ตลาดคาร์บอน
ทางรอดหรือใบไถ่บาป ?
เรื่อง : สุภัชญา เตชะชูเชิด
“จะทำยังไงให้การดำเนินธุรกิจกับการดูแลโลกไปด้วยกันได้ ?”
นี่อาจเป็นปัญหาโลกแตก เพราะสองสิ่งนี้ดูจะสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่ง วิลเลียม นอร์ดฮาวส์ (William Nordhaus) คิดค้นสมการที่หาความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงขึ้น จนกลายเป็นโมเดลสำคัญที่ใช้แก้ไขปัญหาและกำหนดนโยบายต่างๆ
เขาเสนอระบบการคิดภาษีคาร์บอน (carbon tax) เพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผนวกกับธุรกิจและการเงินและสนับสนุนให้บริษัทปรับปรุงการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
โมเดลที่ช่วยอธิบายปัญหาโลกแตกนี้มีการนำไปประยุกต์ใช้ต่อเนื่อง จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ใน ค.ศ. ๒๐๑๘
ระบบภาษีคาร์บอนนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศสวีเดนเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๑ เกือบ ๑๐๐ ปีหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศกับอุณหภูมิในประวัติศาสตร์ของโลก กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาพัฒนาพลังงานสะอาดแทน ซึ่งแต่เดิมรัฐนำภาษีที่จัดเก็บได้มาลดหย่อนภาษีอื่น ๆ แต่ต่อมาก็ใช้เกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีหรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
ปัจจุบันภาษีคาร์บอนใช้ในหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศมีอัตราภาษีแตกต่างกัน ประเทศที่จัดเก็บภาษีสูงที่สุดคืออุรุกวัยมีราคาสูงถึง ๑๓๗ ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนได-ออกไซด์เทียบเท่า
แต่ระบบการจัดเก็บภาษีนี้ก็มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าถูกกำหนดราคาโดยภาครัฐ ทำให้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด อีกทั้งยังเป็นเหมือนบทลงโทษมากกว่าแรงจูงใจให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาตลาดคาร์บอนในเวลาต่อมา
ค.ศ. ๒๐๐๕ หลังจากนานาประเทศลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ว่าด้วยความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบการซื้อขายคาร์บอนจึงถือกำเนิดขึ้น เพราะประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะอาจไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่สัญญาไว้ แต่จะซื้อโควตาคาร์บอนจากประเทศที่กำลังพัฒนา และอีกมุมหนึ่งก็เป็นการให้เงินสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย
ภาพที่ดูขัดแย้งของโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกควันโขมง กับแนวเสากังหันลมผลิตไฟฟ้าที่จัดเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ตั้งอยู่ด้วยกันบริเวณชายแดนโปแลนด์กับเช็กเกีย ชวนให้ตั้งคำถามว่า โครงการชดเชยคาร์บอนต่าง ๆ สามารถนำมาแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ๆ ได้หรือ
ภาพ : 123rf.com