพืชน้ำและป่าพรุขนาดใหญ่  ถัดลงมาคือทะเลสาบตอนบนหรือทะเลหลวง ส่วนใหญ่ในรอบปีเป็นน้ำจืด พื้นที่ ๔๗๓ ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย ๒ เมตรอยู่ในอำเภอระโนดและกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

ทะเลสาบตอนกลาง น้ำเป็นน้ำกร่อย พื้นที่ ๓๖๐ ตารางกิโลเมตร ความลึกประมาณ ๒ เมตร อยู่ในอำเภอกระแสสินธุ์และสทิงพระ จังหวัดสงขลา  และทะเลสาบตอนล่าง เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากน้ำทะเลขึ้นและลง พื้นที่ ๑๘๒ ตารางกิโลเมตรลึกประมาณ ๑.๕ เมตร เฉพาะช่องแคบเชื่อมทะเลสาบกับอ่าวไทยใช้ในการเดินเรือมีความลึก ๑๒-๑๔ เมตร สภาพน้ำกร่อยถึงน้ำเค็ม ช่วงฤดูฝนบางส่วนเป็นน้ำกร่อย ตั้งอยู่ในอำเภอควนเนียง บางกล่ำ หาดใหญ่ สิงหนคร และอำเภอเมืองสงขลา

ส่วน “พื้นน้ำ” ของทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๐๔๒ ตารางกิโลเมตร นับเป็น “ทะเลสาบสามน้ำ” ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดความยาวจากเหนือจดใต้ได้ ๑๕๐ กิโลเมตร และจากตะวันออกจดตะวันตก ๖๕ กิโลเมตร

เมื่อผนวกรวมกับส่วน “พื้นดิน” รอบทะเลสาบอีก ๘,๗๖๑ ตารางกิโลเมตร จะเป็นอาณาเขตของ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

แม้จะเป็นที่ตั้งสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ผู้คนอาศัยใช้ประโยชน์เกื้อกูลต่อวิถีชีวิต แต่ทุกวันนี้ทะเลสาบสงขลากำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรม  การทำลายป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ  การชะล้างพังทลายของหน้าดิน ลำคลองสาขา และทะเลสาบจนตื้นเขิน  สัตว์น้ำหายากและบางชนิดใกล้สูญพันธุ์  การสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เกินศักยภาพ ปัญหาน้ำเสีย  การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกินขนาด การท่องเที่ยวและนันทนาการที่ขาดการควบคุมฯลฯ

และนี่คือสี่วาระสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนที่ต้องจับตา
Image
ซาก “เรือญวน” กว่า ๑๐๐ ลำจอดระเกะระกะตามจุดต่างๆ ในทะเลสาบสงขลา เช่น คลองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง บริเวณท่าแพขนานยนต์ทางไปบ่อเก๋ง ทำลายทัศนียภาพและสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน

สุสานเรือเวียดนาม 
จาก “เรือประมงผิดกฎหมาย” สู่ “ขยะทะเลสาบ”

Image
ย้อนกลับไปปี ๒๕๕๗ มีเรือประมงสัญชาติเวียดนามเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย และถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับดำเนินคดี  ภายหลังคดีสิ้นสุด เรือประมงจำนวน ๑๕๒ ลำถูกลากมาจอดทิ้งไว้ในทะเลสาบสงขลา และค่อย ๆ ทรุดโทรมผุพังไปตามกาลเวลา โดยภาครัฐไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจะจัดการกับเรือผิดกฎหมายเหล่านี้อย่างไร ทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการกีดขวางเส้นทางน้ำไหลจากทะเลสาบสงขลาออกสู่ทะเล เศษซากเรือบางส่วนจมลงใต้น้ำทำให้ทะเลสาบตื้นเขิน ทัศนะอุจาดที่ทำลายทัศนียภาพและความงามของทะเลสาบสงขลา  นอกจากนี้ยังกลายเป็นแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด

เรือประมงผิดกฎหมายกลายเป็นขยะชิ้นใหญ่ในทะเลสาบสงขลา

การตื้นเขินของทะเลสาบ
และคลองสาขา

Image
คลองสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา หนึ่งในคลองท้องถิ่นที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนถูกขุดลอกปากร่องน้ำในส่วนที่ตื้นเขิน
แผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙ ฉบับประชาชน จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การตื้นเขินของทะเลสาบและแหล่งน้ำที่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะบริเวณทะเลสาบตอนล่าง มีการตกตะกอนสูงประมาณ ๑๕ มิลลิเมตรต่อปี ส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเสื่อมโทรม การสัญจรทางน้ำไม่สะดวก เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปัญหาอุทกภัยจะรุนแรงขึ้น แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ
ขอขอบคุณ
สุภาพ แก้วสวี นายช่างขุดลอกอาวุโส สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ ๔ กรมเจ้าท่า กระทรวงคม

Image