Image
ความหนาแน่นของผืนป่าแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แสดงถึงความงดงามอย่างไม่น่าเชื่อของธรรมชาติที่กลับคืนมาเองหลังจากถูกแผ้วถาง แม้ว่าจะอยู่ห่างจากป่าธรรมชาติหลายกิโลเมตร มีสภาพเป็นป่าสันดอนทรายชายหาดที่มีความหลากหลายสูง ไม่มีพืชต่างถิ่นปะปน
เทรนด์ฮิต ปลูกป่า มายาคติ
กับการทำลาย
ความหลากหลายทางชีวภาพ

 เรื่องและภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
“สิ่งที่เรานึกไม่ถึง คือการปลูกก็เหมือนการไปแย่งที่ ‘ธรรมชาติ’ เพราะแต่ละพื้นที่หรือระบบนิเวศมีทรัพยากรที่รองรับสิ่งมีชีวิตได้อย่างจำกัด และมีไม่เท่ากัน  ต้นไม้ที่เราเลือกเข้าไปปลูกจะแย่งพื้นที่และทรัพยากรของเมล็ดพืชในธรรมชาติของที่แห่งนั้นและนำไปสู่การขัดขวางการเจริญของสังคมพืชที่มีพันธุกรรมตามธรรมชาติ”

เจริญศักดิ์ แซ่ไว่ 
นักพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หน้าฟีดเฟซบุ๊กของผมมักมีข่าวสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้เห็นอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมสนใจด้านนี้เป็นพิเศษและอีกส่วนอาจเป็นเพราะการตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ในสังคม

ข่าวกิจกรรมของสายกรีนในสื่อออนไลน์ อันดับต้น ยอดฮิตช่วงคาร์บอนเครดิตอินเทรนด์ เห็นจะเป็นโพสต์จั่วหัว “กิจกรรมปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์”  ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวน หรือภาพกิจกรรมลงมือลงแรงช่วยเหลือกัน ซึ่งมีคนเข้าถึงจำนวนมากทั้งกดแสดงความรู้สึกและแชร์ต่อจนบางโพสต์กลายเป็นไวรัล 

ความคิดว่า “ป่าปลูกได้” ไม่ใช่เรื่องใหม่สักทีเดียวสำหรับสังคมไทย

ปัจจุบันหน่วยงานรัฐตั้งงบประมาณเฉพาะสำหรับการปลูกฟื้นฟูป่าปีละหลายล้านบาท มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าปีละเท่าไร  ส่วนภาคเอกชนก็จัดกิจกรรม CSR ปลูกป่าสารพัดรูปแบบ แม้บางบริษัทเรารู้กันอยู่ในใจว่าเป็นส่วนหนึ่งในกลไกหลักของการทำลายธรรมชาติมีแม้แต่การลงนาม MOU ระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนจัดโครงการเพื่อร่วมฟื้นฟูป่าในพื้นที่การดูแลของรัฐได้ โดยเฉพาะระยะหลังเมื่อมีความต้องการปลูกป่าเพื่อเก็บกักคาร์บอนแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

รู้ตัวอีกที “ป่าปลูกได้” กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วและยังเป็นเทรนด์ฮิตของสังคม

แต่ลองฉุกคิดในความทรงจำของเราสักนิดว่า เราจำเป็นต้องปลูกป่าจริงหรือ ?
แค่เพียงปล่อยไว้ไม่ถูกรบกวน จากพื้นที่เหมืองทอง (อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส) ที่ธรรมชาติถูกรบกวนอย่างหนัก กลับคืนเป็นป่าดิบชื้นที่มีความหลากหลายสูง แสดงผลลัพธ์ว่าสังคมพืชฟื้นฟูตนเองได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี
Image