ก้าว(อ)ย่างเกาะยอ

SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
 ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

“เกาะยอ” เป็น “ชุมชนเดียว” กลางทะเลสาบอาณาเขต ๑,๐๔๐ ตารางกิโลเมตร

ที่นั่นไม่เหมือนใคร เพราะทะเลสาบทั่วไปไม่มีทางไหลออกทะเล แต่ “ทะเลสาบสงขลา” (ครอบคลุมจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง) มีปากน้ำออกสู่ “อ่าวไทย” ทำให้เป็นพื้นที่ “สามน้ำ” (จืด กร่อย เค็ม) และเป็น “ทะเลสาบน้ำเค็มแห่งเดียวในไทย”

เวลาผ่าน เกาะยอยกฐานะสู่ตำบลในอำเภอเมืองสงขลา คนนอกพาวิถีเจริญข้ามทะเล คนรุ่นใหม่ปรับปรุงบ้านเป็นที่พัก ร้านอาหาร คนรุ่นใหญ่ให้ค่าการอนุรักษ์เรือนโบราณที่แสนจะเปี่ยมตัวตน ทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว ศูนย์เรียนรู้ทอผ้า เพาะเลี้ยงปลากะพง  ทุกอย่างล้วนต่อยอดจากทรัพย์ (ในดิน) สิน (ในน้ำ)

ชวนรู้จักจักรวาล ๑๕ ตารางกิโลเมตร กลางทะเลสามน้ำ ผ่าน คำขวัญตำบล*

* ยึดตามการใช้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ ปี ๒๕๖๖

scrollable-image

Image

ไม่ง่ายที่จะพบ “ปลาท่องเที่ยว” ผู้อาศัยโคลนตมทะเลสาบสงขลาเป็นเซฟเฮาส์ อย่างมากก็ปีละครั้งและมีเวลาสัปดาห์เดียวยามน้ำเค็มกลายเป็นน้ำกร่อย 
ภาพ : www.wikiwand.com

Image

สมเด็จเจ้าเป็นศรี

ชาวเมืองสงขลารู้ทันทีว่าหมายถึง “สมเด็จเจ้าเกาะยอ”

ผู้มีชาติกำเนิดที่ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ ถึงวัยอุปสมบทได้จำพรรษาที่วัดต้นปาบ ถิ่นบ้านเกิด ครั้งหนึ่งธุดงค์ไปเมืองสทิงพระ สนทนาธรรมชอบพอกับ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” (หลวงปู่ทวด) จึงร่วมธุดงค์ไปพบ “สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่” ที่อำเภอกระแสสินธุ์ (ทั้งสามเมืองอยู่ในสงขลา) แล้วร่วมธุดงค์ข้ามจังหวัดหลายปี

ที่สุดสมเด็จเจ้าพะโคะแยกไปวัดช้างให้ (ปัตตานี) สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่กลับวัดเดิม สมเด็จเจ้าเกาะยอจึงธุดงค์สู่สงขลา ลงเรือข้ามฝั่งมาปักกลดบนเกาะยอ ก่อนไปเยี่ยมบุพการีที่บ้านเกิดแล้วคืนเกาะยออีกครั้ง ปักกลดบนเขาลูกใหญ่

คืนหนึ่งนิมิตเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จลงยอดเขาขอให้จำพรรษา ชาวเกาะราว ๕๐๐ ชีวิตจึงสร้างกุฏิถวายและเรียกเขาลูกนี้ว่า “เขากุุฏิ” รับกับหลักฐาน “แผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ” มีเขาลูกหนึ่งตรงปลายแผนที่ระบุ “เข้าก้อะญอ” (เขาเกาะยอ) คล้องกับ “แผนที่เมืองสงขลา” ที่เมอซีิเยอ เดอ ลามาร์ (Monsieur de Lamare) วิศวกรชาวฝรั่งเศสเขียนปี ๒๒๓๐ แสดงการตั้งถิ่นฐานชุมชนบนเกาะยอแล้ว

ทุกวันนี้ “สำนักสงฆ์เขากุฏิ” ยังเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จเจ้าเกาะยอ พอขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ (ก่อนวันวิสาขบูชา) ชาวบ้านจะมี “ประเพณีขึ้นเขากุฏิ” แห่ผ้าที่ช่วยกันทอขึ้นไปห่มองค์เจดีย์

การสมโภชปีละครั้งคงน้อยไป สิบห้าปีมานี้จึงเพิ่มพิธีสรงน้ำ “สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” (สมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และสมเด็จเจ้าพะโคะ) ใน “วันว่าง” ช่วงตรุษสงกรานต์

“แต่คนภาคใต้ตอนกลางกับตอนล่างไม่มีสงกรานต์ที่หมายถึงการ ‘เคลื่อนย้าย’ ดวงดาวจากราศีมีนสู่เมษคนใต้ให้ความสำคัญกับ ‘ตรงกลาง’ ที่เป็น ‘ความว่าง’ เชื่อว่ามนุษย์มีเทวดาประจำราศี เมืองก็มีเทวดาผลัดเปลี่ยนมาอารักษ์ ฉะนั้นเมื่อราศีหนึ่งกำลังเคลื่อนไปขณะที่อีกราศียังมาไม่ถึงภาวะรอยต่อตรงนั้นจึงว่างจากผู้ดูแล  เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุร้ายยามไร้ผู้คุ้มครอง จึงกำหนดให้ผู้คนว่างจากงาน งดเดินทางไกล งดออกทะเล แล้วทำบุญให้จิตว่างจากกิเลส บางคนจึงเรียกทำบุญเดือนห้า”

Image

Image